ความเห็นแย้งต่อประเด็น “ความเห็นของสี่องค์กรวิชาชีพ” (2-2)


เห็นว่าเป็นงานเชิงสร้างสรรค์ที่น่าจะได้นำมาเป็นแบบอย่าง ซึ่งสังคมปัญญาควรจะใช้วิธีการเยี่ยงนี้ในการแสดงความเห็นเพื่อแย้งก็ดี เห็นด้วยก็ดีในเชิงวิชาการ

          ประเด็น 1.3 วิชาชีพต้องใช้กระบวนการหรือวิธีการทางปัญญาในการให้บริการ ทั้งในการประกอบวิชาชีพอิสระและรับราชการ มากกว่าการใช้แรงกาย เมื่อพิจารณาความเห็นโดยรวมของสี่องค์กรวิชาชีพในประเด็นนี้ เป็นประเด็นที่หนักที่สุด โดยการให้ความเห็นว่ากิจกรรมทางการสาธารณสุขส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องใช้กระบวนการทางปัญญาหรือความคิด และอาจจะกระทำได้จากประสบการณ์ความชำนาญสามัญสำนึก การฝึกอบรมแรงกายเท่านั้น

          ผู้เขียนมีความเห็นตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงในประเด็นนี้ ด้วยเพราะเหตุผลจากองค์ประกอบในข้อที่ผ่านมาได้ยืนยันว่าการศึกษาอบรมในทางสาธารณสุขนี้มีการศึกษาในจนถึงชั้นสูงสุดในระดับปริญญาเอกและหลังปริญญาเอกทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ และผลงานจากการศึกษาวิจัยที่เป็นองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นในสาขานี้ได้ก่อคุณานุประการต่อสังคมไทยอย่างเหลือคณานับ การกล่าวอย่างมักง่ายว่าผู้ที่ทำกิจกรรมทางสาธารณสุขไม่จำเป็นต้องใช้กระบวนการทางปัญญาและความคิด ทั้งในการให้บริการก็เป็นไปเพื่อการรับราชการเท่านั้นและส่วนใหญ่เป็นการใช้แรงกาย ความเห็นที่ออกมาในเชิงข้อกล่าวหาเช่นนี้ค่อนข้างจะหนักเกินไป การทำหน้าที่ของแพทย์ พยาบาล เภสัชกร และทันตแพทย์นั้น นอกจากบริการเชิงวิชาชีพที่ใช้กระบวนการหรือวิธีการทางปัญญาตามที่กล่าวอ้างแล้ว เชื่อว่าเป็นการใช้แรงกายไม่น้อยกว่าการทำงานการทางด้านสาธารณสุขเช่นเดียวกัน ต่างกันตรงที่ลักษณะการทำงานส่วนใหญ่นั้น ทั้งสี่วิชาชีพทำการงานส่วนใหญ่กับคนที่ป่วย ในขณะที่นักสาธารณสุขทำการงานกับคนที่ยังไม่ป่วย หรือป่วยแต่ยังพอช่วยเหลือตนเองได้ในระดับหนึ่ง และเชื่อว่าขณะที่ทั้งสี่วิชาชีพกำลังทำงานกับคนที่ป่วยก็คงต้องใช้แรงกายไม่น้อยทีเดียว ข้อเท็จจริงนี้เราต่างเห็นและรับรู้ตรงกันไม่ใช่หรือว่า แต่ละคนได้ใช้แรงกายไม่น้อยกว่ากันและกันเลย

          การงานด้านสาธารณสุขนั้นเป็นเสมือนการใช้ศาสตร์และศิลป์อย่างหนึ่งและมีการแยกย่อยสาขาความเชี่ยวชาญออกไป แต่วัตถุประสงค์โดยรวมก็ชัดเจนอยู่แล้วคือเพื่อการป้องกันโรค การทำให้ชีวิตผู้คนยืนยาวออกไป จะว่าไปแล้วก็เป็นวัตถุประสงค์เดียวกันกับทั้งสี่วิชาชีพได้ทำหน้าที่อยู่ เพียงแต่แบ่งแยกหน้าที่กันไป หากจะบอกว่าไม่มีความจำเป็น เราคงไม่จำเป็นต้องแยกผู้ประกอบวิชาชีพที่มีอยู่แล้วออกเป็นกลุ่มว่าเป็นแพทย์ พยาบาล เภสัชกร และทันตแพทย์ให้แตกต่างกันให้ยุ่งยาก การงานด้านสาธารณสุขก็เช่นเดียวกันก็เป็นการงานที่มีการพัฒนาความเชี่ยวชาญเฉพาะไว้ในระดับหนึ่งนอกเหนือจากความรู้ที่เป็นแกนกลาง ดังจะเห็นได้ว่ามี นักสาธารณสุขที่เชี่ยวชาญในเรื่อง การสุขาภิบาล หรือ โภชนาการ หรือการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยในการทำงาน อนามัยสิ่งแวดล้อม การสุขศึกษาและพฤติกรรมศาสตร์ เป็นต้น ก็เป็นไปในลักษณะเดียวกันกับทั้งสี่วิชาชีพที่มีกฎหมายรับรองแล้วได้พัฒนาความเชี่ยวชาญของตนเองในสาขาต่างๆ ในปัจจุบัน เช่นแพทย์ก็อาจจะมีแพทย์ที่เชี่ยวชาญเรื่องระบบภูมิคุ้มกัน หรือเชี่ยวชาญเรื่องหู คอ จมูก เป็นต้น

          การที่ให้ความเห็นว่าการทำงานด้านสาธารณสุขไม่จำเป็นต้องใช้กระบวนการทางปัญญาหรือวิธีการทางปัญญานั้น เหมือนจงใจจะกล่าวว่าบุคคลที่ทำการงานเหล่านี้เป็นเพียงผู้ใช้แรงกายมากกว่าปัญญา นับเป็นความเข้าใจที่ผิดอย่างมาก อาจจะคงเป็นเพราะความรู้ ความเข้าใจการงานด้านสาธารณสุขที่จำกัด จึงทำให้เข้าใจและรับรู้เรื่องการสาธารณสุขอย่างไม่ตรงกับข้อเท็จจริง และการมองแต่ในมุมว่าผู้ทำงานสาธารณสุขทำแต่ในราชการตามกฎเกณฑ์และคำสั่งให้ทำยิ่งเป็นความคิดเห็นแบบอำนาจนิยมที่หลงผิด ในรูปแบบและวิธีทำงานแบบเจ้านาย ลูกน้อง ซึ่งย่อมนำไปสู่ความขัดแย้งกันระหว่างวิชาชีพอย่างไม่สร้างสรรค์และไม่จำเป็น ซึ่งบทบาทและลักษณะงานในแต่ละวิชาชีพนั้นมีความจำเป็นต้องยอมรับในความต่างและเหมือน เพื่อประโยชน์สูงสุดของงานมากกว่า ที่จะมองว่าใครมีอำนาจมากกว่าใคร เฉกเช่นเดียวกับองคาพยพของร่างกายที่มีอวัยวะแต่ละส่วนที่ต่างกัน แต่ต่างก็ทำหน้าที่ไปกันคนละอย่าง เพื่อให้ร่างกายมีชีวิตอย่างปกติสุขได้

          ประเด็น 1.4 บริการที่ให้โดยผู้ประกอบวิชาชีพ ต้องมีอิสระและใช้ดุลยพินิจวิจารณญาณของตนในการใช้ความรู้ตามมาตรฐานวิชาชีพแก่ผู้ป่วยหรือประชาชน ประเด็นความเห็นของสี่องค์กรวิชาชีพในเรื่องนี้กล่าวโดยสรุปคือ การงานด้านสาธารณสุขนั้นไม่มีอิสระในการใช้ดุลยพินิจของตนในการตัดสินใจให้กับผู้ป่วย เป็นเพียงผู้ให้ความรู้แล้วประชาชนปฏิบัติ และได้ยกตัวอย่างการที่บุคลากรทางทันตสาธารณสุข ให้บริการภายใต้กฎเกณฑ์ที่อนุญาตให้ทำได้เท่านั้นมาประกอบคำอธิบาย ความเห็นผู้เขียนต่อประเด็นนี้เห็นว่า การมีอิสระในการใช้ดุลยพินิจต่อผู้ป่วยหรือประชาชนนั้นไม่ใช่เฉพาะแพทย์ พยาบาล เภสัชกร หรือทันตแพทย์เท่านั้นที่มี และมิใช่ว่าผู้ประกอบการงานด้านสาธารณสุขจะไม่มีอิสระ เพียงแต่ว่ามีอิสระในบทบาทที่ต่างกันเท่านั้น ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างแน่นอนว่าการมีอิสระต่อผู้ป่วยด้านการรักษาโรค นั้นเป็นอิสระของแพทย์ แต่อิสระนั้นต้องมีขอบเขตและอยู่ภายใต้เหตุผลทางวิชาการ รวมถึงการยินยอมพร้อมใจและความร่วมมือในการปฏิบัติตามของผู้ป่วยด้วย ไม่ใช่การมีอำนาจตามอำเภอใจของตนเองโดยลำพังและไร้ขอบเขต เช่นเดียวกันกับการงานด้านสาธารณสุขอิสระทางการทำงานเพื่อการป้องกันโรค การส่งเสริมสุขภาพตามความเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องของตนเองย่อมเกิดขึ้นตามอำนาจความรู้และความเชี่ยวชาญของตนตามมาตรฐานแห่งวิชาชีพที่มีอยู่ เป็นที่รับรู้ว่ากว่าที่ประชาชนจะยอมรับรู้ เชื่อถือและปฏิบัติตามในทางสุขภาพย่อมไม่ใช่กระบวนการที่เกิดขึ้นง่ายๆ การงานสาธารณสุขหลายอย่างนักสาธารณสุขต้องทุ่มเทกำลังปัญญาและความพยายามอย่างมากกว่าจะประสบความสำเร็จมาได้ การเปรียบเทียบเอาว่าผู้ทำการงานด้านสาธารณสุขมีหน้าที่แค่ให้ความรู้ แล้วประชาชนเป็นผู้ปฏิบัตินั้น เป็นการมองเพียงกิจกรรมเดียวเท่านั้นและยังเป็นการมองที่ผิดจุดด้วยซ้ำ เพราะผู้ประกอบวิชาชีพทั้งสี่วิชาชีพเองในปัจจุบันก็ไม่อำนาจโดยอิสระที่จะไปใช้ดุลยพินิจโดยลำพังในการตัดสินผู้ป่วยหรือประชาชน เพราะล้วนแต่ต้องอาศัยหลักวิชาการทั้งมวลไม่เฉพาะในสาขาใดสาขาหนึ่งเท่านั้น รวมถึงการยินยอมพร้อมใจของผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบด้วย ไม่อย่างนั้นย่อมเป็นการละเมิดต่อสิทธิผู้อื่นอย่างไม่สมควรและผิดบทบัญญัติแห่งกฎหมายอีกด้วย

          การที่ยกตัวอย่างว่าบุคลากรทางทันตสาธารณสุขปฏิบัติหน้าที่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่กำหนดนั้น ก็เป็นประเด็นที่ทุกคนที่จะประกอบวิชาชีพไม่เพียงแต่ด้านทันตสาธารณสุขเท่านั้น พึงระมัดระวังอยู่แล้ว ว่าจะไม่ไปล่วงละเมิดหน้าที่ของผู้อื่น หากจะเป็นการล่วงละเมิดก็ย่อมเป็นไปตามที่มอบหมายหรือยินยอมให้กระทำได้ตามขอบเขตเท่านั้น ไม่เกินกว่า หากเกินย่อมเป็นความผิดที่ชัดแจ้งอยู่แล้ว และหากจะว่าไปแล้วหากเลือกได้คิดว่าไม่มีบุคคลใดที่อยากไปล่วงละเมิดหน้าที่ผู้อื่นโดยไม่จำเป็น แต่ด้วยเหตุผลแห่งข้อจำกัดทั้งมวล ที่อ้างขึ้นในทางราชการเท่านั้นเป็นเหตุให้มีการทำการงานของผู้อื่นได้ในระบบการบริการสุขภาพในปัจจุบัน

          หากมองกลับในประเด็นเดียวกัน พยาบาลที่เป็นหนึ่งในสี่องค์กรวิชาชีพ ที่ทำงานด้านเวชกรรมอยู่ทุกวันนี้นั้นไม่ได้อาศัยกฎหมายวิชาชีพการพยาบาลของตน หากแต่อยู่ภายใต้ระเบียบที่ออกมาโดยกระทรวงสาธารณสุขให้อาศัยข้อยกเว้นในกฎหมายวิชาชีพเวชกรรมมอบหมายให้ทำ ซึ่งก็เป็นระเบียบฉบับเดียวกันกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข การทำหน้าที่แทนผู้อื่นตามที่ได้รับมอบหมายนั้น เพราะราชการอ้างว่ามีคนจำกัดและทำการงานในทางราชการเท่านั้น หากพยาบาลไปทำงานเอกชนและไปทำหน้าที่เวชกรรมก็ย่อมฝ่าฝืนกฎหมายและมีความผิดเช่นกันไม่มียกเว้น เรื่องการมอบหมายให้ทำนั้นมิใช่ความผิดของผู้ถูกมอบหมาย เป็นความรับผิดชอบของผู้มอบต่างหากที่ต้องควบคุมดูแลให้เป็นไปตามที่ตนมอบหมาย เนื่องจากหลักในกฎหมายก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า “ผู้รับมอบไม่มีสิทธิดีไปกว่าผู้มอบ” อันนี้มีความเห็นไม่ต่างกันว่าผู้ทำงานด้านสาธารณสุขย่อมไม่มีอิสระหรือดุลยพินิจในการทำงานการงานแทน ไม่ว่าจะเป็นทำงานแทนแพทย์ ทันตแพทย์ หรือ พยาบาลในบางเรื่องที่มีการมอบหมายให้ทำในระบบราชการ

          แต่ประเด็นการงานด้านสาธารณสุขนั้น เป็นเรื่องอีกเรื่องหนึ่งที่กลุ่มผู้ทำการงานนี้อยากจะพัฒนาการงานของตนไปสู่ระบบวิชาชีพที่ชัดเจนและมีระบบตามหลักสากลต่างหาก ดังนั้นการอ้างอิงว่าการงานสาธารณสุขไม่มีอิสระหรือดุลยพินิจในการตัดสินใจด้วยตนเองต่อผู้ป่วยและประชาช ต้องกล่าวให้ชัดเจนว่าเป็นการไม่มีอิสระในการใช้ดุลยพินิจในเรื่องใด ผู้เขียนเห็นด้วยว่าในเรื่อง เวชกรรม หรือ ทันตกรรม หรือเภสัชกรรม หรือการพยาบาล ย่อมไม่มีอิสระอย่างแน่นอน แต่หากเป็นเรื่องการงานด้านสาธารณสุข ไม่เชื่อว่าผู้ทำการงานด้านสาธารณสุขจะไม่มีอิสระเพียงพอ เว้นเสียแต่ว่าเป็นระบบการบังคับบัญชาหรือระบบอำนาจนิยมที่เชื่อมั่นตนเอง ว่ามีความเก่งไปเสียทุกเรื่องโดยไม่รับฟังผู้อื่นเท่านั้น แต่ก็มีตัวอย่างให้เห็นอยู่เสมอว่าย่อมที่จะมีจุดจบเช่นไรหากมีแนวคิดในทำนองนี้ ซึ่งเป็นอุทธาหรณ์ได้ทั้งบุคคลและองค์กร

          ประเด็น 1.5 วิชาชีพต้องมีจริยธรรมหรือจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเพื่อถือปฏิบัติในกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ความเห็นของสี่องค์กรวิชาชีพโดยสรุปในประเด็นนี้ กล่าวคือ การงานสาธารณสุขมีบุคลากรหลายประเภท หลากหลายระดับต่างกัน ทำให้ระบบควบคุมจริยธรรมไม่มีเอกภาพ ไม่ชัดเจน หรือมีหลายมาตรฐานและไม่มีบทลงโทษทางวิชาชีพ ประเด็นนี้ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างมากต่อข้อเสนอของสี่องค์กรวิชาชีพ นี่คือเหตุผลสำคัญที่จำเป็นต้องจัดทำบทบัญญัติแห่งกฎหมายวิชาชีพขึ้นมา เพื่อให้มีการจัดระบบในเรื่องนี้ การที่จะเกิดระบบจริยธรรมและคุณธรรมแห่งวิชาชีพที่เป็นระบบ มีเอกภาพ และมาตรฐาน ตลอดจะกล่าวไปไกลถึงบทลงโทษนั้น จำเป็นอย่างยิ่งต้องตราเป็นพระราชบัญญัติวิชาชีพขึ้นมา ตามระบบกฎหมายไทยที่เป็นแบบลายลักษณ์อักษร นี่คือเหตุผลสำคัญประการหนึ่งของการเกิดขึ้นของวิชาชีพ หากศึกษาวิวัฒนาการของกฎหมายวิชาชีพด้านสาธารณสุขแล้วก็จะพบว่ากฎหมายวิชาชีพด้านสุขภาพฉบับแรกของไทยคือ พระราชบัญญัติการแพทย์ พระพุทธศักราช 2466 นั้น ก็เกิดขึ้นด้วยเหตุผลนี้เป็นสำคัญ และหากผู้ทำการงานด้านสาธารณสุขจะมีการจัดการตรงนี้ก็จำเป็นต้องใช้กฎหมายวิชาชีพเท่านั้นในระบบบ้านเมืองเราเท่าที่เป็นอยู่

          ประเด็น 1.6 มีสภาวิชาชีพในการควบคุมดูแลกันให้เป็นไปตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพ
ความเห็นของสี่องค์กรวิชาชีพต่อประเด็นนี้ กล่าวว่าสภาวิชาชีพจะไม่สามารถบริหารกิจการในการรักษามาตรฐานแห่งวิชาชีพได้ เนื่องจากมีบุคคลที่หลากหลาย ทั้งประเภทและระดับ หากพิจารณาอย่างผิวเผินอาจจะเป็นอย่างนั้น แต่หากพิจารณาดูอย่างถ้วนถี่แล้วจะเห็นว่าในความหลากหลายในประเภทและระดับนั้นอยู่ภายใต้พันธกิจเดียวกันคือ การทำงานด้านสาธารณสุข ซึ่งมีความรู้และความเชี่ยวชาญที่มีต้นทุนในการพัฒนามาต่างกัน แต่หากมีการรวบรวมเข้ามาหากันภายใต้หลักการเดียวกันในการทำงานการด้านสาธารณสุขย่อมเป็นผลดีมากกว่าผลเสีย หากปล่อยไว้ต่อไปก็จะกระจัดกระจายและไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน

          หากศึกษากฎหมายวิชาชีพด้านสาธารณสุขมาดีพอจะเห็นว่า ทุกวิชาชีพในระบบสุขภาพเคยเริ่มต้นพัฒนาในกฎหมายเดียวกัน ตั้งแต่กฎหมายว่าด้วยการแพทย์ มาเป็นกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการประกอบโรคศิลปะซึ่งบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน การรวมอยู่ในกฎหมายเดียวก็มีจุดดี และจุดอ่อน การแยกออกมาเป็นกฎหมายเฉพาะก็มีจุดดีและจุดอ่อนเช่นกัน ในระบบกฎหมายวิชาชีพด้านสุขภาพในบ้านเรานั้นมีการใช้ทั้งสองระบบในปัจจุบัน คือมีกฎหมายเฉพาะ 6 ฉบับ(สำหรับแพทย์,พยาบาล, เภสัชกร, ทัตแพทย์, เทคนิคการแพทย์และกายภาพบำบัด) กฎหมายรวมหนึ่งฉบับ (พ.ร.บ. การประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542) ซึ่งการควบคุมดูแลกันเองในกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพนั้นเป็นเรื่องที่ดีและเป็นระบบที่อารยะประเทศยอมรับนับถือ

     การที่ผู้ประกอบการงานด้านสาธารณสุขประสงค์ที่จะให้มีการควบคุมดูแลกันเช่นนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนด้วยซ้ำ การที่ไปปรามาสว่าองค์กรที่ยังไม่ได้ตั้งขึ้นมา จะไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ไม่ต่างอันใดกับการไม่ยอมรับความสามารถของผู้อื่น และคำถามในทางกลับกัน ผู้เขียนอยากถามว่าองค์กรที่ทำหน้าที่ควบคุมดูแลกันเองหรือสภาวิชาชีพในปัจจุบันได้ทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างเพียงพอแล้วหรือ และประเด็นฟ้องร้องกันทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันมีความเกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพ ของการควบคุมกันเองขององค์กรทางวิชาชีพที่มีอยู่ อย่างมีนัยสำคัญหรือไม่

         ทั้ง 6 ประเด็นที่ได้ให้ความเห็นไปแล้วนี้เป็นการเสนอความคิดเห็นทั้งเห็นด้วยและเห็นแย้งในความเห็นของสี่องค์กรวิชาชีพประเด็นหลักที่หนึ่ง ที่มีการส่งกลับมาให้กระทรวงสาธารณสุขและผู้เสนอกฎหมายวิชาชีพสาธารณสุขทั้งสองฉบับ โดยกล่าวสรุปว่าไม่เข้าลักษณะและองค์ประกอบ 4 ข้อแรก และอาจจะรวมไปถึง สองข้อหลังด้วย ซึ่งผู้เขียนได้แสดงความเห็นไปแล้ว และยังมีความเห็นในประเด็นหลักข้อต่อมาอีก ดังจะได้เสนอต่อไป

อ่านในประเด็นต่าง ๆ จาก link ด้านล่างนี้ครับ
ปล.
บทความนี้เขียนโดยคุณสงครามชัย ลีทองดี ([email protected])

ประเด็นหลักที่หนึ่ง ตอนที่ 1 และ ตอนที่ 2
ประเด็นพิจารณาว่าการสาธารณสุขชุมชนหรือ การสาธารณสุขเป็นวิชาชีพหรือไม่

ประเด็นหลักที่สอง
พิจารณาว่ามีความจำเป็นที่ต้องมีกฎหมายวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนหรือ การสาธารณสุข ออกมาบังคับใช้หรือไม่

ประเด็นหลักที่สาม
พิจารณาว่าร่างกฎหมายวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนหรือ การสาธารณสุข มีการก้าวล่วงกฎหมายวิชาชีพที่มีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบันหรือไม่

ประเด็นหลักที่สี่
การปฏิบัติงานของกลุ่มผู้เสนอร่างกฎหมายวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนหรือ การสาธารณสุข ในกระทรวงสาธารณสุข

ข้อเสนอของผู้เขียน
เพื่อแสวงหาทางออกร่วมกัน

หมายเลขบันทึก: 44618เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2006 01:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เสมือนเป็นการแบ่งชนชั้นทางวิชาชีพ..ให้เหลื่อมล้ำ...และแตกต่าง...

ไม่มีการงานอาชีพใด...ที่ไม่ได้ใช้ภูมิแห่งปัญญานั้น...

สงสัยเฉกเช่นเดียวกันว่า...แล้วทำไม...มีการผลิตบุคลากรทางด้านสาธารณสุขออกมา...หากมองว่า...ไม่จำเป็นต้องมีคนกลุ่มนี้...

....

แล้วที่มีการขับเคลื่อน...และผลักดัน...ให้เกิดการปฏิรูปสู่ระดับปฐมภูมิ..ตัวกลไกในการขับเคลื่อนนั้น คือ...คนกลุ่มใดที่สนองต่อนโยบายรัฐ...อันดับแรก...หากไม่ใช่คนสาธารณสุข...

....ก่อเกิดคำถามและถกกันเช่นเดียว...เมื่อได้พบจากบันทึกนี้...ได้นำไปพูดคุยและถอเถียง...ความเสมอภาคแห่งการทำงาน...แม้ในองค์การนี้องค์การเดียว...ก็ยังหาได้ยากแท้....

Dr.Ka-poom

     ยอมรับว่าทั้งข้อคิดเห็นของสี่องค์กรวิชาชีพมีผลต่อแรงใจในการทุ่มเทเป็นอย่างยิ่งครับ นิ่งไปนาน เบื่อครับที่ตกเป็นเสมือนทาส หากยิ่งมาดูแคลนเรื่อง "ปัญญา" ยิ่งรับได้ยาก
     จริง ๆ แล้วผมก็ทบทวนว่าในแต่ละเวที ผมยังได้และทำงานร่วมกันกับ แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ และเภสัชกร ท่านเหล่านั้นให้เกียรติหมออนามัยอย่างผมได้ร่วมประชุม ร่วมเป็นคณะทำงาน ท่านยังร่วมรับฟังเห็นด้วยบ้าง ไม่เห็นด้วยบ้าง แต่โดยความเคารพกันจนผมปลาบปลื้มมาตลอด ฉะนั้นงานนี้จึงต้องพุ่งไปที่ "ใครร่วมให้ คห.บ้างในเอกสารฉบับนั้น เบื้องหน้าเบื้องหลังเป็นอย่างไร"
     หากคิดเป็นเชิงลบ ผมตั้งใจว่า จะขุดคุ้ยหาว่า "สี่องค์กรวิชาชีพ" ที่ว่า ได้ทำอะไร เพื่อดิสเครดิตกัน ดีกว่าไหม คิดแล้วก็อย่าดีกว่า (ใช้วิธีอื่นดูก่อนดีกว่า...ยังไม่จำเป็น)
     ...

เรียน..คุณชายขอบ..

ดิฉันเชื่อในเรื่องกระบวนการทางปัญญา..ของมนุษย์ทุกคนทุกเพศทุกวัย...แม้แต่กรรมกรที่ก่อร่างสร้างตึก คนสวนที่ตัดตกแต่งกิ่งไม้...ก็ยังทำด้วยปัญญาที่ฝังลึกอยู่ในตัวเขา...

...แล้วทำไม...ประกาศที่ออกมานี้...จึงได้ตัดสินและฟันธงลงไปว่า...คนสาธารณสุข...ไม่ได้ใช้ปัญญาในการทำงาน...แล้วที่ร่ำเรียนมาก...ความรู้ที่ว่าของคนเหล่านั้น..หายไปไหน...แล้วมีการศึกษาในศาสตร์นี้ทำไม...เพื่ออะไรเหล่า...หากไม่มีปัญญหาในการทำงาน....

ด้วยความศรัทธายิ่ง...ต่อความเสมอภาค

นิภาพร  ลครวงศ์

 

(ขอแก้ไขคำผิด) 

เรียน..คุณชายขอบ..

ดิฉันเชื่อในเรื่องกระบวนการทางปัญญา..ของมนุษย์ทุกคนทุกเพศทุกวัย...แม้แต่กรรมกรที่ก่อร่างสร้างตึก คนสวนที่ตัดตกแต่งกิ่งไม้...ก็ยังทำด้วยปัญญาที่ฝังลึกอยู่ในตัวเขา...

...แล้วทำไม...ประกาศที่ออกมานี้...จึงได้ตัดสินและฟันธงลงไปว่า...คนสาธารณสุข...ไม่ได้ใช้ปัญญาในการทำงาน...แล้วที่ร่ำเรียนมา...ความรู้ที่ว่าของคนเหล่านั้น..หายไปไหน...แล้วมีการศึกษาในศาสตร์นี้ทำไม...เพื่ออะไรเหล่า...หากไม่มีปัญญาในการทำงาน....

ด้วยความศรัทธายิ่ง...ต่อความเสมอภาค

นิภาพร  ลครวงศ์

Dr.Ka-poom

     คห.นี้ที่ผมตอบ ยืนยันว่าผมเคารพคนในวิชาชีพไหน ๆ ไม่เฉพาะแต่ใน 4 องค์กรนี้ แต่วันนี้ความเป็นองค์กรดังกล่าวได้ย่ำยีเราเมื่ออ่านตามความเห็นที่ให้แก่ กสธ.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท