ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ ศรีสะเกษ
ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ ศรีสะเกษ ศรีสะเกษ

ประวัติลายซิ่นทิว


ลายซิ่นทิว

 

ประวัติความเป็นมาของลายซิ่นทิว 

                ซิ่นทิวเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของคนไทยอีสานตอนล่างของประเทศไทย  มีวิธีการสร้างลายผ้าไหมด้วยวิธีการแบบโบราณ  การทอผ้าไหมได้สืบต่อกันมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ  และมีเรื่องเล่าสืบทอดกันมาซึ่งคนไทยภาคอีสานตอนล่าง เช่น  สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี  ได้มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมาแต่โบราณ  การปลูกหม่อนในสมัยนั้นจะปลูกหม่อนพันธุ์พื้นเมืองเพราะทนทานต่อความแห้งแล้งและไม่เป็นโรค  เรียกว่าหม่อนน้อยและพันธุ์ตาดำ  ชาวบ้านนิยมเลี้ยงไหมพันธุ์พื้นบ้านโดยจะต่อพันธุ์เอง  ลักษณะการเลี้ยงไหมจะเลี้ยงใต้ถุนบ้าน  ความเชื่อของคนสมัยโบราณมีวิธีป้องกันโรคตามความเชื่อของชาวบ้านแถบนั้นคือ  การหารกแมวมาแขวนเหนือชั้นวางกระด้งหรือภาษาทางภาคอีสานเรียกว่า แควง  วางไว้ใต้ถุนบ้านเพราะอุปกรณ์การทอผ้าไหมทั้งหลายจะวางอยู่ใต้ถุนบ้านทั้งหมด

                ซิ่นทิวนั้นถือว่าเป็นผ้าไหมมงคลจะใช้ในพิธีแต่งงาน  เพื่อใช้เป็นเครื่องสมมา (ขอขมา)  แก่ญาติฝ่ายชาย  เพราะซิ่นทิวจะถูกจัดเป็นผ้าไหมพิเศษ  คือเอาไปขอขมาผีทางฝ่ายแม่ผู้ชาย (ขึ้นผี) ส่วนสิ่งที่จะนำไปขึ้นผีของคนไทยอีสานนั้นคือ  ซิ่นทิว  มีตีนซิ่น  ห้าชั้นติดชายผ้าวิ่น  ดอกไม้  ธูปเทียน  ขัน 5 ขัน 8 ตามแต่ความเชื่อของคนในหมู่บ้าน  ผู้ใช้ผ้าซิ่นทิวมักอยู่ในวัยกลางคนขึ้นไปไม่นิยมในกลุ่มหนุ่มสาว  ถือกันว่าซิ่นทิวเป็นผ้าซิ่นผู้เฒ่า  ปัจจุบันไม่นิยมทอเพราะขั้นตอนการผลิตยุ่งยากมาก  ผู้สูงอายุยังใช้ซิ่นทิวกันอยู่แต่ไม่มากนัก  ต่อมาช่างทอผ้าบางคนได้นำเทคนิคใหม่ๆ  เข้ามาสอดแทรก  คือการมัดหมี่มาทอเป็นทางพุ่งเพื่อเป็นการผสมผสานกันเทคนิคผ้าซิ่นทิวด้วย  กลายเป็นวิวัฒนาการอีกขั้นหนึ่งของผ้าซิ่นทิว

                การทำผ้าไหมคนไทยภาคอีสานตอนล่าง  ซิ่นทิวมีการทำด้วยเส้นไหมหรือเส้นฝ้ายบางครั้ง  เส้นยืนเป็นเส้นไหมแต่เอาเส้นฝ้ายทอเป็นเส้นพุ่ง  เส้นไหมที่คนสมัยนั้นใช้ทอซิ่นทิวจะเป็นเส้นไหมสาวเลย  เส้นไหมพุ่งจะเป็นเส้นไหมสืบหรือเส้นไหมขี้กระเพย  คนโบราณพูดกันมานานแล้วถ้าใช้เส้นไหมพวกนี้ทอผ้าแล้วผ้าจะหนาดีกว่าเส้นไหมน้อย  ซิ่นทิวมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองเนื่องจากเป็นผ้าซิ่นลายขวางทางยืนที่มีช่วงลายสม่ำเสมอเป็นช่วงๆ  โดยผู้ทอผ้าซิ่นทิวหรือผู้ทำผ้าซิ่นทิวจะต้องมีความจำอย่างแม่นยำในการนับเส้นไหมตามแบบลายผ้าซิ่นทิว  ลายของผ้าซิ่นทิวจะมี  3 สีรวมมัดหมี่เป็นสีที่ 4 เท่านั้น  เช่นสีแดงได้จากครั่ง  สีดำได้จากมะเกลือ  สีเขียวได้จากใบสมอ  จุดเด่นของผ้าซิ่นทิว  คือ  ลายขวางหรือมัดหมี่เป็นจุด  มองไปแล้วจะเป็นจุดที่ทำให้เด่นมากและการหลืบสีจากสีธรรมชาติของเส้นไหมที่ได้จากธรรมชาติ 

                การทำผ้าซิ่นทิวจะต้องค้นเส้นยืนให้คบฟืมที่เราจะทอ  แล้วนำไปทำการแยกที่จะทำลายผ้า  การทำลายผ้าซิ่นทิวจะต้องมีการนับเส้นไหมหรือแยกเส้นไหมไปตามลายที่มีแบบอยู่แล้ว  การนับต้องมีความแม่นยำเป็นพิเศษพอนับเส้นไหมเสร็จแล้วก็นำเส้นขึงให้ยาวและแยกออกเป็นสีที่จะย้อมหรือมัดหมี่ด้วย   การมัดหมี่ให้มัดตามความพองามและสวยงามตามความต้องการของช่างทอผ้า  แล้วนำไปย้อมสีที่เตรียมไว้  ถ้าย้อมเสร็จทุกสีให้ผึ่งให้แห้งแล้วนำไปแยกออกและแกะเชือกที่มัดหมี่ออกด้วย  แล้วแยกตามที่ขึงยาวไว้เวลาขึงหรือแยกออก  ความสวยงามก็จะเกิดขึ้นในเวลานั้นทันที  การทำผ้าซิ่นทิวมีปัญหาอยู่มากเนื่องจากการนับเส้นไหมหรือแยกเส้นไหมไม่ถูกก็จะทำให้ผ้าซิ่นทิวผิดด้วย  และวิธีที่จะแก้ไขจะมีการแก้ยากมาก  เพราะความยาวของเส้นยืนทำให้ลำบากหรือมัดหมี่จะไม่เป็นเกร็ดสวยงามตามความต้องการ  ผ้าซิ่นทิวไหมเป็นผ้าสีสวยงามตามความงามแบบโบราณและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวผ้าไหมเอง  ผ้าชนิดนี้พบเห็นอยู่ที่  นางบุญมา  เกษกุล  บ้านโปร่งสามัคคี  ต.โคกจาน 

อ.อุทุมพรพิสัย  จ.ศรีสะเกษ  เป็นผู้สืบทอดต่อมาจากคุณแม่ของท่านเอง

 

ความสำคัญ

                ผ้าซิ่นทิวไหมเป็นผ้าที่สร้างลวดลายแบบโบราณที่ใช้สีธรรมชาติในการย้อม  ซึ่งเป็นผ้าที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรม  คนอีสานตอนล่างจัดเป็นผ้าชนิดพิเศษที่ใช้ในงานพิธีกรรม  ปัจจุบันมีการผลิตผ้าซิ่นทิวหลายแบบ  มีทั้งแบบประยุกต์  และใช้ฝ้ายเป็นส่วนประกอบ  ซึ่งการผลิตไม่มีความซับซ้อนเหมือนแบบโบราณ   เนื่องจากการผลิตผ้าซิ่นทิวไหมแบบโบราณผู้ทอจะมัดหมี่เส้นไหมที่เส้นยืน(ลายเม็ดข้าวสาร)   ซึ่งต้องใช้ความชำนาญและทักษะขั้นสูงในการผลิต  จึงจะได้ผ้าซิ่นทิวไหมที่มีความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว   การผลิตผ้าซิ่นทิวไหมในปัจจุบันผู้ทอจะประยุกต์โดยไม่มีการมัดหมี่เส้นไหมที่เส้นยืน  จึงทำให้ผ้าซิ่นทิวไหมที่เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมสูญหายไป  ดังนั้น  เพื่อให้ผ้าซิ่นทิวไหมแบบโบราณอยู่คู่กับวัฒนธรรมคนอีสาน  ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (ศรีสะเกษ)  เห็นควรให้มีการสืบทอดผ้าซิ่นทิวไหมที่เป็นภูมิปัญญาของคนโบราณให้อยู่คู่กับสังคมไทยปัจจุบันตลอดไป  และผู้ที่สามารถถ่ายทอดความรู้ในการผลิตผ้าซิ่นทิวไหมแบบโบราณให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาและสามารถนำไปผลิตได้ในปัจจุบัน  คือ  นางบุญมา  เกษกุล   บ้านโปร่งสามัคคี  ต.โคกจาน  อ.อุทุมพรพิสัย   จ.ศรีสะเกษ

 

                                  ยืนแถวนี้                               คือทางน้ำไหล

                                 แถวถัดไป                              คือหวายฟั่นแว่น

                                เขียวเลื่อมแล่น                        คือไผ่ร่วงป่า

                                แดงครั่งแล                            ทั่วผินฟ้า

                                เป็นลายแม่บุญ                     ไว้เป็นจงดี

                               ไหมแน่นี้                              คือไหมซิ่นทิว

 

 

คำสำคัญ (Tags): #ลายซิ่นทิว
หมายเลขบันทึก: 444412เขียนเมื่อ 17 มิถุนายน 2011 14:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 18:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท