ธรรมะจากหนังสือแสงส่องใจ


นำธรรมะจากหนังสือแสงส่องใจ พระนิพนธ์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก  ซึ่งคัดเฉพาะใจความสำคัญส่วนหนึ่ง เพื่อให้อ่านง่ายขึ้น  ในธรรมะแต่ละประเด็นนั้น  เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงใช้การวิเคราะห์วิจารณ์อย่างน่าสนใจยิ่ง

 

เมื่อใจร้อนด้วยความขัดเคืองใจ น้อยใจ เสียใจ หรือโกรธแค้นขุ่นเคือง ให้ย้ำตนเอง ว่ากำลังขาดเมตตา เมตตาไม่พอจึงเร่าร้อน เพราะโกรธผู้ที่ทำเรื่องไม่เจริญหูเจริญใจให้เกิดแก่ตน หรือแก่เป็นที่รักแห่งตน ถ้าเมตตาพอ จะเห็นความน่าเมตตาของผู้เป็นเหตุให้เกิดเรื่องเกิดเสียงแรงร้ายทั้งหลาย
...............
เมตตา เป็นเครื่องค้ำจุนโลก คือค้ำจุนทุกคน ผู้มีเมตตาคือผู้ค้ำจุนทั้งตนเองและผู้อื่น ค้ำจุนตัวเองประการสำคัญคือทำความสงบสบายใจให้เกิดแก่ตนเอง
...............
ไม่มีความสบายใดจะเสมอด้วยความสบายใจ และความสบายใจจะไม่เกิดแต่เหตุใดเสมอด้วยเหตุคือเมตตา   การอบรมเมตตาจึงสำคัญ จึงจำเป็น
...............
เมตตา นั้นเมื่ออบรมเสมอจะเพิ่มพูนไพศาล แผ่ไปได้ถึงสรรพสัตว์ทั้งหลาย มนุษย์ทั้งปวง และกระทั่งถึงพรหมเทพ ท่านจึงแสดงไว้ว่า “ผู้มีขันติเป็นที่รักที่ชอบใจของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย” เพราะผู้มีขันติคือผู้มีเมตตา
...............
อบรมเมตตาให้อย่างยิ่ง แล้วขันติจะตามมา เป็นผลของเมตตา
...............
การอบรมเมตตาเพื่อให้เกิดขันติ มีสติเป็นตัวสำคัญ
...............
เมื่อ ใจจะหวั่นไหวด้วยความไม่ชอบใจ ด้วยความโกรธ พึงมีสติระลึกรู้ให้ทัน ปรามตัวเองให้ทัน ด้วยบอกแก่ตัวเองอย่างจริงใจ ว่ามีเมตตาไม่พอ ถ้าเมตตาพอ ก็จะเมตตาผู้ที่ทำให้ใจเกิดความหวั่นไหว จะเข้าใจที่เขาพูดเขาทำเช่นนั้นอันไม่ถูกไม่ชอบ ว่าเพราะจิตใจเขาอยู่ในระดับนั้น อันจะฉุดลากเขาให้ลำบากสถานเดียว ควรเมตตาเขานัก
...............
ทุกคนจะต้องประสบพบสิ่งไม่ต้องหูไม่ ต้องจาไม่ต้องใจมากมายในแต่ละวัน พึงเตือนตนเองให้จริงใจว่าเมตตาของตนยังไม่พอ ต้องอบรมเมตตาให้มากยิ่งขึ้น หยุดโกรธแค้นขุ่นเคืองน้อยใจเสียใจร้อนใจเพราะเสียงเพราะเรื่องที่กระทบได้ เมื่อใด เมื่อนั้นจึงแสดงว่ามีเมตตาพอสมควร พอจะช่วยตนเองและช่วยผู้อื่น ให้ร่มเย็นเป็นสุขได้ เมื่อนั้นทุกคนจะรู้สึกด้วยตนเอง ว่าเมตตาค้ำจุนโลกจริง เมตตาช่วยตนก่อนจริง เมตตาใหญ่ยิ่งจริง 

ช้างนาฬาคิรีที่กำลังบ้าคลั่งเมามันยังพ่ายแพ้แก่ พระเมตตาของสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีอำนาจร้ายแรงใดจะทานอำนาจแห่งเมตตาได้ นี้เป็นสัจจะคือความจริง ที่จะเป็นจริงเสมอไปไม่มีเปลี่ยนแปลง
...............
พลังร้ายภายนอกยิ่งแรง ยิ่งต้องใช้พลังเมตตาที่แรง เมื่อใดพลังเมตตาแรงพอ ก็จะสยบพลังร้ายได้สิ้น
...............
เมตตา เป็นบาทของศีล เพราะเมตตาจะทำให้ไม่เบียดเบียนทำความเดือดร้อนให้เกิด ความไม่เบียดเบียนคือศีล ผู้มีศีลเป็นผู้ไม่เบียดเบียนให้เกิดความเดือดร้อน ทั้งมากน้อยหนักเบา
...............
การเว้นจากทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง เป็นการไม่เบียดเบียน เป็นเมตตา และเป็นศีล
...............
การเว้นจากถือเอาของที่เจ้าของไม่ยินดีอนุญาตให้ เป็นการไม่เบียดเบียน เป็นเมตตา และเป็นศีล
...............
การเว้นจากประพฤติผิดประเวณีในบุตรภริยาสามีผู้อื่น  เป็นการไม่เบียดเบียน เป็นเมตตา และเป็นศีล
...............
การเว้นจากการพูดให้เกิดความเข้าใจผิดจากความจริง เป็นการไม่เบียดเบียน เป็นเมตตา และเป็นศีล
...............
การเว้นจากสิ่งทำให้มึนเมา เป็นการไม่เบียดเบียน เป็นเมตตา และเป็นศีล
...............
เมตตากับศีลเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเสมอ ยากจะแยกจากกันได้ ผู้มีศีลก็คือผู้มีเมตตา ผู้มีเมตตาย่อมเป็นผู้มีศีล
...............
ผู้ไม่มีศีลคือผู้ไม่มีเมตตา เพราะศีลคือความไม่เบียดเบียนด้วยประการทั้งปวง ไม่เบียดเบียนทั้งตนเอง และไม่เบียดเบียนทั้งผู้อื่น 

 

ความไม่มีศีลเป็นความเบียดเบียน ให้เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อน ทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น ซึ่งแม้เป็นผู้มีเมตตาจะไม่อาจทำได้ นั่นก็คือผู้มีเมตตาเป็นผู้มีศีล เพราะผู้มีเมตตาจะไม่อาจล่วงละเมิดศีลข้อที่ 1 คือเว้นจากทำชีวิตสัตว์ให้ล่วง รวมทั้งไม่อาจทำความทุกข์ทรมานให้เกิดแก่สัตว์

ผู้มีเมตตาจะไม่ อาจละเมิดศีลข้อที่ 2 คือเว้นจากการถือเอาข้าวของที่เจ้าของไม่ยินดีอนุญาตให้ ของที่เจ้าของให้อย่างจำใจอย่างไม่ยินดี ผู้มีเมตตาก็จะต้องเว้น จะไม่ละเมิดศีลข้อนี้ เพราะการละเมิดนี้จะเป็นการก่อทุกข์ให้เกิดแก่ผู้เป็นเจ้าของ

ผู้มีเมตตาจะไม่อาจละเมิดศีลข้อที่ 3 คือเว้นจากประพฤติผิดประเวณีในบุตรภรรยาสามีผู้อื่น อันเป็นการก่อความทุกข์

ผู้ มีเมตตาจะไม่อาจละเมิดศีลข้อที่ 4 คือเว้นจากพูดให้เกิดความเข้าใจผิดจากความจริง อันจักก่อให้เกิดความเสียหายความเป็นทุกข์เดือดร้อนได้

ผู้มีเมตตาจะไม่อาจละเมิดศีลข้อที่ 5 คือเว้นจากสิ่งทำให้มึนเมา อันจักเป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนวุ่นวายได้ต่างๆ
...............
ศีล เกิดแต่เมตตา เมตตาเกิดกับศีล ทั้งสองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ศีลของผู้ใดบกพร่อง เมตตาของผู้นั้นก็เป็นอันบกพร่องด้วย บกพร่องทั้งเมตตาตนเอง และบกพร่องทั้งเมตตาผู้อื่น
...............
อัน เมตตาตนเองกับเมตตาผู้อื่นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แยกจากกันไม่ได้ การไม่เมตตาผู้อื่นก็เป็นการไม่เมตตาตนไปพร้อมกัน พึงคิดถึงสัจจะประการหนึ่งที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ คือ  “ทำดีจักได้ดี ทำชั่วจักได้ชั่ว ผู้ใดทำกรรมใดไว้จักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น”
...............
“เมตตา เป็นเครื่องค้ำจุนโลก”  มีพระพุทธศาสนสุภาษิตแสดงไว้เช่นนี้ เมื่อเมตตาเป็นเหตุให้มีศีล ศีลเกิดแต่เมตตา เมตตาเป็นเครื่องค้ำจุนโลก ก็คือศีลเป็นเครื่องค้ำจุนโลกเช่นกัน โลกมิได้หมายถึงเพียงดาวดวงหนึ่งดังที่เป็นที่เข้าใจอยู่ แต่โลกหมายถึงตนเอง หมายถึงเขาอื่นทั้งหลายทั้งปวง ผู้มีเมตตาหรือผู้มีศีลจึงเป็นผู้ค้ำจุนตนเองและค้ำจุน ผู้อื่นทั้งหลาย

โทสะคือความโกรธเปรียบได้ดังไฟ เพราะเมื่อความโกรธเกิดขึ้นเมื่อไร ความร้อนจะเกิดขึ้นพร้อมกันทันที ไม่เพียงร้อนที่ใจ แต่ยังร้อนถึงกายได้ด้วย มากน้อยตามแรงแห่งโทสะ  แต่ทั้งๆที่พากันกลัวไฟไหม้ ก็ไม่พากันกลัวโทสะ ทั้งที่ความจริงนั้นโทสะไหม้แรงกว่าไฟทั้งหลายเป็นอันมาก โทสะอาจจุดไฟทั้งหลายให้ลุกโพลงได้ เมื่อความโกรธเกิดขึ้นถึงจุดหนึ่ง ก็เป็นเหตุให้จุดไฟเผาผลาญอาคารบ้านเรือนให้พินาศหมดสิ้นไปได้ พร้อมกับชีวิตผู้คนได้ด้วย มีปรากฎให้รู้ให้เห็นอยู่เสมอ  เพียงแต่ไม่พากันคิดให้เข้าใจ ว่านั่นคือโทษของโทสะ ที่รุนแรงน่าสะพึงกลัวยิ่งกว่าพระเพลิงหลายร้อยหลายพันเท่า
...............
เมตตาเปรียบได้ดังน้ำจริงๆ น้ำดับไฟได้ฉันใด เมตตาก็ดับโทสะหรือความโกรธได้ฉันนั้น
...............
เปรียบ โทสะดังไฟ เพราะไฟร้อน และโทสะก็ร้อน เปรียบเมตตาดังน้ำ เพราะน้ำเย็น และเมตตาก็เย็น ความร้อนและความเย็นทั้งสองนี้จะปรากฏได้ในจิตใจ รู้ได้ด้วยตนเอง รู้สึกร้อนที่ใจเป็นประจำ ก็พึงรู้ว่าตนถูกโทสะครอบคลุมมาก มากกว่าเมตตา รู้สึกเย็นอยู่ที่ใจเป็นปกติ ก็พึงรู้ว่าตนมีเมตตาห้อมล้อมอยู่ มากกว่าโทสะ
...............
ทุก คนชอบเย็น ทุกคนไม่ชอบร้อน แต่ไม่ทุกคนที่รู้จริง ว่าความเย็นเกิดแต่เมตตาจริงๆ และความร้อนก็เกิดแต่โทสะจริงๆ จะให้รู้ได้ด้วยตนเองตามความเป็นจริง เพื่อสามารถหนีพ้นความร้อนได้มีความเย็น ก็ต้องใช้สติ เมื่อความโกรธคือโทสะเกิดให้รู้ตัวว่ากำลังโกรธแล้ว  ขณะเดียวกันก็ให้สังเกตว่าจิตใจหน้าตาเนื้อตัวเวลาโกรธร้อนผิดปกติ นั่นคือเครื่องยืนยันว่าโทสะให้ความร้อน และเป็นความร้อนที่ไม่มีประโยชน์ มิใช่ให้ความร้อนที่อาจนำไปหุงหาอาหารได้ โทสะจึงให้แต่โทษ ไฟยังดีกว่าโทสะ เพราะไฟให้คุณ คือใช้ทำประโยชน์ได้ โทสะมีแต่โทษ พึงระลึกถึงความจริงนี้ไว้ จะเป็นคุณต่อไป
...............
มีเป็น อันมากที่รู้ความเป็นผู้มักโกรธของตน รู้โทษนั้น เมื่อปรารถนาจะหนีให้พ้นโทษของความโกรธก็พึงรับความจริง ว่าเมตตาเท่านั้นที่จะดับความโกรธได้ เมตตาเท่านั้นที่จะป้องกันมิให้ความโกรธรุนแรงได้ บางทีจึงใช้วิธีที่ง่าย คือใช้คำภาวนาเมื่อความโกรธเกิดขึ้น เช่นท่องพุทโธ พุทโธ แต่แม้จะให้เป็นปัญญา ป้องกันความโกรธให้ไกลออกเป็นลำดับ ให้เมตตามากขึ้นเป็นลำดับ ก็ต้องเปลี่ยนคำภาวนาอันเป็นสมาธิ ให้มาเป็นคำภาวนาอันเป็นปัญญา คือด้วยการบอกตัวเอง หรือเตือนตัวเองนั่นแหละ ว่า “เมตตาไม่พอ เมตตาไม่พอ” ความสำคัญในการภาวนาว่า “เมตตาไม่พอ”  อยู่ที่ต้องทำใจให้ยอมรับความบกพร่องของใจตน ว่าเมตตาไม่พอจริงๆ นั่นแหละจึงจะเป็นการค่อยผลักดันโทสะที่มีอยู่เต็มโลกให้ห่างไกลใจตนได้ สำเร็จเป็นลำดับไป 

หมายเลขบันทึก: 44300เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2006 12:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 00:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท