การสรรหาคณบดี


          ในการประชุมสภา มช. เมื่อ ๑๘ มิ.ย. ๕๔ มีวาระปรับปรุงข้อบังคับ ว่าด้วยการสรรหาคณบดี  และข้อบังคับว่าด้วยการสรรหาผู้บริหารอีกหลายตำแหน่ง  ที่นับว่าก้าวหน้ามาก   คือเปิดช่องให้มีการ สมัครได้   และสรรหาบุคคลภายนอกมาทำหน้าที่คณบดีได้

          ที่ประชุมอภิปรายกว้างขวางละเอียดลออมาก   เจตจำนงสำคัญคือ ต้องการเปลี่ยนจาก กระบวนการที่เน้นสิทธิและผลประโยชน์ของบุคคล (โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจารย์)  ไปเป็นกระบวนการ เพื่อผลประโยชน์ของหน่วยงานคือคณะ ให้ได้ตัวผู้บริหารที่มีความสามารถสูงเหมาะสมต่อการมาเป็นผู้นำหน่วยงานเพื่อขับเคลื่อน มช. ไปสู่ World Class Research University   และป้องกันความ ขัดแย้ง   ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสื่อมเสียชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย   เนื่องจากการทะเลาะกัน เพื่อตำแหน่งหรือเพื่ออำนาจ แล้วเอาไปประจานกันในสื่อมวลชนอย่างที่เห็นกันเนืองๆ

          ประเด็นที่มีการอภิปรายได้แก่

 การป้องกันความเข้าใจผิด หรือจงใจบิดเบือน ว่าเป็นการเลือกตั้ง ต้องถือคะแนนเสียง ส่วนใหญ่ของสมาชิกภายในหน่วยงานเป็นตัวตัดสิน   หรือเป็นข้อมูลสร้างความขัดแย้ง   เรื่องนี้หากไม่เขียนไว้ให้ชัดเจน  ว่าไม่ถือคะแนนหรือความถี่จากการเสนอชื่อเป็นตัวตัดสิน   ก็อาจมีการโต้แย้งได้หากคณะกรรมการสรรหาดำเนินการบางขั้นตอนพลาดไป


  เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการการเปลี่ยนแปลง   ให้ได้บุคคลที่เหมาะสมมาบริหารคณะ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ของคณะใน มช.  ที่ต้องการเคลื่อนไปเป็น มหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลก   รวมทั้งสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านวิธีคิดเกี่ยวกับการ สรรหาหัวหน้าหน่วยงาน จากวิธีคิดแบบเดิมๆ   ว่าเพียงต้องการบุคคลมาทำหน้าที่เป็นหัวหน้างานธุรการ เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบ   เปลี่ยนเป็นเพื่อให้ได้ผู้นำทางวิชาการ และผู้นำการเปลี่ยนแปลง   เพื่อขับเคลื่อนหน่วยงานไปตามวิสัยทัศน์ของ มช. ที่เป้าหมายหลักคือการเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลก


  กระบวนการสรรหา ควรเป็นกระบวนการการเรียนรู้ร่วมกันของคนในคณะ   ว่าคณะควร เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างไรบ้าง   และต้องการคนแบบไหนมาเป็น ซีอีโอ เป็นผู้นำ การเปลี่ยนแปลง


  มองจากการที่ มช. ต้องการเป็น ม. วิจัยระดับโลก คุณสมบัติที่สำคัญของคณบดี สำหรับ มช. ได้แก่

- เป็นคนที่มีนิสัยหรือโลกทัศน์มองออกภายนอก (outward-looking หรือ outside-in) ในระดับโลก และระดับภูมิภาคของโลก (ไม่ใช่แค่ inward-looking มองแต่ภายในคณะ)   มุ่งทำงานเชื่อมโยง เป็นเครือข่าย หรือร่วมมือ กับภายนอกประเทศ   และมีความรู้ความสามารถในการทำงานตามแนวทาง ดังกล่าว
- ประเด็นตามย่อหน้าบน ให้รวมระดับประเทศไทยด้วย   คือต้องมีความรู้ความ เข้าใจ และมีทักษะ ที่จะทำหน้าที่ผู้นำการเปลี่ยนแปลงในระดับประเทศ   ซึ่งบางเรื่องอาจขัดใจ หรือไม่ตรงใจของสมาชิกภายในคณะ
- เป็นผู้ที่ตีโจทย์วิสัยทัศน์และเป้าหมายของ มช. แตก   และมียุทธศาสตร์ของการทำงานระดับหน่วยงานเพื่อขับเคลื่อนวิสัยทัศน์และเป้าหมายนั้น
- เป็นผู้นำที่สามารถทำงานเป็นผู้นำหน่วยงาน สร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างราบรื่น   คือเข้าใจบริบทของหน่วยงาน

          กรรมการสภาใช้เวลามาก ถกเถียงกันเรื่ององค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหา   กระบวนการสรรหา แบบที่ทำงานเชิงรุก แสวงหาหรือเสาะหาคนที่เก่งหรือเหมาะสมจริงๆ   มีการพูดกันว่าผู้มีสิทธิเสนอชื่อต้องมีวุฒิภาวะ  ในอดีตเคยมีคนเสนอชื่อนักมวยดังคือเขาทราย กาแล็กซี่   และ นักร้องมีชื่อเสียง ให้แก่คณะกรรมการสรรหาอธิการบดี   แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว

          มีการพูดเรื่องการสื่อสารกับสังคม และกับคนในคณะ ในเรื่องการสรรหาผู้บริหาร   ให้เห็นความโปร่งใส และเพื่อเป้าหมายความก้าวหน้าของหน่วยงานเป็นหลัก   อันจะมีผลดีต่อสังคมส่วนรวมด้วย

          ผมให้ความเห็นในภาพรวมว่า การปรับปรุงวิธีการสรรหาผู้บริหารระดับหัวหน้าหน่วยงานในวันนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของ มช. ในการเคลื่อนสู่ความเป็น World Class Research University   แต่การเข้าสู่เป้าหมายนี้ยังมีประเด็นสำคัญอื่นๆ ในเรื่องยุทธศาสตร์การบริหารงานบุคคล   ที่ควรมีเป้าหมายให้อาจารย์เก่งๆ ทำงานวิชาการอย่างต่อเนื่อง มีสมาธิพุ่งเป้าที่งานวิชาการ   ไม่ใช้โดนดึงดูดมาทำงานบริหารในจำนวนมากอย่างในปัจจุบัน   จะเข้าสู่สภาพนั้นได้ ต้องมียุทธศาสตร์รับคนเก่งๆ มาเป็นหัวหน้าและเจ้าหน้าที่สายสนับสนุน (general management)   และพัฒนาและมอบอำนาจให้ทำงานด้านสนับสนุนได้เอง และมีความก้าวหน้าในสายงานสนับสนุน   ที่ประชุมเห็นด้วย และมอบให้ฝ่ายบริหารไปคิดเสนอแผนยุทธศาสตร์นี้

          จะเห็นว่า สถาบันอุดมศึกษาไทยที่ต้องการพัฒนาไปเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลกยังจะต้องเปลี่ยนแปลงในเชิงวัฒนธรรมองค์กรอีกมาก

 

วิจารณ์ พานิช
๑๙ มิ.ย. ๕๔
 
         
         
         
 

หมายเลขบันทึก: 450813เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2011 11:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

thank you professor, keep more our knowledge

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท