แนวคิดการปกครองตามรูปแบบประชาธิปไตยตามทัศนะพระพุทธศาสนา


พระพุทธศาสนาจึงเน้นการปกครองแบบธรรมาธิปไตยในหลักการปกครอง ๓ ประเภท คือ อัตตาธิปไตย ธรรมาธิปไตย และโลกาธิปไตย เพื่อใช้เป็นหลักของความดี ความถูกต้อง ความเสมอภาค ใช้เป็นหลักในการปกครอง เพื่อให้สังคมส่วนรวมมีความเป็นปกติสุข ไม่มีการแบ่งพรรค แบ่งพวก หรือชนชั้นวรรณะ สี ผิว ชาติ ตระกูล มีความสมานฉันท์ และคุ้มครองสิทธิของบุคคลทั่วไปให้ได้รับความเป็นธรรม ความเสมอภาคทางสังคมเท่าเทียมกัน หลักการปกครองตามแนวพระพุทธศาสนาจึงยึดหลักการปกครองสายกลาง อหิงสา ไม่เบียดเบียนผู้อื่นให้ได้รับความเดือดร้อน ยึดหลักความถูกต้องเป็นหลัก คือหลักธรรมาธิปไตยนั่นเอง

 แนวคิดการปกครองตามรูปแบบประชาธิปไตยตามทัศนะพระพุทธศาสนา

 

          การศึกษาถึงแนวคิดประชาธิปไตยตามแนวพระพุทธศาสนา เป็นการศึกษาแนวคิดทางพระพุทธศาสนาที่สอดคล้องกับแนวคิดประชาธิปไตย โดยศึกษาข้อมูลที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ดังรายละเอียดดังนี้

          หลักประชาธิปไตย คือการให้อำนาจแก่ประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน การให้อำนาจทั้งทางนิติบัญญัติ การบริหาร และด้านตุลาการ หลักการสำคัญของระบอบการเมืองที่ได้รับความศรัทธาเลื่อมใสจากประชาคมโลกอย่างแพร่หลายมากที่สุดในปัจจุบันซึ่งประกอบด้วยหลักการสำคัญ ๕ ประการ คือ

          ๑) หลักอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน (Popular Sovereignty) เพื่อแสดงออกถึงอำนาจในการปกครองของประชาชนโดยแท้จริง ประชาชนจะแสดงออกซึ่งการเป็นเจ้าของโดยใช้อำนาจกำหนดตัวผู้ปกครอง และผู้แทนของตน รวมทั้งอำนาจในการถอดถอนในกรณีที่มีการใช้อำนาจโดยมิชอบ โดยผ่านกระบวนการเลือกตั้งของประชาชนอย่างอิสรเสรีแบบลับและทั่วถึง มีกำหนดเวลาที่แน่นอน[1]   ในพระพุทธศาสนาได้กล่าวถึงหลักอธิปไตย ๓ ประการคือ หลักอัตตาธิปไตย คือการเอาตนเป็นใหญ่ หลักโลกาธิปไตย คือการเอาโลกเป็นใหญ่ และหลักธรรมาธิปไตย คือการเอาหลักธรรมเป็นใหญ่ ซึ่งพระพุทธศาสนามุ่งเน้นหลักธรรมาธิปไตยเป็นรูปแบบในการปกครองที่ดีที่สุด

          ๒) หลักเสรีภาพ (Liberty) หมายถึง การที่บุคคลสามารถกระทำ หรืองดเว้นกระทำการสิ่งหนึ่งสิ่งใดตามที่ต้องการ ตราบเท่าที่การกระทำหรืองดเว้นการกระทำนั้นไม่ไปละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย และไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน[2] ตามหลักพระพุทธศาสนา มีการกำหนดสิทธิและหน้าที่ ไว้ในพระวินัยไว้อย่างชัดเจน เช่น การกำหนดบทบาทและหน้าที่ของสงฆ์ในการทำญัตติกรรม ทำด้วยสงฆ์จตุวรรค คือ สงฆ์ ๔ รูปขึ้นไป ได้แก่ การสวดปาฏิโมกข์ ทำสังฆกรรม เป็นต้น การทำญัตติจตุตถกรรม ทำด้วยสงฆ์ปัญจวรรค คือ สงฆ์ ๕ รูปขึ้นไป ได้แก่ การกรานกฐิน เป็นต้น และญัตติจตุตถกรรม ทำด้วยสงฆ์ ๑๐ รูปขึ้นไป (ยกเว้นในที่กันดารที่หาพระสงฆ์ได้ยาก) ได้แก่ การอุปสมบท เป็นต้น นอกจากนั้นพระพุทธเจ้ายังให้หลักเสรีภาพในการคิด เช่น ชาวกาลามะ ในการที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อ ในกาลามสูตร ๑๐ ประการ เช่น อย่าเชื่อเพียงเพราะเล่าสืบกันมา ฟังตามกันมา ข่าวลือ การอ้างตำราหรือทฤษฎี เป็นต้น หากจะเชื่อต้องใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบตามหลักของโยนิโสมนสิการ

          ๓) หลักความเสมอภาค (Equality) คือ ในระบอบประชาธิปไตยเชื่อมั่นว่า หากมนุษย์มีโอกาสที่เสมอภาคเท่าเทียมกันถึงแม้ว่าจะมีความสามารถที่แตกต่างกันก็ตาม มนุษย์จะสามารถดำรงชีวิตที่ดีร่วมกันได้ ดังนั้นความเสมอภาคจึงหมายถึง ความเสมอภาคขั้นพื้นฐานที่ประชาชนในสังคมเดียวกันมีความเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายเดียวกันได้[3] ในพระพุทธศาสนา จะเห็นได้อย่างชัดเจนในการให้ความเสมอภาคในเรื่อง วรรณะ   เชื้อชาติ เช่น บุคคลไม่ว่าจะอยู่วรรณะไหนก็สามารถเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาได้ และนับถือกันในเรื่องของพรรษา โดยไม่คำนึงว่าจะอยู่วรรณะใด เชื้อชาติใด หลักความเสมอภาคในการเคารพนับถือพระรัตนตรัย เป็นต้น

          ๔) หลักการปกครองโดยกฎหมาย (Rule of Law) หลักการนี้มีขึ้นเพื่อมุ่งจะให้ความคุ้มครองแก่สิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนเป็นสำคัญ ดังนั้น ผู้ปกครองจะใช้อำนาจใดๆ ได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายให้อำนาจไว้ อีกทั้งการใช้อำนาจนั้นจะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ซึ่งเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนเท่านั้น การจำกัดสิทธิเสรีภาพใดๆ ของประชาชนจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมายเท่านั้น[4] ในพระพุทธศาสนามีพระวินัย ซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายที่เป็นหลักปฏิบัติของสงฆ์ ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อหมู่คณะมีความสงบสุข ข่มคนชั่ว ปกป้องคนดี จนถึงเพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม คือพระพุทธศาสนา เป็นต้น

          ๕) หลักเสียงข้างมาก (Majority Rule) การปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นการปกครองเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ดังนั้น ในการตัดสินใจใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดตัวผู้ปกครอง หรือการตัดสินใจของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ จะต้องถือเอาเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ และเพื่อให้มั่นใจว่าการตัดสินใจนั้นสะท้อนถึงความต้องการของคนส่วนใหญ่อย่างแท้จริงก็จะต้องให้ความเคารพและคุ้มครองเสียงข้างน้อยด้วย (Minoirty Right) ทั้งนี้ เพื่อประกันว่าฝ่ายเสียงข้างมากจะไม่ใช้มติในลักษณะพวกมากลากไป[5] ในพระพุทธศาสนา ก็ใช้หลักเสียงข้างมาก เป็นเครื่องตัดสิน เช่น การรับกฐิน จะต้องมีการถามท่ามกลางสงฆ์ว่า พระภิกษุรูปใดสมควรได้รับผ้ากฐิน โดยมีการเสนอพระภิกษุรูปที่สมควรได้รับผ้ากฐิน หากพระภิกษุสงฆ์เห็นด้วยก็เปล่งวาจาพร้อมกันว่า “สาธุ” หรือหากภิกษุรูปใดทำผิดพระวินัย ก็มีการตัดสินที่เรียกว่า “เยภุยยสิกา” คือ การระงับด้วยเสียงข้างมากลงมติ ทั้งอธิกรณ์และการระงับสงฆ์ส่วนใหญ่ และในการประชุมทำสังฆกรรมต่างๆ นั้น ต้องมีมติเป็นเอกฉันท์ หากมีข้อข้องใจมีสิทธิยับยั้ง (Veto) ได้ แม้เพียงพระภิกษุรูปเดียวทักท้วง สงฆ์ทั้งหมดก็ต้องฟัง ดังกรรมวาจาที่ว่า “ยสฺสายสฺมโตขมติ...โสตุณฺหสฺสยสฺส น ขมติ โส ภาเสยฺย” แปลว่า “ถ้ากรรมนี้ ชอบใจต่อท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเงียบ ถ้าไม่ชอบใจต่อท่านผู้ใด ผู้นั้นพึงพูดขึ้น”

 

๑.ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับรัฐศาสตร์

 

          การศึกษาถึงความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับรัฐศาสตร์ เพื่อเป็นการปูพื้นฐานในการนำไปสู่แนวคิดทางการเมือง และเกี่ยวโยงไปถึงแนวคิดทางรัฐศาสตร์ตามแนวพระพุทธศาสนา ดังรายละเอียดดังนี้

 

๑.๑ ความหมายของรัฐศาสตร์

 

                    คำว่า รัฐศาสตร์ (Political Science) หมายถึง ศาสตร์ที่ว่าด้วยการเมือง หรือความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่หากพิจารณาถึงฐานศัพท์ของคำว่า political science จะพบว่า political ที่เป็นคำคุณศัพท์มีรากฐานมาจากคำในภาษากรีก คือ “polis” ที่แปลว่า “วิธีการในการจัดองค์การทางการเมือง” ซึ่งในสมัยนั้นมีลักษณะเป็นการจัดองค์การทางการเมืองในรูปแบบนครรัฐที่มีอาณาเขตไม่กว้างขวางและมีประชากรไม่มากนัก จากความหมายดังกล่าวนี้เองที่ทำให้ political science หมายถึง ศาสตร์ที่ว่าด้วยรัฐ (the science of the state) หรือ “รัฐศาสตร์”[6]

          พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช ๒๕๒๕ ให้ความหมายของคำว่า “การเมือง” ไว้ดังนี้[7]

          ๑. งานที่เกี่ยวกับรัฐหรือแผ่นดิน เช่น วิชาการเมือง ได้แก่ วิชาที่ว่าด้วยรัฐ การจัดส่วนแห่งรัฐและการดำเนินงานแห่งรัฐ

          ๒. การบริหารประเทศเฉพาะที่เกี่ยวกับนโยบายในการบริหารประเทศ เช่น การเมืองระหว่างประเทศ ได้แก่ การดำเนินนโยบายระหว่างประเทศ

          ๓. กิจการอำนวยหรือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน เช่น ตำแหน่งการเมือง ได้แก่ ตำแหน่งซึ่งมีหน้าที่อำนวย (คณะรัฐมนตรี) หรือควบคุม (สภาผู้แทนราษฎร) การบริหารแผ่นดิน

ดังนั้น การเมือง เป็นงานที่เกี่ยวกับรัฐและแผ่นดินหรืองานบริหารประเทศ ซึ่งงานด้านนี้จะมีบุคคลที่สำคัญๆ อยู่ ๒ พวก คือ ผู้ปกครอง (รัฐบาล) กับผู้ถูกปกครอง (ประชาชน) โดยฝ่ายผู้ปกครองมีอำนาจในการปกครองแผ่นดินให้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย ส่วนจะใช้อำนาจการปกครองแบบใดนั้น ขึ้นอยู่กับระบบการเมืองของรัฐนั้นๆ

                 

๑.๒ แนวคิดทางการเมืองการปกครองทั่วไป[8]

 

                   แนวคิด (Theory) ทางการเมืองการปกครองของแต่ละสำนักที่เสนอแนวคิดออกมา บางครั้งจะก่อให้เกิดอิทธิพลที่อยู่เหนือจิตใจชนในกลุ่มต่าง ๆ บางครั้งรุนแรง ขัดแย้ง  ต่อสู้กัน จนเกิดความเสียหาย แบ่งพรรค แบ่งฝ่าย แบ่งพวกกันมามากต่อมากแล้ว เจ้าลัทธิหรือนักปราชญ์เจ้าของทฤษฎีเอง ก็พยายามปรับปรุงแก้ไขแสวงหาแนวคิดวิธีการที่ดีที่สุด แต่ถึงกระนั้นก็มีแนวความคิดที่ขัดแย้งกันอยู่ เพราะความคิดทางการเมืองนั้นเกิดขึ้นเมื่อบุคคลเริ่มตระหนักถึงความสัมพันธ์ที่เขามีต่อรัฐ และรัฐมีต่อเขา หรืออีกนัยหนึ่ง ความสัมพันธ์ในแง่ที่ว่าบุคคลต้องปฏิบัติอย่างไรต่อรัฐ และรัฐจะปฏิบัติอย่างไรต่อบุคคล ซึ่งแนวความคิดดังกล่าวนี้ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับรัฐ หรือรัฐบาล หรือผู้นำที่มีผลกระทบต่อผู้อยู่ใต้การปกครอง จนบางครั้งทำให้มีแนวคิดที่ว่าใครควรจะเป็นผู้นำที่มีอำนาจ หรืออำนาจควรมาจากใคร ทั้งนี้ คนบางกลุ่มคิดว่า พระมหากษัตริย์ควรเป็นผู้ใช้อำนาจทางการเมืองแต่ผู้เดียว อีกกลุ่มหนึ่งกลับคิดว่าการที่ให้บุคคลเดียวใช้อำนาจอย่างเต็มที่นั้นไม่ดี อำนาจควรกระจายกันไป สองกลุ่มนี้มีแนวความคิดที่ไม่เหมือนกันและเป็นแนวความคิดที่ขัดแย้งกันอยู่ตลอดมา บุคคลกลุ่มหนึ่งคิดว่ามนุษย์เราเกิดมาควรจะทำงานเต็มที่ตามความสามารถของตนก็ควรที่จะมีสมบัติเป็นส่วนตัว บุคคลอีกกลุ่มหนึ่งคิดตรงกันข้าม คือคิดว่ามนุษย์ในสังคมนี้เกิดมาอยู่ในสังคมเดียวกัน สังคมพึงจะรับผิดชอบต่อชีวิตของทุก ๆ คนนั่นคือคนรวยควรช่วยเหลือคนจน ควรที่จะห้ามมิให้บุคคลที่มีทรัพย์สินส่วนตัวโดยให้ถือเป็นทรัพย์สินของรัฐเสียหมด

                    แนวคิดทางการเมืองการปกครองตามแนวพระพุทธศาสนา มาจากกรอบความคิดที่ต้องการศึกษาแนวคิดทางการปกครอง หรือการบริหารในพระไตรปิฎก นั้นเอง คำว่า แนวคิด หรือ ทฤษฎี คือความเห็นอย่างหนึ่งซึ่งตรงกับภาษาบาลีว่า ทิฏฐิ คำว่าทฤษฎี หรือ ทิฎฐิ เป็นคำกลางๆ กล่าวคือเป็นคำที่อธิบายถึงสิ่งต่างๆ ตามความรู้ความเข้าใจของผู้แสดงความคิดเห็นที่แสดงออกมาโดยสอดคล้องกับกฎแห่งความจริง  ซึ่งสามารถนำไปพิสูจน์ทดลองเพื่อหาคุณค่าแห่งความจริงและความเชื่อมั่น พระพุทธศาสนาเรียกสัมมาทิฏฐิ หรือ สัมมาทฤษฎี ในทางตรงข้ามความคิดเห็นหรือความรู้ใดๆ ก็ตามที่ไม่สอดคล้องกับกฎแห่งความจริงซึ่งเมื่อนำไปพิสูจน์หรือไปทดลองปฏิบัติแล้ว จะไม่บังเกิดผลให้เป็นคุณค่าที่ดี และไม่ส่งเสริมการพัฒนาหรือความก้าวหน้า พระพุทธศาสนาเรียกว่า มิจฉาทิฏฐิ หรือ มิจฉาทฤษฎี                                    พระเทพเวที (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้กล่าวไว้ว่า สังคมที่ดีต้องมีกติกา และคนในสังคมต้องรักษากติกานั้น มีความเสมอภาคคือเท่าเทียมกันต่อหน้ากฎหมายได้รับความยุติธรรมจากกฎหมายเสมอหน้ากัน เพราะฉะนั้นความมีศีลและรักษาระเบียบวินัยเสมอกันจึงถือเป็นหลักสำคัญ ตัวอย่าง เช่น หลักทิฐิสามัญญตา คือ มีทิฐิ หรือทิฎฐิ มีความเห็น มีความเชื่อมั่น ยึดถือในหลักการ อุดมการณ์และอุดมคติที่ร่วมกันหรือสอดคล้องไปกันได้ คนในสังคมประชาธิปไตยนี้อย่างน้อยต้องมีความเห็นความเข้าใจและความเชื่อมั่นในหลักการประชาธิปไตยร่วมกัน เริ่มแต่ยอมรับระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยนี้ แล้วถ้าจะให้เป็นประชาธิปไตยที่ดีก็ต้องมีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาสาระของประชาธิปไตย อย่างน้อยก็เข้าใจเรื่องเสรีภาพ คำว่า เสรีภาพ ในความหมายของพระพุทธศาสนาคือคนที่มีจิตใจเป็นอิสระไม่ถูกครอบงำด้วยกิเลส

                    กล่าวโดยสรุป คำว่า ทิฐิ หรือ ทิฎฐิ หมายถึงความรู้เห็นเข้าใจลึกลงไปจนถึงความจริงของธรรมชาติเห็นโลกเป็นชีวิตและสรรพสิ่งตามเป็นจริงว่าเป็นของไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงไป เกิดขึ้นแล้วก็ปรวนแปร แล้วก็ดับสลายไป ไม่มีอะไรจะยืนยงคงอยู่นิตย์นิรันดร

                   ในยุคอินเดียโบราณ ก็มีแนวความคิดที่ว่าเช่นนี้เหมือนกันซึ่งมาจากคัมภีร์ของศาสนาฮินดูที่เรียกว่ามานวธรรมศาสตร์ ที่ทำให้สังคมอินเดียต้องยอมรับแนวความคิดที่ว่ามานี้เป็นระยะเวลาเป็นหลายพันปีมาแล้ว ซึ่งคัมภีร์มานวธรรมศาสตร์ได้อธิบายว่า พระผู้เป็นเจ้าสร้างโลกแล้วสร้างธรรมสำหรับโลกแล้วสร้างมนุษย์เพื่อให้มนุษย์ทำดีและอยู่กันอย่างปกติสุขโดยอาศัยข้อปฏิบัติตามหลักวรรณะ ๔ คือพราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ และศูทร์ การเมืองการปกครองสมัยนั้นถูกอิทธิพลทางศาสนาพราหมณ์ ครอบงำจนไม่สามารถขยับตัวได้ ทุกสิ่งทุกอย่างทางความเชื่อล้วนตกอยู่ภายใต้คำสอนของศาสนาพราหมณ์ สังคมประเพณีวิถีชีวิตของสังคมในสมัยพุทธกาลนั้น ก็ล้วนแล้วแต่พราหมณ์เป็นผู้กำหนดจนทำให้เกิดชนชั้นวรรณะขึ้น

                    ดร. บี.อาร์.อัมเบดการ์ (Dr. B. r. ambedkar) ได้แสดงแนวคิดเกี่ยวกับพระพุทธศาสนากับระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยไว้ว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ยังไม่เป็นที่รู้จักของคนในปัจจุบัน แต่ในอดีตกาล อินเดียมีสถาบันทางรัฐสภา อินเดียในอดีตกาลจึงก้าวหน้าไปไกลกว่าใครๆ เช่น ที่ปรากฏในมหานิพพานสูตรของพระพุทธศาสนา มีข้อความว่า ขณะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ เมืองกุสินารา      (กุสินาคาร์) ใกล้เวลาเสด็จดับขันปรินิพพาน ทรงรับสั่งให้พระอานนท์ไปแจ้งข่าวการปรินิพพานแก่พวกมัลลกษัตริย์ ซึ่งขณะนั้นพวกกษัตริย์กำลังอยู่ระหว่างการประชุมสภากันอยู่

                    ในขณะนั้น พวกมัลลกษัตริย์ก็ใช้ระบอบการปกครองแบบรัฐสภา (สามัคคีธรรม) ปกครองรัฐอยู่ เมื่อได้ทราบข่าวร้ายเช่นนั้น พวกกษัตริย์ ก็ตัดสินใจว่า ไม่ควรพักการประชุม แต่ควรประชุมต่อไปจนหมดวาระ เสร็จการประชุมสภาแล้ว จึงค่อยไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่กุสินารา

                    ดังนั้น สาระที่สำคัญของพระพุทธศาสนา ตั้งอยู่บนพื้นฐานปฏิบัติการเพื่อเสรีภาพของบุคคล คือ เสรีภาพทางเศรษฐกิจ เสรีภาพทางสังคม และเสรีภาพทางการเมือง พระพุทธเจ้า คือบุคคลผู้ชูประทีปแห่งประชาธิปไตย และเป็นผู้สนับสนุนอย่างจริงจังต่ออิสรภาพ สมภาพ และภราดรภาพ เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาเท่านั้นที่มวลมนุษย์จะมีเสรีภาพที่แท้จริงได้

 

   ๒.ทัศนะเกี่ยวกับแนวคิดทางการเมืองการปกครองตามแนว

        พระพุทธศาสนา[9]

 

แนวคิดทางการเมืองการปกครองในพระไตรปิฎกได้มีนักวิชาการทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ได้พยายามที่จะเสนอแนวคิดทฤษฎีทางการเมืองที่มีมาในพระไตรปิฎกหรือคำสอนในทางพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้จำต้องนำเอาทฤษฎีทางการเมืองของตะวันตกเข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ เพราะหากวิเคราะห์ไปโดยไม่มีกรอบไม่มีทฤษฎีแล้ว แม้จะทำให้เห็นแนวคิด แต่ก็ทำให้ไม่สามารถเชื่อมโยงเป็นระบบได้เพราะมีขอบข่ายที่กว้างเกินไปจนจับหลักไม่ได้ และถ้าอธิบายโดยใช้มโนทัศน์ทางตะวันตกมากเกินไป  ก็จะเป็นการทำให้เนื้อหาแคบลงไปได้ ซึ่งในที่นี้จะได้นำเสนอทั้งหมด ๘ แนวความคิดหลัก ซึ่งแต่ละแนวทางล้วนเกิดจากฐานความรู้ ภูมิหลัง และทิฏฐิความเห็น หรือความเชื่อของนักวิชาการแต่ละท่านซึ่งจะอธิบายดังต่อไปนี้

 

 

 

 

๒.๑ การตีความคำสอนทางพระพุทธศาสนาเป็นแนวประชาธิปไตย

 

เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นในยุคแรกๆ ที่ประเทศไทยให้การสนับสนุนความคิดทางด้านการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างมาก ซึ่งเริ่มจากจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีและมีอิทธิพลจนนักสอนศาสนาทั้งฝ่ายฆราวาสและพระสงฆ์ยึดถือว่าเป็นคำอธิบายที่ถูกต้องและพยายามอธิบายในแนวทางนี้เรื่อยมา และ หากดูจากหลักธรรมคำสอนของพุทธศาสนา มีหลายสิ่งหลายประการที่ตรงกับลักษณะของประชาธิปไตยซึ่งเน้นที่ตัวปัจเจกบุคคล พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่เริ่มต้นจากตัวบุคคล ที่มีทั้งอิสรภาพและเสรีภาพในการกระทำ หรือไม่กระทำ 

 

๒.๒ การตีความคำสอนทางพระพุทธศาสนาเป็นแนวสังคมนิยม

 

                   แนวความคิดนี้ได้มีโอกาสแพร่เข้ามาในกลุ่มของนิสิตนักศึกษาและชนชั้นที่ใช้แรงงานที่มีความคิดต่อต้านรัฐบาลที่มีลักษณะของเผด็จการโดยเริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๔ ตุลาคม  ๒๕๑๖ เป็นต้นมาคือตั้งแต่ยุคของจอมพล ป.พิบูลย์สงคราม มาจนถึงยุคของจอมพลถนอม  กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นยุคสมัยที่รัฐบาลปกครองด้วยรัฐทหารจึงทำให้บรรยากาศของประเทศไทยในตอนนั้นเบื่อหน่ายต่อผู้ปกครอง และกลุ่มปัญญาชนได้แสวงหาทางออกอื่นๆ ซึ่งส่วนหนึ่งนิสิตนักศึกษาใฝ่ฝันถึงแนวคิดสังคมแบบ ยูโทเปีย ที่บรรยายถึงดินแดนสุขาวดีในโลกมนุษย์ของโทมัสมอร์ แห่งอังกฤษ ที่พิมพ์ออกเผยแผ่เมื่อ ค.ศ. ๑๕๐๓ เป็นต้นมา จนทำให้การเคลื่อนไหวของกรรมกรและปัญญาชน ได้บรรลุถึงระดับใหม่ของการสร้างอุดมการณ์ร่วมและหนีเข้าป่าเพื่อจับอาวุธต่อสู้รัฐบาลกลาง

 

          ๓.๓ การตีความคำสอนทางพระพุทธศาสนาเป็นแนวธรรมิกสังคมนิยม

 

                        พุทธทาส ภิกขุ ได้วิพากษ์วิจารณ์ประชาธิปไตยและทุนนิยมในทางลบโดยแสดงทัศนะสนับสนุนสังคมนิยม แต่ไม่ต้องการให้เป็นสังคมนิยมแบบคอมมิวนิสต์ ได้แนวคิดเรื่องธรรมะและธรรมชาติ ที่อยู่รวมกันเป็นวิถีแห่งสังคม โดยให้คำนิยามใหม่ว่า “ธัมมิกสังคมนิยม” ซึ่งสังคมนิยมแบบนี้จะไม่มีทั้งชนชั้นนายทุนและชนชั้นกรรมาชีพ แต่จะมีระบบที่ประกอบด้วยธรรมที่ถูกต้องและจริงๆ แล้วคนรวยในประวัติพุทธศาสนาก็ไม่ได้เป็นชนชั้นนายทุนที่ขูดรีดหรือน่ารังเกียจ เช่น อนาถปิณฑิกเศรษฐี นางวิสาขา เป็นต้นซึ่งแนวคิดดังกล่าวนี้สามารถที่จะสรุปได้ว่าคุณค่าของความคิดทางการเมืองของพุทธทาสภิกขุ พิจารณาได้ ๒ ส่วน คือส่วนแรก ในฐานะหลักการ หรือคุณค่าทางด้านจิตใจ หลักการใดก็ตามถ้าประกอบด้วยหลักธรรมแล้วเป็นระบบการเมืองที่ถูกต้องโดยเรียกว่าระบบธัมมิกสังคมนิยม และส่วนที่สอง ด้านระบบเห็นว่าการปกครองที่ใช้วิธีเผด็จการโดยมีธรรมกำกับเป็นการปกครองที่ดีที่สุด

                     ปรีชา ช้างขวัญยืน ได้วิพากษ์วิจารณ์ไว้ว่า เป็นการอธิบายที่สนับสนุนกระแสการเมืองโดยดัดแปลงสังคมนิยมให้เป็นแบบพุทธอิงหลักธรรมคำสั่งสอนในพระไตรปิฎก จนเห็นได้ชัดว่าสังคมนิยมแบบของท่านพุทธทาสไม่ใช่สังคมนิยมที่พูดกันโดยทั่วไปเพราะไม่ได้พูดถึงหลักการอันเป็นหัวใจของสังคมนิยม ซึ่งทำให้คิดได้ว่าท่านไม่สนใจ หรือไม่ท่านก็อาจไม่เข้าใจหลักการดังกล่าว ท่านเข้าใจสังคมนิยมอย่างพื้นๆ คือเข้าใจอย่างที่คนทั่วไปซึ่งได้อยู่ในกระแสการเมืองสมัยนั้นเข้าใจ มิใช่เข้าใจอย่างนักวิชาการทางปรัชญาการเมืองหรือปรัชญาเศรษฐกิจเข้าใจกัน

 

         ๒.๔ การตีความคำสอนทางพระพุทธศาสนาเป็นแนวปรัชญาการเมือง

 

                   ดร. ชัยอนันต์ สมุทวณิช ได้แสดงแนวคิดไว้คือ การใช้ความรู้ทางด้านรัฐศาสตร์และปรัชญาการเมืองมาวิเคราะห์ความคิดทางการเมืองที่ปรากฏในคัมภีร์ต่าง ๆ เช่น อัคคัญญสูตร และราชนีติ ซึ่งอาจมองได้ว่าท่านผู้นี้ได้รับอิทธิพลแนวคิดแบบตะวันตกอย่างมาก ในเรื่องดังกล่าวนี้  

                        สมภาร พรหมทา ได้เสนอแนวคิดไว้ว่า แทบจะไม่สามารถแยกความหมายของคำว่าปรัชญาการเมือง และปรัชญาสังคมออกจากกัน แต่ถ้าจะให้เข้าใจก็คือเมื่อนักปรัชญาคนหนึ่งเสนอว่ารูปแบบหรือโครงสร้างต่อไปนี้ดีที่สุดสำหรับใช้เป็นแบบในการ จัดระบบการอยู่ร่วมกันพร้อมกับให้เหตุผลสนับสนุน ข้อเสนอนั้นเป็นปรัชญาการเมือง แต่ถ้านักปรัชญาคนดังกล่าวไม่หยุดอยู่เพียงแค่นั้น หากแต่เสนอลงไปในรายละเอียดว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับปัจเจกชน หรือระหว่างปัจเจกบุคคลกับสังคมควรมีเสรีภาพเท่าใด มีสิทธิเท่าใด เป็นต้น ข้อเสนอนั้นจัดอยู่ในประเภทปรัชญาสังคม ดังนั้นปรัชญาสังคมและการเมืองก็คือแนวคิดอันได้แก่ข้อเสนอและเหตุผลสนับสนุนที่เกี่ยวกับโครงสร้างทางการเมืองและรายละเอียดต่างภายในโครงสร้างนั้น เช่น เรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม เป็นต้น

 

           ๒.๕ การตีความคำสอนทางพระพุทธศาสนาเป็นแนวธรรมาธิปไตย

 

                   แนวคิดนี้ เป็นแนวคิดที่ต้องการเชิดชูยกย่องพระพุทธศาสนาให้สูงเหนือกว่าแนวคิดทั้งประชาธิปไตยและสังคมนิยมที่ต่างก็มีข้อบกพร่องกันอยู่ โดยจัดแนวคิดแบบประชาธิปไตยเป็นแบบโลกาธิปไตย และจัดแนวคิดแบบสังคมนิยมเป็นแบบอัตตาธิปไตย ซึ่งทั้งสองแนวคิดพระพุทธเจ้ามิได้ทรงสรรเสริญ แต่ทรงยกย่องแนวคิดแบบธรรมาธิปไตย ที่มีธรรมเป็นใหญ่ คือหลังจากได้พิจารณาไตร่ตรองข้อเท็จจริงและเหตุผลตามที่ได้รับฟังมาแล้วอย่างกว้างขวาง พิจารณาอย่างดีที่สุดเต็มขีดแห่งสติปัญญา จะมองเห็นได้ด้วยความบริสุทธิ์ใจว่าเป็นไปโดยชอบธรรมและเพื่อความดีงาม กระทำการต่างๆ โดยยึดหลักการ กฎ ระเบียบกติกา ทั้งนี้คำสอนของพุทธศาสนาเป็นธรรมาธิปไตยและยกย่องธรรมาธิปไตย ส่วนประชาธิปไตยก็คงสงเคราะห์เข้าในโลกาธิปไตย หรือประชาธิปไตยที่อยู่บนพื้นฐานของธรรมาธิปไตย

                   ปรีชา ช้างขวัญยืน ได้แสนอแนวคิดซึ่งเกิดจากการพิจารณาเพียงคำว่า อธิปไตย โดยมิได้ดูบริบทต่างๆ ว่ามีความหมายอย่างเดียวกับคำว่า อธิปไตย ที่ต่อท้ายคำเรียกระบอบการปกครองต่างๆ หรือไม่ จึงเป็นแนวทางที่เกิดจากความเข้าใจผิดตั้งแต่ต้น และผู้เสนอแนวทางนี้ซึ่งก็ไม่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นคนแรกก็มิได้มีตัวอย่างที่เป็นเรื่องการเมืองการปกครองที่ปรากฏจริงในพระไตรปิฎกมาสนับสนุนเหมือนข้อเสนอในแนวทางประชาธิปไตยกับสังคมนิยมซึ่งมีมาก่อนหน้านั้น

 

๒.๖ การตีความคำสอนทางพระพุทธศาสนาเป็นแนวพุทธประวัติ

 

แนวคิดนี้เป็นมุมมองที่นักวิชาการบางท่านได้พยายามชี้ประเด็นเรื่องพุทธประวัติให้เป็นการเมืองที่สุดโต่ง เช่น วิเคราะห์ว่าเจ้าชายสิทธัตถะราชกุมารเสด็จออกผนวชตอนกลางคืน ทำไมไม่เสด็จออกตอนกลางวันอาจเป็นเพราะเหตุผลทางการเมือง เป็นต้น ซึ่งแนวความคิดนี้เป็นเพียงแนวความคิดที่วิพากษ์ในห้องเรียน ซึ่งเสี่ยงต่อการต่อต้านจากพุทธศาสนิกชนเป็นอย่างมาก

 

๒.๗ การตีความคำสอนทางพระพุทธศาสนาเป็นแนวนิติรัฐ

 

    เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นในปี ๒๕๒๔ ที่เหล่านักวิชาการสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ ในยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีให้มีโครงการศึกษาเพื่อเสนอหลักวิชาการตามแนวพุทธศาสตร์ รัฐศาสตร์ตามแนวพุทธศาสตร์จึงเป็นหนึ่งในโครงการดังกล่าว แนวความคิดที่เหล่านักวิชาการได้ระดมกันนั้นโดยมากมุ่งไปที่พระวินัยปิฎกโดยมีกรอบของหลักนิติบัญญัติเป็นตัวกำหนด หากมองในแง่ของการลงโทษทางวินัย หรือการปรับอาบัติ  สังคมสงฆ์จะเข้ามาจัดการเพราะเป็นปัญหาที่กระทบถึงสังคมโดยส่วนรวม ในฐานะที่เป็นสมาชิกของสังคม ซึ่งประเด็นนี้ทำให้มองเห็นว่าพระวินัย หรือสิกขาบท เป็นธรรมนูญการปกครองที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติขึ้นใช้กับคณะสงฆ์ แต่ก็สามารถเทียบเคียงได้กับหลักกฎหมายทางอาณาจักรอย่างน้อยก็สะท้อนแนวคิดที่ว่าพระพุทธเจ้าทรงยอมรับว่า กฎหมายมีความจำเป็นในการปกครองไม่ว่าจะในส่วนของคณะสงฆ์หรือฝ่ายบ้านเมือง[10]

 

 

 

.๘ การตีความคำสอนทางพระพุทธศาสนาเป็นแนวมโนทัศน์สมัยใหม่

 

                   ปรีชา ช้างขวัญยืน ได้เสนอแนวคิดใหม่หลังจากมองเห็นข้อจำกัดของการอธิบายในอดีตคือแนวทางที่ ๑-๕ ที่กล่าวมาข้างต้น ในทัศนะดังกล่าวท่านได้มองข้อจำกัดของแนวทางเหล่านั้นไว้ ๖ ประการคือ

๑) ไม่มีการพิจารณาระดับความเจริญของการเมือง สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมในสมัยพุทธกาลว่าอยู่ในระดับใด เมื่อเทียบกับปัจจุบันเพราะการอธิบายไม่ได้แยกระดับจนดูราวกับว่าคนสมัยพุทธกาลเข้าใจประชาธิปไตยและสังคมแบบเดียวกับคนยุคปัจจุบัน

๒) ไม่มีการแยกลักษณะร่วมบางประการที่เกิดขึ้นในหลายระบอบการปกครอง  เช่น การเลือกตั้ง การประชุมแบบเสียงข้างมาก เมื่อเห็นว่าแนวคิดทางพระพุทธศาสนาสอดคล้องกับประชาธิปไตยก็ยึดถือเหตุผลดังกล่าวเป็นหลัก

                   ๓) ระบอบการปกครองทั้งประชาธิปไตยและสังคมนิยมที่วิเคราะห์กันมาล้วนเน้นเรื่องบุคคลมากกว่าระบบ

                   ๔) ไม่มีการสำรวจข้อมูลให้ทั่วถึงทั้งพระไตรปิฎกและชาดก ว่าส่วนใดเป็นเรื่องสมัยก่อนพุทธกาล หรือส่วนใดเป็นเรื่องในสมัยพุทธกาล และที่สำคัญไม่ได้พิจารณาคำสอนที่เกี่ยวกับการปกครองและเศรษฐกิจว่าสามารถระบุชัดเจนว่าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยกับระบบไหน

                   ๕) ไม่ได้พิจารณาคำสอนและเจตนาของพระพุทธเจ้า ว่าระบบไหนดีกว่าอีกระบบอย่างไร เพียงแต่เลือกมาเฉพาะที่สนับสนุนความคิดของผู้วิเคราะห์ โดยละเลยส่วนที่ขัดแย้งมาพิจารณา

                   ๖) แนวการวิเคราะห์ที่อาศัยแนวคิดตะวันตกมากเกินไปอาจเป็นการลำเอียงและคับแคบ ดังนั้น ปรีชา ช้างขวัญยืน จึงเสนอแนวคิดการตีความพระพุทธศาสนาทางการเมืองใหม่ที่กว้างขึ้น ในสองลักษณะคือ        

. กว้างด้วยหลักฐานข้อมูล คือศึกษาหลักฐานทั้งบริบท คือสมัยพุทธกาลในแง่ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ในพระไตรปิฎกและคัมภีร์อื่นๆ จะทำให้ไม่กลายเป็นการนำความคิดของคนปัจจุบันไปใส่ให้แก่พระพุทธเจ้า

                   ข. กว้างด้วยมโนทัศน์ คือการใช้มโนทัศน์ทางตะวันตกมาพิจารณาคำสอนในศาสนาบางครั้งก็แคบเกินกว่ามโนทัศน์ทางศาสนา เพราะการเมืองมุ่งสร้างระบอบบังคับมากกว่ามุ่งที่จะชักจูงใจของปัจเจกชน และเมื่อพิจารณาอย่างจริงจังอาจทำให้เห็นถึงแนวปรัชญาการเมืองแบบใหม่ได้

                    สรุปแล้ว แนวคิดทางการปกครองในพระไตรปิฎกทั้ง ๘ แนวนั้น เหล่านักวิชาการได้พยายามประยุกต์ให้บูรณาการเข้ากับหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาโดยอาศัยความรู้พื้นฐานของรัฐศาสตร์ที่ได้รับอิทธิพลจากการศึกษาทางด้านตะวันตก และค้นคว้าสืบต่อกันมาบ้างแล้ว ซึ่งจะเป็นแนวทางให้นักวิชาการรุ่นต่อไปได้นำไปต่อยอดและขยายฐานสร้างองค์ความรู้ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

 

           กล่าวโดยสรุป พระพุทธศาสนาจึงเน้นการปกครองแบบธรรมาธิปไตยในหลักการปกครอง ๓ ประเภท คือ อัตตาธิปไตย ธรรมาธิปไตย และโลกาธิปไตย เพื่อใช้เป็นหลักของความดี ความถูกต้อง ความเสมอภาค ใช้เป็นหลักในการปกครอง เพื่อให้สังคมส่วนรวมมีความเป็นปกติสุข ไม่มีการแบ่งพรรค แบ่งพวก หรือชนชั้นวรรณะ สี ผิว ชาติ ตระกูล มีความสมานฉันท์ และคุ้มครองสิทธิของบุคคลทั่วไปให้ได้รับความเป็นธรรม ความเสมอภาคทางสังคมเท่าเทียมกัน หลักการปกครองตามแนวพระพุทธศาสนาจึงยึดหลักการปกครองสายกลาง อหิงสา ไม่เบียดเบียนผู้อื่นให้ได้รับความเดือดร้อน ยึดหลักความถูกต้องเป็นหลัก คือหลักธรรมาธิปไตยนั่นเอง

 

 

 



[1]ศาลรัฐธรรมนูญ, สำนักงาน. “ศาลรัฐธรรมนูญกับการพัฒนาประชาธิปไตยในระบบนิติรัฐ” รวมบทความทางวิชาการของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ชุดที่ ๓ : (กรุงเทพมหานคร: สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, ๒๕๔๗), หน้า ๓-๔.

[2]เรื่

หมายเลขบันทึก: 450052เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2011 12:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท