หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

ENV a22 : น้ำเสียขังนองแป๊บเดียว...ไม่ได้มีแค่เรื่องเดียวเกิดตามมาหรอกนะ


น้ำขังเพิ่มนี้เมื่อมาดูต่อในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา มียุงบินว่อน ในขณะที่ก่อนน้ำท้นไม่เห็นยุง ทำให้เกิดคำถามอยู่เหมือนกันว่าแค่น้ำขังแป๊บเดียวทำไมจึงกลายเป็นแหล่งเพาะ พันธุ์ยุงไปได้

ระหว่างที่แวะไปดูหน่วยไตเทียม ก็ไม่ได้ทิ้งการตามดูตึกเจ้าปัญหาว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง มีอะไรต้องทำต่อบ้าง

เรื่องหนึ่งที่แน่ๆว่าดำเนินการต่อ คือ การหาวิธีจัดการน้ำด้วยน้ำหมักชีวภาพ ลูกบอลน้ำหมักชีวภาพ คือ ทางออกที่เลือกไว้ สำหรับใช้เป็นเครื่องมือบำบัดกลิ่นที่ยังเหลือและเปลี่ยนน้ำขุ่นให้เป็นน้ำใสโดยใช้น้ำหมักชีวภาพที่รพ.ทำเอง

แต่บังเอิญว่าน้ำหมักที่มีนั้นหมดลง ทำให้ต้องรออยู่ราวหนึ่งสัปดาห์จึงสามารถดำเนินการต่อ ได้น้ำหมักชีวภาพมาแล้ว ก็ให้ลูกน้องไปหาดินเหนียวและใบไม้ร่วง มาปั้นเป็นก้อนกลมๆขนาดเท่าลูกเทนนิส ตากแดดครบ 7 วันก็เริ่มจัดการปัญหากัน วิธีที่จะลองต่อคือ หยอดวางตรงที่มีน้ำเสียเป็นระยะๆ

ที่ใช้ใบไม้ร่วงทั้งๆที่ต้นฉบับลูกบอลน้ำหมักนั้น ใช้ขี้เลื่อย รำ แกลบ ดินเหนียว และน้ำหมักชีวภาพมาผสมเข้ากัน ก็มาจากความเข้าใจว่าขี้เลื่อย รำ แกลบ เป็นแหล่งเซลลูโลสที่จำเป็นต้องไว้เลี้ยงเชื้อ น้ำหมักชีวภาพคือแหล่งเชื้อ ดินที่ห่อหุ้มเป็นบ้านให้เชื้อได้อยู่อย่างสุขสบาย ดินเหนียวเกาะตัวกันได้ดี

ที่ต้องให้เกาะตัวกันได้มั่นคงพอก็เพื่อให้บางจุดในลูกบอลเกิดภาวะขาดอากาศ บางจุดมีอากาศซึมเข้าไปได้ ดินช่วยปรับความเย็นร้อนของบ้านให้เชื้ออยู่สบาย ฉะนั้นจะใช้วัสดุธรรมชาติอะไรก็ได้ใกล้ตัวที่สามารถให้เซลลูโลสได้ การบ่มเชื้อวิธีนี้จะเพิ่มเชื้อที่มีทั้งเชื้อที่ใช้อากาศและไม่ใช้อากาศใน การดำรงชีวิตของมัน

เข้าใจอย่างนี้และอยากรู้ว่าที่เข้าใจอยู่นั้นจริงแค่ไหนจึงลองแหกคอกทำไม่เหมือนครู  ระหว่างรอลูกบอล น้ำหมักชีวภาพจากน้องชายที่รักก็มาถึงมือ แต่ยังไม่นำมาใช้หรอก ขอลองในสิ่งที่อยากรู้ก่อนเน้อ

จุดที่หยอดลูกบอลไว้ก็มี จุดเริ่มต้นที่เห็นน้ำไหลที่ออกมาจากใต้ตึก จุดระหว่างกึ่งกลางของน้ำไหลในคู  จุดเหนือจากรูท่อรั่วที่มีอุนจิไหลออกมาพร้อมกระดาษชำระ และจุดใต้กว่ารูปล่อยอุนจิ ก่อนหยอดก็วัดเคมีน้ำเอาไว้  เมื่อผ่าน 24 ชั่วโมงไปแล้วก็วัดเคมีน้ำของแต่ละจุดซ้ำ

สิ่งแรกที่เห็นว่าเปลี่ยนไปคือ ความใสขึ้นของน้ำและกลิ่นเหม็นที่ลดลงอีก เคมีของน้ำเปลี่ยนเป็นด่างมากขึ้น (pH 6.5 เปลี่ยนเป็น pH 7) และค่าออกซิเจนที่ละลายน้ำ (ค่า DO) ไม่เพิ่ม ส่วนของคราบสีขาวตรงตะกอนที่พื้นคูยังหนาอยู่ จึงหยอดลูกบอลเพิ่มไปที่แต่ละจุดอีกเท่าตัวหลังได้ผลเคมีน้ำ

16 ชั่วโมงให้หลัง ตามวัดเคมีน้ำซ้ำ คราวนี้ค่า DO เพิ่มขึ้นเล็กน้อย น้ำใสแจ๋วเป็นตาตั๊กแตน กลิ่นลดลงเหลือแค่ขนาดที่คนจมูกไวเท่านั้นรู้สึก  คราบสีขาวในคูมีบางส่วนที่บางลง ความขาวที่ลดลงอยู่ในแนวของปลายน้ำที่ไหลผ่านลูกบอลน้ำหมัก  ส่วนที่อยู่ฉีกแนวไปยังเหมือนเดิม

ไม่อยากได้ตะไคร่สีขาวที่เห็น คิดไปว่าถ้าขังน้ำให้ท่วมลูกบอลได้คงจะได้ผลกว่า แนวคิดฝายแม้วกักน้ำไว้บำบัดจึงถูกนำมาลอง

ถุงทรายถูกวางขวางในคู 4 จุด จุดแรกอยู่ต่ำกว่าปลายท่อตรงต้นน้ำครึ่งฟุต  จุดที่ 2 อยู่ตรงปลายคูก่อนถึงมุมเลี้ยวของคู 3 ฟุต จุดที่ 3 อยู่เหนือท่อปล่อยอุนจิ 3 ฟุต  จุดที่ 4 อยู่ต่ำกว่าท่อปล่อยอุนจิ 4 ฟุต

วางถุงทรายแล้วก็ทิ้งไว้  2 ชั่วโมงหลังวางก็ไปดูซ้ำ อ้าว น้ำทุกจุดขุ่นขึ้น ตะกอนขาวหนายังอยู่ น้ำในคูท้นขึ้นไปสู่ต้นน้ำ ต้นน้ำมีน้ำเอ่อขึ้นไปถึงที่ว่างเหนือท่อ น้ำในคูที่ไหลเรื่อยชิดพื้นคูที่มองระดับความลึกไม่ออก กลายเป็นน้ำที่มีเห็นระดับความลึกได้ชัดเจน

ก็เลยได้ความรู้แถมเรื่องการจัดการน้ำไหลมาว่า คูน้ำตรง เรียบและแข็งแรงที่มีน้ำไหลแรง เร็ว เมื่อมีฝายกั้นทางน้ำไว้ตรงใกล้ต้นน้ำ และจุดห่างออกมา น้ำที่ไหลผ่านลงมาหาจุดที่ห่างต้นน้ำจะชะลอความแรง และลดความเร็วของการไหล ถึงแม้น้ำที่ไหลเอ่อล้นฝายจะไหลแรง

ตรงจุดแรกเหมือนมีแรงดันย้อนกลับไปทำให้มีน้ำเอ่อไปท้นขังในที่ราบที่มี อยู่ใกล้ๆต้นน้ำสมทบกับน้ำที่ไหลจากต้นน้ำกลายเป็นวงกว้างขึ้น ที่ราบนั้นมีน้ำขังอยู่แล้วจึงมีระดับน้ำขังเพิ่มขึ้นทั้งแนวกว้างและแนวลึก

น้ำขังเพิ่มนี้เมื่อมาดูต่อในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา มียุงบินว่อน ในขณะที่ก่อนน้ำท้นไม่เห็นยุง ทำให้เกิดคำถามอยู่เหมือนกันว่าแค่น้ำขังแป๊บเดียวทำไมจึงกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงไปได้

ก็เก็บข้อสังเกตนี้รวบรวมไว้กับข้อสังเกตเก่าที่บันทึกไว้เพื่อติดตามแหล่งเพาะยุงต่อไป

15 กรกฎาคม 2554

หมายเลขบันทึก: 450591เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2011 22:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2013 12:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท