ผักหวานพูดได้ (เสียงผักหวานป่าในธรรมชาติ)


ผลกระทบจากความหลากหลายของวิธีปลูกผักหวานป่า

 

      "อุฑยานผักหวานป่า'๔๔"   นายโอภาส ไชยจันทร์ดี นางศศิธร  ไชยจันทร์ดี บ้านเลขที่ 51 หมู่7 ตำบลกุดน้ำใส อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เป็นต้นแบบของทรัพย์สินทางปัญญาสูตรวิธีปลูกผักหวานป่ากับตะขบ (ภายใต้ร่มเงา)


         ก่อนที่เราจะไปเรียนรู้สูตรวิธีปลูกผักหวานป่า, รายละเอียดความเป็นมาของอุฑยานผักหวานป่า'๔๔, ศรัทธาและแรงบันดาลใจ, อุปสรรคปัญหารวมถึงเรื่องราวต่างๆมากมาย ตลอดระยะเวลา 14 ปี ที่ดิฉันได้เข้ามาร่วม (ชีวิต) ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับพืชที่มีชื่อว่า ผักหวานป่า (พืชธรรมดาที่ไม่ธรรมดา) โดยเฉพาะในภาคปฏิบัติที่ทดสอบ-ทดลอง (ค้นคว้าวิจัย) กว่าจะมาถึงคำตอบสุดท้าย (ประหยัดที่สุด) ณ วันนี้ได้

   **โปรดติดตามอ่านบทความฉบับต่อไปค่ะ**

 

    ข้อมูลดังต่อไปนี้เป็นอีกเรื่องราวหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้วิธีปลูกผักหวานป่าเช่นเดียวกัน ซึ่งดิฉันกับคุณโอภาส ไชยจันทร์ดี อยากจะถ่ายทอดประสบการณ์และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อคิดมุมมองกับท่านผู้อ่านที่มีใจรักผักหวานป่า-รักษ์ป่า เรื่องราวต่างๆที่ถ่ายทอดในเนื้อหาบทความนี้มาจากประสบการณ์ในการค้นหาสูตรวิธีปลูกผักหวานป่า โดยมีธรรมชาติป่า-ภูเขาเป็นทั้งครูและห้องเรียน ได้มีโอกาสไปตามหาต้นผักหวานป่า-เมล็ดพันธุ์ผักหวานป่าตามป่าเขาของจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะภาคเหนือ (ตาก-สุโขทัย-กำแพงเพชร ฯลฯ) และทางภาคอีสาน (ขอนแก่น-ชัยภูมิ-หนองบัวลำภู-สกลนคร-หนองคาย ฯลฯ) และได้ติดต่อทางโทรศัพท์จากญาติ-คนรู้จักอยู่ในจังหวัดโซนพื้นที่ที่มีผักหวานป่า เช่น เชียงใหม่ เชียงราย น่าน แพร่ พะเยา เลย ฯลฯ เพื่อเก็บข้อมูลของผักหวานป่า

 

...ช่วยหนูด้วย! ขุดหนูมาทำไม? เสียงผักหวานป่าในธรรมชาติ...


ผลกระทบที่เกิดจากควาหลากหลายทางวิธีปลูกผักหวานป่า

1. ขุดต้นโต (รุ่นพ่อ-แม่) โดยการล้อมดินมาปลูก

2. การขุดเอารากผักหวานป่ามาชำ

3. การขุดเอาต้นเล็กๆ (รุ่นลูกที่เกิดจากรากหรือเมล็ด) ให้ได้รากติดมากับต้นให้ยาวที่สุด

    ส่วนมากต้นผักหวานป่าที่ถูกขุดมาปลูกในวิธีการต่างๆ ดังกล่าวเป็นการขุดมาจากธรรมชาติป่า-ภูเขา ที่สาธารณะ หรือแม้แต่บางทีก็มีการขโมยขุดจากที่ดินของคนอื่น (เห็นผักหวานแล้วหน้ามืด คิดอย่างเดียวว่าจะต้องนำมาปลูกที่บ้านของตัวเองให้ได้ โดยไม่คำนึงถึงว่าผักหวานที่ขุดมาอยู่ในที่สาธารณประโยชน์หรือแปลงที่ดินของคนอื่นได้คุ้มเสียหรือไม่ คิดอย่างเดียวว่าเผื่อจะปลูกได้) หรือบางคนที่มีทุนกำลังทรัพย์ (เครื่องมือ) ถึงขนาดใช้รถแบล็คโคขุดเอาต้นใหญ่ๆ มาปลูกโชว์ในที่ดินของตนเอง ใหม่ๆ ก็ออกยอดเต็มต้นให้คนที่ทำได้พูดกับใครๆ ว่าตนเองปลูกผักหวานป่าได้แล้ว แต่ความเป็นจริงที่ผักหวานออกยอดเพราะใช้พลังงานในตัวที่มีอยู่ ออกยอด-ผลิใบ เพื่อปรุงอาหารและหายใจแต่สุดท้ายก็ตาย


    ผลกระทบต่างๆ ทั้งหมดเพื่อให้ได้ผักหวานมาปลูก แต่ต้องเอาเปรียบสังคม ผักหวานที่อยู่ตามธรรมชาติ  ซึ่งเป็นสมบัติของส่วนรวม ซึ่งคนรุ่นปัจจุบัน (ควรปลูกจิตสำนึก) ช่วยกันอนุรักษ์ และหวงแหนไว้ให้กับลูกหลาน อนุชนคนรุ่นหลังที่ตามมาเพื่อคงไว้ซึ่งสมบัติของชาติ - ส่วนรวม และเป็นแหล่งอาหารที่ปลอดภัยปราศจากสารพิษ-สารเคมี แต่กลับเป็นผู้ทำลายรากเหง้าของตนเอง (น่าเศร้าใจยิ่งนัก)

    ส่วนมากต้นผักหวานที่ถูกขุดมาปลูกจะตาย (ไม่ตายก็เลี้ยงให้โตยาก) ถามว่าได้ผลแค่ไหน? ตอบได้เลยว่า ผลที่ได้ไม่เกิน 1% ขุดมา 100 ต้น ได้ผล (รอดตาย) 10 ต้น นับว่าเก่ง.. แต่มันคุ้มกันหรือ เราจะต้องสูญเสียต้นผักหวานในธรรมชาติอีกเท่าไหร่ ซึ่งถ้าปล่อยไว้ตามธรรมชาติ ผักหวานยังจะมีโอกาสเจริญเติบโต และขยายพันธุ์ของเขาเอง (งอกตามราก-งอกจากเมล็ด) ตามธรรมชาติของพืช มียอดให้เรานำมาบริโภคและจำหน่าย มีเมล็ดพันธุ์ให้เรานำมาช่วยเขาขยายพันธุ์

 

    แต่ที่ซ้ำร้ายการขุดต้นมาปลูกยังนับว่าทำลายแล้ว!.. การที่ผักหวานตามธรรมชาติป่า-ภูเขาถูกตัดกิ่งก้าน (แขน-ขา) ให้เตี้ยตัดต้นให้ล้มแต่ไม่ให้ขาด (ถึงไม่ตายแต่จะไม่มีเมล็ดอีก) บางต้นเหลือแต่ตอก็มี

 

     การกระทำเหล่านี้เพื่อเป้าหมายคือการเก็บยอดให้สะดวก ง่าย รวดเร็ว แต่ผักหวานที่ถูกตัดนอกจากจะไม่มีเมล็ดอีกแล้ว และอาจตายได้ในที่สุด (แตกยอดออกมาก็ถูกเก็บอยู่เรื่อยๆ พลังงานที่ผักหวานมีเหลืออยู่ ก็แค่แตกยอดออกใบ ปรุงอาหาร หายใจ เพื่อให้มีชีวิตรอด รักษ์เผ่าพันธุ์ของตนเอง โดยการงอกจากรากเป็นต้นลูก แต่ก็ถูกขุดอีก) จากความเห็นแก่ตัวของมนุษย์การกระทำเช่นนี้ไม่ว่าภูเขาลูกไหนๆ วิกฤตของผักหวานป่าที่ถูกกระทำก็เหมือนๆกัน

     เห็นแล้วเศร้าใจ-น่าอนาถใจที่อนาคตอีกไม่นานผักหวานป่าคงจะหมดไปจากธรรมชาติป่า-ภูเขาของประเทศไทย ต้นเล็กๆถูกขุด ต้นใหญ่ก็ทำร้าย อนาคตเมื่อไม่มีต้นเล็กๆ แล้วต้นใหญ่ๆ จะมาจากไหน..


 

     ผลกระทบต่างๆ ที่เกิดจากความหลากหลายทางสูตรปลูกผักหวานป่าที่กล่าวมาในเบื้องต้น  สิ่งที่เห็นได้ชัดคือผลเสียที่มากกว่าได้

     อุฑยานผักหวานป่า'๔๔ ขอวอนฝากผู้ที่อยู่ในวงการผักหวาน และเกษตรกรทุกๆท่าน โปรดจงพิจารณาดูเถิดว่าที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เรากำลังอนุรักษ์ (รักษ์) หรือทำลาย (ฆ่า) ผักหวานป่า ตลอดเวลาไม่มีใครกล่าวหรือเอ่ยถึงต้นผักหวานที่ถูกขุดล้อมดิน ต้นที่ชำราก หรือกิ่งตอนที่มีคนนำมาปลูก ตายไปแล้วเท่าไหร่ ในอีกด้านที่ปลูกไม่ได้ผล ที่ปลูกแล้วตาย (ได้ปลูก-ไม่ใช่ปลูกได้) คนละความหมาย.. ที่ผักหวานป่าตามธรรมชาติป่า-ภูเขา (ทำลาย) มาแล้วไม่รู้กี่ล้านต้น ซึ่งล้วนเป็นทรัพยากร เป็นสมบัติทางสาธารณประโยชน์ของประเทศชาติ-ส่วนรวมของพี่น้องชาวไทยทุกๆคน

 

    จากผลกระทบในทางลบกับผักหวานป่าที่ได้พบเจอกับตัวเอง นับตั้งแต่เริ่มค้นคว้าจนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2531-2554) ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ผักหวานป่าตามธรรมชาติป่า-ภูเขา ถูกเบียดเบียน (รบกวน) ถึงขั้นวิกฤต.. เดือนมิถุนายน 2552 จากการไป "พุทธอุฑยานนิโรธรังสี" จังหวัดหนองคาย ได้พบเห็นต้นผักหวานป่า (รุ่นพ่อ-แม่) ต้นโตๆถูกตัดเหลือแต่ตอ และต้นเล็กๆ (ลูก) รอยถูกขุดบนภูเขาจนพรุน ยิ่งกว่าเม่นยิ่งกว่าตุ่น พอลงมาจากดอย ญาติเล่าให้ฟังว่ามีพ่อค้าสั่งให้ชาวบ้านขุดผักหวานป่า มาชำไว้ให้ จะมารับซื้อ ได้ฟังแล้วเศร้าใจกับอนาคตผักหวานป่าจริงๆ...

 

     ขอเชิญชวนผู้ที่มีความรักความศรัทธาผักหวานป่า พืชในใจหลายๆ คน หันมาปลูกผักหวานป่าด้วยวิธีหยอดโดยเมล็ดและปลูกโดยต้นกล้ากันเถอะ ขอให้ช่วยกันอนุรักษ์ผักหวานป่าตามธรรมชาติที่มีอยู่ให้คงอยู่เช่นเดิม


     มาปลูก-สร้างวัตถุดิบ (กิน-ทาน-ขาย) ไว้ที่บ้าน-สวนของตนเอง อย่าไปรบกวนธรรมชาติป่า-ภูเขาอีกเลย คงเหลือไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาหาความรู้ ขอเชิญพิสูตรวิธีปลูกผักหวานป่าด้วยเมล็ดได้ที่อุฑยานผักหวานป่า'๔๔ 


     บุญ-กุศล-ทานในครั้งนี้ ขอให้คุ้มครองรักษาต้นผักหวานป่าที่อยู่ตามธรรมชาติป่า-ภูเขาให้ถูกทำลายน้อยลง และออกเมล็ดให้นำมาขยายพันธุ์ เพื่อเป็นอาหารของมนุษย์โลกสืบไป และส่วนหนึ่งขออุทิศแด่ต้นผักหวานป่า ที่ถูกกระทำจากความหลากหลายของสูตร-วิธีปลูกดังได้กล่าวมาแล้วในเบื้องต้น

  

หมายเลขบันทึก: 444411เขียนเมื่อ 17 มิถุนายน 2011 14:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 สิงหาคม 2012 13:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เห็นด้วยอย่างสุดจิตสุดใจ เป็นเช่นที่คุณน้อย ว่ามาทุกประการ

อนุโมทนาในกุศลเจตนาของคุณน้อย

ขอเป็นกำลังใจให้คุณน้อย ทำดีต่อไปนะครับ

ขอบพระคุณสำหรับมิตภาพและกำลังใจจากคุณเชษฐ์ค่ะขอกุศลจิตอนุโมทนาบุญจากท่านมอบแด่ทุกๆท่านที่ทำดีเพื่อดีด้วยค่ะ...

สนใจอยู่เหมือนกันครับ จะพยายามศึกษาดูครับ

ขอบคุณที่กรุณาเข้ามาเยี่ยมชมค่ะ...

...ผักหวานป่าเป็นพืชเรียบง่าย ชอบความสงบค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท