๑๖๗.ไปดูพระภิกษุสามเณรทำอะไรกันในวันเข้าพรรษา


อย่างไรก็ตาม จุดประสงค์ของการเข้าจำพรรษา ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้พระภิกษุสามเณรได้หยุดอยู่กับที่ เพื่อศึกษาค้นคว้าความรู้เพิ่มเติม รวมทั้งการอบรมอินทรีย์พละให้กล้าแกร่ง ไม่ว่าจะเป็นศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา เหมือนกับการเติมพลังใส่ถังน้ำมัน เมื่อถึงเวลาก็จะได้ทำภารกิจให้กับพระพุทธศาสนาให้เจริญก้าวหน้าสถาพรในโลกกว้างต่อไป

  

     วันนี้ เป็นวันปวารณาเข้าพรรษา หมายถึงการตั้งสัจจะอธิษฐานว่าจะอยู่ในอาราม หรือวัดใดวัดหนึ่งตลอดพรรษา ๓ เดือน โดยไม่เดินทางไปค้างคืนที่ไหนเลย ยกเว้นเหตุจำเป็นที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาต ต้องทำการ "สัตตาหะ" ก่อนจึงออกไป แต่ต้องกลับมาภายใน ๗ ราตรี  ถ้าไม่อย่างนั้นก็จะเป็นเหตุให้ขาดพรรษา ไม่ได้อานิสงส์กฐิน (ถูกตัดสิทธิ์ในการรับกฐินเป็นเวลา ๑ ปี)

 

     วันนี้ วัดศรีโคมคำ ตลอดทั้งวันไม่มีกิจกรรมอะไร? พิเศษ จะมีก็แต่ช่วงเย็น ๆ  วันนี้ทางพระผู้ใหญ่ให้สัญญาณระฆังก่อนเวลานัดหมาย เพื่อให้พระภิกษุสามเณรได้ครองผ้าให้เรียบร้อยและไปพร้อมกัน ณ พระวิหารหลวง เพื่อทำกิจกรรมปวารณาเข้าพรรษา

 

     เมื่อได้เวลาพอสมควรแล้ว พระเดชพระคุณหลวงปู่พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ เจ้าอาวาสก็ได้นำทำวัตรสวดมนต์โดยใช้เวลาช่วงนี้ประมาณ ๔๐ นาที หลังจากทำวัตรสวดมนต์แล้ว นับพระภิกษุสามเณรที่เหลือเข้าจำพรรษาปีนี้ ๗๑ รูป โดยแยกเป็นพระภิกษุ ๔๐ รูป สามเณร ๓๑ รูป

 

     นี้ขนาดเป็นวัดขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัด มีสถาบันการศึกษาที่หลากหลายแทบทุกระดับในวัด ส่วนวัดรอบนอกก็ลดลั่นลงไป ได้ข่าวว่าวัดที่เลยออกไป ๕ กิโลเมตรมีพระภิกษุกับสามเณร ๒ รูป ไม่ต้องกล่าวถึงวัดอีกหลายสิบวัดที่มีเฉพาะเจ้าอาวาสรูปเดียว บางท้องที่ต้องนิมนต์พระจากที่อื่นไปจำพรรษาโดยการติดต่อและประสานงานกันเองบ้าง ให้พระผู้ใหญ่ติดต่อให้บ้าง นี้คือสถานการณ์ การขาดศาสนทายาทในต่างจังหวัดอันไกลโพ้น

 

     เป็นที่น่าสังเกตว่า อัตราส่วนพระภิกษุกับสามเณรในภาคเหนือตอนบน เมื่อ ๑๕ ปีก่อน อยู่ที่ ๑:๒ หมายความว่าพระ ๑ รูป : สามเณร ๒ รูป สภาวการณ์เช่นที่ว่ามานี้เป็นเพราะอะไร? จำนวนผู้สูงอายุมากขึ้นหรือไม่? จำนวนการเกิดของเด็กน้อยลงใช่ไหม? วิกฤติศรัทธาเป็นอย่างไร?  ทำไมจึงมีความนิยมในการบวชน้อยลง? ประเด็นนี้องค์กรทางพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรสงฆ์ได้ทำการวิจัย และมีการวางแผนมากน้อยแค่ไหน? เท่าที่ผ่านมามีแต่องค์กรข้างนอกที่ทำงานด้านวิจัยแล้วเสนอต่อพระเดชพระคุณท่าน ไม่นานเรื่องก็เงียบหายไปเหมือนเดิม

 

     หลังจากนั้นก็จะมีการขอขมากันและกัน โดยการกราบ ๓ ครั้ง แล้วเปร่งวาจาพร้อมกันและน้อมศรีษะลงอันแสดงถึงการคารวะในมือถือพานเทียนแพรดอกไม้ธูปเทียน เมื่อกล่าวตอบ-รับเรียบร้อย ก็น้อมพานธูปเทียนแพรไปถวาย ซึ่งกระทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ตามการเรียงลำดับพรรษาแก่อ่อนลงมา ไม่เกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่ และสมณศักดิ์ ยกตัวอย่างในวันหนึ่งมีพระภิกษุ ๑๐ รูป และมีพรรษาเรียงลงมา คือ 

     รูปที่ ๒-๑๐ ต้องทำต่อรูปที่ ๑

     เมื่อเสร็จแล้ว รูปที่ ๓-๑๐ ก็กระทำต่อรูปที่ ๒

     รูปที่ ๔-๑๐ กระทำต่อรูปที่ ๓ ฯลฯ อย่างนี้ไปจนถึงรูปสุดท้าย

 

     ในประเด็นนี้ ศัพท์ทางสงฆ์เรียกว่า "การทำสามีจิกรรม" ซึ่งถ้าแปลให้หวาดเสียวก็จะแปลว่ากรรมที่กระทำต่อสามี แต่ถ้าคนที่รู้ภาษาบาลีก็จะเข้าใจว่า คำว่า "สามี" แปลว่าผู้เป็นใหญ่ ดังนั้น แม่บ้านจงรู้ว่าใครใหญ่ที่สุดในบ้าน (อย่างไรก็ตามแม่บ้านโดยมากมักจะแปลคำว่าภรรยาคือผู้เป็นใหญ่กว่าสามี-อันนี้นอกตำรา)

 

     โดยนัยยะนี้พระพุทธเจ้าให้ความหมายอยู่ ๒ ประการ คือ

     ๑) เป็นการขอขมาในสิ่งที่ล่วงเกินต่อกันและกัน 

     ๒)เป็นการปวารณาตัวว่าถ้าผู้น้อยผิดพลาดประการใดขอให้พระผู้ใหญ่ได้ให้คำชี้แนะสั่งสอนด้วย

 

     เป็นที่น่าสังเกตว่าพระภิกษุให้นับพรรษา ส่วนสามเณรไม่นับพรรษา แต่ให้มีการปวารณาเข้าพรรษาและปวารณาออกพรรษาเหมือนกัน ถ้าหากดูความหมายของคำว่าพระภิกษุและสามเณร คำว่า "ภิกขุ" แปลว่าผู้ยังชีพด้วยการขอ ถ้าแปลให้ดีมีระดับก็ต้องแปลว่า ผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร  ส่วน "สามเณร" แปลว่า เหล่ากอแห่งสมณะ แม้ไม่ต่างกันมากนัก แต่ไม่นับพรรษา

 

     หลังจากนั้น ก็ปวารณา(อธิษฐาน)เข้าพรรษา สุดท้ายเจ้าอาวาสก็ได้เมตตาให้โอวาทแก่พระภิกษุสามเณร โดยเน้นกิจที่ควรทำ ๔ ประการ สิ่งที่ควรเว้น ๔ ประการ กิจที่จำเป็นต้องไปค้างคืนในที่อื่นแต่ต้องกลับมาภายใน ๗ ราตรี เช่น ไปเพื่อรักษาพยาบาลโยมบิดามารดาที่ป่วย ไปเพื่อห้ามปรามมิตรสหายที่กระสันจะสึกระหว่างพรรษา ฯลฯ ตลอดจนถึงเรื่องที่ต้องการพูดในประเด็นต่าง ๆ เป็นอันเสร็จพิธี

 

     อย่างไรก็ตาม จุดประสงค์ของการเข้าจำพรรษา ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้พระภิกษุสามเณรได้หยุดอยู่กับที่ เพื่อศึกษาค้นคว้าความรู้เพิ่มเติม รวมทั้งการอบรมจริยามารยาทให้เหมาะสมกับเป็นสมณภาวะและที่สำคัญต้องอบรมอินทรีย์พละให้กล้าแกร่ง ไม่ว่าจะเป็นศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา เหมือนกับการเติมน้ำมันใส่ถังเอาไว้ เมื่อถึงเวลาก็จะมีพละกำลังทำภารกิจให้กับพระพุทธศาสนาได้เจริญก้าวหน้าสถาพรในโลกกว้างต่อไป

 

หมายเลขบันทึก: 449398เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2011 20:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 17:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท