สุขี
พระ สุขี ศรีมาตย์ ชาครธมฺโม

ประเพณีเดือนหก บุญบั้งไฟ


เดือนหก บุญบั้งไฟ นิยมทำกันเดือนหก การจัดทำบุญบั้งไฟขึ้นเพื่อบูชาอารักษ์หลักเมือง เป็นประเพณีทำบุญขอฝน เพื่อให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลเป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติมาแต่โบราณ

       

           บุญเดือนหก เป็นประเพณีที่สำคัญของชาวอีสาน เพราะเป็นประเพณีที่เกี่ยวกับการขอฟ้าฝนอันมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของคนอีสาน โดยที่ส่วนใหญ่แล้วคนอีสานมีอาชีพในด้านกสิกรรมเป็นหลัก การนำเอาดินประสิว (คนอีสานเรียกว่าขี้เจีย)มาโขกหรือบดผสมกับถ่านให้แหลก ละเอียด (คนอีสานเรียกว่าหมื่อ) แล้วบรรจุลงในกระบอกไม้ไผ่อัดให้แน่น แล้วเจาะรูใส่หางเรียกว่าบั้งไฟ การทำบุญให้ทานและมีความเกี่ยวข้องกับบั้งไฟ เรียกว่า "บุญบั้งไฟ" อีกอย่างหนึ่งท่านเรียกว่า "บุญเดือนหก" เพราะมีกำหนดทำกันในเดือนหก โดยในเดือนนี้ได้มีบทผญาเกี่ยวกับประเพณีการทำบุญในเดือนนี้ว่า

          “ฮอดเดือนหกเสียงฟ้าไขประตูฮ้อง     

           บอกข่าวเมืองคนมีแต่ฝนกับลมส่งเสียงกึกก้อง

           สายตามองเห็นแล้วในใจก็หากม่วน              

          เขียดอีโม้ออกเต้นฟ้อนเกี้ยวใส่ผู้สาว”

            ความหมายคือ  ถึงเดือนหกเสียงฟ้าร้องเปิดประตู   บอกข่าวชาวเมือง  มีแต่ฝนกับฟ้าส่งเสียงกึกก้อง  เมื่อมองไปจิตใจก็สุขสรรค์ กบเขียดโลดเต้นออกหาตัวเมีย (เพราะเสียงฟ้าร้อง)

การทำบุญบั้งไฟในเดือนหกนั้น เกิดจากความเชื่อที่ว่า พระยาคันคากได้ทำสัญญาสงบศึกกับพระยาแถน หลังจากที่ต่อสู้กันแล้ว พระยาแถนเกิดพ่ายแพ้และยอมเป็นเมืองส่วย (เมืองขึ้น) จะมอบบรรณาการด้วยการแต่งฝนฟ้าให้ทุกปี ซึ่งพอเมื่อถึงเดือนหก คนในเมืองมนุษย์ก็จะจุดบั้งไฟขึ้นไปเตือนพระยาแถน เพื่อให้รู้ว่าถึงฤดูทำนาแล้วและให้พระยาแถนแต่งฝนให้ ส่วนรายละเอียดมีปรากฏแล้วในนิทานเรื่องลำพระยาคันคาก นอกจากนี้ บางท้องถิ่นถือว่าการจุดบั้งไฟเพื่อเหตุผลดังกล่าวแล้ว ยังถือว่าเป็นการเสี่ยงทายว่าฟ้าฝนปีนี้จะเป็นอย่างไร โดยการสังเกตจากบั้งไฟที่จุด หากว่าบั้งไฟขึ้นดีไม่มีเหตุขัดข้องก็ถือว่าฟ้าฝนในปีนี้ ดีแต่ทว่าบั้งไฟไม่ขึ้นหรือมีอุปสรรคถือว่าฟ้าฝนในปีนั้นไม่ค่อยจะดี และมักจะมีการหามเอาช่างที่ทำบั้งไฟที่ไม่ขึ้นโยนลงบ่อโคลน เป็นการลงโทษและเป็นที่สนุกสนาน เกี่ยวกับประเพณีความเชื่อในเรื่องนี้ ชาวอีสานได้ปฏิบัติเป็นประเพณีมาจนถึงปัจจุบันนี้ 

การทำบุญอีกอย่างหนึ่งใน “เดือนหก  ทำบุญวันวิสาขบูชา”  อันเป็นประเพณีการทำบุญที่พุทธศาสนิกชนทั่วไปนิยมกระทำกัน และชาวอีสานได้สืบสานประเพณีนี้มาเป็นเวลาช้านานแล้ว ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้มีปรากฏในบทผญาที่ได้กล่าวเกริ่นนำในตอนนี้ว่า

“เห็นแต่สีใสเน้นวันเพ็ญสิบห้าค่ำ               วิสาขาเลิศล้ำชาวบ้านบ่ อยู่เฉย

ไผกะยิ้มเป้ยๆ ลงวัดเวียนเทียน                เดือนได้เวียนมาเถิงนพคุณคองเค้า”

ความหมายคือ  เห็นแสงจันทร์ส่องแสงในวันเพ็ญสิบห้าค่ำ  วันวิสาขบูชา ชาวบ้านไม่อยู่เฉย  ใครๆ  ก็สุขใจไปวัดเวียนเทียน  เดือนหกได้เวียนมาระลึกถึงพระคุณเก้า (ของพระพุทธเจ้า)

วันวิสาขะเป็นวันที่มีความสำคัญต่อพระพุทธศาสนา สาเหตุที่เรียกว่าวิสาขบูชานั้น เดือนหกภาษาบาลีเรียกว่า เดือนวิสาขะหรือเดือนวิสาขมาส การทำบุญในเดือนวิสาขะหรือเดือนหก เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้าเรียกว่า "บุญวิสาขะ" โดยวิสาขบูชานี้เป็นวันคล้ายวันประสูติตรัสรู้ และเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานของพระพุทธเจ้าซึ่งเหตุการณ์สำคัญเหล่านี้เกิดขึ้นในวันเดียวกัน คือวันเพ็ญเดือนหกทุกวันนี้พุทธศาสนิกชนยังคงพากันทำการบูชาพระพุทธเจ้า ด้วยการเวียนเทียนและบูชาด้วยเครื่องสักการะมีดอกไม้ ธูป เทียน เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้ทำการบูชาด้วยการปฏิบัติตามคำสอนพระพุทธเจ้า โดยการสมาทานอุโบสถศีล เจริญเมตาภาวนาอีกด้วย 

              รวมความว่า

           เดือนหก  บุญบั้งไฟ นิยมทำกันเดือนหก การจัดทำบุญบั้งไฟขึ้นเพื่อบูชาอารักษ์หลักเมือง เป็นประเพณีทำบุญขอฝน เพื่อให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลเป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติมาแต่โบราณ บางหมู่บ้านถือเคร่งมาก คือจะต้องทำบุญบั้งไฟทุกปี จะเว้นไม่ทำไม่ได้ เพราะถ้าเว้นไม่ทำบุญนี้เชื่อว่าอาจทำให้เกิดเหตุเภทภัยต่าง ๆ เช่น ฝนแล้งบ้าง หรือไม่ตกต้องตามฤดูกาลบ้าง คนหรือวัวควายอาจเกิดเจ็บป่วยเป็นโรคต่าง ๆ บ้าง เป็นต้น   และเมื่อทุกบุญดังกล่าวแล้ว ก็เชื่อว่า ฟ้าฝนจะอุดมสมบูรณ์ ประชาชนในละแวกนั้น จะอยู่เย็นเป็นสุข เพราะมีข้าวปลาอาหารบริบูรณ์ ทั้งปราศจากโรคภัยด้วย  เป็นความเชื่อด้านประเพณีของชาวอีสาน



คำสำคัญ (Tags): #บุญบั้งไฟ
หมายเลขบันทึก: 444259เขียนเมื่อ 16 มิถุนายน 2011 12:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • เป็นความละเอียดอ่อนของชุมชน
  • แต่น่าเสียดายบางชุมชนกำลังละเลยคุณค่าของบั้งไฟ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท