ประชุมปฏิบัติการวิเคราะห์สมรรถนะเฉพาะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา


เป็นเนื้อเดียวกันกับระบบประกันคุณภาพภายใน-ภายนอกสถานศึกษา เพื่อไม่ให้ครูต้องถูกประเมินกันหลายซับหลายซ้อน
        ไม่ได้บันทึกลงบล็อกหลายวัน  เนื่องจากไปเป็นวิทยากรและร่วมประชุมปฏิบัติการวิเคราะห์สมรรถนะเฉพาะ(Specific Competency)ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ของ ก.ค.ศ. วันที่ 8-11 ส.ค. ที่โรงแรมบางกอกกอล์ฟ สปา รีสอร์ท ปทุมธานี ซึ่งต้องทำงานทั้งกลางวันและกลางคืน จนไม่มีเวลาเขียนบล็อก
        การวิเคราะห์สมรรถนะเฉพาะครั้งนี้ เป็นการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ เนื่องจากการพัฒนาและประเมินครูและบุคลากรทางการศึกษาตามสมรรถนะหลักและสมรรถนะประจำสายงานที่ผ่านมายังไม่สามารถส่งผลต่อการพัฒนาผู้เรียนอย่างเป็นรูปธรรม จึงอยากให้มีสมรรถนะเฉพาะที่ลึกลงไปในแต่ละกลุ่มสาระ หรือตามสาขาต่างๆ ที่จะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนได้อย่างแท้จริง จึงเกิดการประชุมปฏิบัติการครั้งนี้ขึ้น
       การปฏิบัติการวิเคราะห์สมรรถนะเฉพาะครั้งนี้เราทำพร้อมกันทั้ง 16 กลุ่ม จำแนกเป็นกลุ่มครูตามกลุ่มสาระ 8 กลุ่ม อีก 8 กลุ่มก็เป็นกลุ่มของ ครูกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ครูแนะแนว ครูบรรณารักษ์ ครูปฐมวัย ครูการศึกษาพิเศษ ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และศึกษานิเทศก์ โดยอาศัยผู้ทรงคุณวุฒิจากสมาคมวิชาชีพแต่ละสาขา รวมทั้งครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ ก.ค.ศ.คัดเลือกมาร่วม 100 คน จนได้ร่างสมรรถนะและตัวบ่งชี้ของทุกกลุ่ม เพื่อนำเสนอกระทรวงศึกษาธิการ ได้พิจารณาปรับปรุงให้สมบูรณ์ตามกระบวนการต่างๆตามนโยบายต่อไป
        ในการวิเคราะห์ครั้งนี้เราพยายามเชื่อมโยงทั้งเรื่องหลักสูตร มาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน มาตรฐานวิชาชีพ และมาตรฐานตำแหน่ง มาตรฐานวิทยฐานะ ให้เป็นเนื้อเดียวกันกับระบบประกันคุณภาพภายใน-ภายนอกสถานศึกษา เพื่อไม่ให้ครูต้องถูกประเมินกันหลายซับหลายซ้อน และโรงเรียนสามารถใช้สมรรถนะนี้เป็นเครื่องมือในการประเมินครูและบุคลากรทางการศึกษา แล้ววิเคราะห์เป็นข้อมูลพื้นฐานนำไปสู่การพัฒนาครูได้ตรงตามความต้องการจำเป็น(NA) และจะทำให้ผู้บริหารสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน(SBM) ที่เป็นระบบและเป็นองค์รวมมากขึ้น
       ตัวอย่างสมรรถนะเฉพาะของครูในกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ก็ได้วิเคราะห์ ทั้งด้านความรู้ (K) ด้านทักษะ (S) และด้านบุคลิกลักษณะ (P) ที่เชื่อมโยงกับหลักสูตร สาระการเรียนรู้ของกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ มาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานด้านการเรียนการสอน (มฐ. 9-10) มาตรฐานวิชาชีพ มาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะของข้าราชการครู ดังตัวอย่างที่วิเคราะห์เป็นกรอบอย่างกว้างๆไว้ เพื่อให้กลุ่มได้ดูและวิเคราะห์ในรายละเอียดต่อไปคือ
    1. ด้านความรู้ (K) (จากหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน)
    1.1 มีความรู้ความเข้าใจเป้าหมายการจัดการศึกษาและหลักสูตร 
    1.2 มีความรู้ตามสาระของหลักสูตร ได้แก่
          1) จำนวนและการดำเนินการ
          2) การวัด
          3) เรขาคณิต
          4) พีชคณิต
          5) การวิเคราะห์ข้อมูลและความน่าจะเป็น 
          6) ทักษะ/กระบวนการทางคณิตศาสตร์
    2. ด้านทักษะ (S) (จากมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานด้านการเรียนการสอนที่ 10)
      2.1 มีความสามารถในการวิเคราะห์ศักยภาพของผู้เรียนและเข้าใจผู้เรียนเป็นรายบุคคล
     2.2 มีความสามารถในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ 
     2.3 มีความสามารถในการในการใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาการเรียนรู้ของตนเองและผู้เรียน
     2.4 มีการประเมินผลการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับสภาพการเรียนรู้ที่จัดให้ผู้เรียน และอิงพัฒนาการของผู้เรียน
     2.5 มีการนำผลการประเมินมาปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน
     2.6 มีการวิจัยเพื่อพัฒนาสื่อและการเรียนรู้ของผู้เรียนและนำผลไปใช้พัฒนาผู้เรียน
    3. ด้านบุคลิกลักษณะ (P) (จากมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานด้านการเรียนการสอนที่ 9)
    3.1 มีคุณธรรมจริยธรรมและปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณวิชาชีพ
    3.2 มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้เรียน ผู้ปกครองและชุมชน
    3.3 มีความมุ่งมั่นและอุทิศตนในการสอนและพัฒนาผู้เรียน
    3.4 มีการแสวงหาความรู้และเทคนิควิธีการใหม่ๆ
หมายเลขบันทึก: 44387เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2006 22:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท