กระบวนการสร้างครูที่เพลินกับการพัฒนา (๘) : ภาพของฉัน ภาพของเธอ


 

ตั้งแต่เปิดภาคเรียนมาคุณครูภาษาไทย ชั้น ๖ ก็เข้าสู่กระบวนการของ Lesson Study ตั้งแต่เริ่มใช้วิธีคิดแผนแบบ Open Approach และช่วยกันพัฒนาเพื่อนครูด้วยกระบวนการ Lesson Study

 

แผนการจัดการเรียนรู้ครั้งนี้เป็นแผนลำดับที่ ๘ แล้ว ซึ่งพวกเราทั้ง ๓ คน ได้แก่ครูอ้อ ครูนัท และครูก้อย หวังว่าเมื่อจบคาบเรียนนี้แล้วนักเรียนจะเกิดความเข้าใจว่า ภาษาก่อให้เกิดจินตนาการได้หลากหลาย และยิ่งใช้ภาษาที่สละสลวย ชัดเจนเพียงใดก็ยิ่งก่อให้เกิดภาพจินตนาการมากขึ้นเท่านั้น และยังอาจจะทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ต่อยอดไปสู่ความลึกซึ้งได้อีกด้วย เช่นเดียวกันกับที่ภาพต่างๆ สามารถก่อให้เกิดถ้อยภาษาได้มากมาย ตามแต่ประสบการณ์หรือความรู้สึกภายในที่เกิดขึ้นในขณะที่ภาพนั้นเข้ามากระทบ

 

การจัดการเรียนรู้ในคาบนี้จึงเป็นฐานให้กับเขียนบรรยายโวหารและพรรณนาโวหาร ที่จะพาไปสู่ความเข้าใจว่าภาษาที่งดงามนั้นสำคัญ และมีคุณค่าอย่างไรต่อไปด้วย

 

กิจกรรมในคาบนี้เริ่มต้นจากการที่เล่านิทานเรื่อง “ตะเกียงหิ่งห้อย” โดยครูจะปิดไฟครูเล่านิทานอยู่ข้างๆ ตะเกียง โดยให้นักเรียนปิดตาลงแล้วตั้งใจฟังนิทานไปด้วยกัน

 

เมื่อฟังจนจบเรื่องแล้วให้นักเรียนทุกคนลืมตาขึ้นแล้วช่วยกันทบทวนนิทานอีกครั้ง แล้วช่วยกันแบ่งเรื่องที่ฟังออกเป็นฉากตามเหตุการณ์สำคัญ แล้วให้นักเรียนเลือกชอล์กสี ซึ่งเป็นสีที่ให้อารมณ์ตรงกับฉากของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเรื่อง โดยให้ฉากที่ ๑ – ๒ ใช้สีเดียวกัน ส่วนฉากที่๓ – ๖ ให้นักเรียนเลือกตามที่แต่ละคนตีความ

 

เมื่อนักเรียนเริ่มระบายสีภาพของตนเองลงบนกระดาษสีดำ ในขณะที่ครูพูดทวนตั้งแต่ฉากแรกหิ่งห้อยพากันบินไปแดนแห่งดวงดาว จนถึงฉากสุดท้าย ที่หนุงหนิงและหิ่งห้อยที่เหลือช่วยกันกะพริบแสงนำทางพาเด็กน้อยทั้งสองกลับบ้าน

 

ครูให้นักเรียนมองภาพที่เกิดขึ้นแล้วปล่อยช่วงเวลาให้นักเรียนได้ตกผลึกความคิด ความรู้สึก จินตนาการว่าภาพที่นักเรียนระบายสีนั้นก่อให้เกิดความรู้สึกใดบ้างและทำให้เกิดจินตนาการถึงอะไร แล้วให้นักเรียนเลือกสีที่ชอบเพื่อเน้นภาพของตนให้เห็นจุดเด่น โดยใช้สีใดก็ได้

 

ผลงานที่เกิดขึ้นมีทั้งการใช้สีตามจินตนาการความรู้สึก  การใช้สีเน้นจากจุดเด่นต่างๆ  เพื่อให้ภาพเกิดมิติและรูปร่างชัดเจนมากขึ้น  และการใช้สีวาดรูปทรงใหม่เพิ่มเติมลงไป และระบายสีจุดที่เด่นอยู่แล้วให้ชัดขึ้น

 

จากนั้นจึงให้นักเรียนนั่งพิจารณาภาพของตนเอง แล้วเขียนความรู้สึก จินตนาการแรกที่เกิดขึ้นจากการมองภาพนั้น โดยครูแนะนำให้นักเรียนใช้ภาษาที่สละสลวย และสื่อความได้ตรงใจ มีความหมายที่ดี  สังเกตว่านักเรียนแต่ละคนตั้งใจทำงานมาก แม้กระทั่งนักเรียนที่ปกติแล้วจะไม่ค่อยชอบการเขียนนักก็ตาม

 

เมื่อเขียนถึง “ภาพของฉัน” เสร็จเรียบร้อยแล้วครูให้นักเรียนถือภาพของตนเอง เดินไปทั่วห้องพร้อม ๆ กัน เมื่อครูเคาะระฆังแห่งสติ ให้นักเรียนหยุดเดินแล้วหันไปหาคนที่ใกล้ที่สุดแล้วแลกภาพกัน ก่อนที่จะแลกภาพกับเพื่อนให้พูดขออนุญาตเจ้าของภาพพร้อมกันว่า “ฉันขออนุญาตใช้ภาพของเธอเป็นแรงบันดาลใจในการเขียน” เมื่อแลกภาพกันแล้วทั้งคู่ก็พูดพร้อมกันว่า “ฉันยินดี ที่ภาพของฉันจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับเธอ”

 

จากนั้นก็มาเขียนถึง “ภาพของเธอ” ที่เริ่มจากการพิจารณาภาพที่ได้รับมาจากเพื่อนแล้วเขียนความรู้สึก จากจินตนาการแรกที่เกิดขึ้นจากการมองภาพของเพื่อน ซึ่งครูแนะนำให้นักเรียนใช้ภาษาที่สละสลวย มีความหมาย  สื่อความได้ตรงใจเช่นเดียวกันตอนที่เขียนถึงภาพตนเอง

 

ในช่วงนี้นักเรียนทุกคนก็ตั้งใจเขียนมากเช่นเดิม บางคนเขียนสั้นมากในตอนแรก แต่ก็กลับมามองภาพใหม่แล้วเขียนเพิ่มเติมลงไปอีกในตอนหลังเมื่อเริ่มเห็นเพื่อนข้างๆ เขียนให้เพื่อนคนอื่นยาวๆ  รู้สึกได้ว่านักเรียนใส่ใจกันและอยากจะเขียนถึงงานของพื่อนให้ดีที่สุด

 

เสร็จเรียบร้อยแล้วครูให้นักเรียนทุกคนลุกขึ้นยืน แล้วเดินไปหาคู่ของตนเอง แล้วพูดพร้อมกันว่า “ขอบคุณสำหรับแรงบันดาลใจที่ยอดเยี่ยมจากเธอ” จากนั้นให้คืนภาพพร้อมทั้งข้อเขียนให้กับเจ้าของภาพ สังเกตเห็นว่าบรรยากาศช่วงนี้ความเขินอายเริ่มน้อยลง ทุกคนยิ้มให้กันในขณะที่พูดขอบคุณ เป็นบรรยากาศที่น่าประทับใจมาก

ในช่วงเวลาของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ครูให้เจ้าของภาพทุกคนอ่านข้อเขียนทั้งสองแผ่นที่ได้จากการเขียนถึงภาพของตัวเอง และที่เพื่อนเขียนถึงภาพของเรา

 

 “น่าแปลกนะคะครูเราฟังเรื่องเดียวกันแต่วาดออกมาเป็นคนละภาพกันเลย”

 “เราดูภาพเดียวกันแต่ก็เขียนออกมาเป็นคนละเรื่อง”

 “หนูรู้สึกดีเมื่ออ่านจากที่เพื่อนเขียนให้ เพราะทำให้หนูรู้ว่าเพื่อนเข้าใจภาพที่หนูวาดอย่างที่หนูต้องการจะสื่อ”

“รู้สึกดีที่เพื่อนมองเห็นสิ่งที่ผมมองไม่เห็นในภาพของตัวเอง เพราะผมเห็นแล้วรู้สึกถึงความเหงา แต่เพื่อนเขียนบอกว่าเขาเห็นสีสันและความสนุก”

 “มันเจ๋งนะครับ คือผมเห็นแค่ว่าภาพผมสวยงามเหมือนพลุมีสีสันมากมาย แต่เพื่อนผมบอกว่าภาพของผมจุดประกายให้แก่คนที่มอง และจะทำให้คนมองทำในสิ่งที่ถูกต้องอยู่เสมอ”

 

เมื่อจบคาบเรียนคุณครูก็มานั่งชื่นชมกับผลงานของนักเรียนทั้งงานศิลปะและงานเขียนพร้อมทั้งมาช่วยกัน แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดกระบวนการของครูนัท ชื่นชมในสิ่งที่ครูนัททำได้ดีในคาบนี้ และช่วยกันเสนอแนะวิธีปรับแก้ข้อติดขัดที่ยังมีอยู่เพื่อให้ครูนัทได้นำไปปรับในการจัดการเรียนรู้ครั้งต่อไป

 

วันนี้นักเรียนหลายคนเขินอายที่จะพูดกับเพื่อนด้วยถ้อยคำที่ครูกำหนด นั่นอาจเพราะพวกเขายังไม่คุ้นเคยกับวิธีการพูดชื่นชมด้วยสำนวนภาษาที่สุภาพเช่นนั้น แต่ครูก็สังเกตว่านักเรียนทุกคนยิ้มแล้วพูดออกมาด้วยแววตายินดี ทำให้ครูรู้สึกว่าหากเราหมั่นให้นักเรียนได้พูดกันอย่างให้เกียรติ สุภาพ จริงใจบ่อยๆ แม้จะขัดเขินไปบ้างแต่ก็ก่อให้เกิดความรู้สึกดีด้วยกันทุกฝ่าย และการมองเชิงบวกนี้ยังส่งผลต่อทัศนคติที่มีต่อชิ้นงานของเพื่อนด้วย

 

แต่เหนือสิ่งอื่นใดในการจัดการเรียนรู้คาบนี้นอกจากจะทำให้นักเรียนได้เรียนรู้ทางภาษาแล้วก็ยังทำให้นักเรียนได้เรียนรู้ในมิติอื่นๆ ทั้งการให้ความเคารพกันเมื่อต้องเข้าไปเกี่ยวพันกับงานของผู้อื่น การยอมรับฟังความคิดของผู้อื่นในมุมที่ต่างจากตัวเอง การได้ภาคภูมิใจกับงานของตนและจากคำชื่นชมของผู้อื่น  แม้กระทั่งตัวครูเองทั้งคนที่รับหน้าที่จัดการเรียนรู้และคนสังเกตการณ์ก็ได้เกิดการเรียนรู้ที่นอกเหนือจากความสามารถในการทำงานที่จะพัฒนาไปด้วยแต่ยังได้เห็นในมิติของชีวิตของกันและกันมากขึ้นด้วย จึงทำให้รู้สึกว่าเวลาหนึ่งชั่วโมงสามสิบนาทีนี้เราได้อะไรมากกว่าการได้สอนภาษาไทย

 

 

หมายเลขบันทึก: 444994เขียนเมื่อ 20 มิถุนายน 2011 11:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ชอบจังคิดถึงบรรยากาศเก่าๆที่เคยไปอบรมจิตตปัญญา เคยได้ทำกิจกรรมนี้เหมือนกัน เด็กๆน่ารักดี เสียงสะท้อน ใสๆ บ่งบอกถึงความสนใจใคร่รู้อย่างซื่อๆ ชอบจัง

เป็นบันทึกที่สุดยอดครับ สะท้อนการเรียนรู้ที่ลึกซึ้งและซับซ้อน นักเรียนได้ฝึก 21st Century Skills

วิจารณ์

ขอบพระคุณค่ะอาจารย์ คุณครูทุกคนพยายามอย่างดีที่สุดที่สร้างการเรียนรู้ที่ทั้ง "สอนคน สอนวิชา" และสอนให้เขามีทักษะชีวิตเพียงพอที่จะเติบโตเป็นคนคุณภาพของศตวรรษที่ 21

การจัดการเรียนรู้ในรูปแบบนี้ คุณครูได้รับต้นเค้าความคิดมาจากการพาคุณครูไปเข้าร่วมอบรมในโครงการ ATT 2011 ตามแนวทางการศึกษาของวอลดอร์ฟค่ะ เมื่อเติมมิติด้านภาษา และด้านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเข้าไป ก็ปรากฏผลดังบันทึกนี้ค่ะ

ครูใหม่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท