หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

SHA : ร.พ.กะพ้อ จ.ปัตตานี (๓)


.

พยาบาลสาวกว่าสี่ห้าคนนั่งก้มหน้า นัยน์ตาแดงน้ำตาคลอเบ้า บ้างก็หยิบผ้าเช็ดหน้าออกมาซับหยาดน้ำตา บ้างก็ยกมือขึ้นมาปาดน้ำตาที่ไหลลงมาเป็นทาง บางคนที่เก็บอาการไว้อยู่ก็นั่งสงบนิ่งฟังเรื่องเล่าจากผู้ที่นั่งอยู่หัวโต๊ะของที่ประชุม 

     ที่หัวโต๊ะ นายแพทย์เดชา แซ่หลี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกะพ้อ และผู้ทำหน้าที่เป็นประธานที่ประชุมในขณะนี้ กำลังอ่านเรื่องเล่าของตนเองให้ผู้เข้าร่วมประชุมฟัง เป็นเรื่องราวของความโศกสลดที่ นพ.เดชา ประสบมาด้วยตนเองจากการทำหน้าที่ในฐานะแพทย์ ซึ่งเหตุการณ์ในเรื่องเล่านั้นเป็นเหตุการณ์ร่วมของใครหลายคนที่รับฟังอยู่ในขณะนี้

     “เรื่องเล่า” เป็นเครื่องมือหนึ่งที่โรงพยาบาลใช้ในการพัฒนาคุณภาพของโรงพยาบาลภายหลังที่เข้าร่วมโครงการสร้างเสริมสุขภาพผ่านกระบวนการคุณภาพเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน (SHA)

     ในทุกครั้งของการประชุมประจำเดือน จะมีการเลือกเรื่องเล่าของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลมาอ่านให้ผู้เข้าร่วมประชุมฟังครั้งละ ๑ – ๒ ราย  นิอายุบ นิเงาะ เภสัชกรชำนาญการ ผู้ประสานงานคุณภาพของโรงพยาบาลกะพ้อ กล่าวถึงว่า

เราเชื่อว่าเรื่องราวดี ๆ จะทำให้จิตใจมีพลัง ก็พยายามใช้เรื่องเล่า ถ้าคนได้ฟังเรื่องเล่าดี ๆ น่าจะทำให้คนมีความสุข ทำให้จิตใจเข้มแข็ง มีกำลังใจในการทำงานอย่างมีคุณภาพต่อไป...
...สำหรับคนที่เล่าเรื่องราว ก็จะนำเรื่องราวดี ๆ ของตัวเองมาเล่าให้คนอื่นฟัง ความดีที่เราทำ ถ้าได้เล่าก็จะมีความสุข ในขณะที่คนฟังก็อยากจะทำดีด้วย...

     โรงพยาบาลกะพ้อใช้เทคนิค “เรื่องเล่า” มาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลหลังจากเข้าร่วมโครงการ SHA ซึ่งได้ส่งเจ้าหน้าโรงพยาบาลไปอบรมและกลับมาดำเนินการขยายผล

     ซาฮีมี รือสะ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ หัวหน้างานผู้ป่วยนอก เล่าว่า

ตอนที่ สรพ.จัดอบรมเรื่องเล่า ทางโรงพยาบาลได้ส่งไปอบรม โดยส่วนตัวชอบเรื่องการขีดเขียนอยู่แล้ว ไปอบรมได้เรียนรู้และเห็นว่ามีประโยชน์ กลับมาก็ลองให้ทุกคนเขียนเรื่องเล่าที่อยากเขียน บางคนมีศักยภาพสูงในการเขียนเล่าเรื่องราวของตัวเอง มีการจัดประกวดเรื่องเล่า มีการนำเรื่องเล่าไปเล่าในที่ประชุมของโรงพยาบาล...

 

การนำเรื่องเล่ามาใช้นั้น เป็นการทำให้คนทำงานเข้าถึงมิติหนึ่งในการพัฒนาโรงพยาบาล คือ ทางด้านจิตใจของเจ้าหน้าที่ ให้เห็นถึงคุณค่าความดีงามของตนเองและผู้อื่น

     นิอายุบ นิเงาะ กล่าวถึงเรื่องเล่าซึ่งเป็นหนึ่งในหลายเครื่องมือที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการ SHA ที่ก่อนหน้านั้นการทำคุณภาพ (HA) ของโรงพยาบาลเริ่มมีข้อจำกัด

 ตอนหลัง ๆ ที่ทำคุณภาพก็สังเกตุว่าเจ้าหน้าที่เครียด ไม่ค่อยมีความสุข...

     และได้ตั้งข้อสังเกตุว่า การทำคุณภาพ (HA) ค่อนข้างเน้นไปทางด้านกายภาพ ละเลยมิติทางด้านจิตใจ ละเลยมิติความเป็นมนุษย์ ซึ่งจากการได้รับการประชาสัมพันธ์ให้เข้าร่วมโครงการ SHA เห็นว่าน่าจะช่วยเติมเติมกับสิ่งที่ขาดหายไปได้ จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการฯ

     จากการเข้าร่วมโครงการฯ โรงพยาบาลได้นำแนวคิดต่าง ๆ ที่ส่วนใหญ่สอดคล้องกับวิถีการทำงานของโรงพยาบาล สอดคล้องกับบริบทพื้นที่มาปรับใช้ซึ่งก็ได้ผลดีหลายประการทั้งในด้านกายภาพและการเติมเต็มในมิติความเป็นมนุษย์

 

โปรดติดตามตอนต่อไป....

 

.

คำสำคัญ (Tags): #sha#กะพ้อ#ร.พ.กะพ้อ
หมายเลขบันทึก: 443196เขียนเมื่อ 9 มิถุนายน 2011 19:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท