ธีรโสภณ
พระมหา เกรียงไกร กองโส / ธีรปัญโญ

๑๐ มิติแห่งการประคองรักแท้ให้ยืนยาว


๑๐ มิติแห่งการประคองรักแท้ให้ยืนยาว, ใครว่ารักแท้ไม่มีจริง

๑๐ มิติแห่งการประคองรักแท้ให้ยืนยาว 

จะทำอย่างไรให้รักยืนยาว ตราบเท่าที่ความตายจะพรากเรานี้ให้จากกัน... บางคนการมีความรักก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไป แต่สำหรับบางคนแล้ว กว่าจะก่อร้างสร้างรักให้เกิดขึ้นได้นั้นยากแสนยาก 

วิธีไหนหรือที่จะทำให้รักยืนยาว เพราะการที่จะบริหารรักให้มั่นคงและยั่งยืนนั้นเป็นเรื่องยากยิ่งนัก... ก่อนที่จะรักเป็นอย่างไร เดี๋ยวนี้ก็เป็นอย่างนั้น ก่อนแต่งเป็นเช่นใด เดี๋ยวนี้ก็เป็นเช่นนั้น ซึ่งเหตุที่จะทำให้ความรักมั่นคงได้ เมื่อเราใช้ธรรมะเป็นหลักครองรัก ครองเรือน ประคับประคองใจ มอบเป็นหลักประกันภัยให้กันและกัน


หากเปรียบความรักเป็นเหมือนการสร้างบ้าน
อันดับแรกที่เราจะเห็น คงเป็นโครงสร้างแบบแปลน
โดยเลือกรูปแบบที่คิดว่าใช่ รูปแบบที่ใจนี้ชอบ
แค่โครงสร้างเท่านั้นหรือ...
ถึงจะเป็นความจริงได้
เพื่อความมั่นคงแข็งแรง
จึงต้องมีเสาเข็มคือธรรมะ ใช้รองรับตัวบ้านแห่งรัก
ใช้มุม ระเบียง และมิติแห่งความรักสร้างความดุล
ดูแลรักษาเรือนธรรมะแห่งรักนี้ให้มั่นคง


มิติที่ ๑ ... เชื่อใจ 
ความรัก คือ ความศรัทธา เชื่อใจ มั่นใจถึงแม้ว่าอยู่ไกลกันสักแค่ไหน หรือใกล้ชิดสักเพียงใด ใจที่เชื่อ ใจที่มั่นคง จะไม่แปรเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไป ความเชื่อมั่นต่อกันนั้นทำให้ไม่มีความระแวงกังวล ที่จะสร้างความวุ่นวายให้แก่ใจดวงนี้ เพราะถ้าไม่มีความเชื่อมั่นต่อกันแล้ว แม้เรื่องเล็ก ๆ ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ ๆ ได้ ยิ่งจะก่อความบาดหมางพอที่จะทำให้ใจนี้บาดเจ็บได้

มิติที่ ๒ ... ไว้ใจ 
เมื่อเชื่อใจกันแล้ว ก็ต้องไว้ใจกันด้วย เพราะรักเกิดความไว้ใจ วางใจที่ความซื่อสัตย์ โดยไม่มีความลับต่อกัน อย่ามีลับลมคมใน... คนรักกันต้องมีธรรมะคือความซื่อสัตย์ต่อกัน ตกลงปลงใจไว้ที่ความจริง (สัจจะ) ให้สัญญาด้วยจิตวิญญาณว่า ฉันจะรักเดียวใจเดียว ไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร จะไม่ทำให้คนรักต้องขุ่นเคือง

มิติที่ ๓ ... เข้าใจ 
เสียสละให้ความเป็นส่วนตัวแก่คนรักบ้าง เว้นที่ระยะห่างอย่างเหมาะสม เพราะบางทีหน้าที่การงานที่ยุ่งยากหรือสลับซับซ้อน หากเจอปัญหาร่วมใช้ปัญญาแก้ โดยต้องใช้ความเข้าใจมอบให้กัน ใช้ระดับอารมณ์ หรือความรู้สึกที่มีจาคธรรม ร่วมปรองดอง ผ่อนหนักให้เป็นเบา ให้อภัยต่อกัน รักนั้นจะมั่นคง

มิติที่ ๔ ... รู้ใจ
พูดคุยกันด้วย "สติปัญญา" รู้จักทำการวิเคราะห์ในความรัก "SWOT" วิเคราะห์ค้นหามิติแห่งธรรม แสวงหาธรรมวิธีประคองรักด้วยสติ

SWOT คืออะไรหรือ... ก็คือ การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ยุทธวิธีให้รักตั้งมั่นในธรรมด้วยสติปัญญา ได้แก่

S คือ Strengths จุดแข็งหรือจุดเด่น ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัย สมรรถภาพภายในคือ มีใจเป็นต้นทุนที่รักแท้ ใช้ปรับแต่งสภาพแวดล้อม ให้จิตใจเข้มแข็ง ไม่หวั่นไหว แม้มีสิ่งใดมากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รักนี้ก็ยังเข้มขลัง

W คือ Weaknessess จุดอ่อนหรือจุดด้อย ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยศักยภาพภายใน ระวังกายที่ยังอ่อนแอ ระวังจิตที่อ่อนไหว สร้างธรรมะในใจเพื่อกำจัดจุดอ่อนจุดด้อย ร่วมกันกำจัดส่วนที่เป็นปัญหา หรือข้อบกพร่องที่เกิดจากสภาพแวดล้อมภายในและภายนอกจิตใจ

O คือ Opportunities หมายถึง โอกาส ทำความเข้าใจในช่องว่างที่เกิดจากปัจจัยภายนอก ค้นหาวิธีสร้างโอกาสที่จะส่งผลให้รักนี้ยืนยาว สร้างโอกาส ให้โอกาส และใช้โอกาสที่เกิดขึ้นอย่างรู้ใจกัน สร้างช่องว่าง ให้ช่องว่าง และใช้ช่องว่างต่อกันอย่างเหมาะสม

T คือ Threats อุปสรรคเกิดขึ้นได้ทุกเสี้ยววินาที... จงวิเคราะห์และทำความรู้จัก ให้ประจักษ์ใจในทุกปัญหาอุปสรรคซึ่งเกิดขึ้น กำจัดข้อจำกัดที่เกิดจากสภาพแวดล้อมแห่งรักนี้

เมื่อจุดด้อยบวกกับปัญหาหรืออุปสรรค
ให้ใช้ความร่วมใจแห่งรักแท้นี้ทำลายให้สิ้นซาก
และเมื่อจุดเด่นบวกกับโอกาส
จงร่วมประสานมือและร่วมประคองใจ
ร่วมสร้างความสุขและความสำเร็จไปด้วยกัน


มิติที่ ๕ ... เห็นใจ 
ค้นให้เห็นความสวยงามที่มีอยู่ในใจ ในหน้าที่ ดีกว่าที่จะเห็นความสวยที่มีแค่ในร่างกาย... เห็นความงาม ความทรงจำดี ๆ ที่มีอยู่ในใจกัน หันกลับมาดูแล ร่วมเห็นทุกข์ เห็นสุขที่เกิดขึ้น สร้างมโนทัศน์อย่างมีมโนธรรมด้วยมโนสุจริต พิจารณาสอดส่องใจให้เห็นใจเรา เห็นใจเขา โปรดระวังการเห็นใจตัวเรา ที่จะกลับกลายเป็นเห็นแก่ตัว และจงระวังการเห็นใจเขา ที่จะกลับกลายเป็นการทำลายเวลาความเป็นส่วนตัวของคนรักกัน

มิติที่ ๖ ... ใส่ใจ 
หมั่นปรับใจเติมใจให้กัน การเดินทางของความรักมิได้ราบเรียบ หรือราบรื่นเสมอไป เส้นทางรักยังมีขรุขระ ลุ่ม ๆ ดอน ๆ หนามแห่งทุกข์ที่ทิ่มตำ นำมาซึ่งใจที่หวั่นไหวสั่นคลอน ด้วยคนรักที่อยู่ไกล หรือห่างไกลกัน แม้จะอยู่ใกล้แค่เอื้อมถึง มีสิ่งหนึ่งที่ต้องเติมใส่ใจกัน คือ ปิยวาจา วาจาที่ไพเราะเสนาะหูและเสนาะนาน หนึ่งในสังหวัตถุธรรมที่เชื่อมใจนี้ให้เป็นหนึ่งเดียว

มิติที่ ๗ ... พอใจ 
ความรัก คือ ฉันทะ ... จงพอที่ใจในรักนี้ ชีวิตที่ไม่พอก่อให้เกิดทุกข์อยู่ร่ำไป ชีวิตรักที่ไม่รู้จักหยุด จะหาจุดสิ้นสุดที่ตรงไหน ชีวิตที่รู้จักพอ ก่อให้เกิดสุขที่ยั่งยืน ถึงเวลาที่จะหยุดและพอใจไว้ที่ใจของเธอคนนี้ และอย่าแสดงความไม่พอใจอีกฝ่ายต่อหน้าสังคม เรื่องส่วนตัวอย่านำออกไปเปิดเผยเป็นเรื่องส่วนสังคม เพราะนำมาซึ่งความไม่พอใจกันอย่างรุนแรง ไฟในอย่านำออก ไฟนอกอย่านำเข้า ทำได้อย่างนี้ รักแท้ที่มีอยู่จริง


 

มิติที่ ๘ ... สุขใจ 
ทำความอิ่มใจ สบายกาย ความสุขใจ ให้เวลากับครอบครัว เปลี่ยนมิติแห่งรักใหม่ เปลี่ยนจากไปฉลองกันในที่ต่าง ๆ เช่น ภัตตาคาร คาเฟ่ คาราโอเกะหรูหรา ด้วยการพาคนรัก หรือครอบครัวไปทำบุญ ทำทาน รักษาศีล เจริญจิตเจริญธรรมในสถานลานธรรม วัดวาอาราม บ้านเด็กและคนชรา หรือตามศาสนาสถานต่าง ๆ เพื่อสร้างความสุขใจ อบอุ่นใจแก่ครอบครัว รักที่มีธรรมจะนำสุขมาเกิดที่ใจ


มิติที่ ๙ ... สบายใจ
สัปปายธรรม ๗ ประการ ที่ควรทำให้เกิดขึ้นในทุกครอบครัว เพื่อกายที่สะดวกและใจที่สบาย...

๑. ที่อยู่ ... คับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก บ้านแม้จะหลังเล็ก แต่หากใจกว้างอย่างมีธรรม บ้านั้นก็น่าอยู่ บ้านแม้จะหลังใหญ่ หากคนในบ้านไร้ธรรมประจำครัวเรือน บ้านนั้นก็วุ่นใจ สร้างบ้านและสถาบันครอบครัวให้เป็นสถานที่แห่งรัก

๒. โคจรคาม โคจรธรรม ... สถานที่ใดที่ไม่เหมาะสม อันจะนำมาซึ่งความเดือดร้อน สถานที่นั้นไม่เหมาะสมที่จะไป ไม่ควรที่จะอยู่... แต่เพราะบ้านนี้มีรัก บ้านนี้มีธรรมเท่านั้น จึงจะน่าอยู่และอยู่ได้อย่างสบาย ๆ

๓. การพูดคุย ... ใช้ภาษากายและภาษาพูด ด้วยการหันหน้ามาคุยกันในทุกเรื่องและทุกปัญหา เมื่อไม่หันหน้าคุยกัน แต่กลับหันหลังคุย หรือจะได้สบตา มองตากัน...

ประคองรักกันด้วยสายตาที่เปี่ยมด้วยรัก
ประคองใจกันด้วยสายใยใจที่เชื่อมถึงกัน
รักแท้นั้นก็มีอยู่จริง และยังหาได้แม้ในชาตินี้
๔. บุคคล ... ประกอบประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน และประโยชน์ของส่วนรวม ด้วยสังควัตถุธรรมรักษาใจกัน ด้วยอัตถจริยา การประกอบกายและใจ ปฏิบัติในสิ่งที่จะเป็นประโยชน์อย่างสุจริตธรรมในครอบครัว เริ่มจากคนในบ้านก่อน สานต่อบ้านใกล้เรือนเคียง เมื่อนั้นทุกชนชั้นในสังคมก็จะมีความรักมอบให้แก่กัน

๕. โภชนะ ... แม้สรรพสัตว์จะดำรงชีพอยู่ได้ด้วยอาหารก็ตาม แต่ยังมีภาษิตธรรมกล่าวว่า กินคนเดียวย่อมไม่ได้ความสุข หากจะแยกวิเคราะห์รวมความหมาย ก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนคือ หลักการบริหารปากท้อง อาหารการกินที่สบาย โดยให้รู้จักแบ่งปัน จงเห็นแก่กินให้น้อย แต่จงเห็นแก่ใจเห็นแก่กันให้มาก จงมีภาษิตจีนว่า

มีสุขร่วมเสพ มีทุกข์ร่วมต้าน

และคงจำเป็นที่จะต้องกล่าวถึงภาษิตไทยที่ว่า
กัดก้อนเกลือกิน

เพราะนั่นยังเป็นแค่เศษเสี้ยวบททดสอบแห่งความลำบาก ที่เป็นตัวดัชนีชี้วัดว่า อุปสรรคเท่านั้นเป็นตัวชี้วัดรักที่แท้จริง และแค่ทุกขเวทนาทางกาย หรือจะเทียบเท่าทุกขเวทนาทางจิตใจ

๖. ฤดู ...

จะร้อน ฝน หนาวแค่ไหน
ครอบครัวที่มีรัก
ย่อมสร้างความสมดุลในทุกฤดูแห่งรักได้
ถึงจะแล้งก็ขอให้แล้งแค่ในฤดูแห่งกาย
แต่ในฤดูแห่งใจนี้ จงมีแต่ความชุ่มฉ่ำ
ความสบายมอบให้กัน

๗. อิริยาบถ ... เมื่อกายสุจริต จิตจะสบาย กายและจิตของคู่รักที่เป็นพลังร่วมขับเคลื่อน ร่วมเดินทางไปด้วยกัน ความสบายก็เกิดมี นึกถึงภาษิตที่ติดไว้ที่ป้ายหน้าหมู่บ้านแห่งหนึ่งในภาคอีสานที่ว่า ...



บ่ทันได้ก้าวย่าง
อย่ารีบพูดว่าปวดขา
บ่ทันได้พัฒนา
อย่ารีบพูดว่ายากหรือลำบาก
ให้รีบลงมือทำเถิด แล้วความสุขสบายจะตามมาเอง

มิติที่ ๑๐ ... เสมอใจ 
สังคหวัตถุธรรมอีกอย่างหนึ่ง คือ สมานัตตตา ความรัก คือ การวางตนให้เสมอต้นเสมอปลาย หมั่นทำหน้าที่ของคนที่รักกัน คอยเป็นกำลังใจให้กัน เฝ้าดูแลกายใจและเติมความสุข และสะสางความทุกข์ เพิ่มความหวานให้กันอย่างสม่ำเสมอ แค่นี้ความรักก็จะคงอยู่กับเราได้ตราบนานเท่านาน


ที่มา... จากหนังสือธรรมะน่าอ่าน  ลิขสิทธิ์โดย...ธิงค์ บียอนด์ ธรรมะ


ใครว่ารักแท้ไม่มีจริง

ผู้แต่ง : ธีรโสภณ  (พระมหาเกรียงไกร ธีรปัญโญ) 

หมายเลขบันทึก: 449446เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2011 08:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 13:09 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท