“พอเพียง พอกิน พอใช้” ใต้ร่มพระบารมี


เราควรที่จะภาคภูมิใจในความเป็นเอกราชของชาติไทย ที่บรรพบุรุษผู้กล้าของเราได้เสียสละเลือดเนื้อเพื่อปกป้องไว้ให้เราอันยากจะหาชาติใดเทียบทานได้ หากเราซาบซึ้งและภาคภูมิใจแล้วเรามาร่วมใจกันรู้รักสามัคคี เลิกทะเลาะกัน และใช้ชีวิตอย่าง “พอเพียง” ตามพระราชดำรัสของในหลวงที่ให้ไว้ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ให้ทั้งสองพระองค์ได้ทรงชื่นพระราชหฤทัย และทรงพระเกษมสำราญยิ่งยืนนาน

ผมเขียนบทความนี้เพียงเพื่อทดลองเขียน และส่งให้เพื่อนหลายคนอ่าน ซึ่งส่วนใหญ่ก็ชมว่าผมเขียนพอใช้ได้... ซึ่งเบื้อหลังของการเขียนบทความนี้ ผมยังไม่เคยบอกใครว่าผมมีแรงบันดาลใจจากการดู และอ่านสื่อต่าง ๆ ซึ่งบรรยายถึงพระราชกรณียกิจของ ในหลวง.... ประกอบกับการได้ดูได้เห็นความขัดแย้งในสังคมไทย ที่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย แบ่งสี แบ่งเสื้อ  ซึ่งที่ผ่านมาผมมิได้นำบทความไปไปเผยแพร่แต่อย่างใด จนมาค้นพบ "GotoKnow" ผมจึงอยากเอามาแลกเปลี่ยน เพื่อลุง ป้า น้า อา พี่ๆ น้องๆ ได้อ่านกัน (แม้มันจะเขียนไว้นานแล้วก็ตาม)

 

           ภายใต้โลกกลม ๆ ที่เราอาศัยอยู่นี้มีหลายสิ่งอย่างที่มนุษย์สร้างขึ้น  และเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ          ซึ่งบางอย่างเป็นไปอย่างน่ามหัศจรรย์ยิ่ง  เช่น มีมืด - มีสว่าง มีดำ - มีขาว มีหนาว - มีร้อน มีแข็ง - มีอ่อน มีดี - มีชั่วฯลฯ แต่อีกหลายอย่างที่ธรรมชาติมิได้สร้างขึ้น หากแต่มนุษย์เป็นผู้สร้างขึ้นมาซึ่งบางอย่างจับต้องได้  บางอย่างจับต้องไม่ได้  บางอย่างสร้างได้ดี  บางอย่างสร้างได้ไม่ดี

 

           เมื่อกล่าวมาถึงตอนนี้คงมีหลายคนเกิดคำถาม และสงสัยว่า  แล้วที่มนุษย์สร้างสิ่งที่จับต้องได้  คืออะไร? และอะไรคือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นแล้วจับต้องไม่ได้ ? คำตอบง่าย ๆ ก็คือ อารมณ์ความรู้สึกที่บ่งบอกความสุข - ทุกข์ คือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นและไม่สามารถจับต้องได้ (เพราะอารมณ์โกรธ ดีใจ เสียใจ ล้วงเกิดจากตัวทำ) ส่วนสิ่งที่จับต้องได้คงไม่ต้องอธิบาย  เพราะเชื่อว่ารู้กันดีอยู่แล้ว             แต่ก็มีคำถามต่อไปอีกว่าแล้วทำไมบางคนจึงดูมีหน้าตาอิ่มเอิบเต็มไปด้วยความสุข  ทั้งที่อยู่ในครอบครัวที่ยากจนข้นแค้น ในทางกลับกันทำไมบางคนดูมีทุกข์หนักหนา ทั้งที่ขับรถยี่ห้อหรูหราสั่งตรงจากยุโรป และใช้ชีวิตวัน ๆ อยู่ในคฤหาสน์หลังใหญ่ ทั้งหมดนี้เป็นเพราะความไม่มีสมดุลในใจของมนุษย์ สมดุลที่หมายถึงความพอดี ที่แม้จะสะกดง่าย ๆ สั้น ๆ แต่ก็ยากนักที่มนุษย์จะรับรู้ เพราะมนุษย์อยู่ได้ด้วยความหวัง อยู่ได้ด้วยความทะเยอทะยาน ชอบความเหนือกว่า ชอบการแข่งขัน ชอบการชนะ จนบางครั้งมนุษย์ต้องการชนะแม้กระทั่งธรรมชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตน เช่นนี้มนุษย์จึงหาความสุข และความพอดีในใจได้ยาก

 

           หลายปีที่ผ่านมาคนไทย และคนทั่วโลก เริ่มได้ยินได้ฟังและเรียนรู้ถึงความพอดี และความสุข  ภายใต้คำกล่าวสั้น ๆ ว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งเป็นพระราชดำหริ และพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พ่อหลวงของปวงชนชาวไทย จนเป็นที่มาของ ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง มีการเผยแพร่ออกมาเป็นสื่อในรูปแบบต่าง ๆ มากมาย ทั้งหนังสือ สารคดี หน้าหนังสือพิมพ์ และโทรทัศน์ ไม่เว้นแม้แต่รัฐบาลไทยที่น้อมนำปรัชญานี้มากำหนดเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่  8  และ  ต่อเนื่องมาจน  แผน  9  และ  แผน  10  ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อมุ่งหวังให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตอย่างมั่นคง สามารถพึ่งพาตัวเอง และเกิดความทัดเทียมกับนานาประเทศ ภายใต้ภาวะวิกฤตโลกซึ่งเต็มไปด้วยการแข่งขัน

 

           ทุกวันนี้ทฤษฏีเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากเป็นที่รู้จักและยินดีของปวงชนชาวไทยแล้ว ยังเป็นที่ประจักษ์ของชาวต่างชาติต่างภาษาที่ให้ความสนใจเรียนรู้ และชื่นชมในพระปรีชาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ตลอดจนนำไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นจำนวนมาก เพราะคนเหล่านั้นเห็นความจริงว่า ภายใต้ภาวะวิกฤตโลกในขณะนี้ การใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย และเป็นอยู่อย่างพอเพียง  คือวิธีการปฏิบัติตัวที่ดีที่สุด เพราะความหมายของเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำรัส มิได้หมายความเพียงคำว่า “พอเพียง” เท่านั้นหากแต่มีความหมายลึกซึ้งไปถึงการใช้ชีวิตตามแนวทางสายกลาง ( มัชฌิมาปฏิปทา ) ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า   กล่าวคือ ให้มีความพอประมาณ คือ รู้จักความพอดีในฐานะหรือรายได้ขอตนเองไม่ใช้จ่ายเกินฐานะ ให้มีเหตุมีผล คือ ให้รู้จักใช้เหตุผลในการตัดสินใจใด ๆ และให้สร้างระบบภูมิคุ้มกันตน จากผลกระทบใด  ๆ  อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอก และภายใน นอกจากนั้นพระองค์ยังทรง จำแนกเป็นตัวอย่างให้เห็นภาพอย่างชัดเจนว่า หากเรามีที่ทำกิน อยู่  10  ไร่  เราควรแบ่งที่ดินออกเป็น 4 ส่วน  ส่วนที่หนึ่ง 30 เปอร์เซ็นต์  ( ประมาณ 3 ไร่ ) สำหรับขุดสระน้ำไว้เลี้ยงปลา และใช้ในพื้นที่ ส่วนที่สอง 30 เปอร์เซ็นต์ ( ประมาณ 3 ไร่ )  สำหรับทำนาข้าวใช้บริโภคในครัวเรือน  ส่วนที่สาม 30 เปอร์เซ็นต์ ( ประมาณ  3  ไร่ ) ปลูกไม้ผล และไม้ใช้สอย เพื่อเป็นสินทรัพย์ไว้เป็นบำนาญชีวิต ส่วนที่สี่ l0 เปอร์เซ็นต์ ( ประมาณ 1 ไร่ ) ใช้ปลูกสร้างที่อยู่อาศัย  พืชผักสมุนไพร ผักสวนครัว โรงเรือน เลี้ยงเป็ดไก่ ไว้บริโภค และจำหน่ายเมื่อเหลือ ซึ่งหากเราทุกคนกระทำได้ดังนี้ เราจะพบกับผลของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างน่าอัศจรรย์ นั่นคือ การพอมีพอกิน จากพืชผัก  และสัตว์เลี้ยงในที่ดินเรา การพอมีพอใช้  จากรายจ่ายที่ลดลงเนื่องจากเรามีวัตถุดิบบางอย่างเป็นของเรา  และ  การพออกพอใจ  กับการรู้จักประมาณตน ไม่อยากได้ใคร่ดี หลงยึดติดกับวัตถุเหมือนเช่นคนอื่น ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยให้เราลดตัณหา คือ ความอยาก และก่อให้เกิดปัญญาในที่สุด

 

           เมื่อเป็นเช่นนี้ไม่ถึงเวลาแล้วหรือ ที่เราชาวไทยจะตระหนัก และภาคภูมิใจในความเป็นคนไทย ภาคภูมิใจในพระปรีชาสามารถ และพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระผู้เป็นต้นคิด และต้นแบบทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง  พระผู้ทรงห่วงใยพสกนิกรของพระองค์ยิ่งสิ่งใด  และเราควรภาคภูมิใจในความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติในผืนแผ่นดินไทย ที่บรรพชนของเราสู้อุตส่าห์รักษาไว้ให้ ยิ่งไปกว่านั้นเราควรที่จะภาคภูมิใจในความเป็นเอกราชของชาติไทย ที่บรรพบุรุษผู้กล้าของเราได้เสียสละเลือดเนื้อเพื่อปกป้องไว้ให้เราอันยากจะหาชาติใดเทียบทานได้  หากเราซาบซึ้งและภาคภูมิใจแล้วเรามาร่วมใจกันรู้รักสามัคคี  เลิกทะเลาะกัน และใช้ชีวิตอย่าง “พอเพียง”  ตามพระราชดำรัสของในหลวงที่ให้ไว้  เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ให้ทั้งสองพระองค์ได้ทรงชื่นพระราชหฤทัย และทรงพระเกษมสำราญยิ่งยืนนาน เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนม์พรรษา      “5  ธันวามหาราช” ที่จะเวียนมาถึงนี้  ให้พวกเราได้ “พอเพียง  พออยู่  พอกิน”  ใต้ร่มพระบารมี อย่างแท้จริง

******************************

                                                        04/12/52

หมายเลขบันทึก: 444892เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2011 16:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีครับ คุณ Usablelabs, และ อ.นุ. ขอบคุณครับที่แวะมาเยี่ยมชม และให้กำลังใจ

เห็นควรบันทึกเพิ่มเติมนะครับ

ให้ชาวไร่ชาวนาได้อ่านกันมากขึ้น

อาจารย์ยักษ์ทำมานานจนมีเครือข่าย

มีสมาชิกหลายแสนคนแล้ว ครับ

ขอบคุณ อาจารย์ โสภณ เปียสนิท ที่ชี้แนะครับ 

แท้จริงแล้ว ผมเป็นคนชอบเขียนมาแต่ไหนแต่ไร หากแต่ไม่มีประสบการณ์ตรงครับ โดยเฉพาะทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ชอบ และศึกษามาพอสมควร ได้เีพียงแต่หวังครับว่าสักวันหากพอมีเงินเก็บซื้อที่ทางได้สัก 10 ไร่ จะหันหลังให้อาชีพปัจจุบัน แล้วลงมือทำอย่างจริงจังครับ แต่วันนี้ฝันยังไม่เป็นจริง เลยต้องอยู่กับปัจจุบันไปก่อนครับ....

สวัสดีครับ คุณUsablelabs

ขอบคุณครับที่แวะมาให้กำลังใจ และมอบดอกไม้.. 

ดาวพระศุกร์ สาสุนทร

เรารักำในหลวงที่สุด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท