เรื่องเล่าหลังผ่าตัด (1)


ครูก็เป็นบุคคลสำคัญในการดูแลลูกศิษย์

ปรกติดิฉันไม่ค่อยได้ล้มหมอนนอนเสื่อแบบนาน ๆ จำได้ว่าหลังสุด เมื่อปี 2538 เป็นไข้คางทูมในวันรับปริญญา เสร็จเรื่องแล้วคนอื่น ๆ เขาต่างไปฉลองกันที่ร้านอาหาร แต่ตัวเองต้องเข้าโรงพยาบาลในตอนเย็นนั้นเลย ผ่านมาสิบกว่าปี จนคราวนี้มีโอกาสได้นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลอีกครั้ง

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2554 ที่ผ่านมา ดิฉันเข้ารับการผ่าตัดเนื้องอกในมดลูก และรังไข่ทั้งสองข้าง ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี พักรักษาตัวอยู่ 5 วัน เลยมีเรื่องเก็บมาบันทึกให้ได้สะท้อนคิดกันอยู่บ้าง...

ดิฉันตรวจพบเนื้องอกครั้งแรกทีโรงพยาบาลแห่งนี้เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2554 จากนั้นคุณหมอจะนัดตรวจโน่นนี่อยู่ราว ๆ 3-4 ครั้ง ก่อนนัดผ่าแน่นอน แรก ๆ ดิฉันก็แปลกใจว่าทำไมมาแต่ละครั้งไม่ค่อยได้พบคุณหมอท่านเดิม คุณหมอจะเปลี่ยนหน้าไปเรื่อย ไม่เหมือนที่โรงพยาบาลอื่น ๆ ซึ่งเราเคยสัมผัสมา ที่เรามักจะได้พบคุณหมอท่านเดิมเมื่อต้องกลับมาอีกเรื่อย ๆ เรียกว่าถ้ารักษากับหมอท่านไหนก็ท่านนั้น เรียกว่าพบคุณหมอท่านนั้นประจำ

สิ่งที่ดิฉันสงสัยก็ได้คำตอบเมื่อครั้งต้องนอนรักษาตัวอยู่ 5 วันนั้นว่า กรณีของดิฉันนั้นเป็นลักษณะที่ไม่ได้เลือกรักษาตัวกับคุณหมอท่านหนึ่งท่านใด เรียกว่า...มาโรงพยาบาลวันใดพบหมอท่านไหนก็ต้องเป็นท่านนั้น...คุณหมอจึงเปลี่ยนหน้าเรื่อยไป ซึ่งจะมีข้อดี ซึ่งคุณหมอพรศรี นิรันดร์สุข แพทย์ที่ทำการผ่าตัดให้ดิฉัน ได้กรุณาอธิบายให้ฟัง

คือ ดิฉันจะได้รับการดูแลจากคุณหมอหลาย ๆ ท่าน โดยคุณหมอแต่ละท่านจะมีโอกาส Re-Check ข้อมูลของดิฉันทุกครั้ง ทุกท่านจะดูข้อมูลตั้งแต่แรกมาถึงข้อมูล ณ ปัจจุบัน หากมีอะไรพร่องหายไป หรือคุณหมอท่านใดเกิดหลงลืมอะไรไปบ้างในการรักษาในครั้งที่ดิฉันพบคุณหมอท่านนั้น คุณหมอท่านต่อไปจะได้ดำเนินการให้เรา

ประเด็นนี้ทำให้ดิฉันได้ข้อคิดนำมาเปรียบกับการดูแลพฤติกรรมนักเรียนของคุณครู ถ้าเราเปรียบเทียบนักเรียนคล้ายกับกรณีคนไข้ การศึกษาข้อมูลรายบุคคลของนักเรียน เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับคุณครูเป็นอย่างยิ่ง ... นักเรียนจะถูกส่งต่อขึ้นชั้นเรียนใหม่เรื่อยไป อย่างน้อยก็หกปี-เก้าปี ถ้าคุณครูแต่ละคนให้ความสนใจข้อมูลของนักเรียนแบบ Re-Check ทวนดูตั้งแต่เริ่มแรกมาถึง ณ ปัจจุบัน อยู่ตลอดเวลา น่าจะทำให้นักเรียนได้รับการดูแลช่วยเหลือหรือได้รับการพัฒนาได้อย่างเป็นระบบ สอดคล้อง ตรงจุด (จุดแก้ไข/จุดพัฒนา)

ปัจจุบันนี้นักเรียนของเราถูกรุมเร้าด้วยสิ่งแวดล้อมรอบตัว ทั้งความเป็นอยู่ภายในครอบครัว สภาพสังคมรอบข้าง สื่อพิษ และเพื่อนนักเรียนด้วยกันที่อาจนำพาไปในทางเสื่อม การได้รับความช่วยเหลือ เกื้อกูล ชี้แนะจากครู นับเป็นแสงสว่างที่ช่วยส่องทางชีวิตให้กับเด็กผู้นั้น ไม่ผิดที่เราจะบอกว่า พ่อ-แม่ ผู้ปกครองเป็นบุคคลที่มีบทบาทมากที่สุดในการดูแลบุตรหลาน และไม่ผิดเช่นกันที่ครูก็เป็นบุคคลสำคัญในการดูแลลูกศิษย์เช่นกัน

อาจมีบางท่านเห็นว่าการดูแลพฤติกรรมนักเรียนในโลกของความเป็นจริงนั้นแสนเข็ญ แต่ตราบใดที่เราเห็นลูกศิษย์เป็นเช่นลูกของเรา...แสนเข็ญเพียงใด...เราต้องสู้ต่อค่ะ...เป็นกำลังใจให้ครูทั้งแผ่นดิน และขอเชิดชูครูที่มีจิตวิญญาณแห่งครูทุกท่านค่ะ...

หมายเลขบันทึก: 448178เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2011 20:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เป็นการพักฟื้นที่ไม่ละเลยหน้าที่นะคะ น้องกุ้ง

ผลการผ่าตัดเรียบร้อยดีใช่มั๊ยคะ?

เป็นคุณหมอรักษาไข้อาจหายขาดเพราะการผ่าและตัด

แต่เป็นคุณครูรักษาเด็กน้อยบางรายไม่หาย..เพราะตัดไม่ได้

  • ขอบคุณพี่สาว ในความห่วงใยและกำลังใจที่มอบให้ทั้งก่อนและหลังผ่าตัด
  • อาการขณะนี้ดีขึ้นตามลำดับค่ะ มีร้าว ๆ อยู่ในท้องเป็นระยะ ๆ นั่งนาน ๆ จะยิ่งรู้สึก ต้องล้มตัวนอนจะค่อยดีขึ้นค่ะ
  • การผ่าตัดเป็นวิธีรักษาทางหนึ่ง แต่ก็ส่งผลกระทบต่อไปด้วย เช่น เกิดพังผืด เจ็บแปล๊บ ๆ ในเนื้อ ยกของหนักไม่ได้ เหนื่อยง่าย ฯลฯ อะไรประมาณนี้ ก็ต้องดูแลสุขภาพตัวเองต่อไป
  • สำหรับนักเรียนเรา ตัดไม่ได้นั่นใช่แล้ว แต่ถ้าได้ครูช่วยเหลือเขาก็เท่ากับได้รักษา
  • เจ็บป่วยถ้าได้ยารักษาที่ถูกกับโรค ก็จะช่วยบรรเทา
  • ดังนั้น หากครูมีเทคนิค ลีลาในการแก้ไขพฤติกรรมได้ตรงจุด เด็กน่าจะดีขึ้นบ้าง ซึ่งบางคนอาจดีขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่บางคนอาจเป็นไปอย่างช้า ๆ ต้องอาศัยเวลา
  • ครูคนเดียวจึงอาจแก้ไขพฤติกรรมนักเรียนได้ไม่สำเร็จ เพราะเด็กอยู่ในชั้นเรียนของเราปีเดียว ดังนั้นการร่วมมือรับต่อกันของครูหลาย ๆ คน (ในชั้นต่อ ๆ ไป) จะทำให้เราดูแล ให้ความช่วยเหลือเขาได้อย่างต่อเนื่อง เป็นระบบ
  • เป็นกำลังใจให้กับคุณครูทั้งแผ่นดินค่ะ
  • สวัสดีค่ะ ศน.กุ้ง
  • ดีใจที่ได้มาอ่านบันทึกหลังผ่าตัด...ความเจ็บป่วยทำให้เห็นทุกข์
    และเกิดปัญญาในการพิจารณาสรรพสิ่ง
  • แม้ในยามเจ็บป่วยก็ยังคิดถึงเด็ก  ห่วงใยการศึกษา
  • วิธีนำเสนอด้วยการเปรียบเทียบทำได้ดีทีเดียวค่ะ...
  • ขอบพระคุณที่ไปทักทาย  แวะมาเยี่ยมเยือน ขอให้หายเร็ว ๆ นะคะ
    อย่าทุ่มเทกับงานจนลืมดูแลตนเอง   พยายามรักษาสมดุลแห่งชีวิตให้ดีนะคะ
    เพื่อคนที่เรารักและรักเรา...
  • สวัสดีค่ะกุ้ง
  • พี่ไปงานฉลองมหาบัณฑิตที่จุฬาฯ เลยไม่ได้เข้ามาดูบล็อคสองวัน
  • บทเรียนหลังผ่าตัดนี่ยอดเยี่ยมไปเลยได้ความรู้สองเรื่องไปพร้อมกัน
  • ที่สำคัญพี่ชอบ...
  • ".....แต่ตราบใดที่เราเห็นลูกศิษย์เป็นเช่นลูกของเรา...แสนเข็ญเพียงใด...เราต้องสู้ต่อค่ะ..."
  • และพี่ว่าคุณครูรักห่วงใยศิษย์เสมอ แต่ด้วยภาระกิจอันมากมายอาจทำให้ดูแลได้ไม่ทั่วในบางจุด บางเรื่อง...
  • และหากผู้เกี่ยวข้องกับเด็กโดยรวมทุกฝ่ายช่วยกัน ปัญหาทั้งหลายของเด็กจะลดน้อยค่ะ

สวัสดีค่ะIco48 ขอเยี่ยมไข้... เป็นกำลังใจให้หายเร็ววันนะคะ ...ขอบคุณที่ได้อ่าน 'ข้อคิดในการดูแลพฤติกรรมนักเรียนของคุณครู' ซึ่งเชื่อว่าถึงวันนี้คุณปวีณาคงได้ทำการนิเทศเรื่องจากข้อคิดนี้ไปบ้างแล้วนะคะ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท