เพลงอีแซว สื่อสาร ตอนที่ 4 งานทำบุญฉลอง


ความเมตตาที่ท่านผู้ชมในละแวกวัดทองศาลางามมีให้ เป็นประดุจน้ำทิพย์ชโลมใจให้ชื่นฉ่ำไปอีกยาวนาน เสมือนเป็นแรงผลักดันให้มีกำลังใจในการเดินหน้าต่อไป

เพลงอีแซว สื่อสาร

ตอนที่ 4 งานทำบุญฉลอง

ให้กับหลวงพ่อ

วัดทองศาลางาม เพชรเกษม 20 กรุงเทพฯ

โดย นายชำเลือง มณีวงษ์

 

          ผมกล่าวถึงเพลงพื้นบ้าน ประเภทเพลงอีแซวว่า สามารถที่จะนำเสนอเรื่องราวที่เป็นสารประโยชน์ต่อท่านผู้ชมได้ทางหนึ่ง ในตอนที่ 1-3 มาแล้ว จะเห็นได้ว่า กิจกรรมการแสดงที่สื่อสารด้วยสาระให้ตรงตามกิจกรรมหรือลักษณะของงานนั้น ๆ ได้ นักแสดงจะต้องมีความสามารถที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบของการแสดงด้วยวิธีการด้นสดตามทำนองเพลงพื้นบ้าน-เพลงอีแซวได้อย่างฉับพลันจึงจะสามารถออกไปรับใช้สังคมตามลักษณะของงานในแต่ละสถานที่ได้
          ผมได้นำทีมงานไปทำการแสดง ที่วัดทองศาลางาม ถนนเพชรเกษม 20 แขวงบางแวก  เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2554 ตรงกับวันสงกรานต์พอดี โดยที่พี่เกลียว เสร็จกิจ รับงานมาให้ พี่เขาย้ำว่า งานนี้จะต้องคัดตัวเล่นไปด้วยเพราะคณะของพี่เขาเคยไปทำการแสดงมาแล้ว เกรงว่าผู้ชมที่เคยชมเพลงอีแซวคนโตมาแล้วพอได้มาชมคณะเด็ก ๆ อาจจะแตกต่างกัน ผมบอกกับพี่เขาไปว่า “จะไม่ทำให้ท่านผู้ชมผิดหวังเลยแม้แต่น้อย”
          ทั้งที่ผมเคยอยู่ย่านท่าพระ บางไผ่ ท่าน้ำภาษีเจริญ โดยเรียนชั้นมัธยมศึกษาที่ โรงเรียนวัดนวลนรดิศ ฝั่งธนบุรีมาก่อน แต่เวลาผ่านไปนานแล้ว (42 ปี) กรุงเทพฯ มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ถนนหนทางสลับซับซ้อนมีถนนทั้งข้างล่างข้างบน คืนวันที่ 12 เมษายน 2554 ทีมงานทำการแสดงอยู่ที่ วัดคลองขอม อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี พอเสร็จงานแสดง ผมนัดหมายนักแสดงทั้งหมดให้มาพร้อมกันที่โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 ในเวลา 12.00 น. เพื่อนัดหมายคิวการแสดงและซักซ้อมทำความเข้าใจในบทบาทของแต่ละตอนก่อนออกเดินทางในเวลาประมาณ 14.30 น.
          ผมคำนวณเวลาว่ารถวิ่งจากดอนเจดีย์ไปถึงวัดทองศาลางาม ถนนเพชรเกษม 20 น่าจะไม่เกิน 2 ชั่วโมง ไปเข้าจริงเกือบ 3 ชั่วโมง (หลงทางจนได้) แต่ในที่สุดก็ไปถึงวัดทองศาลางามในเวลา 16.00 น.เศษ ท่าน ผอ.ยศพร เสนะวีณิน มาให้การต้อนรับและจัดอาหารเอาไว้รับรองนักแสดงทั้งวง เวลาประมาณ 18.00 น. พี่เกลียว เสร็จกิจ (ขวัญจิต ศรีประจันต์) ศิลปินแห่งชาติ นักแสดงรับเชิญเดินทางมาถึงโรงเรียนวัดทองศาลางาม ได้พบปะพูดคุยกันพักหนึ่งแล้วต่างก็แยกย้ายกันไปเตรียมตัวขึ้นเวทีทำการแสดง
          ผมกับอนุสรณ์ นพวงค์ ออกเดินไปในบริเวณงาน มองเห็นเวทีดนตรีขนาดใหญ่ สอบถามคณะกรรมการจัดงานว่าเป็นเวทีแสดงของใคร (ผมคิดว่าเป็นของเพลงอีแซว) คณะกรรมการบอกกับผมว่า “เป็นเวทีหมอลำซิ่ง” ผมเดินหาเวทีการแสดงเพลงอีแซวไม่พบ พบแต่ลานกว้างเขาจัดเป็นสถานที่หล่อพระ ยังคงเหลือร่องรอยในการประกอบพิธีอยู่ ควันจากการเผาไหม้ของการหล่อพิมพ์ยังไม่หมดยังคงเห็นแสงไฟและความร้อนที่คุกรุ่นอยู่ทั่วไป บางส่วนมีผู้เก็บแม่พิมพ์กันบ้างแล้ว ขณะที่เวลาในตอนนั้น ใกล้จะ 18.00 น.
          ผมเดินกลับไปยังห้องแต่งตัว บนอาคารเรียน โรงเรียนวัดทองศาลางาม บอกกับเด็ก ๆ ว่า “เราควรที่จะไปเตรียมความพร้อมที่หลังเวทีก่อนเวลา 20.30 น. (ขณะนั้นเวทียังติดตั้งไม่เสร็จ) นักแสดงก็เร่งกันทุกคน จนถึงเวลานัดหมาย ทีมงานทั้งหมดพร้อมอุปกรณ์การแสดงที่จำเป็นต้องใช้ขนกันไปคนละชิ้นสองชิ้นถึงยังเวทีที่จะทำการแสดง เวลาประมาณ 20.30 น.เศษ เป็นเวลาที่มีประชาชนมารอชมการแสดงเป็นจำนวนมาก
          ท่านพิธีกรดำเนินรายการมาแจ้งให้ผมทราบว่า คิวการแสดงในคืนนี้ สำหรับเวทีการแสดงพื้นบ้าน มี 3 รายการด้วยกันคือ
          รายการที่ 1 เป็นการรำอวยพรของคณะนักเรียน โรงเรียนวัดทองศาลางาม 2 ชุด
          รายการที่ 2 เป็นการแหล่อวยพรให้กับพระเดชพระคุณหลวงพ่อ โดย ขวัญจิต ศรีประจันต์ (ศิลปินแห่งชาติ) นักร้องนักแสดงรับเชิญ กรณีพิเศษ
          รายการที่ 3 การแสดงเพลงอีแซว ทีมงานเพลงอีแววสายเลือดสุพรรณฯ เป็นรายการสุดท้าย
          เมื่อถึงรายการแสดงเวลาในขณะนั้นล่วงเลยไปเกือบจะ 22.00 น. (สี่ทุ่ม) แต่ว่าท่านผู้ชมยังคงรอให้กำลังในอยู่เป็นจำนวนมากรวมทั้งพระเดชพระคุณหลวงพ่อ ท่านเจ้าอาวาสมาเป็นกำลังใจให้กับเยาวชนที่หน้าเวที รวมทั้งคณะกรรมการจัดงานอีกหลายท่าน การแสดงแบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลาคือ

        

      
          ช่วงเวลาที่ 1 เป็นการแสดง รำบูชาครู ไหว้ครู เปิดวงเพลงอีแซวด้วยบทฝากใจ

        

          

          

          ช่วงเวลาที่ 2 ผมออกไปร่วมแสดงกับพี่เกลียว (ขวัญจิต ศรีประจันต์) ด้นกลอนสด ๆ

        

        

          ช่วงเวลาที่ 3 เป็นการแสดงเพลงโต้ตอบประคารมหวาน ๆ ทั้งหมดและตามด้วยด้นกลอนสดอวยพรให้กับท่านผู้ชม จนถึงเวลา 0.30 น. เป็นเพลงลา จบการแสดง
          ในช่วงเวลาที่กำลังเก็บอุปกรณ์อยู่นั้นเอง ท่านผู้ชมกลุ่มหนึ่งเดินมาที่หน้าเวทีแล้วพูดว่า “อาจารย์น่าจะให้เด็ก ๆ เขาแสดงต่อไปอีกสัก 1 ชั่วโมง และท่านจะอยู่เป็นกำลังใจเพราะกำลังสนุก น่าติดตามอยู่เลย แต่มาจบการแสดงเสียก่อน เสียดาย” ผมสังเกตเห็นท่านผู้ชมกลุ่มนี้ ให้กำลังใจนักแสดงตั้งแต่เริ่มทำการแสดงจนถึงจบการแสดงในเวลาเที่ยงคืนกว่าแล้ว เด็ก ๆ นักแสดงก็มีความสุขกับหน้าที่ที่พวกเขาได้แสดงความสามารถกันบนเวทีตลอดเวลา 2 ชั่วโมงครึ่ง เศษ ๆ
          เป็นอีกงานหนึ่งที่ผู้แสดงมีความสุขใจ และท่านผู้ชมก็มีความสุขใจในการรับชมการแสดงเพลงอีแซวบนเวที ความเมตตาที่ท่านผู้ชมในละแวกวัดทองศาลางามมีให้ เป็นประดุจน้ำทิพย์ชโลมใจให้ชื่นฉ่ำไปอีกยาวนาน เสมือนเป็นแรงผลักดันให้มีกำลังใจในการเดินหน้าต่อไปบนถนนแห่งเพลงพื้นบ้านที่มักจะไม่ค่อยมีผู้คนให้ความสนใจมากนัก แต่เป็นมหรสพหรือการแสดงที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นได้เป็นอย่างดีที่สุดอย่างหนึ่ง
หมายเลขบันทึก: 446040เขียนเมื่อ 26 มิถุนายน 2011 19:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 15:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท