การหันเหเด็กหรือเยาวชนที่กระทำผิดอาญาออกไปจากกระบวนการยุติธรรม


การหันเหเด็กหรือเยาวชนที่กระทำผิดอาญาออกไปจากกระบวนการยุติธรรม

“เด็กและเยาวชน”  ปัจจุบันได้รับผลกระทบจากระบบเศรษฐกิจสังคมโลกทำให้เด็กและเยาวชนในปัจจุบันมีแนวโน้มในการกระทำผิดทางอาญามากขึ้น ประกอบกับเรื่องสิทธิและเสรีภาพเป็นหลักสากลของโลกที่ต้องเป็นหลักประกันให้แก่เด็กและเยาวชน ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยได้มีการแก้กฎหมายต่างๆ เกี่ยวกับเด็กและเยาวชนหลายฉบับ  ทั้งนี้เพื่อให้กฎหมายต่าง ๆ มีความสอดคล้องต้องกัน ล่าสุดก็ได้มีการบัญญัติเรื่อง “มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญา” ไว้ในมาตรา 83 และมาตรา 91 แห่ง“พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553” โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2554 เป็นต้นไป

ความสำคัญของปัญหา

การกระทำความผิดของเยาวชนตามทฤษฎีไม่ถือว่าเป็น “อาชญากรรม” (Crime) แต่ในทางอาชญาวิทยาเรียกว่าเป็น “การกระทำความผิดของเยาวชน” (Juvenile  Delinquency) หรือ “การกระทำผิดของเด็กเกเร”  และสิทธิของเด็กและเยาวชนต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองตามหลักรัฐธรรมนูญและตามหลักสากล

รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับปัญหาอาชญากรรม(Crime) โดยกำหนดมาตรการไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 พ.ศ.2550-2554 กำหนดเป้าหมายลดคดีอาชญากรรมลงร้อยละ 10  แต่มีปัญหาหนึ่งที่น่าสนใจยิ่งก็คือ การกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นมาก จากข้อมูลในรอบ 10 ปี (พ.ศ. 2540- 2550 ที่มา: กรมพินิจฯ)  พบว่ามีอัตราเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 66.7 เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจถึงปีละ 36,687 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.5 ของ GDP (อนันต์,2553)

จากข้อมูลอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economic Growth) หรือ GDP (Gross Domestic Product ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) ของไทยที่มีอัตราเฉลี่ยสูงต่อปีถึงร้อยละ 2.6 – 7.6 (ปี 2552 สถิติลดลง) จึงทำให้สังคมไทยเกิดอาชญากรรมประเภทต่าง ๆ ขึ้นมากมาย ซึ่งรวมทั้งการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชน ที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้เป็นไปตามทฤษฎีมานุษยวิทยาของ Burgess (1982) ที่กล่าวว่า เขตที่มีอาชญากรรมมากก็คือ เขตที่มีความเจริญทางธุรกิจและมีบุคคลที่มีรายได้น้อยอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น (ธีรพล, 2540)

            การศึกษาเรื่อง “เด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม”  และ การนำ “กระบวนการยุติธรรมทางเลือก” (Alternatives to Justice หรือ Alternative Dispute Resolutions =ADRs) เพื่อหันเห (Diversion) เด็กหรือเยาวชนให้ออกจากกระบวนการยุติธรรม โดยนำ “กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์” (Restorative Justice =RJ) มาใช้จึงเป็นสิ่งจำเป็น

บทสรุปและข้อเสนอแนะ

บทสรุป

เด็กในคดีอาญามี 2 สถานะ คือ (1) สถานะที่เป็นผู้กระทำผิดทางอาญา และ (2) สถานะที่เป็นผู้ถูกกระทำผิดอาญา หรือ “เหยื่อ” (Victim)

สถานการณ์โลกในยุคข้อมูลข่าวสาร “โลกาภิวัตน์” ทำให้มีความเจริญทางด้านวัตถุมากขึ้น แต่ความเจริญทางด้านจิตใจไม่ทัดเทียมกัน จึงเกิดช่องว่างการพัฒนา ก่อให้เกิดผลต่อสังคม มีปัญหาสังคม มีปัญหาอาชญากรรม โดยเฉพาะปัญหาการกระทำผิดของเด็กหรือเยาวชนที่เพิ่มมากขึ้น การศึกษาในด้านสังคมวิทยา อาชญาวิทยา ควบคู่ไปกับการศึกษาด้านกฎหมาย จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้ทันต่อกระแสโลก

            อาทิเช่น การให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัว การมองแบบองค์รวม (Holistic) การเพิ่มบทบาทของ “สหวิชาชีพ” หรือ การนำ “กระบวนการยุติธรรมทางเลือก” (Alternative to Justice) หรือ การระงับข้อพิพาททางเลือก (Alternative Dispute Resolutions = ADRs) โดยวิธีการต่าง ๆ ได้แก่ การนำวิธีการหันเหออกจากกระบวนการยุติธรรม (Diversion) การใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice = RJ) มาใช้ในการพิจารณาคดีเด็กหรือเยาวชนกระทำผิด ซึ่งเป็นการแก้ไขฟื้นฟู (Rehabilitation) อันเป็นการใช้วิธีการแก้ไขปัญหาเด็กหรือเยาวชนกระทำผิด

อนึ่งวิธีการหันเหคดีออกจากกระบวนการยุติธรรม (Diversion) เป็น “กระบวนการยุติธรรมคู่ขนาน” (ปุระชัย อ้างใน สุพจน์ สุโรจน์, 2553) เพราะเด็กไม่ใช่ “อาชญากร” แต่เด็กเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต หรือ การเข้มงวดใช้มาตรการควบคุมป้องกัน (Prevention) อาทิ ข้อเสนอของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่เสนอให้เอาใจใส่ดูแลเด็กเยาวชน จำกัดเวลาในการออกนอกบ้านโดยไม่มีเหตุจำเป็น เป็นต้น 

อย่างไรก็ตามในด้านกฎหมาย แนวโน้มสถานการณ์ด้านสิทธิของเด็กในประเทศไทยเริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ เป็นมาตรฐานสากลมากขึ้น  จนบางอย่างอาจมองว่าเป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพเกินควร จนลืมนึกถึงการควบคุมอาชญากรรม (Crime Control)ไป สังเกตได้จากการตรากฎหมายใหม่ หรือการแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ ขึ้นหลายสิบฉบับ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของเด็กหรือเยาวชนมากขึ้น

ข้อเสนอแนะ

พิจารณาเด็กในสถานะที่เป็น “ผู้กระทำผิดทางอาญา” (Juvenile  Delinquency) ที่ผ่านมาข้อเสนอแนะข้อทักท้วงต่าง ๆ ของนักวิชาการรวมทั้งจากข้อเสนอแนะทางวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาในหลายกรณี ได้รับการพิจารณาและมีการนำไปเป็นแนวทางในการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ เช่น การแก้ไขพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 ในหลาย ๆ มาตรา โดยเฉพาะ มาตรา 63 มาตรา 26(3) มาตรา 78 แล้วมีการบัญญัติใหม่เป็น มาตรา 86 มาตรา 91 แห่ง “พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553” ซึ่งมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2554 เป็นต้นไป หรือ ได้มีการแก้ไขอายุขั้นสูงของเยาวชนในการกระทำผิดทางอาญาเป็น “18 ปี” เป็นต้น  อย่างไรก็ตาม ในเรื่องเด็กหรือเยาวชนเป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีสรุปข้อแนะนำจากผลการศึกษาดังนี้

 

1. การต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมอันสมควร (Due process of law) เป็นสิ่งจำเป็น ไม่ควรมุ่งเน้นการควบคุมอาชญากรรม (Crime Control) เพียงอย่างเดียว

2. สถาบันครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นสถาบันแรกที่สำคัญในการสร้างรากฐานของชีวิต  ควรมีมาตรการในการส่งเสริมพัฒนา และปรับบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดกันอย่างยิ่ง 3 ฉบับ ให้สอดคล้อง ส่งเสริม และ สนับสนุนซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะคือ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 และ พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ.2550

3. กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) การหันเหคดีออกนอกระบบศาล (Diversion) ศาลวัยทีน (Teens Court) แนวคิดแบบองค์รวม (Holistic) ควรนำมาพิจารณาปรับใช้ให้เหมาะสมแก่กรณี

4. การฟื้นฟูเยียวยาเด็กหรือเยาวชนที่กระทำผิดอาญา เป็นสิ่งสำคัญ  เพราะ เด็กหรือเยาวชนคืออนาคตของชาติ การพัฒนาแก้ไขเยียวเด็กให้มีคุณภาพ จักเป็นกำลังอันสำคัญในการพัฒนาของประเทศต่อไป

5. ในเรื่อง “กระบวนการยุติธรรมทางเลือกสำหรับคดีอาญาในประเทศไทย” พบว่า มีการนำมาใช้แล้วหลายรูปแบบ  ที่น่าสนใจ และควรมีการปรับปรุงหลักการ มาตรการต่าง ๆ เพื่อให้มีประสิทธิภาพ สามารถแก้ไขปัญหาสังคมได้อย่างตรงจุด ซึ่งอาจนำมาปรับใช้กับเด็กหรือเยาวชน หรือ บิดามารดา หรือผู้ปกครองได้ มีหลายวิธี ที่สำคัญ คือ

  1. กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) ที่ให้ผู้กระทำความผิด ผู้เสียหาย และ ชุมชน เข้ามาร่วมกันแก้ไขปัญหา
  2. การนำวิธีการปรับผู้กระทำความผิดทางอาญาตามรายได้ (Day Fines) มาใช้ นัยว่า เพื่อลดความเหลื่อมล้ำเรื่องรายได้ และ การปรับโดยคิดถึงฐานรายได้ จะทำให้ฐานความผิดบางอย่างที่มีอัตราปรับอย่างสูง ทำให้ คนรวย คน ต่างเกรงกลัว ไม่กล้าที่จะกระทำความผิด

6. ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัว และวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 นับว่าเป็นแนวคิดที่ทันสมัยมาก  แต่อย่างไรก็ตามปรากฏว่า อาจเกิดปัญหาทางปฏิบัติต่าง ๆ ที่ตามมาในกระบวนการยุติธรรม  เช่น การมุ่งคุ้มครองสิทธิเด็กมากเกินไป อาจเกิดปัญหาความสงบเรียบร้อยในสังคมได้  ปัญหาทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการกระบวนการยุติธรรมทางอาญาสำหรับเด็กในขั้นตอนต่าง ๆ เป็นต้น  ทั้งนี้ หน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ และเอกชน ควรร่วมมือในการปรับปรุง และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น หรือที่พึงจะเกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมในทุก ๆ ขั้นตอน  มิใช่ปล่อยให้ปัญหาเกิด หมักหมมจนสุกงอม ซึ่งอาจยากในการแก้ไขเยียวได้

7. ควรมอบหมายภารกิจในการส่งเสริมสนับสนุนกิจการเด็กหรือเยาวชนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามนโยบาย “ถ่ายโอน” ภารกิจของรัฐบาล  เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชน และ รู้ปัญหาประชาชนมากที่สุด ได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา เช่น การใช้ “กระบวนการยุติธรรมทางเลือก” แก่เด็กหรือเยาวชน อาทิ วิธีการหันเหออกจากกระบวนการยุติธรรม หรือ โดยกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ เป็นต้น

17 มิถุนายน 2554

หมายเลขบันทึก: 449399เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2011 20:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 สิงหาคม 2012 10:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

บทที่ 3

บทวิเคราะห์

3.1 นิยาม “เด็ก” และ “เยาวชน”

อาจมีความสับสนในการให้นิยามศัพท์ หรือ การกำหนดอายุขั้นต่ำ-ขั้นสูงในการรับผิดขั้นสูงของเด็กไว้ นอกจากนี้ยังมีเรื่อง “ความสามารถ” ในทางกฎหมาย หรือที่เรียกว่า “นิติภาวะ” (lawful age or sui juris) ผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เรียกว่า “ผู้เยาว์” (minor) ซึ่งเป็นเรื่องของทางแพ่งเข้ามาเกี่ยวข้อง

สำหรับในทางอาญานั้น มี คำว่า เด็ก และ เยาวชน ส่วนในทางอื่น ๆ เช่น ทางการแพทย์ ทางประชากรศาสตร์ หรือทางอื่น ก็อาจมีนิยามความหมายแตกต่างกันออกไป ฉะนั้นเรื่องอายุ จึงเป็นเรื่องสำคัญในทางกฎหมาย เพราะเกี่ยวกับความรับผิดในทางอาญา หรือความสามารถในการทำนิติกรรมสัญญา

3.1.1 ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวพ.ศ. 2553 (มีผลใช้บังคับ 22 พฤษภาคม 2554) มาตรา 4

“เด็ก” หมายความว่า บุคคลอายุยังไม่เกิน 15 ปีบริบูรณ์

“เยาวชน” หมายความว่า บุคคลอายุเกิน 15 ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์

3.1.2 ตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2499 และที่แก้ไขเพิ่มเติมใหม่ (พ.ศ.2551) มาตรา 73, 74 , 75 และ มาตรา 76 ได้แบ่งเกณฑ์อายุในความรับผิดทางอาญาไว้ เป็น 4 ช่วง คือ

1. อายุยังไม่เกิน 10 ปี (ไม่ต้องรับโทษ)

2. อายุกว่า 10 ปี แต่ยังไม่เกิน 15 ปี (ไม่ต้องรับโทษ แต่ศาลมีอำนาจดำเนินการ...)

3. อายุกว่า 15 ปี แต่ต่ำกว่า 18 ปี (ถ้าศาลเห็นสมควรลงโทษให้ลดมาตราส่วนโทษลงกึ่งหนึ่ง)

4. อายุตั้งแต่ 18 ปี แต่ยังไม่เกิน 20 ปี (ถ้าศาลเห็นสมควรลดโทษลงหนึ่งในสามหรือกึ่งหนึ่งก็ได้)

3.1.3 ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 294(พ.ศ.2515) เยาวชนหมายถึง ผู้ซึ่งอายุไม่ครบ 18 ปีบริบูรณ์ และยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วยการแต่งงาน (นริมา, 2551, Ibid.)

3.1.4 ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและประสานเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ.2521 “เยาวชน” หมายถึง บุคคลที่มีอายุไม่เกิน 25 ปี ซึ่งมีความหมายครอบคลุมความหมายของ “เด็ก” ซึ่งมีอายุไม่เกิน 18 ปีด้วย (นริมา, 2551, Ibid.)

3.1.5 ความหมายในระดับสากล โดย สหประชาชาติ (United Nations)

“เด็ก” หมายความถึงบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี (ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก)

“เยาวชน” หมายถึง คนในวัยหนุ่มสาว คือ ผู้มีอายุระหว่าง 15 - 25 ปี หรือเป็นช่วงวัยหนุ่มสาว (สุภักดิ์, 2539)

3.1.6 ความหมายศัพท์ทางวิชาการกฎหมาย “Technical Term” มีคำที่ใช้ในทางสากลที่ใกล้เคียงกัน พอเทียบได้กับคำในภาษาไทยได้ สรุปดังนี้ (ประหยัด, 2495)

Child หมายถึง “เด็ก”

young person หมายถึง “เยาวชน”

juvenile หมายถึง “เด็กและเยาวชน”

อย่างไรก็ตามยังมีคำศัพท์แยกย่อยต่าง ๆ ออกไป ได้แก่

คำว่า “youth” ในภาษาไทยใช้ในความหมาย “เยาวชน” หรือคนรุ่นหนุ่มสาว ได้แก่ โครงการเรือเยาวชนเอเชีย (Asian Youth อายุไม่เกิน 30 ปี)

คำว่า “adult” (โตเต็มวัย) หรือ “young” (เยาวชนหนุ่มสาว) หรือ “adolescent” (เยาวชนวัยรุ่นหนุ่มสาว) อาจใช้เป็นศัพท์ทางวิชาการ เป็นความหมายเฉพาะไป เช่น ทางประชากรศาสตร์ หรือ ทางการแพทย์

คำว่า “Teenage” (วัยรุ่นอายุ 13-19 ปี)

3.2 เกณฑ์อายุของเด็กและเยาวชน

1. เกณฑ์อายุ

1.1 ขั้นต่ำ: อายุต่ำกว่า 10 ปีลงมาไม่มีความผิดอาญา

1.2 ขั้นสูง: อายุไม่เกิน 18 ปีขณะกระทำความผิดอยู่ในเกณฑ์ศาลคดีเด็กฯ

แต่เดิมตามประมวลกฎหมายอาญาก่อนปี พ.ศ.2551 เกณฑ์อายุขั้นต่ำของเด็กและเยาวชนอยู่ที่ไม่เกิน 7 ปี อายุขั้นสูงอยู่ที่ไม่เกิน 17 ปี ซึ่งไม่สอดคล้องกับวุฒิภาวะ และสภาพสังคม อีกทั้งไม่สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กซึ่งกำหนดอายุขั้นสูงไว้ที่ไม่เกิน 18 ปี

ปัทมปาณี, 2545 เคยศึกษาและเสนอให้แก้ไขเกณฑ์อายุขั้นต่ำเดิม 7 ปี และเกณฑ์อายุขั้นสูง เดิม17 ปีให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งต่อมาก็ได้มีการแก้ไขในปี 2551

อย่างไรก็ตามเรื่องอายุขั้นต่ำขั้นสูงความรับผิดในคดีอาญานี้ ยังมีข้อสังเกตเกี่ยวกับอายุที่กำหนดว่า “บรรลุนิติภาวะตามกฎหมาย” ในหลาย ๆ ประเทศกำหนดไว้แตกต่างกันมาก โดยปกติอายุมาตรฐานที่จะบรรลุนิติภาวะจะอยู่ที่ 18 – 20 ปี แต่จากการตรวจสอบข้อมูลอ้างอิงพบว่ามีหลายประเทศที่กำหนดช่วงอายุในการบรรลุนิติภาวะของบุคคลแตกต่างกันออกไป มีที่อายุต่ำกว่า 18 ปี และ อายุเกินกว่า 20 ปี ดังนี้

ประเทศ/อายุที่บรรลุนิติภาวะ(ปี)/หมายเหตุ

เกาะแมน (ดินแดนอาณานิคมอังกฤษ), ดินแดนอเมริกันซามัว

14 ปี 14 (ชาย), 18 (หญิง)

ชิลี

15 ปี 18 (ชาย),15 (หญิง)

คีร์กีซสถาน, เติร์กเมนิสถาน, สกอตแลนด์, อุซเบกิสถาน

16 ปี

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี, ทาจิกิสถาน

17 ปี

บาห์เรน, แคเมอรูน, ชาด, โครเอเชีย, อียิปต์, ฮอนดูรัส, เลโซโท, มาดากัสการ์, นามิเบีย, เปอร์โตริโก, สิงคโปร์, สวาซิแลนด์, รัฐมิสซิสซิปปี 21 ปี

เอลซัลวาดอร์

25 ปี 25 (ชาย), 17 (หญิง)

ที่มา http://th.wikipedia.org/wiki/

3.3 สิทธิของเด็กและเยาวชนที่เป็นประธานแห่งสิทธิ

([Online], Available URL: http://www.law-webservice.com/t04.htm)

1.สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองให้ปลอดภัย

1.1 พ้นจากบุคคลอันตราย

1.2 พ้นจากสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ อาคารสถานที่ และวัตถุอันตราย

1.3 มีกฎเกณฑ์แห่งความปลอดภัย ในการอยู่อาศัย การเดินทาง การกีฬา การศึกษา การนันทนาการ ฯลฯ

2.สิทธิที่จะได้รับการดูแล อุปการะเลี้ยงดู

2.1 ให้มีสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ดี

2.2 ให้มีพัฒนาการด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ สังคม และครอบครัว ได้สมวัย

2.3 ให้มีพฤติกรรมที่ดี มีการพัฒนาลักษณะนิสัยและบุคลิกภาพที่เหมาะสม

2.4 ได้รับการบำบัดฟื้นฟูหรือแก้ไขเยียวยาให้กลับคืนสู่สภาพปกติ

3.สิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติ

3.1 ให้เด็กได้รับประโยชน์สูงสุด ในการกระทำทั้งปวงที่เกี่ยวกับเด็ก

3.2 โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติหรือลำเอียง

3.3 โดยการให้เด็กมีส่วนร่วมในทุกๆเรื่องที่มีผลกระทบต่อตน

ประเด็นการกำหนดกรอบนโยบายในการช่วยเหลือหรือคุ้มครองเด็กมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ในทางปฏิบัติในส่วนของการจัดบริการสวัสดิการสังคมให้กับเด็ก ได้แก่ ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ (มาฆะ ขิตตะสังคะ, มปป.)

1. รัฐไม่ควรจัดบริการช่วยเหลือแต่ฝ่ายเดียว จำเป็นต้องให้องค์กรเอกชน ครอบครัว และหน่วยงานอาสาสมัครเข้ามามีส่วนร่วม โดยบริการสวัสดิการควรเป็นส่วนที่ธุรกิจเอกชนเข้ามาร่วมสนับสนุน

2. ตามแนวคิดด้านสิทธิในรูปแบบใหม่ ควรเน้นความคล่องตัวในรูปแบบกลไกการบริหารจัดการบริการสวัสดิการสังคม ซึ่งจะต้องปรับเปลี่ยนเป้าหมายและวัตถุประสงค์การจัดบริการสวัสดิการ รวมทั้งเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานสวัสดิการกับประชาชนและองค์กรเอกชน

3. การปรับเปลี่ยนบทบาทของเจ้าหน้าที่สวัสดิการสังคม หรือนักสังคมสงเคราะห์ในการปฏิบัติงานช่วยเหลือคุ้มครองเด็ก เช่น การจัดบริการสำหรับเด็กอย่างเฉพาะเจาะจง และเพิ่มบทบาทเจ้าหน้าที่สวัสดิการสังคม หรือนักสังคมสงเคราะห์โดยทำหน้าที่เป็นผู้จัดการ

การพิจารณาความหมายของเด็กกระทำผิด พิจารณาแยกได้เป็นสองส่วน คือ (1) ในฐานะที่เด็กเป็นผู้กระทำผิดทางอาญา และ (2) ในฐานะที่เด็กเป็นผู้ถูกกระทำผิดอาญา หรือ เด็ก “เป็นเหยื่อ” นั่นเอง ฉะนั้นสิทธิของเด็กก็พิจารณาใน 2 มุมมองดังกล่าวเช่นกัน

ในประเด็นนี้ กฎหมายถือว่าเด็กมิใช่ “อาชญากร” แต่เป็นเพียง “ผู้กระทำผิด” ซึ่งเป็นนิสัยหรือพฤติการณ์ของเด็กที่อ่อนด้อยประสบการณ์ เรียกว่า “Juvenile Delinquency” หรือ “เด็กเกเร”

ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2535 ซึ่งเป็นมาตรฐานขั้นต่ำในการดูแลคุ้มครองเด็ก ในอนุสัญญาฯข้อ 40 เรื่อง “เด็กถูกกล่าวหา ตั้งข้อหา หรือถูกถือว่าได้ฝ่าฝืนกฎหมายอาญา” ซึ่งเป็นเรื่องมาตรการของเด็กโดยเฉพาะ ไม่ต้องอาศัยกระบวนการยุติธรรมทางอาญาปกติ

ในด้านเกี่ยวกับคดีอาญาก็จะไปอิงกับมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็ก และเยาวชน หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า กฎแห่งกรุงปักกิ่ง (BEIJING RULE) ปี 1985/2528

ขณะนั้นอยู่ในช่วงของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 บัญญัติไว้ใน มาตรา 69 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 บัญญัติไว้ใน มาตรา 53 มาตรา 80 มาตรา 30 วรรคสาม มาตรา 40 และปัจจุบัน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 บัญญัติไว้ใน มาตรา 30 มาตรา 40 มาตรา 52 บทบัญญัติที่สำคัญ ดังนี้

มาตรา 40 บุคคลย่อมมีสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ดังต่อไปนี้ ...

(6) เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการหรือทุพพลภาพ ย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอย่างเหมาะสม และย่อมมีสิทธิได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมในคดีที่เกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศ …

มาตรา 52 เด็กและเยาวชน มีสิทธิในการอยู่รอดและได้รับการพัฒนาด้านร่างกาย จิตใจและสติปัญญา ตามศักยภาพในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนเป็นสำคัญ

เด็ก เยาวชน สตรี และบุคคลในครอบครัว มีสิทธิได้รับความคุ้มครองจากรัฐ ให้ปราศจาก

การใช้ความรุนแรงและการปฏิบัติอันไม่เป็นธรรม ทั้งมีสิทธิได้รับการบำบัดฟื้นฟูในกรณีที่มีเหตุดังกล่าว

การแทรกแซงและการจำกัดสิทธิของเด็ก เยาวชน และบุคคลในครอบครัว จะกระทำมิได้

เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อสงวนและรักษาไว้ซึ่งสถานะของ

ครอบครัวหรือประโยชน์สูงสุดของบุคคลนั้น

เด็กและเยาวชนซึ่งไม่มีผู้ดูแลมีสิทธิได้รับการเลี้ยงดูและการศึกษาอบรมที่เหมาะสมจากรัฐ

สรุปเกี่ยวกับสิทธิของเด็กในทางอาญาคือ (อรพรรณ, 2553.)

1. การแยกกระบวนการยุติธรรมเด็กเยาวชนออกจากผู้ใหญ่

2. ใช้คำเรียก “เด็กกระทำความผิด” ไม่ใช่ อาชญากรเด็ก

3. การศึกษาสาเหตุการกระทำความผิดของเด็กหรือเยาวชนรายบุคคล

4. ใช้การแก้ไข ฟื้นฟู ไม่ใช่การลงโทษ

3.4 แนวโน้มในการกระทำผิดของเด็กหรือเยาวชน

Thomas Hobbes ชาวอังกฤษ เสนอแนวคิดว่า ทุกคนเกิดมามีความเลวอยู่ในตัว ฉะนั้นต้องมี “กฎหมาย” ออกมาบังคับใช้ แต่ต่อมาลูกศิษย์คือ John Locke เสนอแนวคิดกลับกันว่า ทุกคนเกิดมาเป็นคนดีมาแต่กำเนิดแล้ว ฉะนั้น เพื่อรักษาความดีนั้นเอาไว้ จึงต้องมี “กฎหมาย” ออกมาบังคับใช้ มีเกณฑ์ในการกระทำผิดของเด็กหรือเยาวชนพิจารณาจาก 1. เป็นความผิดกฎหมายอาญา และ 2. เป็นความผิดของเด็กโดยเฉพาะจากสถิติข้อมูล การกระทำความผิดของเด็กหรือเยาวชนมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น เริ่มจากข้อมูลปี พ.ศ. 2544 ซึ่งเป็นปีแรก ๆ ที่มีดำรินำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้สำหรับเด็กหรือเยาวชน จำนวน 31,448 ราย ปี พ.ศ. 2545 จำนวน 35,285 ราย (เพิ่มขึ้นร้อยละ12.20) ปี พ.ศ. 2546 จำนวน 29,915 ราย (ลดลง) ปี พ.ศ. 2547 จำนวน 33,308 ราย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.34)ในปี พ.ศ. 2548 มีจำนวน 36,080 ราย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.32) ในปี พ.ศ. 2549 จำนวน 48,218 ราย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.64) ในปี พ.ศ. 2550 จำนวน 51,128 ราย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.03) และในปี พ.ศ. 2551 จำนวน 46,981 ราย (ลดลง) เนื่องจากเด็กหรือเยาวชนเหล่านี้นั้นเป็นวัยที่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ (Transitional period) (สำนักงานพัฒนาระบบงานยุติธรรมเด็กและเยาวชน อ้างใน ชาญคณิตและอุนิสา, 2553) สรุปเพิ่มขึ้นร้อยละ 66.7 ในรอบ 10 ปี (พ.ศ. 2540-พ.ศ.2550) เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจถึงปีละ 36,687 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.5 ของ GDP ในประเทศไทย (สำนักข่าวไทย,พฤศจิกายน 2549 อ้างใน อนันต์,2553)

มีข้อมูลทางพฤติกรรมบางประการที่น่าสนใจของเยาวชนไทยโดยเฉพาะในเรื่องเพศ สะท้อนให้เห็นถึงการเลี้ยงดูบุตรของบิดามารดา และ สภาพแวดล้อมทางสังคมไทย อันอาจนำไปสู่ปัญหาสังคมได้ในหลาย ๆ ปัญหา และอาจรวมถึงการทำผิดอาญาด้วย คือ วัยรุ่นไทยครองแชมป์ในเรื่องต่อไปนี้ (สถาบัน Durex Global Sex Survey 1999 อ้างในณัฐวุฒิ, 2553)

1. ยอมรับการมีคู่นอนมากกว่า 1 คน ค่าเฉลี่ย "สูงที่สุดในโลก"

2. เริ่มเรียนรู้เรื่องเพศศึกษา "ช้าที่สุดในโลก"

3. มีการใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเซ็กส์ครั้งแรก "น้อยที่สุดในโลก"

4. พ่อแม่ไทยมีบทบาทในการสอนเรื่องเพศแก่ลูก "น้อยที่สุดในโลก"

ข่าวสารตามสื่อมวลชนเกี่ยวกับเด็กวัยรุ่นกระทำผิดอาญา ไม่ว่าจะเป็นคดีเล็กน้อย หรือคดีสำคัญอุกฉกรรจ์ มักปรากฏทำนองว่าเป็นความผิดพลาดของสังคม อาทิ เช่น คดีน้องหมูแฮม บุตรชายสาวิณี ปะการะนัง ที่มีปัญหาสมาธิสั้น โมโหร้ายทำร้ายประชาชนขับรถชนเสียชีวิตหลายราย (เหตุเกิดปี 2550) , คดีสาวซีวิคเด็กสาวอายุ 16 ปี ขับรถเฉี่ยวชนรถตู้บนทางด่วนจนมีผู้เสียหายและเสียชีวิตหลายราย (เหตุเกิดเมื่อปลายปี 2553), คดีเด็กนักเรียนชั้น ม.5 เผาโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เสียหายกว่า 300 ล้านบาท (2553), คดีเด็กชายอายุ14ปีบุกข่มขืนแม่เฒ่า89ปีป่วยอัลไซเมอร์ในบ้าน (2554), คดีทำลายซากทารกวัดไผ่เงิน 2,002 ศพ (ทำแท้งเถื่อน2553) ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำแท้งของหญิงสาว เหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสังคมที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา

3.5 การนำกระบวนการยุติธรรมทางเลือกมาใช้สำหรับเด็กหรือเยาวชนไทย

รศ.ดร.เดชา สังขวรรณ ได้กล่าวบรรยายเกี่ยวกับ รูปแบบที่สำคัญของงานยุติธรรมทางเลือกมี 4 แบบ ได้แก่ งานยุติธรรมนอกระบบ (Informal Justice) ระบบงานยุติธรรมในช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองและสังคม (Transitional Justice) ระบบงานยุติธรรมชุมชน (Community Justice) และระบบงานยุติธรรมเชิงสมดุลยและสมานฉันท์ (Balance and Restorative Justice) โดยรูปแบบทั้ง 4 ของงานยุติธรรมทางเลือกนั้นสามารถนำมาใช้ได้ตามความเหมาะสมของลักษณะงาน (สถาบันพัฒนาบุคลากรฯ สำนักงานกิจการยุติธรรม, 2554)

การหันเหผู้กระทำผิดออกจากกระบวนการยุติธรรม กรณีเด็กหรือเยาวชนผู้กระทำความผิดการหันเห (Diversion) หมายถึง การเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินงานโดยแยกผู้กระทำผิด (Divert) ออกจากกระบวนการยุติธรรมที่เป็นทางการไปสู่การปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด (ผู้ต้องหา) นอกระบบงานยุติธรรมตามปกติ โดยวิธีการแก้ไขในชุมชนหรือการนำเข้าโครงการทางสังคม

แนวความคิดในการนำผู้กระทำผิดออกจากกระบวนการยุติธรรมที่เป็นทางการ (Diversion) โดยการเปลี่ยนการปฏิบัติต่อผู้ต้องหาตามขั้นตอนของกฎหมาย เกิดจากการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมครั้งใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ระหว่างตอนกลางทศวรรษ 1960 ถึงกลางทศวรรษ 1970 โดยใช้วิธีแก้ไขผู้กระทำผิดในชุมชนเป็นหลัก (Community- Based Treatment) โครงการหันเหหรือการกลั่นกรองผู้กระทำผิดออกจากกระบวนการยุติธรรมได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้นโยบายทางอาญาที่ต้องการแก้ไขผู้กระทำความผิดไม่ร้ายแรงแทนการลงโทษแบบดั้งเดิม โครงการต่าง ๆ ที่กำหนดขึ้นเพื่อรองรับการนำผู้กระทำผิดที่สมควรได้รับการแก้ไขฟื้นฟูออกจากกระบวนการที่เป็นทางการมีไม่น้อยกว่า 1200 โครงการในยุคนั้น (ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 2, 2551)

กระบวนการหันเหเด็กหรือเยาวชนให้ออกจากกระบวนการยุติธรรม และ นำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้ หลักการดังกล่าวได้บัญญัติไว้ใน มาตรา 86 และมาตรา 91 แห่งพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 แต่รูปแบบในกระบวนการยุติธรรมในโลกสมัยใหม่ยุคโลกาภิวัตน์ จำต้องมีการปรับกระบวนทรรศน์ใหม่ ๆ ในการบริหารจัดการแก้ปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ จึงมีนักคิด นักศึกษา วิจัย เสนอรูปแบบต่าง ๆ ขึ้นมา อันนับว่าเป็นประโยชน์ต่อสังคมสมัยใหม่อยู่ไม่น้อย แต่ควรมีข้อคำนึงว่า ควรมีการปรับแก้แนวทางปฏิบัติและกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับหลักการทฤษฎีที่นำเสนอด้วย

ภัทรศักดิ์ กล่าวว่า “ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์และสันติวิธี” เป็นทั้งปรัชญา แนวคิด และ กลวิธีในการสร้างความสมัครสมานสามัคคีระหว่างเหยื่ออาชญากรรม-ผู้กระทำผิด-ชุมชนขึ้นใหม่โดยมุ่งให้ความสำคัญกับการมองอาชญากรรมในมิติที่ว่า “อาชญากรรมเป็นเรื่องของการขัดแย้งระหว่างบุคคล” (interpersonal conflict) ซึ่งเป็นการมองในมิติเชิงซ้อนที่แตกต่างจากกระบวนทัศน์เดิมที่มองว่า “อาชญากรรมเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนระเบียบกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ภายใต้อำนาจอันชอบธรรม” เพียงมิติเดียวทำให้ขาดความสมบูรณ์ คม ชัดให้ปัญหาอาชญากรรมในลักษณะองค์รวม และด้วยวีคิดใหม่ที่ว่า “อาชญากรรมคือความผิดระหว่างปัจเจกบุคคล” นี้ ทำให้ทั้งสองฝ่ายซึ่งได้แก่ “เหยื่ออาชญากรรมและผู้กระทำ ตระหนักถึงความรับผิดชอบร่วมกันในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างกันที่เกิดขึ้นตามมาคือทำให้เหยื่ออาชญากรรมไม่ถูกกีดกันออกจากกระบวนวิธีการอำนวยความสะดวกอย่างสิ้นเชิงแบบกระบวนทัศน์เดิม แต่เปิดโอกาสให้เหยื่ออาชญากรรมได้มีสิทธิมีเสียงแสดงท่าทีความรู้สึกต่อ “อาชญากรรม” ที่เกิดขึ้น รวมทั้งอาจพัฒนาสู่การแสดงความให้อภัยแก่ผู้กระทำผิดอันเป็นการนำพาสังคมสู่ดุลยภาพที่มีความเอื้ออาทรต่อกัน ส่วน “ผู้กระทำผิด” ก็ได้มีเวทีและโอกาสแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนแสดงความสำนึกผิดอันเป็นการเยียวยาประสานรอยร้าวทางอารมณ์ความรู้สึกระหว่างสมาชิกสังคมที่บาดหมางโกรธเคืองกันเข้าด้วยกันอีครั้ง โดยมี “ผู้แทนชุมชน” เข้าร่วมเป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ยและบูรณาการ และเรียนรู้ที่จะป้องกันตนเองและสังคมจากอาชญากรรม (ภัทรศักดิ์, 2553)

แนวคิด “ศาลวัยทีน” ในไมอามี (Teens Court) (ศาลวัยทีน, 29 มิ.ย. 53)

ปัจจุบันกรมพินิจฯ ได้นำแนวคิด “ศาลวัยทีน” (Teens Court) โดยนำกระบวนการจัดการเด็กอย่างมีระบบของสถานพินิจฯในไมอามี มาปรับปรุงเพื่อใช้ดูแลเด็กหรือเยาวชนในเมืองไทย โดยคนที่ทำหน้าที่ในศาลทั้งหมดเป็นเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นเสมียนศาล ลูกขุน อัยการ ตัวทนายของผู้ต้องหา ยกเว้นผู้พิพากษาตัวจริงที่นั่งอยู่ตรงกลาง ซึ่งการนำเยาวชนมาทำหน้าที่ตรงนี้ เนื่องจากเข้าใจและเป็นมิตรมากกว่า Teens Court ของไมอามีน่าจะเป็นบทเรียนให้แก่ศาลเยาวชนของไทยได้ ซึ่งสอดคล้องกับการเตรียมการใช้กฎหมายใหม่คือ พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553

กระบวนการจัดการเด็กอย่างมีระบบของสถานพินิจฯในไมอามี 3 แบบ คือ

1. เครื่องมือประเมินเด็กว่าอะไรคือปัจจัยเสี่ยงให้ทำผิด ทำผิดซ้ำ

2. โปรแกรมบำบัด เพื่อติดตามและเตรียมเด็กก่อนที่จะปล่อยออกไป และ

3. เครื่องมือจำแนกเด็ก โดยศาลจะต้องเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อที่จะจำแนกเด็กออกไปอยู่ ตามความผิด

3.6 ข้อควรคำนึงในการนำกระบวนการยุติธรรมทางเลือกมาใช้

จากการศึกษาจากผลงานวิจัยและวิทยานิพนธ์หลายฉบับพบว่า ปัจจัยทางสังคมมีอิทธิพลต่อการกระทำผิดของเด็กหรือเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นสื่อสารมวลชน ปัญหาเศรษฐกิจ ยาเสพติด การคบเพื่อนเสเพล สภาพแวดล้อมในยุคโลกาภิวัตน์ ฯลฯ เหล่านี้ ทำให้เกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบน เกิดภาวะ “สังคมพิการ” (Social Disorganization)ได้ง่าย

สถาบันครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเด็กหรือเยาวชนจะผูกติดอยู่กับสถาบันครอบครัว ถือเป็นสถาบันแรกที่มีความสำคัญในการสร้างรากฐานชีวิตของเด็ก แนวคิดแบบองค์รวม (Holistic) ที่มีการวิเคราะห์แบบบูรณาการรอบด้าน (Integrated) ควรนำมาใช้

ฉะนั้น รูปแบบทางเลือก ของกระบวนการยุติธรรมควรเป็นดังนี้ (อรพรรณ, 2553., Ibid.)

1. การหันเหคดีออกนอกระบบ diversion กล่าวคือ ไม่เข้าสู่กระบวนการศาลยุติธรรม

2. กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ Restorative Justice โดยมีชุมชนเข้ามาร่วมพิจารณา และ ให้ผู้กระทำผิด ผู้เสียหายยอมรับ

3. การคุมความประพฤติ เป็นมาตรการป้องกัน เพื่อมิให้เกิดการกระทำผิด หรือ มีโอกาสเสี่ยงน้อย

4. มาตรการแทรกแซงระดับกลาง เป็นมาตรการป้องกันอีกแบบหนึ่ง

(1) การจำกัดบริเวณ

(2) การควบคุมโดยใช้อิเล็กทรอนิคส์ (electronic monitoring)

(3) การชดใช้ค่าเสียหาย

(4) การควบคุมระยะสั้น (Shock Incarceration : Boot Camp)

(4.1) การฝึกอบรมในสถานควบคุม

(4.2) การจำคุก เป็นมาตรการที่จำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

(4.3) การกำกับดูแลแบบเข้มข้น (Intensive Supervision)

(4.4) การบำบัดเชิงระบบ (Multisystemic Therapy)

(5) บ้าน โรงเรียน ชุมชน เพื่อน

มีข้อควรคำนึงในการพิจารณานำรูปแบบกระบวนการยุติธรรมเพื่อแก้ไขปัญหาเด็กหรือเยาวชนกระทำผิด โดยสังเขป ดังนี้ (อรพรรณ, 2553., Ibid.)

1. เข้าใจกลุ่มเด็กเยาวชนกระทำผิด

2. วิเคราะห์สาเหตุการกระทำผิดของเด็กเยาวชน

3. กำหนดแนวทางและดำเนินการแก้ไข ฟื้นฟู

4. มาตรการป้องกันมากกว่ารอแก้ไข

5. พัฒนานวัตกรรม แนวทางใหม่ ๆ (Innovation)

ข้อเสียของกระบวนการยุติธรรมสมานฉันท์

กิตติพงษ์ ระบุข้อเสียของกระบวนการยุติธรรมสมานฉันท์ว่า “ต้องตั้งกรอบให้ชัดว่า ต้องการใช้ในเรื่องไหน ถ้าใช้กว้างเกินไปโดยไม่คำนึงถึงกฎหมาย อาจจะเกิดความไม่เป็นธรรมก็เป็นได้ เพราะอำนาจการต่อรองของผู้เสียหายและผู้กระทำผิด อาจจะมีอำนาจมากไม่เท่ากัน เบื้องต้นถ้าไม่มีหน่วยงานหรือองค์กรใดกำกับ ผมคิดว่าบุคคลที่มีความรู้และอำนาจมากกว่าจะได้เปรียบบุคคลที่ด้อยกว่า อีกส่วนต้องมองว่าการนำกระบวนยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้ ไม่ใช่เป็นการผลักคดีออกจากศาลหรือลดภาระกระบวนการยุติธรรมอย่างเดียว เพราะสิ่งเหล่านี้คือผลพลอยได้ แต่ต้องมองว่าหัวใจของกระบวนการนี้ทำให้ผู้เสียหายมีทางออกที่ดีขึ้นอย่างไร คนที่ทำผิดสำนึกจริงหรือไม่ ทุกฝ่ายได้รับสิ่งที่ดีขึ้นจากกระบวนการดังกล่าว นั้นคือสิ่งที่กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์จะประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง” (กิตติพงษ์, 2548)

3.7 กฎหมายใหม่ที่มีผลบังคับใช้ในรอบ 14 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2539 – 2553)

ก่อนที่จะถึงการวิเคราะห์ พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 ได้ตรวจสอบกฎหมายใหม่ที่มีผลบังคับใช้แล้วที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของเด็กหรือเยาวชนหรือ กฎหมายที่เกี่ยวข้องทีมสหวิชาชีพในการให้ความช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรง ในรอบ 14 ปีที่ผ่านมา เรียงลำดับดังนี้ (ณัฐวุฒิ, 2553)

1. พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553.

2. พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 20 และ 21) พ.ศ.2550 และ 2551

3. พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 22, 25, 26 และ 28) พ.ศ.2547, 2550, 2550 และ 2551

4. พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551

5. พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551

6. พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550

7. พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ.2550

8. พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546

9. พระราชบัญญัติคุ้มครองพยาน พ.ศ.2546

10. พระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดการสวัสดิการสังคม พ.ศ.2546

11. พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายฯ ในคดีอาญาฯ พ.ศ.2544

12. พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539

3.8 อำนาจผู้อำนวยการสถานพินิจในการฟ้องเด็กหรือเยาวชน

ตามมาตรา 63 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 ได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขใหม่เป็นมาตรา 86 แห่งพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553

หลักการใหม่ตามมาตรา 86 กรณีที่ผู้อำนวยการสถานพินิจพิจารณาเห็นว่าเด็กหรือเยาวชนนั้นอาจกลับตนเป็นคนดีได้โดยไม่ต้องฟ้อง ให้จัดทำ “แผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูให้เด็กหรือเยาวชนปฏิบัติ…เสนอต่อพนักงานอัยการ...รายงานให้ศาลทราบ... ”

จะเห็นว่าหลักการใหม่จะค่อนข้างชัดเจนกว่าหลักการเดิม นอกจากนี้บทบาทของ สหวิชาชีพ ตามหลักการใหม่ ในมาตรา 43 จะเข้ามามีบทบาทช่วยเหลือในกระบวนการยุติธรรมของเด็กหรือเยาวชนมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการแก้ไขเยียวยาและพัฒนาการเด็กหรือเยาวชนผู้เป็นอนาคตของชาติที่มีคุณภาพต่อไป (สราวุธ, 2554)

3.9 กระบวนการยุติธรรมทางเลือกในพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553

ในการฟ้องคดีอาญาที่เด็กหรือเยาวชนต้องหาว่ากระทำความผิดจะต้องฟ้องให้ถูกศาล มีประเด็นที่เกี่ยวข้อง คือ 1. การใช้มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญา และ 2. การฟ้องและถอนฟ้อง ซึ่งในที่นี้ตามขอบข่ายการศึกษาที่ได้กำหนดไว้ คือ จำกัดเฉพาะ

“มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญา”

การใช้มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญา

มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญาถือเป็น “กระบวนการยุติธรรมทางเลือก” รูปแบบหนึ่งที่นำมาใช้ โดยการ “หันเหเด็กหรือเยาวชนที่กระทำความผิดออกไปจากกระบวนการยุติธรรม”

ในต่างประเทศ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเด็กหรือเยาวชนต้องหาว่ากระทำความผิด และถูกจับกุมไปดำเนินคดี จะมีวิธีการนำเด็กหรือเยาวชนดังกล่าวออกไปจากกระบวนการยุติธรรม เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “Diversion” โดยจะมีพนักงานอื่นในสังคมเป็นผู้รับเด็กหรือเยาวชนดังกล่าวไปควบคุมดูแล โดยไม่ต้องมีการฟ้องร้องดำเนินคดี8 โดยเฉพาะความผิดที่ไม่ร้ายแรง ทั้งนี้ เพราะมีทัศนะว่ากระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กหรือเยาวชน ถึงแม้จะเน้นการแก้ไขฟื้นฟูมากกว่าการลงโทษ เด็กก็ยังได้รับมลทินจากการถูกกล่าวหาหรือถูกพิพากษาว่าเป็นเด็กกระทำผิด และอาจทำให้เด็กกลับตนเป็นพลเมืองดีได้ยากยิ่งขึ้น ส่วนเด็กหรือเยาวชนที่จะต้องถูกส่งตัวไปศาลเยาวชนและครอบครัวนั้น โดยมากจะเป็นเด็กหรือเยาวชนที่มีความประพฤติเสียหายมาก หรือทำความผิดร้ายแรง สำหรับประเทศไทยตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน พนักงานสอบสวนอาจจะใช้วิธีเปรียบเทียบปรับเด็กหรือเยาวชนแล้วปล่อยตัวไปก็ได้ ถ้าเป็นคดีที่เข้าเกณฑ์ หรือผู้อำนวยการสถานพินิจใช้มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญาตามมาตรา 86 และ 90 ซึ่งมีหลักเกณฑ์ ดังนี้ (สุพจน์, 2553)

1. กรณีการหันเหคดีก่อนฟ้องคดี ตามมาตรา 86 ประกอบมาตรา 87, 88 และ 89 เป็นกรณีหันเหเด็กหรือเยาวชนที่กระทำความผิดออกไปจากกระบวนการยุติธรรมก่อนการฟ้องคดี ซึ่งมีหลักเกณฑ์ ดังนี้

1.1 กฎหมายให้ผู้อำนวยการสถานพินิจจัดการทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กหรือเยาวชนเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ฯลฯ ถ้าเข้าเงื่อนไขดังต่อไปนี้

1) ความผิดนั้นมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ไม่ว่าจะมีโทษปรับหรือไม่ก็ตาม และเด็กหรือเยาวชนไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ยกเว้นต้องโทษจำคุกเพราะได้กระทำความผิดโดยประมาทหรือลหุโทษ

2) เด็กหรือเยาวชนนั้นสำนึกในการกระทำความผิด

3) ผู้อำนวยการสถานพินิจ เมื่อคำนึงถึงเหตุต่างๆ เช่น อายุ และประวัติ เป็นต้น แล้วพิจารณาเห็นว่าเด็กหรือเยาวชนนั้นอาจกลับตนเป็นพลเมืองดีได้โดยไม่ต้องฟ้องคดีต่อศาลเยาวชนและครอบครัว

4) ในการทำแผนแก้ไขฟื้นฟูดังกล่าว ผู้อำนวยการสถานพินิจต้องเชิญฝ่ายเด็กหรือเยาวชน ฝ่ายผู้เสียหาย และนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์เข้าร่วมประชุม และต้องได้รับความยินยอมจากผู้เสียหายและจากเด็กหรือเยาวชนด้วย

5) การทำแผนดังกล่าวต้องทำให้เสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่เด็กหรือเยาวชนสำนึกในการกระทำความผิด แผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูดังกล่าว (1) อาจกำหนดให้ว่ากล่าวตักเตือน (2) กำหนดเงื่อนไขให้เด็กหรือเยาวชนปฏิบัติ (3) กำหนดให้ชดใช้เยียวยาความเสียหาย (4) กำหนดให้ทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์ไม่เกิน 30 ชั่วโมง หรือ (5) กำหนดให้นำมาตรการอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างมาใช้

1.2 แผนแก้ไขฟื้นฟูดังกล่าวนี้ต้องได้รับความยินยอมจากผู้เสียหาย

1.3 ให้ผู้อำนวยการสถานพินิจเสนอความเห็นประกอบแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูต่อพนักงานอัยการเพื่อพิจารณา ถ้าพนักงานอัยการพิจารณาแล้วไม่เห็นชอบด้วยกับแผนแก้ไขฟื้นฟูดังกล่าว ให้สั่งแก้ไขแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูหรือดำเนินคดีต่อไป และให้ผู้อำนวยการสถานพินิจแจ้งคำสั่งของพนักงานอัยการให้พนักงานสอบสวนและผู้เกี่ยวข้องทราบ แต่ถ้าพนักงานอัยการเห็นชอบด้วยกับแผนดังกล่าว ให้มีการดำเนินการตามแผนนั้นทันที พร้อมทั้งรายงานให้ศาลทราบ

1.4 กรณีจัดทำแผนดังกล่าว ปรากฏข้อเท็จจริงในภายหลังว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ศาลมีอำนาจสั่งตามที่เห็นสมควรภายใน 30 วันนับแต่วันได้รับรายงาน

1.5 กรณีผู้มีหน้าที่ปฏิบัติตามแผนฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามแผน ให้ผู้อำนวยการสถานพินิจรายงานให้พนักงานอัยการทราบ และแจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไป

1.6 กรณีผู้มีหน้าที่ปฏิบัติตามแผนได้ปฏิบัติตามแผนครบถ้วน ให้ผู้อำนวยการสถานพินิจรายงานให้พนักงานอัยการทราบ หากพนักงานอัยการเห็นชอบ ให้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีนั้น คำสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ให้เป็นที่สุด และสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป และให้ผู้อำนวยการสถานพินิจรายงานคำสั่งไม่ฟ้องให้ศาลทราบ

2. กรณีการหันเหคดีก่อนศาลมีคำพิพากษา ตามมาตรา 90 ประกอบมาตรา 91 ถึง 94 เป็นกรณีหันเหเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดออกไปจากกระบวนการยุติธรรมก่อนการพิพากษาคดี ซึ่งต้องเข้าหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

2.1 ความผิดนั้นมีโทษจำคุกไม่เกิน 20 ปี ไม่ว่าจะมีโทษปรับหรือไม่ก็ตาม และได้มีการฟ้องคดีต่อศาลเยาวชนและครอบครัวแล้ว

2.2 ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้อำนวยการสถานพินิจหรือบุคคลอื่นดำเนินการจัดให้มีการทำแผนบำบัดแก้ไขฟื้นฟูถ้าเข้าเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ 1) เด็กหรือเยาวชนสำนึกในการกระทำก่อนศาลพิพากษาคดี 2) ผู้เสียหายยินยอมและโจทก์ไม่คัดค้าน 3) พฤติการณ์แห่งคดีไม่เป็นภัยร้ายแรงต่อสังคมเกินสมควร 4) ศาลเห็นว่าเด็กหรือเยาวชนอาจกลับตนเป็นพลเมืองดีได้และผู้เสียหายอาจได้รับการชดเชย เยียวยาตามสมควร และ 5) โดยมีเงื่อนไขให้เด็กหรือเยาวชน บิดามารดา ผู้ปกครอง บุคคลหรือองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วยปฏิบัติ

2.3 ให้ผู้อำนวยการสถานพินิจหรือบุคคลที่ศาลเห็นสมควรเป็นผู้ประสานงานการประชุมในการจัดทำแผน โดยมีผู้เข้าประชุมตามมาตรา 87

2.4 ให้เสนอแผนดังกล่าวต่อศาลเพื่อพิจารณาภายใน 30 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง

2.5 ถ้าศาลเห็นด้วยกับแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูให้ดำเนินการตามนั้นและให้มีคำสั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว แต่ถ้าศาลไม่เห็นชอบ ให้ดำเนินการกระบวนพิจารณาต่อไป

2.6 กรณีผู้ปฏิบัติตามแผนที่ศาลเห็นชอบ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม หรือมีเหตุจำเป็นต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงแผนนั้น ให้ผู้อำนวยการสถานพินิจหรือบุคคลที่ศาลสั่งรายงานให้ศาลทราบ และให้ศาลพิจารณาสั่งตามที่เห็นสมควรหรือยกคดีขึ้นพิจารณาต่อไป

2.7 แต่ถ้าผู้ปฏิบัติได้ปฏิบัติตามแผนครบถ้วน ให้ผู้อำนวยการสถานพินิจหรือผู้ที่ศาลสั่งรายงานให้ศาลทราบ ถ้าศาลเห็นชอบด้วย ให้สั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ และมีคำสั่งในเรื่องของกลาง โดยให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องเป็นอันระงับ

หลักเกณฑ์มาตรา 90 (นิติธร, 2553)

1. มีการฟ้องคดีต่อศาลว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำผิดอาญา

2. ความผิดอาญามีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกิน 20 ปี

3. ถ้าปรากฏว่าเด็กหรือเยาวชนไม่เคยได้รับโทษโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นความผิดที่เป็นการกระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

4. ก่อนมีคำพิพากษา (ไม่ว่าเวลาใด ๆ)

4.1 หากเด็กหรือเยาวชนสำนึกในการกระทำและผู้เสียหายยินยอมและโจทก์ไม่คัดค้าน

4.2 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าพฤติการณ์แห่งคดีไม่เป็นภัยร้ายแรงต่อสังคมเกินสมควร และ

4.3 ศาลเห็นว่า เด็กหรือเยาวชนอาจกลับตนเป็นคนดีได้และผู้เสียหายอาจได้รับการชดเชยตามสมควร

4.4 หากนำวิธีจัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟู ซึ่งเป็นประโยชน์ต่ออนาคตของเด็กหรือเยาวชน และต่อผู้เสียหายมากกว่าการพิจารณาพิพากษา

5. ให้ศาลมีคำสั่ง ดังนี้

5.1 สั่งให้ผู้อำนวยการสถานพินิจจัดให้มีการดำเนินการเพื่อให้จัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟู หรือ

5.2 สั่งบุคคลที่ศาลเห็นสมควรจัดให้มีการดำเนินการเพื่อให้จัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟู

5.3 โดยมีเงื่อนไขให้เด็กหรือเยาวชน บิดามารดา ผู้ปกครอง บุคคลหรือองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วยปฏิบัติ และ

5.4 ให้ผู้อำนวยการสถานพินิจหรือบุคคลที่ศาลเห็นสมควรจัดให้มีการดำเนินการเพื่อจัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟู ต่อศาลเพื่อให้ศาลพิจารณา ภายใน 30 วันนับแต่ที่ศาลมีคำสั่ง

6. เมื่อศาลได้พิจารณาแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูแล้ว ศาลมีอำนาจดังนี้

6.1 หากศาลเห็นชอบด้วย ให้สั่งปฏิบัติตามแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟู และให้มีคำสั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว

6.2 หากศาลไม่เห็นชอบด้วย ให้สั่งดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป กล่าวคือ เด็กหรือเยาวชนต้องถูกนำตัวเข้าสู่

กระบวนการยุติธรรมทางอาญา

หลักเกณฑ์การประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องตามมาตรา 91 (ดูมาตรา 87) (นิติธร, 2553)

1. ต้องมีผู้ประสานการประชุม ซึ่งได้แก่

1.1 ผู้อำนวยการสถานพินิจ หรือ

1.2 บุคคลที่ศาลเห็นสมควร

2. การประชุมจะต้องประกอบด้วยบุคคลไม่น้อยกว่า 3 ฝ่าย ได้แก่

2.1 ฝ่ายแรก คือ ฝ่ายเด็กหรือผู้เยาว์ซึ่งเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิด และ

2.2 ฝ่ายที่สอง คือ ฝ่ายผู้เสียหาย

2.3 ฝ่ายที่สาม คือ นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์

2.4 ส่วนผู้แทนชุมชนหรือหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องหรือได้รับผลกระทบจากการกระทำความผิดหรือพนักงานอัยการนั้นจะเข้าร่วมประชุมหรือไม่ก็ได้ หากเห็นสมควร (ขึ้นอยู่กับพฤติการณ์หรือความจำเป็น) ต้องพิจารณาตามความเหมาะสมแล้วแต่กรณีไป

3. การประชุมสามฝ่ายหรือการประชุมตามข้อ 2 หากเห็นสมควร ผู้แทนชุมชนหรือหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องหรือได้รับผลกระทบจากการกระทำความผิดหรือพนักงานอัยการเข้าร่วมประชุมก็ได้

ข้อสังเกต

1. บทบัญญัติมาตรา 90 และ มาตรา 91 มีแนวคิดมาจากการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้แทนกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่มุ่งถึงการลงโทษผู้กระทำความผิดเป็นหลัก ซึ่งการใช้มาตรการลงโทษทางอาญา อาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาความสงบสุขของสังคมได้ เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น การที่คนในสังคมได้รับการปฏิบัติไม่เท่าเทียมกันจากเจ้าพนักงานของรัฐ การปฏิบัติและบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายไม่มีประสิทธิภาพทำให้คนในสังคมเกิดความไม่มั่นใจในอำนาจรัฐ ทั้งการล่วงละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ทั้งโดยเจ้าหน้าที่รัฐและโดยบุคคลอื่นยังคงปรากฏให้เห็นในสังคมปัจจุบัน แนวความคิดที่จะให้บุคคลหลายฝ่ายมารวมกันพิจารณาหาแนวทาง แก้ไข ปรับเปลี่ยนความประพฤติของผู้กระทำความผิด และให้ผู้เสียหายจากการกระทำความผิดอาญาได้รับการชดเชย เยียวยา หรือฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจ ตลอดทั้งให้ชุมชนหรือสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำความผิดอาญาเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา เพราะการกระทำความผิดอาญานั้นมีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม ซึ่งคนในชุมชนหรือสังคมไม่อาจจะเพิกเฉยได้อีกต่อไป ต้องมาร่วมกันคิดและหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน (นิติธร, 2553)

2. บทบัญญัติมาตรา 90 และมาตรา 91 มีเจตนารมณ์ 3 ประการ (นิติธร, 2553)

1. เพื่อให้เด็กหรือเยาวชนที่กระทำความผิดอาญากลับตนเป็นพลเมืองดีและกลับสู่สังคม อยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างสงบสุข

2. เพื่อให้ผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำผิดอาญา ได้รับการชดเชย เยียวยา หรือฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจให้อยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างสงบสุข

3. เพื่อให้ชุมชนหรือสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรม และสร้างหลักประกันความปลอดภัยให้แก่ชุมชนหรือสังคม ให้เป็นสังคมแห่งความปลอดภัย สังคมแห่งความสงบสุข

3. ตามมาตรา 93 พยานหลักฐานหรือข้อเท็จจริงใด ๆ ที่ได้มาในระหว่างประชุมเพื่อจัดทำบันทึกข้อตกลงระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง กฎหมายบัญญัติห้ามมิให้นำมาใช้เป็นพยานหลักฐานต่อศาล กล่าวคือ ไม่สามารถนำมาอ้างเป็นพยานหลักฐานทางศาลเพื่อพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ได้ ซึ่งเป็นการสร้างระบบความคุ้มครองให้เกิดความมั่นใจแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะไม่ถูกอ้างหรือนำข้อเท็จจริงใด ๆ ที่ได้จากการประชุมไปแสวงหาผลประโยชน์ในทางคดีเพื่อเอาเปรียบคู่ความฝ่ายตรงข้าม

4. กรณีเด็กสำนึกผิด หรือเด็กสารภาพผิด ตามระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องมีการจัดทำแผนประทุษกรรมประกอบคำรับสารภาพ หรือการนำชี้ที่เกิดเหตุ ประกอบคำรับสารภาพ แต่ตามหลักการใหม่ ยังไม่มีแนวทางในการดำเนินการ ควรมีการห้ามจัดทำแผนประทุษกรรมฯไว้อย่างชัดเจนในระเบียบหรือในกฎหมาย เพราะเป็นการล่วงละเมิดสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (Human Dignity) ของเด็กตามรัฐธรรมนูญ และ ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

5. กรณีการใช้บทเฉพาะกาล มาตรา 205 ภายใน 2 ปี ยังไม่มีการใช้ที่ปรึกษากฎหมายตามระเบียบประธานศาลฎีกา เห็นว่า ในการกำหนดคุณสมบัติที่ปรึกษากฎหมายควรเข้มงวด อย่างน้อยต้องเป็นผู้ที่มีวุฒิปริญญาทางจิตวิทยา การสังคมสงเคราะห์ และความรู้อื่นที่เกี่ยวข้องหรือทางสังคมศาสตร์ ด้วย เพราะจะทำให้เข้าใจเด็กตามหลักสหวิชาชีพได้ดียิ่งขึ้น

6. กรณีการจับกุมผู้ต้องหาที่เป็นเด็กหรือเยาวชน ตามมาตรา 72 และ มาตรา 73 “...ให้ศาลตรวจสอบว่าเป็นเด็กหรือเยาวชน ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดหรือไม่ การจับและการปฏิบัติต่อเด็กหรือเยาวชนเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่...” มีประเด็นปัญหาคือ หากมีความผิดพลาดในการจับกุมเด็กฯ โดยศาลได้ตรวจสอบแล้ว ปรากฏว่า เด็กฯไม่ได้กระทำผิด หรือ การจับและการปฏิบัติต่อเด็กฯไม่ชอบฯ เหล่านี้ แล้ว ศาลปล่อยตัวไป หากเป็นกรณีที่บิดามารดา หรือผู้ปกครอง ไม่ยอม อาจมีการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ ได้แก่ เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุม, พนักงานสอบสวน, พนักงานอัยการ เป็นต้น ซึ่งอาจเกิดความยุ่งยากในการปฏิบัติ ควรมีมารการรองรับเรื่องนี้ไว้ให้รัดกุม มิฉะนั้น อาจเกิดปัญหาทางปฏิบัติที่อาจแก้ไขได้ยากยิ่ง

7. ตามมาตรา 91 มีข้อสังเกตว่าพนักงานอัยการมีอิสระที่จะเข้าร่วมประชุมเพื่อจัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟู ถึงแม้ผู้อำนวยการสถานพินิจฯไม่ได้เชิญเข้าร่วมประชุม ซึ่งแตกต่างจาก “ผู้แทนชุมชนหรือหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องหรือได้รับผลกระทบฯ” หากไม่ได้รับเชิญจะเข้าร่วมประชุมไม่ได้ นับว่าเป็นข้อดีอย่างหนึ่งของ “นักกฎหมายทนายของรัฐ” ที่ต้องเข้าไปช่วยปกปักคุ้มครองเด็กหรือเยาวชนของชาติ

8. ประเด็นการเลี้ยงดูเด็กและการกระทำผิดทางอาญาของเด็ก นักวิชาการและนักคิดหลายคนแสดงทัศนะว่า “บิดามารดา”มีส่วนทำให้เด็กต้องกระทำผิด “...เพราะพื้นฐานของครอบครัวย่อมส่งผลไปถึงพื้นฐานของจิตใจเด็กที่จะเป็นคนดีไปด้วย...” (วันชัย สอนศิริ, 2554) ชัยอนันต์ สมุทวณิช ให้ทัศนะว่า “...นักวิชาการคนหนึ่งชื่อ Lucian Pye …วิเคราะห์ว่าคนพม่ามีปัญหาเรื่องการไม่ไว้เนื้อเชื่อใจคน หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “trust” ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการมีระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตย... การที่ชาวพม่าขาดความไว้เนื้อเชื่อใจคนก็เพราะวิธีการเลี้ยงดูเด็กที่พ่อแม่มีอารมณ์แปรปรวนจนเด็กคาดคะเนไม่ถูก ...พ่อแม่ชอบเลี้ยงดูลูกแบบไม่มีระเบียบ... ทำให้เด็กเกิดความระแวง และพัฒนาไปเป็นความไม่ไว้วางใจสูง ... ในสังคมตะวันออกเน้นอบรมสั่งสอนให้เด็กเชื่อฟังผู้ใหญ่ และ ให้รู้จักดูแลมีน้ำใจต่อผู้อื่น ส่วนในสังคมตะวันตกเน้นเรื่อง การทำงานให้สำเร็จตามเป้าหมาย การพึ่งพาตนเอง และความเป็นอิสระ...หากเราหันมาสนใจการเลี้ยงดูเด็กมากขึ้น พ่อแม่ก็ต้องมีเวลาให้ลูก ที่สำคัญก็คือ พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างให้ลูก ถ้าทำเช่นนี้ได้ เราก็จะมีเด็กที่เติบโตขึ้นเป็นพลเมืองดี และมีสังคมที่สงบสุข”

(ชัยอนันต์ สมุทวณิช,2554)

ดาริน ดรุณกาญจน์. "กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ : ศึกษากรณีการเบี่ยงเบน คดีอาญาสำหรับเด็กและเยาวชน."

วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยพายัพ, 2553. [Online]. Available URL :

http://law.payap.ac.th/index.php/2010-06-08-03-20-25/2010-12-07-09-23-26.html

"ย้อนรอยคดี เนวาด้าทัน เด็กญี่ปุ่นฆ่าเพื่อนร่วมชั้นด้วยคัตเตอร์." 6 กุมภาพันธ์ 2555. [Online]. Available URL :

http://hilight.kapook.com/view/67327

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท