Human KM – Ba เพื่อ Happy Workplace


หายตัวไปทำเรื่องดีๆมา ขอนำมาเล่าแบ่งปันกันค่ะ 

 

เป็นครั้งที่สองที่ผู้เขียนได้ร่วมเป็นวิทยากรกับคุณศิลาใน

กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ จัดโดย NSTDA Academy 

  • หลักสูตรฝึกอบรมผู้บริหารศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รุ่นที่ ๖           

e-Governance Masterclass for ICT Directors Class 6

๕-๗ กรกฎาคม ๒๕๕๔

  • หลักสูตรฝึกอบรมการจัดการไอซีทีสำหรับผู้บริหาร สายบริหารและสนับสนุน รุ่นที่ ๒ 

ICT Management for Non- ICT Executives, Class 2

๖ – ๘ กรกฎาคม ๒๕๕๔

โรงแรมธารามันตรา ชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

 

 

ซึ่งโจทย์ในครั้งนี้ไม่เพียงแค่การกระชับความสัมพันธ์กันระหว่างผู้บริหารที่มาจากหลากหลายหน่วยงานให้เกิดความผูกพัน แต่คาดหวังถึงการสร้างเครือข่ายยึดโยงกันได้แม้จบการอบรมไปแล้ว  แต่ปรากฎว่าผู้บริหารสองกลุ่มในครั้งนี้มีความสนิทสนมกันค่อนข้างมากอยู่แล้ว อันเนื่องมาจากการได้ใช้เวลาร่วมทุกข์ร่วมสุขในการอบรมหลายหัวข้อและเดินทางไปดูงานต่างประเทศด้วยกันมาแล้วก่อนที่จะมาพบกับเรา  

การบ้านที่จะต้องทำต่อไปคือการนำติดอาวุธใหม่หรือให้เครื่องมือที่ผู้บริหารจะนำไปใช้ในการจัดการ “ความรู้สึกตัว” และ “ปรับตัวเข้ากับผู้อื่น” ที่จะต้องมีความสัมพันธ์ต่อกันตามศาสตร์ Enneagram (นพลักษณ์)  ตลอดจนถึง การทำความเข้าใจ KM ในมิติภายใน ที่เรียกว่า “Human KM” บน Ba (พื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้)

 

  • คุณศิลาจะใช้เวลาหนึ่งวันเต็มสำหรับแต่ละกลุ่ม เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรรมเรียนรู้ตนเอง-เรียนรู้ผู้อื่น โดยใช้ นพลักษณ์ หรือ Enneagram เป็นเครื่องมือ มีความจริงอย่างน่าทึ่งที่ผู้เข้าร่วมแต่ละคนได้ค้นพบตนเอง สนุกสนานเบิกบานในกระบวนการเรียนรู้มากมาย ที่สำคัญได้สะท้อนให้เห็นถึงความใส่ใจและให้ความสำคัญกับการเรียนรู้เกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างผู้คน คุณศิลาได้เล่าไว้ในบันทึกของเธอ เชิญตามไปอ่านได้ค่ะ

       http://www.gotoknow.org/blog/sophiaenneagram/448706

 

  • ผู้เขียนจะรับช่วงต่อแต่ละกลุ่มอีก กลุ่มละครึ่งวัน มีวัตถุประสงค์ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมพิจารณาเรื่องของการทำให้ตนเองเป็นสุขในด้านต่างๆ และตระหนักว่าในฐานะเป็นผู้บริหารนั้นสามารถมีผลกระทบต่อลูกน้องมากมาย บางท่านอาจเป็นผู้นำที่เคร่งเครียดเกินไป เก่งและเร็วเกินไปจนลูกน้องตามไม่ทัน หรือมุ่งแต่ผลสำเร็จจนลืมคน เลยอาจแผ่รังสีอำมหิตโดยไม่ตั้งใจและไม่รู้ตัว

ไม่ว่าจะมีตำแหน่งอะไร ใหญ่หรือเล็กๆจนคนมองแทบไม่เห็น ทุกคนเป็นมนุษย์ ต่างปรารถนาความสุขด้วยกันทั้งนั้น เมื่อเห็นตัวเองและเห็นผู้อื่นจากศาสตร์นพลักษณ์ การเข้าใจองค์ประกอบของความสุขจึงจำเป็นเพื่อทำให้ตนเองมีความสุขได้ และเห็นความสำคัญของการสร้างโอกาส เอื้อให้ลูกน้องมีความสุขไปด้วย เพื่อให้ คนสำราญ งานสำเร็จ

 

คนที่เข้าใจเรื่องความสุข และมีความสุข จึงจะสามารถแบ่งปันสุขให้ผู้อื่นได้

 

  • สิ่งดีๆที่อยากให้เกิดได้ในที่ทำงาน ให้เป็น Happy Workplace 8 ประการ Happy Body, Happy Heart, Happy Soul, Happy Relax, Happy Brain, Happy Money, Happy Family, Happy Society

ความสุขด้านต่างๆเหล่านี้ล้วนเป็นเพียงเป้าหมาย เราต้องหาหนทาง พื้นที่ วิธีการ ที่จะเพาะเมล็ดพันธุ์ความสุขให้เกิดได้ งอกงามได้

  • จะสร้างให้ความสุขเกิดได้ ผู้เขียนจึงเลือกสองแนวคิดมาใช้อธิบาย และนำเข้าสู่การน้อมใจใคร่ครวญมิติของความเป็นมนุษย์ที่ต้องเชื่อมโยงตนเองจากโลกภายในสู่โลกภายนอก รักษาสมดุลแห่งชีวิต

ประการแรก คือ เข้าใจ องค์ประกอบของความสุขของมนุษย์ที่ต้องหมั่นตรวจสอบและเติมเต็มตนเอง และผู้อื่น ใช้แนวคิด Self Mandala โดยนักจิตบำบัด Virginia Satir ซึ่งกล่าวไว้ 8 ด้าน เช่นกัน คือ Context, Physical, Intellectual, Nutritional, Sensual, Emotional, Interactional และ Spiritual

การเติมเต็มความสุขด้านต่างๆนี้ เป็นโอกาสให้ผู้เขียนสามารถชี้ให้เห็นการเติมเต็มแบบโลกทัศน์ตะวันตก หรือแบบฝรั่งๆ ที่หากไม่เข้าใจจะยิ่งทำให้ทุกข์ เพราะแสวงหาสุขไม่หยุดหย่อน หรือ ติดในรสสุข จึงควรมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ พินิจแก่นสัจจธรรมว่า ความสุขที่เป็นเพียงความเพลิดเพลิน หรือความสะดวกสบายที่ได้รับจากสิ่งภายนอก ยังไม่เป็นความสุขอย่างชัดเจนและไม่ยั่งยืน โดยทั่วไปมนุษย์เราเมื่อมีความสุขสมหวังแล้วก็เคยชิน เบื่อ ภาษาธรรมะเรียกว่าเป็นความสุขที่เผาลน เพราะความต้องการสิ่งใหม่ๆเกิดขึ้นตลอดเวลา และมากขึ้นเรื่อยๆทำให้ต้องแสวงหาอย่างเหน็ดเหนื่อยทั้งกายและใจไม่มีที่สิ้นสุด

ความสุขที่แท้จริงเกิดมาจากภายในใจของเราเอง หากจะโยง ความสุข เข้ากับ ความสบายใจ ก็เห็นจะได้ซึ่ง เราคงคุ้นเคยกับคำอวยพรจากผู้ผ่านโลกมามากว่าให้ “อยู่เย็น เป็นสุข”

การเติมสุขในด้านต่างๆจึงเป็นการใช้ สติ สามารถมีความสุขได้ในปัจจุบันขณะ หรือ here and now และมีความสุขเล็กๆเกิดขึ้นได้เสมอๆกับสิ่งง่ายๆรอบตัว ไม่ต้องวาดฝันรอความสุขใหญ่ๆที่ต้องใช้อำนาจหรือเงินซื้อหา

 

ประการที่สอง คือ แนวคิดเรื่อง Ba  โดย ปรมาจารย์ด้าน Knowledge Creation – Ikujiro Nonaka มาเผยให้เห็นว่าจะทำ ความเป็น นามธรรม บ่มเพาะให้เป็น รูปธรรม ได้อย่างไร

Ba  เป็นภาษาญี่ปุ่น แปลว่า พื้นที่ ทว่า....

ไม่ใช่แค่มี พื้นที่ แต่ต้องมีทั้งพื้นที่ เวลา ให้ผู้คนได้ทำ กิจกรรม หรือทำ โครงการ ใดๆที่จะก่อให้ เกลียวความรู้ หมุนอย่างต่อเนื่องเกิดผลเป็น ความรัก ความสามัคคี ความสนุกสนาน ความพึงใจ ภูมิใจ ที่เป็นส่วนหนึ่งขององค์กร อยู่ดีๆ เฉยๆ สิ่งเหล่านี้เกิดเองไม่ได้ ต้องสร้าง พื้นที่ เพื่อให้ โอกาส แก่ผู้คนได้ปฏิสัมพันธ์กันอย่างมีจุดมุ่งหมาย

ในการปฏิสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เราไม่เพียงแลกเปลี่ยนตัวความรู้/องค์ความรู้/และประสบการณ์เท่านั้น สิ่งที่เกิดขึ้นไปพร้อมๆกันได้นั้น คือ สิ่งที่เป็นมิติภายในตัวคน มีความเป็นนามธรรมสูง เช่น ความเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน ความรัก ความไว้เนื้อเชื่อใจ และความรู้สึกปลอดภัยในการปฏิสัมพันธ์แลกเปลี่ยนเรียนรู้นั้นๆ  ที่เราต้องส่งเสริมให้ผลิบาน งอกงาม ให้เห็นและสัมผัสได้ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันอย่างแท้จริง และเป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมชุมชนหรือองค์กรเดียวกันอย่างมีความสุข

มีผู้บริหารท่านหนึ่งเดินมาคุยกับผู้เขียนตอนเบรคว่า “ ฟังแล้วใช่เลยครับ เรื่อง Ba ผมสนใจมาก เพิ่งได้มาทราบที่นี่ จะเป็นประโยชน์กับการนำไปใช้มาก องค์กรผมมีพนักงานอยู่เกือบสามพันคน คิดว่าจะต้องทำอะไรอีกมาก...” 

ผู้เขียนรู้สึกว่าแนวคิดทั้งสองประการนี้สามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างดี แม้เวลาจะสั้นไม่ถึงสามชั่วโมง ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ฟังคำอธิบายแนวคิดและลงมือทำกิจกรรมกลุ่ม ให้ทำงานกลุ่มที่แบ่งตามแบบ นพลักษณ์ คือ ศูนย์ใจ ศูนย์สมอง และ ศูนย์ท้อง

 

  • ผลงานกลุ่มออกมาน่าประทับใจในความใส่ใจฟังของคนระดับบริหารที่ต้องมาฟังเรื่องที่ตัวเองไม่เคยสนใจ ไม่คุ้นเคย แต่ว่าก็ตั้งใจฟัง มีความเข้าใจ สะท้อนให้เห็นจากงานที่แต่ละกลุ่มนำเสนอ แม้เน้นเรื่องของความเข้าใจ องค์ประกอบความสุข และการสร้าง Ba แต่ก็ให้ทำกิจกรรมในกลุ่มศูนย์ของตน  

 

  • คุณศิลาได้มาช่วยสะท้อนการนำเสนอของแต่ละศูนย์

 

ศูนย์ใจ (กลุ่มหลักสูตรผู้บริหาร ICT)

 ศูนย์สมอง(ซ้าย) และ ศูนย์ท้อง (ขวา)

 

นับว่าเป็นการย้ำให้เห็นว่าสิ่งที่วิทยากรสองเรามาร่วมแบ่งปันนั้น ไม่ใช่แค่สิ่งที่มาฟังกันเพลินๆ ฆ่าเวลา แต่นำไปใช้ได้จริง ไม่ว่าจะศูนย์อะไร ลักษณ์ใด สิ่งสำคัญคือ การได้มองเห็นและตระหนักถึงรูปแบบการสื่อสารเชื่อมโยงโลกภายในตนกับโลกภายนอกที่ตนเองคุ้นชินเป็นแพทเทิร์นที่แม้ตนเองก็ไม่เคยสังเกตมาก่อน

 

 ทั้งสามศูนย์ ของ กลุ่มผู้บริหารสายบริหารและสนับสนุน

การได้มาสะท้อนตนเองผ่านกิจกรรมและเปรียบเทียบกับศูนย์และลักษณ์ที่แตกต่างทำให้เห็นตัวเองชัดขึ้น ไม่ว่าจะกลุ่มใด กิจกรรมอะไรก็แล้วแต่ ก็จะเห็นชัดว่า ศูนย์ใจมักนำเสนออธิบายในแง่ของความสัมพันธ์ ความรู้สึก ความสบายใจ ศูนย์สมองแม้เสนอกิจกรรมดีๆเช่นกันแต่โดดเด่นที่อธิบายถึงความเป็นเหตุ เป็นผล หรือการจัดลำดับขั้นตอนกิจกรรมนั้น ในขณะที่ ศูนย์กายหรือศูนย์ท้องจะอธิบายชัดถึงการลงมือทำสิ่งนั้นๆและมีแววตาท่าทางที่เอาจริงเอาจังค่อนข้างมาก

 

  • คุณศิลาและผู้เขียนเองรู้สึกปิติ เมื่อได้ยินตัวแทนกลุ่มท่านหนึ่งออกมากล่าวถึงการอบรมและการเรียนรู้ในวันครึ่งนี้ว่า ...

...ตอนแรกที่ทราบว่าจะต้องมาเข้ารับการอบรมเรื่องนพลักษณ์และเรื่องการจัดการความรู้แบบ Human KM อะไรนี่ก็สงสัยอยู่ว่าจะให้มาเรียนรู้อะไร นพลักษณ์เป็นอย่างไรกัน และ การจัดการความรู้ จะมาพูดอะไร ผู้บริหารต่างก็ผ่านเรื่องนี้(KM)กันมามากแล้ว แต่แล้วเมื่อได้มาเรียนรู้ก็รู้สึกว่าได้ประโยชน์มากในการได้รู้จักตนเอง และการที่จะพัฒนาตนเองได้ ตอนแรกก็ยังไม่ชัดกับตัวเองอยู่ในเรื่องนพลักษณ์ และสงสัยว่าสิ่งที่จะเรียนรู้จะนำไปปรับใช้ในงานอย่างไร มาชัดเจนขึ้นก็จากการทำกิจกรรม...”

คุณศิลาคุยกับผู้เขียนว่าการเรียนรู้และกิจกรรม นพลักษณ์ เพียงวันเดียวนั้นน้อยไปหน่อย พอมีการทิ้งช่วงแค่หนึ่งคืนและได้ทำกิจกรรมอื่นที่สอดคล้องกันในวันถัดมา ผู้ร่วมกิจกรรมจะมีเวลา ย่อย หรือ digest สิ่งที่ได้เรียนรู้ไปและนำมาบูรณาการกับมิติการทำงานที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

 

  • กิจกรรมกลุ่มในวันที่สอง แค่ครึ่งวันนี้ยังตอบโจทย์สำคัญอีกประการให้กับผู้บริหาร ที่ต่างผ่านการอบรมพัฒนาจิต พัฒนาตนเอง พัฒนาการเป็น Happy Workplace กล่าวได้ว่ามากมายแต่ “...ก็แค่นั้น เสร็จจากอบรม หรือให้ไปปฏิบัติธรรม (ตนเอง) ก็จะดีอยู่ได้ไม่นาน เดี๋ยวก็กลับเข้าสู่แบบเดิมที่เคยชินอีก...”  แน่นอนว่าหากปล่อยตนเองให้ไหลไปตามกระแส แล้วแต่คลื่นชีวิตงาน-ชีวิตส่วนตัวจะพัดไปทางไหน แรงหรือค่อย ก็ต่อสู้ไปพอผ่านไปได้วันๆ คำรำพึงนี้ก็คงจริงที่สุด

การเรียนรู้ผ่านกิจกรรมในเรื่อง Ba นี้ชี้ว่า  ผู้บริหารหรือผู้นำต้องมีทั้งความเมตตาและมีหน้าที่ในการจัดระบบนิเวศขององค์กร ขยายพันธุ์ ให้เมล็ดพันธุ์ดีๆที่ได้รับมาสามารถงอกงาม กระจาย ผลิบานไปได้ทั้งองค์กร โดยรดน้ำ เติมสารอาหารเมล็ดพันธุ์เหล่านั้นเสมอๆ 

ธรรมะจัดสรรให้ผู้เขียนมีโอกาสได้ทำงานร่วมกับคุณศิลา ได้นำความรู้และประสบการณ์ชีวิตตนเองมาตกผลึกเป็นประโยชน์ต่อไปกับคนทำงานได้เช่นนี้ รู้สึกมีความสุขมากค่ะ

  

ขาเดินทางกลับได้มีโอกาสแวะนมัสการ หลวงปู่ทวด ที่วัดห้วยมงคล และแวะที่สวยงาม ซื้อขนม ของฝากระหว่างทาง เป็นทริปที่ได้เติมเต็มความสุขตนเองและผู้อื่น ส่งความสุขมายังท่านผู้อ่านทุกท่านด้วยค่ะ

 

 

หมายเลขบันทึก: 448704เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2011 14:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (23)
  • พี่นุชเจ้า..
  • 

เห็นพี่นุชแวบๆ เลยตั้งใจนั่งรอ  เพราะแอบลุ้นว่าพี่นุชจะต้องขึ้นบันทึกใหม่หมาดแน่ๆ  แล้วก็จริงด้วย

"การเติมเต็มความสุขในด้านต่างๆ"  อ่านให้ยากก็ดูยาก  อ่านให้ง่ายก็ดูง่าย  ทำได้ก็ดีนะคะ   "ความสุข" ใครๆ ก็อยากมี  แต่จะมีให้ได้จริงๆ หรือหลอกๆ ก็สุดแล้วแต่ "ผู้ปฏิบัติ"

 

งานพี่นุช..สวยงามอีกตามเคย   อ่านแล้ว "ชื่นใจ" ค่ะ ^^

มาชื่นชมทีมงานครับ เติม Happy ที่ ๙ ครับ "Happy Buddy"

  • เห็นด้วยกับท่านอาจารย์ JJ ค่ะ Happy Buddy จิบองุ่นขาวท่ามกลางหุบเขาในไร่องุ่นหัวหินค่ะ ภาพยังไม่ได้จัดการ เลยไม่สามารถนำมาประกอบคำพูดได้ค่ะ แต่ขอฝากร่องรอยไว้ก่อนค่ะ
  • การจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่สร้างสุขพื้นฐานแล้วควรทำให้กลุ่มรู้จักตัวตนของกันและกันก่อน และจัดพื้นที่ในเวที นอกเวทีให้พวกเขาทำกิจกรรมร่วมกันเหมือนที่เราไปทำมาแล้ว ดีเยี่ยม ๆ ค่ะ (ชมรม ชมกันเอง)
  • ขอบพระคุณพี่นุชมากค่ะที่ร่วมกันสร้างสรรค์ความงดงามให้กับผู้ร่วมกระบวนการด้วยกัน มีแต่รอยยิ้ม ความหรรษา และการค้นพบแนวทางสร้างการเปลี่ยนแปลงของแต่ละคนที่ได้เรียนรู้กลับไป

คุณต้อมเนปาลีเจ้า... น่ารักจริงๆ แค่เห็นแวบๆก็ตั้งใจรอกันเช่นนี้

เรื่องภายในตนนั้น ก็เห็นจะมีแต่ผู้ปฏิบัติเท่านั้นค่ะที่จะเป็นผู้ตอบได้ อย่างไรก็ตามในท้ายสุดเราจะทราบได้เองว่าใครบ้างคือคนที่มีความสุขหล่อเลี้ยงอยู่ภายใน ให้ดูเมื่อคนผู้นั้นพบกับความทุกข์ค่ะ คนที่เข้าใจเรื่องความสุขอย่างแท้จริง จะมักเข้าใจเรื่องของทุกข์ จึงเป็นคนที่ไม่ตีโพยตีพาย ไม่จมทุกข์

ความสุข ที่แท้จริง คือ ความสงบ ความสบายใจ ของแท้ต้องฝึกใจให้ผ่องใส สุขมาจากภายในค่ะ

ขอบคุณที่คุณต้อมมาร่วมเป็นสุขไปด้วยกันค่ะ

ขอบพระคุณท่านอาจารย์JJ ค่ะ มาชื่นชมเช่นนี้คือการมาให้พรพวกเราค่ะ

...เติม Happy ที่ ๙ ครับ "Happy Buddy" ใช่เลยค่ะ หากเรามีเพื่อนรู้ใจ คู่ใจทำงานไปด้วยกัน การทำงานจะคลายเครียดไปได้เยอะมาก

ครั้งต่อไป หากนุชไปทำวงเสวนาเรื่องนี้อีก จะใช้ Happy Workplace 8+1 ค่ะ

ค่ะคุณศิลา Sila Phu-Chaya เราเป็น Happy Buddy กัน ทำงานด้วยกันต่างเติมเต็ม ได้เรียนรู้อะไรๆในแง่มุมใหม่ๆเสมอ ส่งเสริมกัน ไม่มีกั๊ก ไม่มีกัน ไม่มีบลัฟ พี่ได้เรียนรู้มากมายค่ะ ขอบคุณที่เปิดโอกาสให้ได้ร่วมงานแสนเบิกบานด้วยกันเสมอๆ

ยังจำรสชื่นใจของน้ำองุ่นขาวเย็นเจี๊ยบ ที่เราได้ดื่มเคล้าสายลมในหุบเขาไร่องุ่น ว้าว สดชื่นๆ จะคอยชมภาพ พี่ไม่ได้เก็บภาพไว้ ตามประสาคนลักษณ์ ๘ แก้วน้ำองุ่นมาถึง จัดการเลยค่ะ ^___^

ท่านอาจารย์ลักษณ์ ๑๐Wasawat Deemarn เห็นน้องมานึกว่าสนใจเรื่องความสุข ที่แท้มาแซวรูปใหม่พี่ หรือการแซวพี่เป็นความสุขอย่างหนึ่ง ยินดีค่ะ ขอบคุณที่แวะมาอย่างรวดเร็ว

มาแอ่วอีกรอบครับ ขอบพระคุณครับ

ตามมาอ่านความสุขดีๆทางจิตจากบันทึก น้องศิลา..น่าสนใจจริงๆ..พี่ใหญ่อยากให้ผู้คนทั้งหลายหันมาใส่ใจฝึกความสุขแบบนี้กันอย่างจริงจังและอย่างต่อเนื่อง..ทั้ง น้องนุชและน้องศิลา ได้ผลกุศลสูงมากจากธรรมทานนี้ค่ะ..

 

รูปใหม่พี่นุช....สวยใส *__* ปิ้งๆๆมากค่ะ

อ่านไป..ก็มีกำลังใจในการทำงานต่อไปเพื่อ

... Happy Workplace 8 ประการ

รออ่าน....Happy Food ต่อด้วยค่ะ

โรแมนติกจัง จิบไวน์ท่ามกลางหุบเขาและไร่องุ่น ทรงผมใหม่สวยนะคะ

ขอบพระคุณท่านอาจารย์JJ ค่ะที่มาแอ่วอีกรอบ ได้ทำตัวเป็นศิษย์เรียนรู้จากอาจารย์เสมอๆค่ะ

ขอบพระคุณพี่ใหญ่นาง นงนาท สนธิสุวรรณ ที่ติดตามอ่านและให้กำลังใจเรา ทั้งคุณศิลาและนุชรู้สึกมีความสุขที่ได้ทำงานอย่างนี้ค่ะ ไม่ใช่เรื่องยากหรือซับซ้อนอะไรแต่เป็นสิ่งที่ทุกคนมองข้ามนะคะ

ขอบคุณค่ะคุณแจ๋ว ทำงานอย่างมีความสุขในทุกๆวันนะคะ

Happy Food ต้องตามไปลิงค์คุณศิลานะคะ พี่ไม่ทันถ่าย อาหารมา หม่ำๆเลย อิ อิ ทำตามสัญชาติญาณ

ขอบคุณที่ชมทรงผมใหม่ อย่างน้อยผมทรงนี้ก็ทำให้เบาสบายศีรษะมากค่ะ แต่คนข้างกายพี่บ่นซะ...

ขอบคุณค่ะคุณแก้ว..อุบล จ๋วงพานิช ทรงผมก็เปลี่ยนไปเรื่อยตามประสาคนผมงอกยาวเร็วมากค่ะ

แก้ข่าวหน่อยค่ะ... จิบน้ำองุ่นขาว จริงๆ เป็นน้ำองุ่นขาวจากไร่เขาคั้นสด ใส่น้ำแข็งทุบ ร้อนๆดื่มแล้วชื่นใจมากค่ะ พี่ไม่ค่อยดื่มไวน์หรอกค่ะ ไม่ใช่ของโปรด บางครั้งดื่มเวลาไปทานอาหารร่วมกับคนอื่นแล้วทุกคนในโต๊ะดื่ม แล้วหากไม่ใช่บรรยากาศสบายๆก็ไม่ดื่มแม้ว่าคนอื่นจะดื่ม พยายามเลี่ยงๆค่ะ รักษาศีลให้เป็นปกติมากเท่าที่จะทำได้น่ะค่ะ  ขอบคุณที่มาทักทาย ไม่ได้พบกันครั้งละนานๆเลยค่ะ

พี่นุชตามมาเชียร์ก่อนยังติดอยู่ที่สุราษฯเลยครับ...

ขอบคุณค่ะอาจารย์ขจิต  ทานอาหารทะเลเผื่อด้วยนะคะ ^___^  พี่มีเพื่อนอยู่ที่ดอนสัก เขาจัดให้ได้ทานปูม้าสดมาก อร่อยสุดยอดเลยค่ะ

ทำงานไป พักผ่อนไปด้วย จะได้มีพลังทำงานได้เยอะๆ

ÄÄ...ยายธีแวะมาเจ้าค่ะ..อ่านแล้ว..ได้รับรู้อีกมากมาย..ขอบคุณค่ะ...สวัสดี..มีสุข..อายุมั่นขวัญยืน..นะเจ้าคะ..ยายธีค่ะ

สวัสดีค่ะคุณยายธี ขอบพระคุณในพรที่มอบให้ค่ะ

กำลังจะลงบันทึกใหม่ คุณยายธีต้องชอบแน่นอน จะทำให้นึกถึงวัยเด็กสดใสค่ะ ที่อีกบล็อกคอยตามอ่านนะคะ

ตามมาอ่านต่อจากน้องอ.ศิลา  อ่านเพลินเลยค่ะ ดีใจที่ได้ความสุขกลับมากมายนะคะ ทุกคนที่เข้าอบรมก็ได้สิ่งดีๆกลับไป ก็คงมีความสุขเช่นกันค่ะ

 

        ฝากความสุขกับอาหารสุขภาพไว้ด้วยนะคะ

 

http://gotoknow.org/blog/kandanalike/446425

 

ขอบคุณค่ะคุณดากานดา น้ำมันมะพร้าว เรื่องอาหารเพื่อสุขภาพเป็นด้านหนึ่งของการเติมสุขให้ชีวิตจริงๆค่ะ

แวะมาเยี่ยมบันทึกนี้ เพราะเพิ่งเข้ามา copy link ส่งให้ท่านอาจารย์ที่ ม. กรุงเทพฯ ชมค่ะ ที่เหลือคือขั้นตอนการพิจารณาหลักสูตรอบรมค่ะ อ่านทีไรก็ยิ้มกริ่มทุกที มีแต่ความสุขที่ เห็นรอยยิ้มของคนอื่น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท