หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

SHA : ร.พ.กะพ้อ จ.ปัตตานี (๔)


.

เจ้าหน้าที่เปลรีบนำผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสเข้าห้องฉุกเฉิน และยังมิทันที่จะให้การดูแลผู้ได้รับบาดเจ็บได้ครบทั้ง ๔ ราย รถปิคอัพคันอีกคันหนึ่งซึ่งแล่นมาด้วยความเร็วสูง ท้ายกระบะเต็มไปด้วยผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์เดียวกัน 

วันนั้นฝนตก ราว ๆ ห้าโมงเย็นฝนเริ่มซาลง ได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย ว่ามีเหตุรถชนกัน แต่ก็ไม่ได้บอกรายละเอียดอะไร ก็เข้าใจว่าคงไม่หนักหนาอะไร เพราะเท่าที่มีประสบการณ์มา รถชนกันสองคันก็มีผู้บาดเจ็บอย่างมากก็ ๔ – ๕ คน ก็เตรียมการไปแบบที่เคย...
...สักพักเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยก็โทรศัพท์มาอีกว่าให้ รถโรงพยาบาลไปรับ เพราะมีคนไข้ติดอยู่ในซากรถ แต่ช่วงนั้นเราไม่มีพื้นฐานของการกู้ภัย ไม่สามารถจะดึงคนไข้ออกมาได้ จึงได้ประสานงานต่อไปหลายยังโรงพยาบาลข้างเคียงหลายแห่ง...

 

     ศิริวรรณ ยะยือริ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ งานอุบัติเหตุฉุกเฉิน ซึ่งอยู่เวรบ่ายในวันนั้นเล่าให้ฟังก่อนที่ความโกลาหลจะเกิดขึ้นอีกไม่กี่นาทีที่จะถึงข้างหน้า

     รถคันที่แล่นตามมาหลังจากคันแรกไม่ถึง ๑๐ นาที ผู้บาดเจ็บเต็มรถ ทั้งเจ็บหนัก ปานกลางและเบา จากนั้นก็ทะยอยมาเรื่อย ๆ บรรยากาศจากเดิมที่เงียบ อาคารโล่งก็เต็มไปด้วยผู้คน เสียงร้องจากอาการบาดเจ็บของผู้ป่วย เสียงคร่ำครวญเสียใจของญาติที่ตามมาดังระงมไปทั้งอาคาร เปลนอนไม่เพียงพอกับการรองรับผู้บาดเจ็บ บางคนต้องอาศัยนอนบนเก้าอี้ยาว

     เจ้าหน้าที่ซึ่งที่ออกเวรขึ้นที่พักได้รับสัญญาณแจ้งต่างก็กุลีกุจอลงมาที่อาคาร ทุกคนไม่มีเวลาจะตระหนกตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ต่างแยกย้ายกันทำหน้าที่กันอย่างเต็มความสามารถ บางคนถึงกับเป็นลมล้มพับไปขณะยังทำหน้าที่อยู่

     เวลาผ่านไปราว ๕ ชั่วโมง หลังจากที่ทุกคนช่วยกันเหตุการณ์ก็ค่อยคลี่คลายลง ผู้ที่บาดเจ็บหนักได้รับการส่งตัวต่อไปยังโรงพยาบาลอื่นที่มีความพร้อมกว่า ผู้ที่เสียชีวิตก็ได้รับการจัดการศพ ผู้บาดเจ็บอื่น ๆ ที่ยังอยู่ก็ได้รับการพยาบาลรักษา บางรายที่เจ็บเล็กน้อยก็กลับบ้านไป

เท่าที่มีโรงพยาบาลมา ยังไม่เคยเจออะไรที่หนักขนาดนี้...

     ศิริวรรณ สะท้อนเหตุการณ์ในคราวนั้น ซึ่งนับว่าเหตุการณ์นี้เป็นอุบัติเหตุหมู่ครั้งใหญ่ที่สุดที่โรงพยาบาลรับมือ แม้ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เศร้าสะเทือนใจเนื่องจากมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก แต่ความภาคภูมิใจของบุคลากรโรงพยาบาลก็คือความร่วมไม้ร่วมมือ ความมุ่งมั่นใจการยื้อชีวิตและช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างสุดความสามารถ

แม้ว่าจะเศร้าแต่รู้สึกดี ประทับใจในความร่วมไม้ร่วมมือ ความทุ่มเทของเจ้าหน้าที่ ใครช่วยอะไรได้ก็ทำอย่างเต็มที่ ลักษณะนี้อย่างจะเห็นได้ในที่อื่นหรือเปล่าก็ไม่รู้...
...สิ่งที่ทำให้เราผ่านวันนั้นมาได้เพราะเรามีสติไม่ลนลาน คุมตัวเองได้ พอจะรู้ว่าจะทำอะไรก่อน-หลัง มันสะท้อนศักยภาพของโรงพยาบาลในเรื่องการบริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ด้วย ศักยภาพทางกายภาพอาจรองรับได้เท่าที่เป็นอยู่ แต่เรื่องการบริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์เราทำได้เต็มที่...

     จากเหตุการณ์ในครั้งนั้น โรงพยาบาลได้สรุปบทเรียนตนเองก็พบว่ามีสิ่งที่ต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขและควรจะมีความพร้อมมากกว่านี้หลายเรื่อง ศิริวรรณ เล่าว่า

มีการทบทวนพูดคุยหลังจากนั้น หลังจากการคุยก็เกิดเป็นระบบขึ้นมาหลายอย่าง การพัฒนาทักษะของน้อง ๆ ในการทำหัตถการที่ยาก มีการเตรียมความพร้อมของเครื่องมือเครื่องใช้ มีการอบรมเจ้าหน้าที่ในการกู้ภัย...

     ลักษณะการทำงานด้วยใจ ร่วมไม้ร่วมมือและเอาจริงเอาจังของบุคลากรโรงพยาบาลกะพ้อ กำเนิดและมีพัฒนาการมาต่อเนื่องและค่อนสะสมมาเรื่อย ๆ ดังที่ นิอายุบ นิเงาะ สะท้อนว่า

วัฒนธรรมการทำงานของพวกเรา จะทำงานด้วยใจ ใส่ใจกับการทำงานทุกอย่าง คุณลักษณะแบบนี้ ค่อยสะสมมาเรื่อย ๆ...
...เรามีต้นแบบที่ดี อย่างคุณหมอวรวุฒิ เป็นตัวอย่างของการให้บริการที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์ที่ดีมาก กับเพื่อนร่วมงานก็จะไม่ถือเนื้อถือตัว มีความเป็นกันเอง เจ้าหน้าที่ไปขัดห้องน้ำหมอก็จะไปด้วย ไปทำด้วยกัน และถ้าผู้อำนวยการอยู่ก็จะไปช่วยด้วย ทุกคนทำงานเหมือนกัน...
...ที่นี่ เรามีความรักความสามัคคีกันอย่างเหนียวแน่น ทุกคนจะทำงานจะทำงานกันด้วยใจ ถ้าถามว่าอยากจะย้ายไหม ทุกคนจะคิดหนัก...

 

โปรดติดตามตอนต่อไป...

 

.

คำสำคัญ (Tags): #sha#กะพ้อ#ร.พ.กะพ้อ
หมายเลขบันทึก: 443198เขียนเมื่อ 9 มิถุนายน 2011 19:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ชื่นชมการทำงานด้วยใจเช่นนี้ค่ะ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท