หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

ENV a15 : ถ้าสนใจซะหน่อยก็จะได้อากาศบริสุทธิ์ขึ้นในที่ที่อยู่ทุกวัน


ใส่พัดลมเข้าไปในพื้นที่ด้วยรูปแบบอย่างไรก็แล้วแต่ จะเกิดผลได้ 3 แบบ หนึ่งคือหมุนวนอากาศเดิม สองคือดูดอากาศที่มีออกไปจนน้อยลงๆ สามคือดูดอากาศเติมเข้ามาปนของเดิม อย่างนี้แหละจึงควรสร้างความเข้าใจหลักการระบายอากาศไว้กับตัว จะได้เลือกอยู่ให้ปลอดภัยขึ้นโดยพึ่งตัวเองได้

ไปตามดูที่ตึกเดิมเพื่อดูต่อว่า มีอะไรอีกมั๊ยที่ยังต้องการข้อมูลในเชิงหลักการที่จำเป็นจะต้องคงไว้ รวมไปถึงความเกี่ยวข้องกับกฎหมายและหลักความปลอดภัยในการทำงาน ก่อนที่จะทำอะไรต่อไปในส่วนของการจัดการอาคาร

ดูเหมือนอาจต้องทำความเข้าใจฝนอันเป็นอีกแหล่งความชื้นสำคัญแหล่งหนึ่ง ที่เกี่ยวข้อง  ทำความเข้าใจปริมาณมากน้อยของฝนว่ามีอิทธิพลต่อความชื้นในแต่ละจุดของตึกแค่ไหนอย่างไร น่าจะดีกว่าไม่มองเอาซะเลย ด้วยเป็นอาคารในพื้นที่ฝน ๘ แดด ๔ ที่กำลังจะเปลี่ยนไปสู่ดินแดนฝน ๑๑ แดด ๑ อยู่รอมๆแล้ว

ไปหาวิธีวัดน้ำฝนแบบง่ายๆมาได้ว่าใช้กระบอกตวงหรือขวดว่างๆที่มีขีดเป็น มล.นี่แหละเ็ป็นเครื่องมือได้ แค่นำมันไปวางไว้กลางแจ้งรับน้ำฝนโดยให้มีกรวยรองที่ปากขวด แค่นี้ก็รู้ได้แล้วว่าปริมาณน้ำฝนมากน้อยแค่ไหน

เอาระดับความสูงของน้ำที่รองรับไว้สูงกี่มิลลิเมตรนั่นแหละมาแปลต่อ ประยุกต์ใช้มาตรฐานวัดน้ำฝนที่เขาแปลการรับน้ำฝนไว้ได้ไม่เกิน ๑๐ มม. จัดเป็นฝนตกแค่เล็กน้อย  รับได้มากกว่านี้และไม่เกิน ๓๕ มม. เป็นฝนตกปานกลาง รับได้เกินกว่าไปอีกและไม่เกิน ๙๐ มม. ถือว่าตกหนัก เกิน ๙๐ มม.ขึ้นไปถือเป็นฝนตกหนักมาก มาเทียบกับหน่วยเวลาที่ต้องการทำความเข้าใจ เป็นนาที ชั่วโมง วัน แล้วจะเข้าใจได้

ยังมีประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจอีก คือหลักการระบายอากาศตามกฎหมายและหลักความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับการระบายอากาศ หลักการอย่างหลังนี้กำหนดไว้อยู่ ๒ แบบ

หนึ่ง-ระบายอากาศแบบเจือจางสารพิษ ระบายอากาศง่ายๆด้วยการนำเอาอากาศบริสุทธิ์จากภายนอกพื้นที่ทำงานใส่เข้าไปในพื้นที่ จะใช้พัดลมดูดหรือเป่าอากาศช่วยก็เลือกเอา

สอง-ระบายอากาศแบบดูดอากาศเฉพาะที่ แบบนี้ใช้ดูดอากาศตรงจุดที่เป็นปัญหาออกไปจากพื้นที่ด้วยปากทางดูดหรือฮูด ที่ติดตั้งไว้ใกล้จุดกำเนิด ดูดแล้วก็ส่งต่อไปตามท่อสู่เครื่องมืออีกชิ้นที่กักรวบรวมไว้ กำจัดแล้วก็ปล่อยออกสู่บรรยากาศ

วิธีแรกตรงกับที่คิดๆอยู่เรื่องติดพัดลมดูดอากาศ รูปแบบนี้มีคำเตือนให้ทบทวนปัจจัยเกี่ยวข้องกับสารพิษที่ปนเปื้อนในอากาศด้วย ในแง่ของชีวภาพก็คือการปนอยู่ของเชื้อโรค ถ้าเชื้อรุนแรงน้อย  ปริมาณที่ปล่อยสู่บรรยากาศน้อยและคงที่ คนทำงานอยู่ห่างจากแหล่งกำเนิดเชื้อ และการกระจายตัวในบรรยากาศของเชื้อสม่ำเสมอ จะใช้วิธีนี้ก็โอเค   วิธีหลังตรงกับที่คิดเรื่องห้องแยกโรคไว้

เพิ่งรู้ว่าการระบายอากาศถูกระบุไว้ในกฎหมายควบคุมอาคารด้วย เป็นกฏกระทรวงฉบับที่ ๓๓ เจ้ากระทรวงคือมหาดไทย

กฎหมายนี้ระบุรอบระบายอากาศไว้ไม่ว่าจะเป็นการระบายด้วยวิธีธรรมชาติหรือ โดยวิธีกล อ่านแล้วก็ไม่แน่ใจว่า คำว่า “ระบายอากาศ” ในกฎหมายฉบับนี้ คือ “air change” หรือเปล่าแฮะ ถ้าเป็นเรื่องเดียวกันก็ต้องตัดสินใจเรื่องนิยามกันต่อไป

กฎหมายนี้ระบุไว้ว่า การระบายอากาศโดยวิธีธรรมชาติใช้เฉพาะกับห้องในอาคารที่มีผนังด้านนอกอาคาร อย่างน้อยหนึ่งด้าน มีช่องเปิดสู่ภายนอกอาคารได้ เช่น ประตู หน้าต่าง หรือบานเกล็ด ซึ่งต้องเปิดไว้ระหว่างใช้สอยห้องนั้น ๆ และพื้นที่ของช่องเปิดนี้ต้องเปิดได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๑๐ ของพื้นที่ของห้องนั้น

การระบายอากาศโดยวิธีกลใช้กับห้องในอาคารลักษณะใดก็ได้ จัดกลอุปกรณ์ขับเคลื่อนอากาศซึ่งต้องทำงานตลอดเวลาระหว่างที่ใช้สอยห้องนั้น เพื่อให้เกิดการนำอากาศภายนอกเข้ามาตามอัตรากำหนด 

อัตราการระบายอากาศที่ว่านี้คิดเป็นจำนวนเท่าของปริมาตรห้องใน ๑ ชั่วโมง

ห้องน้ำ ห้องส้วมของที่พักอาศัยหรือสำนักงาน ๒  เท่า  ห้องน้ำ ห้องส้วมของอาคารสาธารณะ ๔ เท่า ถ้าเป็นพื้นที่ปรับอากาศก็เพิ่มเป็น ๑๐ เท่า

โรงงาน ถ้าไม่ปรับอากาศ ๔ เท่า ถ้าปรับอากาศลดเหลือ ๒ เท่า

ที่จอดรถที่อยู่ต่ำกว่าระดับพื้นดิน ๔ เท่า

โรงมหรสพ จะติดหรือไม่ติดระบบปรับอากาศ ๔ เท่า

สถานที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ถ้าไม่มีระบบปรับอากาศ ๗ เท่า ถ้ามีเพิ่มเป็น ๑๐ เท่า

ห้องพักในโรงแรมหรืออาคารชุด ถ้าไม่มีระบบปรับอากาศ ๗  เท่า แต่ถ้ามีลดเหลือ ๒ เท่า

สำนักงาน ถ้าไม่มีระบบปรับอากาศ ๗ เท่า ถ้ามีลดเหลือ ๒ เท่า

ห้องครัวของที่พักอาศัย ถ้าไม่มีระบบปรับอากาศ ๑๒ เท่า ถ้ามีเพิ่มเป็น ๓๐ เท่า

ห้องครัวของสถานที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ๒๔ เท่า

ลิฟต์โดยสารและลิฟต์ดับเพลิง ๓๐ เท่า

ห้องคนไข้ของโรงพยาบาล ๒ เท่า ห้องผ่าตัดและห้องคลอด ๘ เท่า ห้องฉันเป็นห่วงคุณนะ (ไอ.ซี.ยู ) ๕ เท่า

ตำแหน่งของช่องนำอากาศภายนอกเข้าโดยวิธีกล ต้องห่างจากที่เกิดอากาศเสียและช่องระบายอากาศทิ้งไม่น้อยกว่า ๕ เมตร สูงจากพื้นดินไม่น้อยกว่า ๑.๕ เมตร

การนำอากาศภายนอกเข้าและการระบายอากาศทิ้งโดยวิธีกลต้องไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชนผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง

อย่างนี้ที่ตัดสินรอดูการใช้สอยพื้นที่ของตึกนี้ไปก่อนก็ตัดสินใจถูกแล้วซิ

๑๒ มีนาคม ๒๕๕๔

หมายเลขบันทึก: 449451เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2011 10:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2013 11:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

Very interesting this article on the Depart of Interior's Building Codes for 'air ventilation'.

I wonder if building designs include the 'air' codes; if building plans are assessed for compliance to the air codes; and if buildings in use are inspected for compliance to the codes -- furniture, curtains, doors, desks and partitions can block air flows and reduce the ventilation ;-)

Thank you.

  • คุณ sr ค่ะ
  • สิ่งที่คุณกล่าวถึง
  • หากได้ถูกประยุกต์เป็นหลักเกณฑ์
  • ที่เข้าใจง่ายโดยคนทั่วไป
  • จะนำมาใช้ได้จริง
  • และช่วยคนให้มีสุขภาพดี
  • ได้มากมายเชียวค่ะ
  • .......
  • ขอบคุณที่เข้ามาแลกเปลี่ยนค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท