เรื่องเล่าหลังผ่าตัด (2)


“ข้อมูลมีผลต่อการตัดสินใจ”

“ข้อมูลมีผลต่อการตัดสินใจ” เป็นคำกล่าวที่คนทั่วไปยอมรับ รวมถึงตัวดิฉันด้วย

 

ในวันที่ 21 มิถุนายน 2554 ดิฉันเดินทางไปยังโรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อเตรียมตัวผ่าตัดในวันรุ่งขึ้น ภายหลังการไปยื่นบัตรนัดและดำเนินการตามขั้นตอนของผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลเพื่อรับการผ่าตัดทางนรีเวชแล้ว ดิฉันก็ได้เข้าพักในห้องพิเศษรวม 3 คน ตามที่ได้ยื่นขอจองห้องไว้

 

ในวันนี้มีทั้งแพทย์และพยาบาลหลายท่าน หลายแผนก เข้ามาพูดคุยสอบถามและให้ข้อมูลแก่ดิฉันมากมาย หนึ่งในกลุ่มนี้มีนักศึกษาแพทย์ชั้นปีสุดท้ายท่านหนึ่ง จะเป็นผู้มาสอบถามข้อมูลอย่างละเอียดอยู่เป็นระยะ ที่ไม่สอบถามซะทีเดียวจบ ก็เป็นเพราะว่าบางครั้งขณะที่พูดคุยจะมีแพทย์ หรือพยาบาลท่านอื่น (ที่บอกไว้แต่แรกว่ามาจากหลายแผนก) เข้ามาสอบถามให้ข้อมูลบางประการแก่ดิฉัน

 

การพูดคุยกับว่าที่คุณหมอท่านนี้ เป็นไปแบบเจาะลึก สอบถามกันแบบละอี้ละเอียด ซึ่งในขณะที่พูดคุยดิฉันรู้สึกเหมือนท่านเป็นเพื่อน พูดคุยแล้วสบายใจ ที่กังวลโน่นนี่อยู่ก็ค่อยคลาย รู้สึกดีที่อย่างน้อยก็มีคนมาคุยด้วยแบบนาน ๆ ไม่ได้มาคุยแป๊บ ๆ แบบท่านอื่น ๆ คือตอนนั้นดิฉันอยู่คนเดียว เตียงแรกว่าง เตียงสองกำลังอยู่ในห้องผ่าตัด น้องสาวของดิฉันก็ให้เขากลับไปแล้ว ตั่งแต่บ่าย ๆ (ห้องพิเศษรวม 3 คนนี้ ไม่อนุญาตให้ญาติเฝ้าค่ะ)

 

ในช่วงบ่ายนี้ คุณหมอที่จะทำการผ่าตัดยังพาดิฉันไปอัลตร้าซาวด์อย่างละเอียดอีกครั้ง เพื่อให้ได้ข้อมูลเพียงพอสำหรับการผ่าตัด ในการตรวจรอบนี้ทั้งคุณหมอและดิฉันเองก็ได้รับข้อมูลเพิ่มเติมอีก จากที่เคยทราบแต่ว่าต้องผ่าตัดเนื้องอกในมดลูกที่มีขนาดโตราว 9 cm จากข้อมูลการบันทึกของคุณหมอท่านก่อน คราวนี้อาจต้องตัดรังไข่ด้วย จะข้างเดียวหรือทั้งสองต้องพิจารณาอีกครั้งเมื่อผ่าจริง

 

ย้อนกลับมาที่การพูดคุยกับว่าที่คุณหมออีกสักนิด มีคำถามที่ดิฉันไม่แน่ใจในคำตอบของตัวเอง คือ ดิฉันมีรอบเดือนครั้งแรกในชีวิตตอนอายุเท่าไร ตอนที่ถูกถาม ก็งุนงงว่าทำไมหมอจึงถามย้อนอดีตอะไรยาวนานซะปานนี้ และมาถึงบางอ้อภายหลังว่า น่าจะเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการตัดสินใจให้กับแพทย์ในการพิจารณาว่าสภาพมดลูก+รังไข่ ที่เห็นขณะที่ผ่าตัด ข้อมูลระยะเวลาที่คนไข้คนนี้มีประจำเดือนมาแล้วกี่ปี ดูแล้วน่าจะเข้าสู่วัยทองในอีกกี่ปี รวมไปถึงข้อมูลอาการผิดปกติอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงมีรอบเดือน จะนำไปสู่การตัดสินใจว่าคุณหมอจะตัดอะไรของเราออกไปบ้าง

 

ประเด็นนี้ ดิฉันได้คิดเลยว่าต้องบอกคุณครู ให้บอกลูกศิษย์ (หญิง) ของเราหน่อยแล้วว่า ควรมีการบันทึกหรือจดจำไว้ว่าตัวเรานั้นมีรอบเดือนครั้งแรกตอนอายุเท่าไร เพราะใครจะรู้ได้ว่าในอนาคตอีกยาวไกล จะเกิดอะไรขึ้นกับเด็กผู้หญิงคนนี้บ้าง เหมือนอย่างตัวดิฉันนี่ไง เราจะได้บอกข้อมูลคุณหมอได้ไม่คลาดเคลื่อน เป็นผลกระทบต่อสุขภาพของเรา เรื่องนี้จึงเป็นข้อมูลสำคัญต่อสุขภาพของผู้หญิงเราค่ะ

 

เอาล่ะ...ทีนี้กลับมาที่เรื่องของศึกษานิเทศก์บ้างค่ะ...ลองนึกดูนะคะ จะดีแค่ไหนถ้าเวลาที่เราไปนิเทศเราจะใส่ใจต่อการค้นหาข้อมูลของผู้รับการนิเทศอย่างละเอียดและรอบด้าน เพราะข้อมูลเหล่านี้จะเป็นส่วนสำคัญในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือ ชี้แนะ จัดกิจกรรมพัฒนาให้แก่ผู้รับการนิเทศ และที่สำคัญหากมีการบันทึกข้อมูลที่เราได้รับไว้อย่างละเอียดในแฟ้มของโรงเรียน หรือในสมุดบันทึกการนิเทศของโรงเรียนนั้น ๆ แล้ว จะช่วยให้ผู้นิเทศท่านต่อ ๆ ไป มีข้อมูลเพียงพอต่อการนิเทศของผู้นิเทศท่านนั้นด้วย นึกแล้วสนุกอยากกลับไปทำงานได้ไว ๆ ค่ะ

หมายเลขบันทึก: 448180เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2011 20:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

นำต้นขี้เหล็กปลูกปีกลายมาฝากกันครับ


สิ่งที่พี่คิดว่า..งานการศึกษาของเราขาด

ก็คือการบันทึกข้อมูลต่อเนื่องและนำไปใช้

แปลกที่ ครูป.1 รู้เรื่องเด็กๆมากกว่าชั้นอื่นๆ

จนหลายคนบอกว่า"อยากรู้อะไรให้มาถามครู ป.1..

  • ขอบพระคุณท่านอาจารย์โสภณ
  • ตอนนี้ตัวเองเข้าสู่ภาวะวัยทองโดยสมบูรณืค่ะ เพราะรังไข่ที่มีหน้าที่สร้างฮอร์โมน ถูกตัดไปทั้งสองข้างเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
  • ได้ยินมาว่า "ขี้เหล็ก" เป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่งที่ควรนำมาประกอบอาหารให้คนวัยทองรับประทาน เพราะจะช่วยเรื่องให้นอนหลับได้ดี...อย่างนั้นใช่มั๊ยคะ 
  • คุณพ่อของดิฉันทำกับข้าวเก่ง ปีนี้อายุ 73 ปี ยังเข้าครัวทำกับข้าวให้ลูกเมียรับประทานอยู่ทุกมื้อ...แกงขี้เหล็ก...ฝีมือพ่อ...อร่อยสุดยอดของลูก ๆ ค่ะ
  • ขอบพระคุณสำหรับภาพประทับใจค่ะ...อยู่กับธรรมชาติ...จิตใจสบายค่ะ
  • ขอบคุณพี่สาว ครู ป.1
  • เห็นด้วยค่ะ ที่คุณครูบางท่านจะรู้เรื่องราวของนักเรียนค่อนข้างมาก อาจเป็นเพราะครูท่านนั้นให้ความใส่ใจเด็กจริงจัง เป็นครูในพื้นที่จึงทำให้รู้พื้นเพเด็กเป็นอย่างดี เป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับนักเรียนอยู่เสมอ...อะไรทำนองนี้
  • ข้อมูลดี ๆ ที่คุณครูผู้นั้นมี จะเป็นประโยชน์ต่อนักเรียนและคุณครูท่านอื่น ๆ ที่จะมาช่วยดูแลนักเรียนร่วมกัน ไม่ควรอยู่ในหัวของครูผู้นั้นเพียงท่านเดียวค่ะ
  • จึงต้องมีการบันทึกข้อมูลของนักเรียนอย่างเป็นระบบต่อเนื่อง
  • และที่สำคัญอย่างที่พี่บอก คือ ต้องนำไปใช้ จึงจะเกิดประโยชน์ ...ตรงนี้เห็นด้วยค่ะ
  • ขอบคุณสำหรับการต่อสานความคิดค่ะ
  • อ่านแล้วก็เห็นด้วยค่ะ  การเขียนบันทึก
    มีความจำเป็นและสำคัญมาก  โดยเฉพาะเหตุการณ์สำคัญ ๆ ในชีวิต
  • ในส่วนของการศึกษา  เวลาตรวจงานจะพยายามบันทึกพัฒนาการ
    ด้านการเขียนของนักเรียน  เพื่อชี้แนะเด็กบางคนก็ทำตาม บางคนก็เหมือนเดิม
    กับความเคยชินเก่า ๆ คงเหมือนครูบางคนที่ฝังแน่นกับวิธีการเดิม ๆ ที่ไม่เคย
    เปลี่ยนแปลงแม้ว่าจะดีกว่าก็ตามที
  • ขอบพระคุณข้อมูลดี ๆ ที่ต้องพยายามระมัดระวังและดูแลตนเอง
  • มีความสุขในช่วงพักฟื้นนะคะ
  • สวัสดีจ้ะกุ้ง
  • สบายดีไหม...
  • เจ็บปวดตรงใดหรือเปล่า...
  • คิดถึงมากๆ
  • เหมือนขาดแขนไปข้างหนึ่งเลยแหละ...
  • ศน.ทุกคนดูยุ่งๆกับโครงการของแต่ละคน
  • จดไว้เลยนะว่าอยากทำอะไรบ้าง...
  • พรุ่งนี้พี่ไปประชุมที่เขาใหญ่จ้ะ

สวัสดีค่ะIco48 ขอเป็นกำลังใจในการทำงาน...สนุกกับงาน...แต่อย่าลืมดูแลสุขภาพนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท