ความเห็นแย้งต่อประเด็น “ความเห็นของสี่องค์กรวิชาชีพ” (4)


เห็นว่าเป็นงานเชิงสร้างสรรค์ที่น่าจะได้นำมาเป็นแบบอย่าง ซึ่งสังคมปัญญาควรจะใช้วิธีการเยี่ยงนี้ในการแสดงความเห็นเพื่อแย้งก็ดี เห็นด้วยก็ดีในเชิงวิชาการ

ประเด็นหลักที่สาม พิจารณาว่าร่างกฎหมายวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนหรือ การสาธารณสุข มีการก้าวล่วงกฎหมายวิชาชีพที่มีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบันหรือไม่

     ความเห็นของสี่องค์กรวิชาชีพในประเด็นหลักที่สามแยกเป็นสี่ประเด็นดังนี้

          ประเด็น 3.1 ได้ยกคำนิยามของการประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขหรือการสาธารณสุขชุมชนในร่างกฎหมายว่าเป็นการก้าวล่วงในวิชาชีพอื่นๆที่มีอยู่ ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ต้องยกข้อเท็จจริงมาประกอบกันให้ชัดๆ ผมขอยกตัวอย่างสักสามนิยาม ดังนี้

          ความหมายของวิชาชีพเวชกรรม ตาม พ.ร.บ. วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525
               “วิชาชีพเวชกรรม” หมายความว่า วิชาชีพที่กระทำต่อมนุษย์เกี่ยวกับการตรวจโรค การวินิจฉัยโรค การบำบัดโรค การป้องกันโรค การผดุงครรภ์ การปรับสายตาด้วยเลนซ์สัมผัส การแทงเข็มหรือการฝังเข็มเพื่อบำบัดโรคหรือเพื่อระงับความรู้สึก และหมายความรวมถึงการกระทำทางศัลยกรรม การใช้รังสี การฉีดยาหรือสสาร การสอดใส่วัตถุใดๆ เข้าไปในร่างกาย ทั้งนี้ เพื่อการคุมกำเนิด การเสริมสวย หรือการบำรุงร่างกายด้วย”

          คำนิยามของนิยามการพยาบาล ตามพ.ร.บ. วิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ. 2528
               “..การกระทำต่อมนุษย์เกี่ยวกับการดูแลและการช่วยเหลือเมื่อเจ็บป่วย การฟื้นฟูสภาพ การป้องกันโรค และการส่งเสริมสุขภาพ รวมทั้งการช่วยเหลือแพทย์กระทำการรักษาโรค ทั้งนี้ โดยอาศัยหลักวิทยาศาสตร์และศิลปะการพยาบาล...”

          คำนิยามการประกอบโรคศิลปะ ตาม พ.ร.บ. การประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542
               “การประกอบโรคศิลปะ” หมายความว่า การประกอบวิชาชีพที่กระทำหรือมุ่งหมายจะกระทำต่อมนุษย์เกี่ยวกับการตรวจโรค การวินิจฉัยโรค การบำบัดโรค การป้องกันโรค การส่งเสริมและการฟื้นฟูสุขภาพ การผดุงครรภ์”

          ที่ยกนิยามให้เห็นอย่างชัดๆก็เพื่อยืนยันว่าการประกอบวิชาชีพตามนิยามในแต่ละกฎหมายวิชาชีพมีทั้งส่วนที่คล้ายกัน เหมือนกัน และเหลื่อมกันอยู่ทั้งสิ้น ยกตัวอย่างมาอธิบายเพียงคำเดียวเช่น คำว่า “การป้องกันโรค” คำเดียวมีอยู่ในนิยามของกฎหมายวิชาชีพทั้งสามฉบับที่ยกมา แต่ต่างก็เป็นกฎหมายวิชาชีพแล้วทั้งสิ้น แสดงให้เห็นว่ามีการก้าวล่วงกันในกฎหมายวิชาชีพที่ใช้อยู่แล้ว แต่ด้วยความเข้าใจว่า การป้องกันโรคนี้ เป็นไปตามลักษณะเฉพาะของแต่ละวิชาชีพที่มีความมุ่งหมายในการป้องกันโรค ดุจเดียวกับการทำงานด้านการสร้างสุขภาพเป็นเป้าหมายของบุคคลผู้ทำการงานด้านสุขภาพทุกคน หากจะแบ่งแยกกันโดยสิ้นเชิงย่อมไม่ใช่ลักษณะของการร่วมมือในการทำงานที่ดี หากแต่ความแตกต่างกันนั้นอยู่ที่การใช้ความรู้ความสามารถอันเฉพาะเจาะจงตามแต่ละวิชาชีพเพื่อให้เกิดการป้องกันโรคที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของบุคคลทั้งในระดับปัจเจกและกลุ่มคนต่างหาก

          หากจะบอกว่าคำนิยามของการประกอบวิชาชีพในร่างกฎหมายทั้งสองฉบับนั้นไปซ้ำซ้อน หรือก้าวล่วงกฎหมายอื่น ก็มีความจำเป็นต้องพิจารณานิยามตามกฎหมายที่มีผลบังคับใช้อยู่ด้วย

          ประเด็น 3.2 ความเห็นในประเด็นว่านิยามของวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน อาจจะไปก้าวล่วงกฎหมายฉบับอื่นอีก เช่นกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และกฎหมายอื่นๆอีกได้ ประเด็นความเห็นนี้ออกจะให้ความเห็นเกินที่ขอให้พิจารณาไปหน่อย ด้วยเพราะทางกระทรวงสาธารณสุขให้พิจารณาว่ามีประเด็นที่อาจจะเกี่ยวข้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับองค์กรวิชาชีพหรือไม่เพียงใด กลับไปวินิจฉัยเกินกว่าที่ขอ และหากมีความเข้าใจที่เพียงพอว่าหลักการในกฎหมายวิชาชีพ กับกฎหมายที่มีบทบัญญัติเพื่อคุ้มครอง รับรองสิทธิของประชาชน หรือการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจรัฐกับประชาชนเพียงไร เท่านั้นหากเข้าใจหลักการเหล่านี้เพียงพอคงไม่ให้ความเห็นมาในลักษณะนี้

          ประเด็น 3.3 ให้ความเห็นว่าคำนิยามของวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน บัญญัติไว้กว้างขวางเกินไป ไม่มีขอบเขตอันเจาะจง ผู้เขียนก็เชื่อว่ามีส่วนที่จริงบ้างแต่ไม่ทั้งหมดและในขั้นตอนการให้ความเห็นสมควรที่จะระบุว่านิยามไปก้าวล่วงกฎหมายวิชาชีพของแต่ละองค์อย่างไร เพียงไหน และอาจจะได้รับผลกระทบอย่างไรมากกว่าการกล่าวอ้างที่ไม่ชัดเจนว่ามีการก้าวล่วง แล้วสรุปไปทันทีว่าไม่สมควรไม่ให้มีกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพนี้

          ประเด็น 3.4 ให้ความเห็นว่านิยามของวิชาชีพการสาธารณสุขกว้างขวางเกินไปและมีสาขามากมายอย่างน้อย 12 สาขา และไม่มีขอบเขตที่ชัดเจนและอาจจะก้าวล่วงกฎหมายวิชาชีพอื่นอีก ความเห็นนี้ก็เป็นการอ้างอย่างลอยๆขึ้นมาไม่มีเหตุผลและหลักฐานว่าความกว้างนั้นก็ดี สาขาที่มากนั้นก็ดี ไปเกี่ยวข้องกับวิชาชีพอื่นที่มีกฎหมายรับรองอยู่แล้วฉบับใดบ้าง และยังกล่าวว่าบางสาขานั้นมีลักษณะเป็นวิชาการมากกว่าเป็นวิชาชีพ ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ให้ความเห็นขัดแย้งกันอยู่ในตัวเอง เนื่องหากมีสาขาที่หลากหลายจำเพาะไปถึง 12 สาขาตามที่กล่าวไว้ย่อมแสดงให้เห็นถึงลักษณะที่จำเพาะเจาะจงเกินไปต่างหาก และประเด็นเรื่องเป็นวิชาการนั้นย่อมเสมือนกับยอมรับว่ามีการใช้หลักวิชาการในองค์ความรู้นั้นๆจริง ซึ่งยืนยันว่ามีการใช้กระบวนการทางความคิดและปัญญาอย่างแน่นอนมิใช่ไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้ปัญญาในการสร้าง พัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้อย่างแน่นอนชัดเจน ซึ่งหากจะว่าไปแล้วการสาธารณสุขบางสาขานั้นมีการใช้หลักวิชาการเพื่อพัฒนาวิชาชีพไม่น้อยกว่าวิชาชีพที่มีอยู่ในปัจจุบันแต่อย่างใด

          ประเด็นนี้หากจะมีจุดที่ต้องแก้ไข ก็คือในทางเทคนิคการร่างกฎหมายวิชาชีพ โดยทั่วไปจะไม่กำหนดรายละเอียดปลีกย่อยเช่นนี้ในกฎหมายหลักต่างหาก มักจะนิยมใส่ไว้ในกฎหมายรองแทน เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนอย่างสอดคล้องกับการพัฒนาองค์ความรู้ในแต่ละสาขา

อ่านในประเด็นต่าง ๆ จาก link ด้านล่างนี้ครับ
ปล.
บทความนี้เขียนโดยคุณสงครามชัย ลีทองดี ([email protected])

ประเด็นหลักที่หนึ่ง ตอนที่ 1 และ ตอนที่ 2
ประเด็นพิจารณาว่าการสาธารณสุขชุมชนหรือ การสาธารณสุขเป็นวิชาชีพหรือไม่

ประเด็นหลักที่สอง
พิจารณาว่ามีความจำเป็นที่ต้องมีกฎหมายวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนหรือ การสาธารณสุข ออกมาบังคับใช้หรือไม่

ประเด็นหลักที่สาม
พิจารณาว่าร่างกฎหมายวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนหรือ การสาธารณสุข มีการก้าวล่วงกฎหมายวิชาชีพที่มีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบันหรือไม่

ประเด็นหลักที่สี่
การปฏิบัติงานของกลุ่มผู้เสนอร่างกฎหมายวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนหรือ การสาธารณสุข ในกระทรวงสาธารณสุข

ข้อเสนอของผู้เขียน
เพื่อแสวงหาทางออกร่วมกัน

หมายเลขบันทึก: 44620เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2006 02:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอนำเสนอ...ต่อ สมาคมหมออนามัยในประเด็นบันทึกนี้ครับ...

....

ผมขอแวะอ่านให้ครบทุกบันทึกที่เกี่ยวข้องก่อนนะครับ พี่ชายขอบ

แต่ขอฝากร่องรอยให้กำลังใจไว้ก่อน 

น้องจตุพร

     กำลังใจที่ฝากมาให้นั้น ขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง เรื่องนี้เก่าแล้วครับ หากแต่อยากนำมาไว้เพื่อเก็บเป็นคลัง และบทความนี้ผู้เขียนคุณสงครามชัย ลีทองดี ตั้งใจและเขียนได้อย่างครอบคลุมประเด็นมาก ผมเลยขอนำมาเผยแพร่ไว้นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท