คุณสมบัติของสื่อสารมวลชนตามแนวทางพระพุทธศาสนา


ภาษาเพื่อการสื่อสาร เป็นภาษาที่มนุษย์ใช้สื่อความหมาย ถ่ายทอดข้อมูลข่าวสาร ความคิด อารมณ์ ความรู้สึกระหว่างกัน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ยอมรับ และเข้าใจซึ่งกันและกัน ภาษาที่ใช้ในการสื่อสารแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ วัจนะภาษา และอวัจนะภาษา การสื่อสารมีความสำคัญต่อมนุษย์ทั้งในชีวิตประจำวัน ด้านสังคม ด้านธุรกิจอุตสาหกรรม ด้านการเมืองการปกครอง และด้านการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งการสื่อสารมีองค์ประกอบ ๗ องค์ประกอบคือ ผู้ส่งสาร สาร ช่องทางการสื่อสาร ผู้รับสาร ผลและปฏิกิริยาตอบสนอง

คุณสมบัติของสื่อสารมวลชนตามแนวทางพระพุทธศาสนา

 

 

            ในช่วงเวลาห้าหกปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า เป็นโลกของการสื่อสาร คือ การรับข่าวสาร เป็นไปด้วยความรวดเร็ว ทันใจ และทันสมัย ไม่ว่าจะเป็นข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์  และ จาก Web Site ต่าง ๆ  เสนอข่าวความเคลื่อนไหวของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้อย่างต่อเนื่อง อย่างไร ก็ตามก็ขอให้การรับข่าวสารหรือบริโภคข่าวต่าง ๆ  จงเป็นไปด้วยการใช้วิจารณญาณ  ควรใช้ตรรกะในการพิจารณาแต่ละเรื่อง  ในส่วนของผู้นำเสนอข่าวสาร ต่อสาธารณะชนหรือในนามสื่อสารมวลชนนั้น จะต้องมีจรรยาบรรณของวิชาชีพเป็นหลักสำคัญในการนำเสนอข่าวแต่ละครั้ง ในทางพระพุทธศาสนา ได้กล่าวถึงคุณสมบัติของสื่อสารมวลชนไว้ว่า จะต้องประกอบไปด้วยหลัก ๕ ประการคือ[๑]

๑.      สัจจะ ได้แก่ เรื่องที่จะเสนอต่อมวลชนนั้น ต้องเป็นเรื่องจริง เสนอหรือส่งสารตามความเป็นจริง ไม่บิดเบือน

๒.     ตถตา ได้แก่ เรื่องแท้ เรื่องที่เสนอหรือส่งสารนั้นต้องเป็นเรื่องแท้ เสนอตามสภาพที่แท้จริงไม่คาดเดา ไม่แต่งแต้มใส่สี ใส่ไข่

๓.     กาละ ได้แก่ เรื่องที่เสนอนั้นต้องเหมาะสมกับกาลเวลา

๔.     ปิยะ ได้แก่เรื่องที่เสนอนั้นเป็นเรื่องที่คนชอบ หรือเสนอโดยวิธีที่ผู้รับสารชื่นชอบ

๕.     อัตถะ ได้แก่ เรื่องที่เสนอหรือส่งสารนั้นต้องเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม แต่ในบางครั้งบางสถานการณ์ ผู้ส่งสารอาจต้องต้องพิจารณาด้วยปัญญาว่า บางเรื่องอาจไม่เหมาะสมกับเวลา อาจจะไม่เป็นที่ชอบใจของคนบางกลุ่มบางคน แต่เมื่อเสนอเรื่องนั้นไปแล้วเกิดประโยชน์ต่อมหาชน ผู้ส่งสาร อาจจะต้องกระทำ หรือควรกระทำ

คุณสมบัติของสื่อสารมวลชนตามแนวทางพระพุทธศาสนา อีกประการหนึ่ง จะต้องประกอบไปด้วยหลัก สัปปุริสธรรม ๗ ประการคือ[๒]

๑.      มี ธัมมัญญุตา เป็นผู้รู้ธรรมะ คือหลักการ หลักความจริง เนื้อหาสาระของเรื่องที่จะสื่อสาร รู้แจ้งแทงตลอดไนทฤษฎีและปฏิบัติในศาสตร์และศิลป์ของตนเอง

๒.     มี อัตถัญญุตา รู้จักเนื้อหาสาร ความหมาย ความมุ่งหมาย วัตถุประสงค์ของการสื่อสารที่แน่นอนชัดเจน

๓.     มี อัตตัญญุตา รู้จักตนเอง รู้ว่าตนคือใคร มีความพร้อมหรือไม่พร้อมอย่างไร การรู้จักตนเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เมื่อเรารู้จักตนเองดีแล้ว จะนำไปสู่การยอมรับตนแล้วจะเปิดเผยตน สามารถสื่อสารภายในตนได้อย่างดียิ่งผู้สามารถสื่อสารภายในได้ดีจะเป็นคนที่สามารถรับรู้ วิเคราะห์สังเคราะห์ และมีวิจารณญาณที่สุขุมรอบคอบ มีเหตุมีผลทำให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพยิ่ง

๔.     มี มัตตัญญุตา รู้จักประมาณ รู้จักความพอดี การสื่อสารบางอย่างหากมากเกินไป ผู้รับสารก็รับไม่ได้ หากน้อยเกินไปก็ไม่เพียงพอ การรู้จักประมาณในการสื่อสารคือไม่ส่งสารซ้ำซากมากเกินไป น้อยเกินไป จึงเป็นคุณสมบัติประการสำคัญอีกประการหนึ่งของผู้ส่งสาร

๕.     มี กาลัญญุตา รู้จักเวลา ผู้ส่งสารต้องรู้จักเวลาในการสื่อสารว่าเวลาไหนควรเวลาไหนไม่ควร หากผู้ส่งสารไม่รู้จักเวลาในการสื่อสารแม้ว่าจะเป็นการสื่อสารภายในตน การสื่อสารระหว่างบุคคล หรือการสื่อสารมวลชน นอกจากการสื่อสารนั้นจะไม่ประสบความสำเร็จแล้วบางทียังอาจมีเรื่องมีราวตามมาด้วย หากเราย้อนดูประวัติศาสตร์ แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ดัง ๆ ของโลกยังต้องได้รับโทษจากการประกาศสัจธรรมในเวลาที่ไม่เหมาะสม

ในทางธุรกิจการสื่อสารมวลชนจึงต้องแบ่งเวลาในการสื่อสารออกเป็นช่วง ๆ เวลาดี ๆ ขายเป็นเงินเป็นทองมหาศาล เวลาดีที่สุดเรียกว่า Prime time หรือ Peak time เป็นเวลาที่มีผู้รับสารมากที่สุด ราคาโฆษณาในช่วงเวลานี้จึงแพงกว่าช่วงเวลาอื่น ๆ การรู้จักเวลาจึงเป็นคุณสมบัติสำคัญอีกประการหนึ่งของผู้ส่งสาร

๖.      ปริสัญญุตา รู้จักชุมชน รู้จักสังคม ในทางนิเทศศาสตร์ เรียกว่า กลุ่มผู้รับสาร เป้าหมาย ผู้ส่งสารต้องรู้จักกลุ่มเป้าหมาย การสื่อสารจึงจะประสบความสำเร็จยิ่งรู้จักมากเท่าไร การสื่อสารยิ่งจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น พระพุทธเจ้าเผยแพร่ธรรมะของพระองค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นเพราะว่าพระองค์ทรงรอบรู้ผู้รับสารอย่างรู้แจ้งแทงตลอดทรงรู้ไปถึง ภูมิหลังหรือกรรมเก่าตั้งแต่ชาติก่อนของผู้รับสาร ผู้ส่งสารที่เป็นปุถุชนธรรมดาก็มีความจำเป็นต้องรู้จักกลุ่มเป้าหมายว่าเป็นใคร ต้องรู้จักเพศ อายุ การศึกษา สถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นต้น ยิ่งรู้จักกลุ่มเป้าหมายมาก การสื่อสารยิ่งมีประสิทธิภาพมาก ปริสัญญุตา จึงเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นอีกข้อหนึ่งของผู้ส่งสาร

๗.     มี ปุคคลปโรปรัญญุตา รู้จักความแตกต่างระหว่างบุคคล ว่าผู้รับสารแต่ละคน แต่ละกลุ่มมีลักษณะจำเพาะเป็นของตนเอง มีจริตมีอัธยาศัย มีศักยภาพในการับสารมากน้อยแค่ไหนเพียงใด การที่ผู้รับสารรู้ความแตกต่างระหว่างบุคคลได้นั้นทำให้สามารถแยกแยะ ผู้รับสารได้กลุ่มผู้รับสารเป้าหมายทางตะวันตกแยกไว้ว่ามี ๕ กลุ่มคือ กลุ่มที่เห็นด้วยอย่างยิ่งกลุ่มที่เห็นด้วย กลุ่มเป็นกลาง และกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง

ถึงอย่างไรก็ตาม หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาจะกล่าวถึงคุณสมบัติของผู้เสนอข่าวสารหรือสื่อสารมวลชน ควรจะปฏิบัติอย่างไร ต่อการเสนอข่าวสารดังกล่าว แต่ขณะเดียวกันก็ได้เสนอกลุ่มเป้าหมายในการรับสารไว้ ๔ กลุ่ม หรือ ที่เปรียบเสมือนบัว ๔ เหล่า ได้แก่ [๓]

๑.      กลุ่มบัวพ้นน้ำ เมื่อได้รับแสงอาทิตย์จะแย้มบานทันที กลุ่มนี้เปรียบเสมือนผู้มีปัญญาเฉียบแหลมมีการศึกษาดีแล้ว ไม่ต้องการเนื้อหาหรือการอธิบายอะไรมากมายเพียงแต่ให้หัวข้อธรรมะก็สามารถรู้ได้ เช่น พระสารีบุตร สาวกผู้เป็นเลิศทางปัญญาของพระพุทธเจ้าเพียงได้รับคำบอกเล่าจากพระอัสสชิ สาวกองค์ที่ ๕ ของพระพุทธเจ้าว่า “พระพุทธเจ้าทรงสอนเหตุธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุ จะเกิดจะดับก็ที่เหตุ” เพียงแค่นี้พระสารีบุตรก็เข้าถึงธรรมะแล้ว กลุ่มนี้เพียงได้รับหัวข้อข่าวสารก็สามารถยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้สำเร็จได้เรียกกลุ่มนี้ว่ากลุ่มผู้การเปลี่ยนแปลง หรือ innovators (อุคฆติตัญญู)

๒.     กลุ่มบัวใต้ผิวน้ำ เพียงรอวันจะโผล่พ้นน้ำขึ้นมารับแสงอรุณแล้วแย้มบานในวันรุ่งขึ้น เปรียบเสมือนผู้มีปัญญามากอยู่แล้วให้ข้อมูลข่าวสารเพียงเล็กน้อยก็จะเข้าใจ ยังประโยชน์ให้สำเร็จได้ กลุ่มนี้เรียกว่ากลุ่มประยุกต์ หรือ adaptors (วิปจิตัญญู)

๓.     กลุ่มบัวที่จมอยู่กลางน้ำ โอกาสที่จะโผล่ขึ้นมาพ้นน้ำเพื่อรับแสงอรุณแล้ว แย้มบาน กับการที่ปลา เต่า กัดกินเป็นอาหารมีเท่า ๆ  กัน เปรียบเหมือนกลุ่มคนที่มีเชาว์ปัญญาปานกลาง หากประคับประคองดีๆ  โอกาสจะประสบความสำเร็จในชีวิตก็มีมาก การสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายกลุ่มนี้ ต้องละเอียดอ่อน เนื้อต้องตรงประเด็นชัดเจนและถูกต้องเพราะกลุ่มนี้ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงอะไรง่าย ๆ เรียกกลุ่มนี้ว่ากลุ่มอนุรักษ์ หรือ conservators (เนยยะ)

๔.     กลุ่มบัวในโคลนตม คือ บัวที่ยังเป็นหน่อยังไม่โผล่พ้นโคลนตมขึ้นมาโอกาสที่จะเป็นอาหารของเต่าของปลามีมากที่สุดเปรียบเสมือนกลุ่มผู้รับสารที่มีปัญญาทึบห่อหุ้มด้วยอวิชชา คือ ความไม่รู้แจ้ง การสื่อสารกับกลุ่มนี้ ผู้ส่งสารต้องออกแรงมากจึงจะประสบความสำเร็จ หรือบางครั้งอาจต้องเลิกรากันไปเฉย ๆ  พระพุทธเจ้าทรงใช้ญาณพิเศษทราบถึงภูมิหลังตั้งแต่อดีตชาติ จึงช่วยกลุ่มนี้ให้บรรลุธรรมะได้ เพราะกลุ่มนี้เป็นกลุ่ม ปทปรมะ ผู้มืดมนอย่างยิ่ง เรียกว่า  laggards พวกหัวโบราณที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงอะไรง่าย ๆ  หรือไม่ยอมเปลี่ยนแปลงเลย (ปทปรมะ)

นอกจากนี้ ผู้รับสารที่พึงประสงค์โดยเฉพาะในยุคข่าวสารใหลบ่ามาจากสารทิศมากมายเช่นนี้ จะต้องมีคุณสมบัติหรือความสามารถในการแยกแยะข้อข่าวสารว่าอะไรควรเชื่อ อะไรไม่ควรเชื่อและควรมีคุณสมบัติเพิ่มเติมตามแนวทางแห่ง กาลามสูตร ซึ่งส่งเสริมให้บุคคลใช้เหตุผลและความคิดอิสระในการตัดสินปัญหาต่าง ๆ  กาลามสูตร ที่ผู้รับสารจะพึงมีได้แก่ [๔]

                   ๑. มา  อนุสสเวน         อย่าเชื่อโดยฟังตามกันมา

                   ๒. มา  ปรัมปรายะ        อย่าเชื่อโดยทำสืบกันมา

                   ๓. มา  อิติกิรายะ           อย่าเชื่อโดยตื่นข่าวลือ

                   ๔. มา  ปิฎกสัมปทาเนนะ  อย่าเชื่อเพราะอ้างตำรา

                   ๕. มา  ตักกะเหตุ           อย่าเชื่อโดยนึกเดา

                   ๖. มา   นะยะเหตุ          อย่าเชื่อโดยคาดคะเน

                   ๗. มา  อาการปริวิตักเกนะ อย่าเชื่อโดยตรึกตรองตามอาการ

                   ๘. มา ทิฎฐินิชฌานักขันติยา อย่าเชื่อโดยพอใจว่าตรงกับความเห็นของตน

                   ๙. มา   ภัพพะรูปะตายะ  อย่าเชื่อเพราะเห็นว่าผู้พูดควรเชื่อถือได้

                   ๑๐. มา  สมโณ   โน  ครูติ  อย่าเชื่อเราะเห็นว่าสมณะนี้เป็นครูเราแต่ให้สอบสวนจนรู้ได้ด้วยตนเองเสียก่อนจึงเชื่อ

          กล่าวโดยสรุป การสื่อสาร เป็นการนำเรื่องราวต่าง ๆ  ที่เป็นข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็น หรือความรู้สึก ให้ไปถึงจุดมุ่งหมายปลายทางที่ต้องการ  จนทำให้เกิดการกำหนดรู้ความหมายของเรื่องราวนั้นร่วมกันได้โดยอาศัยเครื่องนำไปโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง ภาษาเพื่อการสื่อสาร เป็นภาษาที่มนุษย์ใช้สื่อความหมาย ถ่ายทอดข้อมูลข่าวสาร ความคิด  อารมณ์ ความรู้สึกระหว่างกัน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ยอมรับ และเข้าใจซึ่งกันและกัน ภาษาที่ใช้ในการสื่อสารแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ  วัจนะภาษา  และอวัจนะภาษา  การสื่อสารมีความสำคัญต่อมนุษย์ทั้งในชีวิตประจำวัน ด้านสังคม ด้านธุรกิจอุตสาหกรรม  ด้านการเมืองการปกครอง และด้านการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งการสื่อสารมีองค์ประกอบ  ๗ องค์ประกอบคือ ผู้ส่งสาร  สาร  ช่องทางการสื่อสาร ผู้รับสาร ผลและปฏิกิริยาตอบสนอง

 

 



[๑] ชัยวัฒน์  อัตพัฒน์, หลักพุทธศาสนา, (กรุงเทพฯ : คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ๒๕๒๓) หน้า ๑๖๕ – ๑๖๖.

[๒] องฺ.สตฺต. (ไทย) ๒๓/๖๘/๑๔๓.

[๓] สุวัฒน์  จันทร์จำนง, ความเชื่อของมนุษย์เกี่ยวกับปรัชญาและศาสนา, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, ๒๕๔๐ ) หน้า ๓๑๕.

[๔] องฺ เอกก. (ไทย) ๒๐/๖๖/๒๕๗.

หมายเลขบันทึก: 444414เขียนเมื่อ 17 มิถุนายน 2011 14:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ถ้าผมขอนำข้อความเหล่านี้ไปทำรายงานบ้างอาจารย์คงไม่ว่ากันนะครับ ขอไว้ ณ ที่นี้เลยแล้วผมจะอ้างอิงว่าอาจารย์เป็นผู้จักทำอย่างแน่นอน ด้วยความเคารพ

ตรงกับอาชีพที่ผมทำอยู่เลย เป็นข้อมูลที่ทำให้มีสติความรับผิดชอบกับการนำเสนอข้อมูลข่าวสารเป็นอย่างมาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท