ศุภัชณัฏฐ์ หลักเมือง
นาย ศุภัชณัฏฐ์ หลักเมือง (เอ) หลักเมือง

วิกฤตการศึกษาไทย ไม่ใช่เวลาจะมาโทษกัน (กศน.เพื่อนรัก เพื่อนเรียนรู้ : ๕๕)


วิกฤตการศึกษาไทย ไม่ใช่เวลาจะมาโทษกัน (กศน.เพื่อนรัก เพื่อนเรียนรู้ : ๕๕)

วิกฤตการศึกษาไทย ไม่ใช่เวลาจะมาโทษกัน

ศุภัชณัฏฐ์  หลักเมือง

ผู้อำนวยการ กศน.อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์

เครือข่ายประชาสังคมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

E-mail : [email protected]

-----------------------------------

ปัจจุบันการศึกษาไทยอยู่ในขั้นวิกฤต ซึ่งหากพิจารณาจากข้อมูลผลการทดสอบของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ที่ประกาศผลสอบแบบสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O – NET)  คือ การวัดผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ใน 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้แก่ ภาษาไทย
คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม  และภาษา   ต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ) ประจำปีการศึกษา 2553 ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 (ม.6) พบว่า ผลคะแนนโอเน็ตของนักเรียน ม.6 ทั่วประเทศ จากการสอบ       8 วิชา พบว่า คะแนนเฉลี่ยในวิชาหลัก ได้แก่ ภาษาไทย สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ นักเรียนไทยยังคงทำคะแนนได้ไม่ถึงร้อยละ 50 เช่นเดิม เหมือนกับปีที่ผ่านมา และบางวิชามีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าเดิม โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษที่ได้คะแนนต่ำมาก เฉลี่ยไม่ถึงร้อยละ 20 ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า นักเรียนไทยมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ตกต่ำลง

                อย่างไรก็ดี หากดูผลการประเมินสถานศึกษาในรอบ 2 เปรียบเทียบกับผลการประเมินในรอบแรก พบว่าคุณภาพของสถานศึกษาที่จัดการศึกษาปฐมวัยและสถานศึกษาที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ในภาพรวมอยู่ในระดับพอใช้ และพบว่าในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานมีผลการประเมินของสถานศึกษาที่มีคุณภาพดีลดลงกว่าผลการประเมินในรอบแรก โดยมีสถานศึกษาที่มีคุณภาพดีตามเกณฑ์เพียงร้อยละ 49.49 ในขณะที่รอบแรกมีสถานศึกษาที่มีคุณภาพดีร้อยละ 52.45 จะเห็นได้ว่าคุณภาพการศึกษาในระดับดีลดลง ยกเว้นสถานศึกษาที่จัดการศึกษาเฉพาะระดับมัธยมศึกษาที่ผลการประเมินรอบ 2 มีสถานศึกษาที่มีคุณภาพดีสูงกว่าผลการประเมินรอบแรก นอกจากนี้ ยังพบความแตกต่างของคุณภาพสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในเมือง จะมีค่าเฉลี่ยของผลการประเมินสูงกว่าที่ตั้งอยู่นอกเมือง สถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในภาคกลางมีคุณภาพสูงกว่าภาคอื่น ๆ และสถานศึกษาที่มีขนาดเล็กยังคงมีคุณภาพต่ำกว่าสถานศึกษาขนาดกลาง ขนาดใหญ่ และขนาดใหญ่พิเศษ

                จากข้อดังกล่าวสะท้อนถึงวิกฤตการศึกษาของไทยโดยรวมไม่ว่าจะเป็นด้านนโยบายด้านการบริหารจัดการ ด้านโครงสร้างหลักสูตร ด้านการจัดการเรียนการสอน และด้านการวัดและประเมินผลว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องมีการปฏิรูปการศึกษา (อย่างแท้จริง) เสียที ไม่ใช่แค่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างหรือสายการบังคับบัญชา การยุบกรม เปลี่ยนหน่วยงาน การจัดคนลงในตำแหน่งต่าง ๆ เหมือน 10 ปี ที่ผ่านมา  สมควรหันมาให้ความสำคัญและตั้งคำถามเชิงหาข้อมูลและข้อเท็จจริงในการ ที่จะต้องช่วยกันแก้ปัญหา ปัญหาหรือวิกฤตที่เกิดขึ้นย่อมมีที่ไปที่มา หรือที่เรียกว่า ผลย่อมเกิดจากเหตุ หรือเหตุย่อมเกิดจากผล เช่นเดียวกัน คงต้องย้อนกลับไปดูว่าปัญหา ข้อขัดข้องหรืออุปสรรคต่าง ๆ   เกิดจากสาเหตุใด

อย่าลืมว่าผลผลิต คือ เด็กนักเรียนที่สังคมและผู้บริหารการศึกษาระดับสูงคาดหวังต้องการให้มีความรู้ ความสามารถจากการเรียน คือ มีผลสัมฤทธิ์ที่ดีและสูงขึ้น  เราก็คงต้องมองที่ปัจจัยป้อนดูว่ามีความสมเหตุสมผลเพียงใด มองเฉพาะตัวป้อนที่เป็นตัวเงินงบประมาณด้านการศึกษาของประเทศไทย มีอัตราหรือสัดส่วนต่องบประมาณการบริหารประเทศเป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับด้านอื่น ๆ แต่ผลผลิตกลับไม่เป็นอย่างที่รัฐบาลได้ทุ่มเทงบประมาณลงไป  ระบบการผลิตครูก็ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีทั้งหลักสูตร 5 ปี 6 ปี  ดูเรื่องหลักสูตรและโครงสร้างหลักสูตรการศึกษา    ก็คงต้องมีการปรับปรุงให้มีความสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก กระแสโลกาภิวัฒน์ และการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี และข้อมูลข่าวสาร ด้านการบริหารจัดการเรื่องครูให้สอดคล้องกับจำนวนนักเรียน ครูต้องมีความรู้ความสามารถตรงตามวิชาที่สอน เช่น ครูที่จบการศึกษาสาขาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และภาษาไทยโดยตรง ไม่ใช่ครูจบพละศึกษาไปสอนคณิตศาสตร์ หรือสอนในวิชาที่ตนเองไม่ได้จบและไม่มีความรู้ สำหรับสถานศึกษาหรือโรงเรียนขนาดเล็ก ยิ่งต้องได้รับการบริหารจัดการ หรือได้รับการดูแลอย่างเป็นพิเศษว่าจะทำอย่างไร          ที่จะบริหารจัดการให้เด็กในโรงเรียนดังกล่าวสามารถได้เรียนกับครูที่มีความรู้ ความสามารถและครูที่สอนตรงตามสาขาหรือวิชาที่จบการศึกษามา ลำดับแรกอาจต้องดูความเป็นไปได้ในการหมุนเวียนครู หรือนักเรียนไปยังโรงเรียน       ที่ใกล้ ๆ และมีความพร้อมมากกว่า

                อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหา ข้อขัดข้องและอุปสรรคอีกมากมาย หากจะทำให้การศึกษาของประเทศไทยได้รับการพัฒนาและสามารถเทียบเคียงกับประเทศในแถบอาเซียนอย่างสิงคโปร์หรือมาเลเซียได้  สิ่งสำคัญทุกรัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างแท้จริงต้องแก้ไขให้ตรงจุดอย่างน้อย  ที่สุดเป้าหมายหลักในการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ. 2552-2561) ได้แก่ 1) การพัฒนาคุณภาพการศึกษาและมาตรฐานการศึกษา       2) การเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้ประชาชนคนไทยได้เรียนอย่างทั่วถึง   และ 3) การมีส่วนร่วมในการจัดและพัฒนาการศึกษาของทุกภาคส่วนสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ระดับนโยบายต้องได้คนที่มีความเข้าใจทางด้านการศึกษาหรือต้องมีที่ปรึกษาที่เก่ง ๆ และเชี่ยวชาญด้านการศึกษา มาช่วยจัดทำแนวนโยบายด้านการศึกษาของชาติ

                เราต้องยอมรับกันจริง ๆ เสียทีว่าการศึกษาของประเทศไทยกำลังวิกฤต เพราะฉะนั้น ทุกคนที่อยู่ในสังคมทุกคน และทุกภาคส่วนต้องเข้ามาช่วยกู้วิกฤตการณ์นี้ให้ได้ ไม่เช่นนั้น เราก็อาจจะล้มละลายทางด้านการศึกษา ซึ่งอาจจะร้ายแรงกว่าวิกฤตเศรษฐกิจ ในปี พ.ศ. 2540 เสียอีกครับ เพราะว่าการศึกษาเป็นตัวบ่งชี้สำคัญในการพัฒนาประเทศ และการจัดว่าประเทศใดเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว หากไม่ช่วยกันแก้ไขในวันนี้ อย่าหวังว่า ปี พ.ศ. 2563 ประเทศไทยจะได้ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว.

 

หมายเลขบันทึก: 448882เขียนเมื่อ 13 กรกฎาคม 2011 16:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 15:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท