ความสุขของคนไข้คือกำลังใจคนทำงาน


โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์ ซึ่งมีหลากหลายสหวิชาชีพ รวมตัวกัน หรือที่เรียกว่าการให้บริการปฐมภูมิ   ได้ปฏิบัติทำหน้าที่ออกเยี่ยมบ้านผู้พิการ ผู้ป่วยเรื้อรัง และผู้ที่ด้อยโอกาส ทุก ๆ วัน โดยไม่มีวันหยุด พวกเขาเหล่านี้ได้ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ เปรียบเสมือนผู้คนเหล่านี้เป็นคนในครอบครัวของพวกเขาและวันนี้ก็เช่นกัน

ภาระกิจการลงเยี่ยมบ้านครั้งนี้ วางแผนจะไปเยี่ยมผู้พิการประจำปี ตามรายชื่อผู้พิการที่ได้รับเบี้ยจาก องค์การบริหารส่วนตำบล โดยมีพี่ที่ สถานีอนามัย นำทาง พี่สำลี ผู้พิการทางการเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นโรคโปลิโอมาตั้งแต่เกิด เป็นเป้าหมายของทีมเรา

ก่อนจะถึงบ้านพี่สำลี ประมาณ 1 หลังคาเรือน ก็เจอพี่ สำลี นั่งเล่นอยู่ที่บ้านเพื่อนบ้าน พอเจอตัวก็เลยจอดรถลงเยี่ยมและประเมินอาการพี่สำลีตรงนั้นเลย อาการพี่สำลีคือขาซ้ายลีบเล็ก สูงต่ำไม่เท่ากัน แต่พี่สำลีเดินได้เองโดยไม่มีเครื่องช่วยอะไรเลยแต่การทรงตัวก็ไม่มั่นคงมากนัก ตามสภาพของพี่สำลีนั่นเอง หลังจากประเมินอาการเสร็จก็ได้มีการสอบถามสาระทุกข์สุกดิบ กันว่าพี่สำลี ช่วยเหลือตนเองได้  รับจ้างทำงานได้บ้าง เงินที่ได้มาก็ต้องเอาไปจุนเจือภายในครอบครัว ไม่ค่อยจะพอใช้สักเท่าไหร่

การทำแผนผังครอบครัวทำให้ทีมเราได้รู้ว่า พี่สำลี มีพี่น้อง  4 คน พี่คนโตแต่งานแยกครอบครัวไปอยู่ที่ต่างจังหวัดไม่ค่อยได้มาเพราะต้องหาเลี้ยงครอบครัวตนเอง ส่วนคนรองเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ พี่สำลีเป็นลูกคนที่สามไม่ได้ไปไหนไกลๆ อยู่บ้านทำงานใกล้บ้าน  เพราะต้องคอยดูแลแม่และน้องสาวที่ไม่ค่อยแข็งแรงนัก  คำว่าน้องสาวไม่ค่อยแข็งแรงทำให้ทีมเราสนใจมาก จึงบอกให้พี่สำลีพาเราไปที่บ้านทันที

"แม่ ๆ มีหมอจากโรงพยาบาลอำเภอมาเยี่ยมเด้อ"  พี่สำลีส่งสัญญานให้รับรู้

เราเห็น แม่พี่สำลี อายุประมาน 70 ปี  กำลังตัดฟืน ส่วนอีกคนนั่งเก็บไม้ที่ตัดแล้วเรียงกันไว้ใกล้ ๆ เตาฟืนเพื่อเก็บไว้ใช้ในการหุงหาอาหาร   เมื่อ  2  คนได้ยินก็รีบกุลีกุจอ  เสียงยายพูดอุบอิบว่า ไม่ได้ทำความสะอาด ปัด กวาด จัดหาพื้นที่ให้คุณหมอนั่งเลย ทางทีมเราก็บอกว่าไม่เป็นไรหรอกยาย ไม่ต้องห่วงค่ะ

ทีมงานก็ทักทาย และเริ่มสอบถามข้อมูลน้องสาวพี่สำลี ชื่อ สำรอง  อายุ 40 ปี รูปร่างท้วม ๆ สีหน้าซีด ๆ สภาพไม่ค่อยได้ดูแลตนเองสักเท่าไหร่ ไม่ร่าเริง ไม่แจ่มใส นั่งนิ่ง ทีมงานถามก็ไม่ค่อยพูด พูดแต่คำว่า ค่ะและไม่ค่ะ ส่วนใหญ่จะส่ายหน้า พยักหน้า  เสียงพี่สำลีพูดขึ้นว่า "คุณหมออยากรู้อะไรก็ให้ถามแม่กับผมก็ได้ นะครับเพราะน้องจะไม่ค่อยชอบพูดสักเท่าไหร่" 

สอบถามก็ได้ข้อมูลว่า พี่สำรองเป็นลมชักตั้งแต่เด็ก ๆ ต้องกินยาตลอด กินถูกบ้างไม่ถูกบ้าง โดยมีแม่และพี่ชายคอยดูแล  ยาที่กินก็ต้องไปรับที่โรงพยาบาลในอำเภอ  ซึ่งห่างจากบ้านประมาณ  30 กิโลเมตร  มีหลายครั้งที่ไม่ได้พาพี่สำรองไปพบแพทย์ ก็จะเป็นพี่สำลี หรือแม่ ไปรับยาแทนเสมอๆ ไปคนเดียวก็จะลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้อีกด้วย   พี่สำลีชี้แจงเรื่องรายได้ว่า เบี้ยเลี้ยงของตนที่ได้รวมกับเบี้ยเลี้ยงผู้สูงอายุของแม่ ก็ไม่พอใช้เพราะต้องซื้อข้าว ปลา อาหาร อื่น ๆ  อีก ที่นาก็ไม่มีให้ทำกินเพราะขายรักษาพ่อตอนที่ป่วยเป็นมะเร็ง หมดไปเยอะ ก็เลยเหลือบ้านหลังเล็ก  ๆ ที่สร้างในที่ดินเพียงไม่กี่ตารางวา

ข้อมูลเบื้องต้นจากการสอบถามพี่สำรอง ทำกิจวัตรประจำวันได้เอง และช่วยเหลืองานบ้านได้บ้าง แต่ต้องอยู่ในสายตาของผู้เป็นแม่โดยตลอด เพราะพี่สำรองจะชักเกร็ง กระตุก ทุกวัน 4 -6 ครั้ง/วัน ไม่ได้เลือกเวลา บทจะชัก ก็ชัก ขึ้นมาเฉย ๆ  ขณะที่ทีมงานพูดคุยและหาข้อมูลอยู่นั้น  พี่สำรองก็มีอาการ ชักเกร็ง  กระตุก ขึ้นมา ต่อหน้า ต่อตาทีมงานเห็นก็ตกใจ  ผู้เป็นแม่ซึ่งเฝ้าระวังอยู่แล้วรีบเข้าไป เขย่าตัว และเรียกชื่อ รอง ๆ ๆ ๆ หลายครั้ง ประมาณ 10 วินาที พี่สำรองก็รู้สึกตัวขึ้นเป็นปกติ แม่พูดว่าจะเป็นอย่างนี้ประจำจึงไม่กล้าปล่อยให้อยู่ลำพังคนเดียว ถ้าไม่อยู่กับแม่ก็จะอยู่กับพี่ชาย เสมอ ๆ ทีมเราเริ่มเป็นห่วงมากขึ้น จึงเก็บข้อมูลเรื่องกินยา  ซักประวัติหาข้อมูล ค้นประวัติที่โรงพยาบาลว่าเริ่มกินยาเมื่อไหร่ กินยาอะไร กินอย่างไร เพื่อนำมาปรึกษาหารือร่วมกัน หลายคนสงสัยว่าทำไมได้รับยาแต่ยังมีอาการชักเกร็งอยู่ เภสัชกรหนึ่งในทีมของเราได้ไปปรึกษากับนายแพทย์ เรื่องการปรับยาของพี่สำรองและไปเยี่ยมอีกครั้ง

          การเยี่ยมบ้านครั้งนี้มีเภสัชกรมาด้วย เพื่อที่จะได้อธิบายและแนะนำเรื่องการปรับยา การใช้ยา ผลข้างเคียง ต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้กับตัวพี่สำรอง  โดยมีพี่สำลี และแม่ รับทราบและเข้าใจดี

           หนึ่งสัปดาห์หลังจากปรับขนาดการกินยา ทีมงานมาติดตามอาการต่อเนื่อง มองเห็นพี่สำรอง กำลังใช้จอบเสียมเล็ก ๆ พรวนดินหน้าบ้าน พี่สำรองทำอะไรอยู่คะทีมงานคนหนึ่งถาม  ทำแปลงปลูกผักจะปลูกผักไว้กิน.. พี่สำรองตอบ พร้อมกับหันหน้ามาสบตา  ยิ้มแย้ม ดูใบหน้าอิ่มเอิบ มากขึ้น วันนี้อยู่คนเดียวเหรอ แม่พี่สำรองไปไหนคะ.. เสียงตอบออกมาจากบริเวณครัว ว่าอยู่นี่ค่า.. กำลังเลือกเมล็ดผักที่จะหว่านน่ะค่ะ.. ทีมงานเข้าไปสอบถามข้อมูลหลังการปรับยา ว่าเป็นอย่างไรบ้าง แม่พี่สำรองบอกว่าดีขึ้นเยอะเลย มีชักเกร็ง 1-2 ครั้งนี่ละค่ะ บางวันก็ไม่ชักเกร็งเลย ทีมงานแนะนำให้กินยาเหมือนเดิม ต่อไป

           การติดตามอาการของพี่สำรองครั้งนี้ ภาพที่เห็นก็คือ  พี่สำรองนั่งขายปูนาและมะขามเปียกที่ตลาดสดประจำหมู่บ้าน โดยมีแม่นั่งอยู่ข้าง ๆ ทีมงานทักทายและถามเรื่องการกินยา แม่บอกว่ายังไม่เห็นชัก และเกร็งหลายวันแล้ว พูดจบก็ยิ้มกว้างเต็มมุมปาก ทำให้ทีมงานอดยิ้มตอบไม่ได้   แล้วคุณยายก็ให้พร ก่อนที่ทีมงานจะขอตัวกลับ โดยในมือของฉันได้ถือถุงมะขามเปียก ที่ช่วยอุดหนุนซื้อ 100 บาท กลับขึ้นรถเพื่อที่จะเยี่ยมรายต่อไป 

          ปัจจุบันทางทีมงานกำลังดำเนินเรื่องให้ พี่สำรอง ได้รับเบี้ยผู้พิการทางสติปัญญาและการเรียนรู้ ตามสิทธิที่พี่เขาพึงจะได้รับตามกฎหมายต่อไป

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 444256เขียนเมื่อ 16 มิถุนายน 2011 12:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

้เขียนได้ดีนะค่ะ เขียนมาเล่าให้เพื่อนสาสุขอ่านอีกนะค่ะ

ขอเพิ่มเติม ตอนท้าย ซึ่งเป็นความรู้สึก ของผู้เขียนเรื่องค่ะ

"ส่วนตัวฉันเองมีความสุขมากที่ได้มีส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่ง ในการดูแลผู้คนเหล่านี้ เรื่องราวครอบครัวนี้ทำให้ฉันมีกำลังใจในการทำงานมากขึ้น ขอขอบพระคุณทุกท่านที่ได้ให้โอกาสในการทำโครงการดี ๆ แบบนี้ ขอบคุณค่ะ

นางสาวจุฑาวรรณ บุตรพรม

ผู้ช่วยนักกายภาพบำบัดฯ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์

ชื่อเรื่อง กินใจมาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท