ใครคือ "ครู" ที่จะจัดการความรู้...?


ต่อยอดจากบันทึกเรื่อง 

แนวทางการปรับ "ความรู้ฝังลึก" ให้เป็น "ความรู้ชัดแจ้ง" เพื่อสน้บสนุนการจัดการความรู้

 ของท่าน ดร. แสวง รวยสูงเนิน...


เป็นสิ่งที่น่าคิดเพิ่มเติมอีกนิดหนึ่งว่า แล้ว "ใคร" จะเป็นผู้ถอด ผู้ทำ ความรู้ฝังลึกให้เป็นความรู้แจ้ง...

ซึ่งถ้าหากพิจารณาในเบื้องต้นแล้ว "ใคร" คนนั้นก็มีอยู่ 2+1 คนหลัก ๆ คือ 1. ตัวเขาเอง และ 2. นักวิชาการหรือใครคนต่าง ๆ ที่เข้าไป "จัดกระบวนการ" โดยที่ +1 นั้นคือ "สื่อ"

คนใดดีกว่ากัน คนใดได้ความรู้ชัดแจ้ง คนใดได้ความรู้คลุมเครือ

ถ้าหาก คนทำ เขียนได้ในส่วนตัวของข้าพเจ้ามีความคิดเห็นว่า (ซึ่งอาจจะผิด) น่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะกรั่นออกมาจากชีวิตและวิญญาณของตัวเอง ได้ทุกเสี้ยว ทุกแง่ ทุกมุมอย่างละเอียดละออ

แต่ในความเป็นจริง "คนที่ทำจะไม่เขียน คนที่เขียนมักจะไม่ทำ"

คนทำ ก็ทำ ทำ ทำ แล้วก็ทำ ทำหามรุ่ง หามค่ำ

เหมือนกับคุณครูดนตรีไทยที่ข้าพเจ้าเคยเห็นในการ "ต่อเพลงระนาด" ก็ถ่ายทอดกันแบบตัวต่อตัว หันหน้าชนกัน แล้วถ่ายทอดให้กันและกัน

ในวันนี้ เราอยากเรียนวิธีลัด คือ กะว่าจะไม่พึ่งครู จะให้ครูเขียนเอกสารออกมา ให้คนทั้งหลาย ทั้งปวงได้อ่าน ซึ่งเป็นการเน้นปริมาณ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องลืมคำว่า "คุณภาพ"

เมื่อหลักการของเรา ผู้บริหาร และนักวิชาการ มีหลักการตั้งต้นว่า 1. จะนำความรู้ฝังลึกมาถ่ายทอดให้เกิดประโยชน์กับมหาชนทั้งปวง ซึ่งคนทั้งปวงนั้น "ต้องการ" หรือ 2. ต้องการนำความรู้ฝังลึกมาถ่ายทอดกับมหาชนทั้งปวง ซึ่งคนทั้งปวงนั้น "ไม่ต้องการ" แต่ทำเพื่อผลประโยชน์กับตนเองในทาง "วิชาการ"

สำหรับในความคิดเห็นส่วนตัวของข้าพเจ้านั้น ศิษย์อยากได้ความรู้ต้องไปเรียนกับ "ครู"

ในวันนี้เราแทนที่ครูด้วยหนังสือและตัวอักษร แล้วเราก็หาวิธีการที่จะทำให้ตัวอักษรเหมือนกับ "ครู" นั้น จับครูใส่หนังสือ จับครูในคอมพิวเตอร์ จับครูใส่โลก "Internet"

แนวความคิดวิชาการสมัยใหม่ที่ใครหลายคนเรียกว่า Knowledge Explosion จึงมีความคิดเบื้องต้นเกิดขึ้นที่ว่าครูสามารถอยู่ในตัวหนังสือและคอมพิวเตอร์ได้

Information System อาจจะนำเสนอ Tacit knowledge ของคุณครูที่ ครูถ่ายทอดเอง และผู้อื่นไปสืบเสาะ เคาะค้นจากคุณครูมา และหวังว่าคนที่อ่านจะก้าวย่างตาม "ครู" นั้น

ในปัจจุบันจึง "สื่อ" จึงกลายเป็น "ครู" ที่ทำหน้าที่สื่อสาร Explicit Knowledge ที่ได้จาก Tacit Knolwedge ของครูไปให้ยังผู้ที่อยากรู้และไม่อยากจะรู้...

เราก็ต้องพิจารณาอีกว่า สื่อนั้นหวังผลประโยชน์จากการความรู้ที่นำเสนอหรือไม่...?

"ครู" จริง ๆ เป็นครูดี

"สื่อ" จริง ๆ แล้วเป็นครูดีหรือไม่...?

หากเราสวมหัวโขนนักวิชาการ ตอนนี้เราทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่าง "ครู" กับ "สื่อ"

ใน Gotoknow เปิดโอกาสให้เรา "สื่อ" ได้เอง ตัดปัญหาเรื่อง คนจัดส่ง คนรับช่วงต่อความรู้ออกไปได้ ดังนั้น สามารถนำเสนอ "ความรู้" ได้ "ตรง" มากกว่า เพราะอย่างน้อยเราไม่มีผลประโยชน์จากการนำเสนอ ไม่มีสปอนเซอร์มากำหนดนโยบายว่า อะไรควรหรือไม่ควรที่จะ "นำเสนอ"

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าหากอยากได้ความรู้จริง ๆ ให้ไปเรียนโดยตรงกับครู เพราะครูมีชีวิตและจิตใจ

แต่ถ้าใครจะอาศัยตัวอักษร หนังสือ หรือสื่อเป็น "ครู" แล้ว ก็ต้องอาศัย "ความรู้ฝังลึก" ของตนเองให้ดีว่า อะไรคือ "รู้ดี" อะไรเรียกว่า "รู้ชั่ว"

ดังนั้น สิ่งจำเป็นอีกอย่างในการแสวงหาความรู้ในปัจจุบัน คือ "ความรู้ฝังลึก" ในการคัดแยกความรู้ ซึ่งเรานั่นแลคือ "ครู" ของตนเอง

หมายเลขบันทึก: 447424เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2011 17:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ครู กูรู ร่วมเรียน ร่วมรู้ ร่วมกู่ สร้างสรรค์ ฝันให้ไกล ไปให้ถึง ครับ

Gotoknow เป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่เปิดโอกาสให้ "คนหน้างาน" ซึ่งนับว่าเป็น "ปราชญ์ ณ หน้างานนั้น" สามารถนำ ประสบการณ์ หรือในภาษ KM เรียกว่า "ความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge)" มาถ่ายทอดให้คนทั่วไปได้อ่าน ได้รับทราบอย่าง "เที่ยง" "ตรง" และ "รวดเร็ว" ที่สุด...

ความเที่ยง (Reliability) นั้นเกิดจากการที่เล่า เล่าเอง เล่าร้อยครั้งก็เหมือนเดิมร้อยครั้ง เพร่าะทำเอง ทำมากับมือ ซึ่งจะแตกต่างจากการที่เราไปจดบันทึกมา หรือมีการส่งต่อ "สาร" ผ่าน ๆ การตั้งแต่หนึ่งขั้นขึ้นไป เพราะบางครั้งผู้จัดก็มี "ทัศนคติ" ทั้งในเชิงลบ และเชิงบวก ทั้งต่อเรื่องที่เล่า และบุคคลที่เล่าเรื่องให้ฟังนั้น โดยเฉพาะทัศนคติทางด้านวุฒิการศึกษา สถานภาพทางด้านครอบครัว การเงิน ซึ่งบางครั้งเป็นทัศนคติแฝงที่อยู่ในจิตของผู้ถอดกระบวนการ จึงทำให้มีการตัด การทอน ข้อมูลบางส่วนออกโดยไม่รู้ตัว

ดังนั้น ถ้าหากผู้ทำได้เล่าเอง เขาทำอย่างไรก็เล่าอย่างนั้น และที่สำคัญ "ตรง" ด้วย

ความตรง (Validity) เกิดจากความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ลึกซึ้งจากการที่ได้ "ปฏิบัติ" ซ้ำแล้ว ซ้ำอีก

การอ่าน การฟังซ้ำแล้วซ้ำอีก บางครั้งก็ทำให้ไขว่เขว ออกนอกลู่นอกทางไปเรื่อย

แต่คนที่ปฏิบัติงานซ้ำ ๆ แล้วมีการพัฒนาในงานของตนเอง (R2R) เขาปฏิบัติตรง เพราะถ้าไม่ตรงก็ไม่มี "ผลของงาน"

ดังนั้นคนปฏิบัติตรง ย่อมเราตรง ตรงคำถามและนั่นคือ "คำตอบ"

Gotoknow จึงเป็นทางเลือกใหม่ที่ "ไฉไล" ให้กับผู้ปฏิบัติได้เข้าถึงวิธีการนำเสนอที่ทั้ง "เที่ยง" และ "ตรง"

ไม่ต้องผ่านมือนักวิชาการ ที่บางครั้งก็ใช้ใบปริญญากดทับ "ปราชญ์ชุมชน"

ไม่ต้องผ่านมือสื่อ ที่หลาย ๆ ครั้งก็ถูก "เงิน" ของ "สปอนเซอร์" กดทับความรู้

Gotoknow จึงเป็นสื่อหลักที่จะให้ความรู้กับคนในสังคมไทยและสังคมโลกอย่างรวดเร็วและตรงไปตรงมา และที่สำคัญตัดปัญหาเรื่อง "พ่อค้าคนกลางทางความรู้" ออกไป

พ่อค้าคนกลางทางความรู้ คือ พวกที่ชอบหากินกับความรู้ ทั้งในส่วนของการลงไปทำงานภาคสนาม การวิเคราะห์ การนำเสนอ ร้อยแปดพันเก้า

"งานอย่างเดียวกัน จะทำให้เป็นกิเลสก็ได้ จะทำไม่ให้เป็นกิเลสก็ได้"

เพราะบางครั้งระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ก็ทำให้เราต้องคำนึงถึงครอบครัว รายได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความก้าวหน้าทางอาชีพ และในปัจจุบัน สภาวะสังคมที่คนกำลังต้องการความรู้กันมาก จึงทำให้เกิดอาชีพ "พ่อค้าคนกลางทางความรู้" เกิดขึ้น

เมื่อมี Gotoknow ทำให้พ่อครัว แม่ครัว คือ ผู้ที่ปฏิบัติงานจริง ได้นำเสนอเมนูอาหารจานด่วนที่ทั้ง "เที่ยง" และ "ตรง" ให้กับนักช้อป นักชิม นักแสวงหาความรู้ ซึ่งก็คือ "นักเรียนรู้" ได้กินกันอย่างเอร็ดอร่อย

คนทำจริง เขาจะไม่ปรุงแต่งมาก ไม่มีภาษาที่เลิศเลอ ตรงไปตรงมา ทำอย่างไรก็พูดอย่างนั้น ไม่ต้องพูดไทยคำ อังกฤษคำ ฟังง่าย เคี้ยวง่าย ย่อยง่าย มีประโยชน์ต่อร่างกาย ไม่ใช้ "วัตถุกันเสีย" และ "ผงชูรส"

ต้องยกความดีทั้งหลายให้กับ Gotoknow ที่ทำให้เราได้เคี้ยวความรู้กันอย่างเอร็ดอร่อย

เพราะนอกจากจะฟังอย่างเดียวแล้ว Gotoknow ยังเป็น "สื่อสองทาง" คือแม่ครัวกับคนกินสามารถสื่อสารโต้ตอบกันได้อย่างรวดเร็ว ฉับไว อยู่ที่ไหน ๆ ก็ "ปรุง" กันได้

ความรู้อันเป็นอาหารจานด่วนที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจดีของคนเขียน ประกอบกับน้ำใจอันดีงามของคนอ่าน ผนวกกับการผสมผสานข้อคิดเห็น ที่จะต่อยอดความรู้ให้หมุนเกลียวจนเหนียว แน่น เติบโต ก้าวหน้า Gotoknow จึงเป็นความหวังใหม่อันทรงพลังของ "การศึกษาไทย..."

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท