บัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย กรณี บุตรของแรงงานข้ามชาติ


อ่าวและน้องสาวอีกคนที่เกิดในประเทศไทยจึงไม่มีการแจ้งเกิด หรือเพิ่มชื่อเข้าในทะเบียนราษฎรในประเทศพม่าแต่อย่างใด

เรื่องนี้จะมีการพูดคุยในประเด็นข้อกฎหมาย และสิทธิต่าง ๆ ของลูกแรงงานข้ามชาติที่ขอมีบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย

ดังนั้นเรื่องราวดังต่อไปนี้จึงพยายามตอบข้อเท็จจริงของเขาให้ทั้งหมด ก่อนที่จะได้มีการพูดคุยในประเด็นข้อกฎหมายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หากผู้อ่านสงสัยในข้อเท็จจริงประการใด หรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสิทธิต่าง ๆ ของเขา วานถามเพื่อจะได้หาคำตอบร่วมกัน

อ่าวเป็นลูกของแรงงานข้ามชาติเชื้อสายพม่าที่เกิดในประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๓๗ จากแม่ซึ่งเป็นคนชาติพันธุ์มอญเกิดที่ประเทศพม่า มีชื่อในทะเบียนราษฎรพม่า มาจากพม่าเมื่อ ๒๐ ปี ที่แล้ว แต่ไม่แน่ใจว่าตนเองมีสัญชาติพม่าหรือไม่

ส่วนพ่อก็มีชาติพันธุ์มอญ เกิดที่ประเทศพม่า และเสียชีวิตที่ประเทศไทย ด้วยโรคมาเลเรีย แม่อ่าวก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าพ่ออ่าวเป็นคนสัญชาติพม่า และมีชื่อในทะเบียนราษฎรพม่าหรือไม่

อ่าวได้รับการขึ้นทะเบียนประวัติของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ (ท.ร.๓๘/๑) ในฐานะผู้ติดตามมารดา เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๔๗ โดยได้รับหมายเลข ๑๓ หลัก คือ ๐๐-๘๕๙๙-XXXXXX-X

ส่วนแม่ก็ได้ขึ้นทะเบียน ท.ร.๓๘/๑ ในวันเดียวกันกับอ่าว มีเลข ๑๓ หลัก คือ ๐๐-๘๕๙๙-XXXXXX-X และได้มีการต่อบัตรแรงงานปีต่อปีเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ไม่เคยมีหมายเลข ๑๓ หลักมากว่าหนึ่งชุด (บัตรหมดอายุอีกครั้งในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕)

ในขณะที่อ่าวเกิดนั้น พ่อ ตา น้า (น้องสาวแม่) และพี่อีก ๓ คน อยู่ที่ประเทศไทย ส่วนปู่ ย่า ยาย เสียชีวิตหมดแล้ว แม่มีน้องสาวเพียงคนเดียวก็คือคนที่อพยพมาอยู่ในประเทศเท่านั้น ญาติทางฝั่งพ่อไม่มีแล้ว อ่าวและน้องสาวอีกคนที่เกิดในประเทศไทยจึงไม่มีการแจ้งเกิด หรือเพิ่มชื่อเข้าในทะเบียนราษฎรในประเทศพม่าแต่อย่างใด ส่วนพี่ ๆ ทั้ง ๓ มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎรพม่า

ต่อมาเดือนกันยายน ๒๕๕๓ อ่าวได้ไปขอหนังสือรับรองการเกิด ท.ร.๒๐/๑ ที่เทศบาลเมืองระนอง อ่าวได้นำพยานบุคคลไปให้ปากคำตามกฎหมาย ทั้งอดีตนายจ้างของแม่ และเจ้าของบ้านเช่า รวมทั้งแม่ของตน เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๓ อ่าวได้รับหนังสือรับรองการเกิด ท.ร.๒๐/๑ โดยถูกระบุสัญชาติเป็น สัญชาติพม่า

อ่าวเข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนบ้านบางกลาง จังหวัดระนอง ปัจจุบันเรียนอยู่ชั้นป.๖ (อายุ ๑๗ ปี) จึงไม่ได้ไปเป็นแรงงาน ขอใบอนุญาตทำงาน แม้อายุจะครบ ๑๕ ปี ก็ตาม

เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ อ่าวได้ไปขอทำบัตร ตามคำขอมีบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ท.ต.๒ ที่เทศบาลเมืองระนอง เป็นการขอมีบัตรครั้งแรก โดยได้มีการถ่ายรูป และสแกนลายนิ้วมืออีกครั้ง ผลปรากฎว่าทั้งรูปถ่ายเดิม และลายพิมพ์นิ้วมือเป็นคนเดียวกัน จึงได้มีการออกท.ต.๒ ให้ ซึ่งปัจจุบันอ่าวก็ยังไม่ได้รับบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย

จบข้อเท็จจริงเบื้องต้น ขอเชิญเสวนาต่อกันเลยครับ

หมายเลขบันทึก: 443510เขียนเมื่อ 11 มิถุนายน 2011 18:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ถ้ามีความเป็นไปได้ ลองสอบถามประวัติของนางหมีและสามีตั้งแต่ออกจากพม่า และมีสายทางอย่างไร ? ช่วงเวลาใด ? จนถึงวันที่มาขึ้นทะเบียนแรงงานที่ระนอง หากนางหมีพูดความจริง จะมีพยานหลักฐานที่จะพิสูจน์สิทธิที่ดีกว่าได้แน่นอน อันนี้คือประสบการณ์ของ อ.แหววนะ ถ้าเป็นมอญอพยพมานานแล้ว จะไม่มาเพียงลำพัง จะมาเป็นกลุ่ม และจะอธิบายได้อย่างชัดเจนถึงสาเหตุที่มา กล่าวคือ การสู้รบในพื้นที่ที่จากมา ลองดูซิคะ

ถ้าจริงใจต่อกัน อาจเกิดมหัศจรรย์ได้ค่ะ เคยได้ยินเรื่อง "คนต่างด้าวที่ตกหล่นการสำรวจทางทะเบียนราษฎรในนโยบายชนกลุ่มน้อยบัตรสี" ไหมคะ

ตอบอ.แหวว

กรณีนี้พ่อแม่ของอ่าวมาจากตัมพูชาด รัฐมอญ มาหลังจากเกิดเหตุการณ์ปี ๑๙๘๘ ราว ๒-๓ ปี มาโดยเรือถึงเกาะสองเดินทางประมาณ ๓ วัน มาทั้งครอบครัว ๑๑ คน เพราะความยากจน คนที่มาจากหมู่บ้านเดียวกันมีประมาณ ๕๐-๖๐ คน

ปัจจุบันคนที่อพยพมาด้วยกันในคราวนั้นเหลือแต่น้องสาว และลูก ๓ คนที่เกิดในพม่า ส่วนคนอื่นแยกย้ายไปคนละทิศคนละทางแล้วครับ

เรื่องคนต่างด้าวตกหล่น ฯ เป็นเรื่องใหม่ เพิ่งได้ยินครั้งแรกครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท