๑๖๙.ตำนานเจ้าพ่อล้านช้าง ตำนานน้ำออกฮู


ชาวเมืองเมื่อได้ทราบกิตติศักดิ์ของพญายักษ์ว่าได้เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ จึงตั้งศาลเพียงตา เอาไว้กราบไหว้บูชาสักการะศาลนั้นจึงได้ชื่อใหม่ว่า "ศาลเจ้าพ่อล้านช้าง" มาจนถึงทุกวันนี้

  

     มีเรื่องเล่าว่าพญายักษ์สองสามีภรรยา ได้อาศัยในถ้ำและเที่ยวหากินสัตว์น้อยใหญ่รวมทั้งมนุษย์เป็นอาหารมาช้านานอยู่บริเวณดอยแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นป่าใหญ่และแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ ได้จับสัตว์ต่าง ๆ กินโดยเฉพาะอย่างยิ่งช้าง

 

     ช้างเป็นอาหารสุดโปรดอย่างยิ่ง ซึ่งพญายักษ์จับกินเป็นอาหารมานานหลายปี ไม่สามารถนับจำนวนได้ คาดว่ามีมากกว่าล้านเชือก ชาวบ้านชาวเมืองในสมัยนั้นจึงโจษขานกันถึงพฤติกรรมดังกล่าว และเรียกพญายักษ์นั้นว่า "เจ้ายักษ์ล้านช้าง"

 

     มีเสียงเล่าขานว่า เจ้ายักษ์ล้านช้างสองผัวเมียนี้ มีวิธีกินแบบถึงลูกถึงคน ซึ่งวิธีการจับสัตว์กินเป็นอาหารนั้น  ๒ วิธี คือ

     ๑.ไล่จับกินกันสด ๆ คือวิ่งทันที่ไหนก็จับกินกันที่นั่นเลยทีเดียว แต่นาน ๆ ครั้งจะทำเพราะสัตว์จะแตกตื่นหนีไปหมดและเป็นการสงวนแหล่งทรัพยากรอาหารสำหรับตระกูลเอาไว้

     ๒.ส่วนวิธีที่แนบเนียนที่สุด และไม่สร้างความหวาดกลัวมากนักให้กับฝูงสัตว์ ก็คือใช้มนตราสะกดดูดจากแหล่งน้ำเข้าไปในถ้ำเพื่อจัดการเคี้ยวกิน โดยไม่ให้เห็นแม้แต่กระดูก

 

     ในวิธีการที่สองนี้เอง มีตำนานเล่าขานกันมากมายว่า ในบริเวณน้ำออกฮู (รู) ซึ่งมักจะมีช้างป่าลงมาดื่มน้ำ พอช้างลงไปในระยะทางพอสมควร ดินบริเวณด้านล่างของตัวช้างก็จะยุบตัวลงและค่อย ๆ ดูดช้างเข้าไปในถ้ำ

 

     ช้างทุกตัวเมื่อเผลอตัวลงไปในระยะแรกจะไม่รู้สึกตัวแต่เมื่อ ถูกดูดลงไปอย่างค่อย ๆ ถึงท้องจึงทุรนทุรายกระโจนหวังจะให้พ้น แต่อนิจจาสายไปเสียแล้ว พอรู้สึกตัวก็กลายเป็นอาหารอันโอชะของท่านพญายักษ์ไปเสียแล้ว เพราะเพียงแค่เสี้ยวนาทีช้างตัวมหึมาก็หมดลมหายใจ พร้อมร่างกายหายวับเข้าสู่น้ำดิ่งลงสู่ใต้ถ้ำอันเป็นวิมานของพญายักษ์กับภรรยาทันที

 

     มีเสียงเล่าลือกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาลว่า สายน้ำผุดแห่งนี้ไหลมาจากเขตอำเภอปง มีชาวบ้านเคยเห็นท่อนซุงไหลเข้ามาและโผล่มาทางถ้ำแห่งนี้และเจ้าเมืองปงเคยให้เสนาอำมาตย์โยนมะนาวลงในแม่น้ำในเมืองแล้วไหลรอดออกมาทางปากน้ำแห่งนี้ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอดอกคำใต้

     เคยมีคนเก่งอาคมเคยเข้าไปหาสิ่งของในถ้ำเป็นเวลาหลายวันเดินไปเดินมา ไปโผล่ ณ เมืองปงอีกฝากหนึ่งของภูเขา เป็นต้น เมื่อเสียงเล่าขานได้กระพืออกไปได้สร้างความสะพึงกลัวให้กับผู้คนเป็นจำนวนมาก ที่ไม่กล้าแม้แต่ย่างกรายเข้าไปใกล้สู่สถานที่แห่งนี้

 

     เนื่องจากพญายักษ์และภรรยาเป็นสัตว์ดุร้าย ดังความทราบแล้วนั้น วันหนึ่งเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จลงมาโปรดชนชาวล้านนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนเมืองพะเยา (ตำนานพระเจ้าเลียบโลก)

 

     พระพุทธเจ้าทรงเสด็จจาริกและพระราชทานพระเกษาธาตุให้บูชา เริ่มตั้งแต่พระธาตุจอมทอง พระธาตุดอยน้อย พระธาตุแจ่โหว้ และเสด็จลัดเลาะมาทางบริเวณภูเขาลูกหนึ่ง พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาเห็นว่าเป็นชัยภูมิที่ดีเหมาะแก่การตั้งมั่นพระพุทธศาสนา จึงดำริที่จะโปรดสัตว์ทั้งหลายอยู่ ณ บริเวณถ้ำแห่งนี้ (ดูตำนานพระธาตุจอมศีล)

 

     เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบด้วยวิถีจิตว่า บริเวณนี้เป็นที่อยู่อาศัยของยักษ์สองสามีภรรยา จึงตรัสสั่งให้พระเถระชื่อว่าอานนท์หยุดพักและปูอาสนะ เพื่อจะทรงพักผ่อนพระอิริยาบทและเจริญธรรมตามพระราชอัธยาศัย

 

     รอเวลาเพื่อจะโปรดสัตว์และรออุปนิสัยแห่งสัตว์ผู้พอที่จะแนะนำได้ ให้มีบารมีพอเหมาะหรือพร้อมเต็มรอบเสียก่อน อันเป็นพระราชอัธยาศัยของพระพุทธเจ้า ที่จะทรงสั่งสอนใคร ต้องให้ผู้รับหรือผู้เรียนธรรมมีอุปนิสัยเต็มรอบด้วยบารมีธรรมของแต่ละบุคคลแล้วพระองค์จะช่วยเสริมให้ในส่วนที่ขาดหายไป

 

      วันรุ่งขึ้นทรงตรวจดูสัตว์โลกด้วยทิพย์จักษุและทรงทราบว่าพญายักษ์สองสามีภรรยาเป็นสัตว์ที่มีสติปัญญาที่พอจะแนะนำสั่งสอนได้ จึงได้เสด็จออกบิณฑบาตรไปในเช้าวันนนั้น

 

     เมื่อยักษ์สองสามีภรรยา ออกมาหากินในเวลาดังกล่าวตามปกติ ด้วยพุทธานุภาพของพระองค์ สัตว์น้อยใหญ่ที่มีอย่างชุกชุมใน  ในบริเวณดังกล่าว วันนี้กลับเงียบหายไปหมด ไม่มีแม้แต่ตัวเดียวจนทำให้พญายักษ์สองสามีภรรยา อดที่จะแปลกใจไม่ได้ จึงปรึกษากันว่า "..เอ..วันนี้ มันเกิดอะไรขึ้นหนอ จึงไม่เห็นมีสัตว์สักตัว.." เดินไปก็บ่นไปสายตาจับจ้องมองหาเหยื่ออยู่

 

     ทันใดนั้น พระพุทธเจ้าก็ปรากฏต่อหน้าพญายักษ์สองสามีภรรยา เมื่อเห็นพระพุทธเจ้าแล้ว จึงคิดในใจว่า "โอหนอวันนี้ลาภปากของเราแท้ มนุษย์อัศจรรย์ผิวพรรณวรรณะ ช่างงดงามสดใสเดินมาแต่ไกล เราจักกินเป็นอาหาร" จึงติดตามไปเพื่อจะจับกิน เดินตามไปก็ตามไม่ทัน ลองเดินให้เร็วขึ้นก็ดูเหมือนว่ายิ่งเดินยิ่งไกล ลองวิ่งเยาะๆ ดู ก็ยังห่างไกลออกไปเหลือเกิน สุดท้ายติดสินใจวิ่งไล่ ด้วยพุทธานุภาพ จึงทำให้ไม่สามารถที่จะไล่ทันพระพุทธเจ้าได้

 

     ด้วยความโมโห จึงร้องตะโกนบอกให้สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าหยุดวิ่งหนีเสียที พระพุทธเจ้าทรงตรัสตอบไปว่า "เรานี้หยุดแล้ว ท่านสิยังไม่หยุด" พญายักษ์ยืนงงอยู่ครู่ใหญ่จึงกราบทูลว่า "ท่านว่าแต่ปาก หามีสัจจะไม่ ปากบอกว่าหยุด แต่ทำไมเรายังวิ่งไม่ทันท่านเลย"

 

     ลำดับนั้น พระพุทธเจ้าทรงทำให้พญายักษ์สองสามีภรรยาให้นิ่งสงบระงับด้วยพุทธานุภาพ พระองค์ทรงตรัสว่าการหยุดนั้น มีอยู่สามแบบคือ

  • แบบที่หนึ่ง เป็นการหยุดทางด้านความคิด ในสิ่งที่เป็นอธรรม เช่น การคิดชั่ว เป็นต้น โดยหันมาทำจิตให้เป็นผู้ที่ไม่คิดปองร้ายพยาบาทเบียดเบียนบุคคลอื่น ๆ ให้นึกคิดในเรื่องดี ๆ หรือมองโลกในแง่ดีเอาไว้

  • แบบที่สอง เป็นการหยุดทางด้านวาจา กล่าวคือ ไม่เข้าไปว่าร้าย ไม่พูดเท็จ ไม่พูดคำหยาบโลน ไม่เพ้อเจ้อ ไม่เสียดสี ทิ่มแทงบุคคลอื่นด้วยวาจา แต่ให้ใช้วาจาให้เป็นประโยชน์และสร้างสรรค์สังคมชุมชน ให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

  • แบบที่สาม เป็นการหยุดทางด้านการเคลื่อนไหวทางกาย กล่าวคือ การกระทำหรือการลงมือทำบาปทั้งปวง หรือทำร้ายบุคคลอื่นด้วยอาวุธ หรือฝ่ามือ เพราะเขาก็มีชีวิต เราก็มีชีวิต ต่างคนต่างก็ต่างมีความรักตัวกลัวตายเหมือนกัน ไม่แน่นะ คนที่เรากำลังทำร้ายอยู่ในขณะนี้อาจเคยเป็นพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย พี่น้อง หรือญาติผู้ใหญ่ของเรามาก่อน

 

    เมื่อพญายักษ์ ได้สดับรับฟังดังนั้น ก็เกิดศรัทธาปสาทะในคำสอนของพระพุทธเจ้า จึงได้ยอมมอบตัวถวายเป็นศิษย์แล้วทูลอนุญาตของสิ่งป้องกันภัยคือเวรภัย อันจะเกิดขึ้น พระพุทธเจ้าทรงลูบพระเกษาและทรงมอบไว้ให้ประดิษฐานเป็นเจดีย์และให้พญายักษ์สมาทานศีล ๕ ประการ ดังนี้

     ๑.ไม่ยังชีวิตสัตว์อื่นให้ตกล่วงไป คือ ทรงสอนให้รักชีวิตเพื่อนร่วมโลกและอยู่ด้วยกันแบบสันติ

     ๒.ไม่มีเจตนาลัก หรือถือเอาของ ๆ บุคคลอื่นหามาด้วยความยากลำบาก

     ๓.ไม่มีเจตนาที่จะล่วงละเมิดภรรยา สามี ของใครอื่น ไม่มักมากในกามารมณ์

     ๔.ไม่มีเจตนาพูดจาหลอกลวง พูดปดมดเท็จใส่ร้ายให้คนอื่นเสียหาย

     ๕.ไม่มีเจตนาดื่มสุราเมรัยให้เกินเลย จนเป็นเหตุที่ไม่สามารถควบคุมสติตัวเองได้

 

     เมื่อพญายักษ์ ๒ สามีภรรยารับสมาทานศีล ๕ ประการ  ดังนั้นแล้ว จึงนำเอาพระเกษาธาตุของพระพุทธองค์ไปบรรจุไว้ ณ ดอยถ้ำแห่งนี้ ท่ามกลางสักขีพยานทั้งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ต่างก็แซ่ซ้องอนุโมทนาสาธุการเสียงดังกระหื่มไปทั่วสารทิศ

 

     พระธาตุแห่งนี้จึงได้พระราชทานนามว่า "พระธาตุจอมศีล" เพราะถือนิมิตที่พญายักษ์สองสามีภรรยาสมาทานศีลห้าเพื่องดเว้นจากบาปกรรมทั้งปวง อันมีการไม่ทำร้ายสัตว์ เป็นต้น ผู้คนจึงเรียกพระธาตุแห่งนี้ว่าพระธาตุจอมศีลมาจนถึงทุกวันนี้

 

     ชาวเมืองเมื่อได้ทราบกิตติศักดิ์ของพญายักษ์ว่าได้เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ จึงตั้งศาลเพียงตา เอาไว้กราบไหว้บูชาสักการะศาลนั้นจึงได้ชื่อใหม่ว่า "ศาลเจ้าพ่อล้านช้าง" มาจนถึงทุกวันนี้

 

     ปัจจุบันศาลเจ้าพ่อล้านช้าง ยังคงสภาพเดิมเอาไว้ทุกประการ หลายคนเรียกว่า "หอผี" อยู่ในบริเวณวนอุทยานบ้านถ้ำ ทุกปีช่วงเดือนเมษายนชาวบ้านจะทำพิธี "ลงผีหอ" เพื่อบูชาและขอบคุณที่เจ้าพ่อล้านช้างได้ปกปักรักษาคุ้มครองชาวบ้านให้มีอาชีพกินดีอยู่ดี ฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาล ป่าไม้อุดมสมบูรณ์

     ทางเทศบาลตำบลบ้านถ้ำ ได้จัดพื้นที่ทั้งหมด ตั้งแต่พระธาตุจอมศีล หอเจ้าพ่อล้านช้าง ถ้ำ น้ำผุดและป่าไม้ชุมชนหรือที่เรียกโดยรวมว่า "วนอุทยานบ้านถ้ำ" ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวประจำจังหวัดพะเยาด้วย

 

 

หมายเลขบันทึก: 450047เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2011 12:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 12:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท