ไม่มีเวลา


ไม่มีเวลา

มีใครไม่เคยพูดว่า "ไม่มีเวลา" บ้างไหมครับ ในยุคที่ "เวลาเป็นของมีค่า" นี้ บ่อยๆครั้งที่เราอยากจะให้เวลามีมากกว่านี้ แต่มันก็มีเท่าที่เรามี ไม่สามารถจะเพิ่มจะหดจะลดจะขยายมันออกไปได้ ทุกๆคนมีเวลาเท่าๆกัน วันละ 24 ชั่วโมง ชั่วโมงนึงก็มี 60 นาทีเท่าๆกันนั่นแหละ

คำ "ไม่มีเวลา"​ จึงเป็นเพียงสำนวน ที่มี "นัยยะ" ที่น่าสนใจ เพราะเป็นการบอกถึง "ลำดับความสำคัญ" ของเรื่องราวได้เป็นอย่างดี ชีวิตคนเราเรามีการ "พูด" ว่าอะไรสำคัญ อะไรไม่สำคัญ และอะไรที่สำคัญนั้นมีอะไรบ้างที่สำคัญน้อย สำคัญมาก สำคัญมากที่สุด และหลายๆครั้งก็อดมิได้ที่เราต้องเติม "ไม่มีเวลา" ให้กับสิ่งที่เราพูดว่าสำคัญมาก แต่เผอิญ​ "ไม่มีเวลา" ดังนั้นไอ้ที่ว่าสำคัญมากก็เลยไม่ได้ทำ

ที่ผมคิดว่าน่าสนใจ เพราะจริงๆแล้วพฤติกรรมของเรานั้น มันจะสอดคล้องกันระหว่างสิ่งที่เราคิด และสิ่งที่เรารู้สึก แต่เราอาจจะไม่รู้ตัวเท่านั้นเอง

มากไปกว่านั้นก็คือ สิ่งที่เราพูดตะหาก ที่มันอาจจะไม่ได้สอดคล้องกับสิ่งที่เราคิดและสิ่งที่เรารู้สึก เพราะเราไปเข้าใจว่า "เราเป็นในสิ่งที่เราพูด" ดังนั้นจะเป็นคนดี เราก็จะพูดดีๆ จะเป็นคนกล้า เราก็จะพูดว่าเรากล้า จะเป็นคนใจกว้าง เราก็จะพูดว่าเรายอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง ฯลฯ แต่ทั้งหมดที่เราพูดๆๆๆ นั้น ไม่ได้มีความหมายอะไรเลยถ้าเรา "ไม่ได้ทำ"

เวลาเราพูดว่า "ไม่มีเวลาทำ" จึงมาจากนัยยะที่ตรงไปตรงมามากๆก็คือ "ณ เวลานั้น เรามีอะไรอย่างอื่นที่สำคัญจะทำกว่าสิ่งที่เราบอกว่าไม่มีเวลาทำ" และที่จะเป็นกระจกให้เราสามารถ "เห็น" ลำดับความสำคัญของชีวิตเราได้ชัดมากก็คือ ไอ้ที่เราว่าสำคัญกว่านั้นมันคืออะไร แบบฝึกหัดที่ง่ายที่สุดประการหนึ่งก็คือลองทำแผนที่ชีวิตของเราในวันหนึ่งๆ ดูเป็นชั่วโมง เป็นนาที ว่าเราทำอะไรบ้าง เราจะเห็น "สัดส่วน"​ ของสิ่งที่สำคัญชัดขึ้นๆ ว่า "จริงๆแล้ว" สิ่งที่เราทำ ซึ่งจะสอดคล้องกับสิ่งท่ีเราคิดและรู้สึกนั้นคืออะไร ไม่ได้สำคัญว่าเราพูดว่าอะไร แต่สำคัญว่าเราทำอะไร

นอน 8 ชั่วโมง อาบน้ำ 5 นาที ออกกำลังกาย 1 ชั่วโมง (ต่อเดือน) กินข้าว 3 ชั่วโมง อ่านหนังสือ 15 นาที เล่น FB 3 ชั่วโมง ฯลฯ เป็นต้น

จริงอยู่งานบางอย่างที่สำคัญ เราอาจจะทำเสร็จในเวลาอันสั้น แต่ก็น่าสนใจในกิจกรรมที่เราได้ "ทุ่มเทเวลา" ให้ เพราะถ้ากิจกรรมนั้นๆ มัน "จำเป็น" ต้องใช้เวลาแค่นี้ก็เสร็จ แต่ปรากฏว่าเราใช้เวลา "เกิน" ไปเยอะ นั่นคือสัดส่วนของ "ความสำคัญ" ของกิจกรรมนั้นๆต่อตัวเราจริงๆ

ผมขอดึงตัวอย่างกลับมาที่งานใกล้ตัว (ของผม) คือการเยียวยาผู้คน การเป็นแพทย์นั้นมีพันธกิจที่ชัดมากคือการเยียวยาผู้คน เราเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องความทุกข์ สาเหตุของทุกข์ และหนทางแห่งความดับทุกข์ (ที่จริงไม่ได้ monopoly ว่าแพทย์เท่านั้นที่เชี่ยวชาญเรื่องนี้ แต่คงจะไม่มีสักกี่อาชีพที่เรา "หากิน" คือได้เงินเดือน ได้ค่าตอบแทน จากการทีี่เราทำเรื่องนี้เป็นอาชีพ หาเลี้ยงตนเองด้วย) เป็นทุกข์ที่เกี่ยวกับ "โรคาพยาธิ" (หมออื่นๆก็รักษาทุกข์อื่น เช่นหมอความ ก็ทุกข์จากความยุติธรรมหรืออยุติธรรม หมอดูก็ทุกข์จากอนาคต/อดีต หมอนวดก็ทุกข์จากความเมื่อย หรือครูก็เป็นหมอเยียวยาความไม่รู้ เป็นต้น)

และหมอก็จะใช้ทุกๆเครื่องมือที่เรามี (คำว่า​ "เรา" มีนัยยะว่าทั้งหมด คือ หมอ พยาบาล โรงพยาบาล คนไข้ ครอบครัวคนไข้ ชุมชน สังคม มี) ในการเยียวยา คนไข้่หายทุกข์หมอก็พึงดีใจ โล่งใจ และบอกว่า job well-done และถือว่า "ได้งาน"

สิ่งหนึ่งที่คนไข้ทุกข์และหมอช่วยได้ไม่ยากนัก คือ "ทุกข์เพราะไม่รู้ ทุกข์เพราะกลัว" เพราะความกลัวกับความทุกข์นั้นไปด้วยกันอย่างแนบเนียน ย่ิงร่างกายเปราะบาง ทรุดโทรม มีอาการอาการแสดงต่างๆด้วย ความกลัวยิ่งสิงสถิตย์เป็นเจ้าเรือนและสามารถเสพย์ความไม่รู้ต่อยอดไปเป็นจินตนาการต่างๆนานาที่น่ากลัวยิ่งขึ้น ความกลัวจะกัดกินความไม่รู้เป็นอาหารหลัก และกัดกินความกลัวเองเป็นแกล้ม และไม่มีอิ่ม ดังนั้นเติบโตได้เรื่อยๆ

ตรงนี้บางคนก็จะเถียงว่าการรู้ก็น่ากลัวเหมือนกันนะ เช่นรู้ข่าวร้ายเป็นต้น แต่เราต้องพิจารณาว่าครับว่าทำไมรู้แบบนี้ถึงน่ากลัว มันน่ากลัวเพราะข่าวร้ายนำมาซึ่งการสูญเสียความรู้สึก "สามารถควบคุมสถานการณ์" ของเราต่างหาก ชีวิตที่เคยปกติ สมบูรณ์ ข่าวร้ายจะเป็นตัวเตะตัดขา ทำให้เกิดความไม่แน่นอน การสูญเสียความสามารถในการควบคุม ฉันจะเป็นอย่างไร ฉันจะทำอย่างไร เต็มไปด้วย "คำถามที่ไม่ทราบคำตอบ" ดังนั้น "การรู้ที่นำมาซึ่งการไม่รู้ จึงทำให้ทุกข์เช่นกัน" และกลับกัน เมื่อเราได้คำตอบต่อสิ่งที่เกิดตามมาหลังรับข่าวร้าย เราก็ค่อยๆเยียวยาไปทีละเปลาะๆจนหมด "เพราะเรารู้แล้ว และกลับมาควบคุมได้อีกครั้งหนึ่ง"

อาชีพแพทย์เราจะศึกษาพยาธิ พยาธิกำเนิด พยาธิสรีระ รู้การดำเนินโรค กลไกของโรค ต้นกำเนิดโรค และข้อสำคัญคือวิธีเยียวยารักษา ในขณะที่คนไข้เกิดโรคขึ้น ที่เขาทุกข์ ไม่ได้ทุกข์เพียงแค่อาการ หรืออาการแสดงเท่านั้น แต่ทุกข์เพราะไม่รู้ ทุกข์เพราะสูญเสียความสามารถควบคุมเหตุการณ์ในชีวิต ทุกข์เพราะไม่ทราบว่าจะวางแผนต่อไปอย่างไรดี อะไรจะเป็นอะไร อย่างไร และเมื่อไร ทั้งหมดนี้แพทย์สามารถช่วย "เยียวยาได้ทันที" ก่อนที่ยาจะออกฤทธิ์เสียอีก

เมื่อผมได้ยินแพทย์พูดว่า "ไม่มีเวลาพูดคุยกับคนไข้" ทำให้ผมต้องย้อนกลับมาที่จุดตั้งต้นของบทความนี้อีกครั้งหนึ่งว่า เวลาที่เราพูดว่าไม่มีเวลานั้นมันหมายความว่าอย่างไร ในกรณีนี้แสดงว่าเรามี "อะไรที่สำคัญกว่า" การพูดคุยกับคนไข้ เราถึงอยากจะทำอย่างนั้น

แต่ถ้าการ "พูดคุย" สามารถ "เยียวยา" คนไข้ที่นั่งอยู่เบื้องหน้าเราได้ อะไรเล่าที่เราบอกว่า "สำคัญกว่า" ? ในเมื่อการเยียวยาผู้คนมันเป็นพันธกิจของวิชาชีพเรามิใช่หรือ?

และแน่นอน ผมไม่ได้หมายถึงการพูดคุยแบบไร้สาระ เรื่อยเปื่อย อะไรก็ได้ แต่หมายถึงการพูดคุยเพื่อการเยียวยานั้น น่าจะอยู่ในกระบวนการที่สำคัญไม่น้อย ถ้าเราพิจารณาใคร่ครวญให้ดี ว่าคนไข้จะทุกข์หรือไม่ ถ้าเขา/เธอ ตกอยู่ในวังวนแห่งความ "ไม่รู้" นี้ต่อไป และข้อสำคัญคือ เราสามารถแก้ความไม่รู้นี้ได้โดยง่าย ขอเพียงมีความรู้ และทักษะในการสื่อสารที่ sensitive เท่านั้น

หรือเป็นเพราะว่าเรามองไม่เห็นว่าการพูดคุยทำให้เกิดการเยียวยา เรามัวแต่ไป focus ว่าการเยียวยาจะเกิดจากยาเท่านั้น ผ่าตัดเท่านั้น ฉายแสงเท่านั้น? ไม่มีใครสามารถให้น้ำหนักได้ exactly หรือชัดเจนว่าสักกี่นาที ถึงจะพอเหมาะ พอสม แต่มัน "แล้วแต่ เป็นรายๆไป" แต่ที่แน่ๆก็คือ การพูดคุยนั้น ไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูล การสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองฝ่าย การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ การแสดง commitment ว่าการเยียวยาบรรเทาทุกข์คือสิ่งที่สำคัญที่สุด "น่าจะเป็นเรื่องที่ดี" ขอเพียงมีทัศนคติที่ว่านี้ การสนทนาที่พอเหมาะพอสม ไม่ได้เป็นไปเพียงตาม guideline หรือ recommendation ก็จะเกิดขึ้น ไปตาม "วิจารณญาณ" หรือ professional privilege ในแต่ละรายไป

การพูดคุยไปเรื่อยเปื่อย ไม่สนใจในความรู้สึกของผู้พูด ไม่สนใจในเจตนารมย์ว่าเขา "ต้องการสื่ออะไร"​ เป็นการสนทนาที่เอาตัวเราเป็นหลัก เอาอัตตาของเราเป็นหลัก จะมีก็แต่ self ของเราที่บวมพองไปกดทับบุคคลอื่นๆ เต็มไปด้วย judgmental attitude คือสภาวะจิตตัดสิน การสนทนาประเภทนี้ก็จะไม่เยียวยา แต่เป็นการ "ซ้ำเติม" ความทุกข์ของผู้คน

แพทย์จะควรจะมีทั้ง "การให้ความสำคัญ" ในการสื่อสาร และมี "เป้าหมาย" ในการสื่อสารเพื่อการเยียวยาเป็นพันธกิจอยู่เสมอ อย่าได้ดูแคลนการเยียวยาจากความสัมพันธ์อันดี ความไว้เนื้่อเชื่อใจ และการแก้ไข "ความไม่รู้" ของคนไข้ว่าไม่สำคัญ

และเมื่อนั้น เราก็จะเริ่ม "มีเวลา" และจัดลำดับความสำคัญที่ตรงกับปรัชญาการแพทย์ได้ "จงเห็นแก่ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นอันดับหนึ่ง"

หมายเลขบันทึก: 446504เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2011 12:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

มุ่งมั่นกับการเยียวยาผู้คนซึ่งเป็นคนป่วยจนลืมไปว่าหมอๆที่เราร่วมงานก็ต้องการเยียวยาด้วย...ลืมแม้กระทั่งตัวเอง

จนวันนึงมีหมอคนนึงบอกว่าพี่พี่ให้เขามากเกินไปนะ...ผมว่าพี่คิดถึงเขามากเกินไป....เอาใจเขามากเกินไป.....(ซะงั้น)

หนูก็เลยกลับมาย้อนทบทวนตัวเองว่าตอนนี้เรากำลังอยู่ตรงใหน...ทำอะไร....อาจารย์มีความเห็นหรือข้อแนะนำไหมคะ

ข้อสำคัญคือ เราสามารถแก้ความไม่รู้นี้ได้โดยง่าย ขอเพียงมีความรู้ และทักษะในการสื่อสารที่ sensitive เท่านั้น

ชอบคำพูดนี้มากนะคะ ชัดเจนในการปฏิบัติมากค่ะ

Oraphan

ต้องไปดูที่บริบทแล้วล่ะครับ ว่าที่หมอเขาว่าอย่างนั้น (เกินไป) มันเกินไปอย่างไร มีอะไรไปสะกิด ไปโดน จนหมอเขาต้อง comment หรือว่าเราทำจนมีผลกระทบต่อตัวเราจนแสดงออกมาชัดเจน (อาทิ เป็นห่วงอยู่ตลอดเวลา สุขภาพเสื่อมโทรม คิดมากหมกมุ่น ฯลฯ) และอีกมุมนึงก็คือมีผลกระทบต่อหมอคนนั้น เช่น รู้สึกเราข้ามหน้าข้ามตา รู้สึกเราล้ำหน้าไปในพื้นที่ทำงานของเขา ไปจนถึงอาจจะเป็นอย่างมี่หมอเขาว่าจริงๆ คือ spoil คนไข้จนเอาแต่ใจตนเอง

ผมแนะนำว่ารับคำ comments ทุกๆแบบด้วยใจเป็นกลาง หน่วงถ่วงการด่วนตัดสินไว้ก่อนครับ ใคร่ครวญอย่างรอบคอบ แล้วค่อยๆ take ไปตามเนื้อผ้า

คุณตัณฑุลาวัฒน์

ขอบคุณที่มาเยี่ยมเยียนและทิ้งร่องรอยครับ ได้ผลอย่างไร กลับมาเล่าให้ฟังด้วยจะเป็นพระคุณ

อาจประมาณ..อินมาก..ก็แบบอันไหนเขาขอหนูก็พยายามจัดให้...หมอก็บอกบางอย่างขอเกินไป..ก็เข้าใจค่ะ

หมอแกก็เป็นคนที่ดีคนนึง..แบบว่ารักษาโรคกายน่ะเราก็อยากให้แกรักษาใจด้วย.....แกเคยลองทำดู

เคยเห็นแกเอาเก้าอี้มานั่งคุยกับคนไข้ที่เตียงถามไถ่เรื่องปัญหาที่บ้านเราก็ดีใจเออเราหาพวกได้แล้ว......

อยู่ๆไปแกบอกไม่ไหว.....แค่นี้ก็เหนี่อยจะตายแล้วพี่...ก็ อี อาร์ อย่างว่าแหละค่ะแสนวุ่นวายทุกวัน

ไม่เสียใจหรอกค่ะ....

ดีแล้วครับ คอยให้กำลังใจคุณหมอต่อไปเถิด บอกท่านว่าไม่ต้องทำทุกราย เอาเฉพาะที่เราพอมีเวลาก็พอ และขอให้สังเกตว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นระหว่างคนไข้กับตัวเรา หลังจากที่ทำไปอย่างนั้น

ในนิทาน "ปลาดาว" ชายคนหนึ่งเดินริมชายหาด ก็เห็นชายแก่คนหนึ่งเดินๆก้มๆเงยๆ ประเดี๋ยวก็หยุดหยิบเอาอะไรบนพื้นโยนลงไปในทะเล ด้วยความฉงน ชายหนุ่มคนนี้เดินเข้าไปดูใกล้ๆ ก็เห็นว่าชายชราคนนี้กำลังเดินช่วยปลาดาวที่มาเกยตื้น หยิบเหวี่ยงกลับลงไปในทะเล ก็นึกขัน เข้าไปหาแล้วพูดว่า "ลุง ทำอะไรเหรอ" ลุงเงยหน้าบอกว่า "อ่อ ก็แค่ช่วยปลาดาวที่มาเกยตื้นไง" ชายหนุ่มก็พูดออกขันๆไปว่า "โห จะไหวเรอะลุง มันมาติดตั้งเป็นร้อยๆพันๆตัวแค่ที่หาดนี้หาดเดียวนะ ช่วยไปได้สักเท่าไหร่ก็ไม่พอหรอก" ลุงเลยบอกว่า "ตัวที่ไม่ได้ช่วยก็ไม่เป็นไร แต่ที่แน่ๆ ลุงได้ช่วยตัวที่ลุงช่วยไป จริงไหมล่ะ"

ทำบุญ ไม่ต้องทำตลอดเวลา ตลอดวันตลอดคืน ทุกวันทุกคืนก็ได้ เริ่มจากบางรายก็พอครับ

ตื่นเช้าเพื่อมารอคำตอบจากอาจารย์แหละค่ะแฮ่ะๆ

สงสัยหนู..จะเก็บปลาดาวหลายตัวเกินไป...

ลมก็แรง..คลื่น.ก็แรง..ฝนก็ตก.......

แต่ยังไม่ล้มเลิกนะคะ...ขอบคุณอาจารย์ที่ให้คำตอบค่ะ

สบายใจแล้วค่ะ...

เวลา ซื้อ ได้ที่ไหน นิ อาจารย์ หมอวันชัย เล่าว่า แพทย์ ที่เมือง ยูซ่า ท่าน ฟังคนไข้ เฉลี่ย คนละ ๑๘ วิ เพราะ ไม่มีเวลา อิอิ

สวัสดีครับอาจารย์หมอสกล

(ทำบุญ ไม่ต้องทำตลอดเวลา ตลอดวันตลอดคืน ทุกวันทุกคืนก็ได้ เริ่มจากบางรายก็พอครับ)

เรื่องปลาดาวขอนุญาติในไปเล่าในเวทีชาวบ้านครับอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท