การบริหารการเปลี่ยนแปลง : กรณีของงานราชทัณฑ์


การบริหารการเปลี่ยนแปลง: กรณีของงานราชทัณฑ์

นัทธี  จิตสว่าง 

การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงของสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และเทคโนโลยีนับเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งที่ส่งผลกระทบต่อการบริหารองค์การ องค์การใดไม่สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมได้ก็จะประสบปัญหากระทบต่อประสิทธิภาพและความอยู่รอดขององค์การ การเตรียมพร้อมและเข้าไปบริหารการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นของการบริหารองค์การในปัจจุบัน

 

งานราชทัณฑ์ก็เช่นกัน หากไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วก็จะประสบปัญหาได้ เพราะสภาพแวดล้อมทั้งภายนอกและภายในของงานราชทัณฑ์เปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก โดยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญก็คือ การเปลี่ยนแปลงในลักษณะทางประชากรของผู้ต้องขัง กระแสสิทธิมนุษยชนและการตรวจสอบภาครัฐ ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และปัจจัยทางด้านการเมือง

 

หากจะย้อนดูในปี พ.ศ.2545 จำนวนผู้ต้องขังเคยเพิ่มสูงขึ้น 260,660 คน เนื่องจากปัญหายาบ้าที่ระบาดสูงสุด จนทำให้มีการปราบปรามอย่างหนักจนผู้ต้องขังเพิ่มขึ้น แต่การเพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นผู้ต้องขังที่เป็นผู้เสพยาเสพติดเป็นส่วนใหญ่การคุมขังจึงไม่ก่อปัญหาใดๆ เท่าไรนัก และภายหลังเมื่อมีการประกาศใช้ระบบฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดพ.ศ. 2545 ให้นำผู้เสพติดไปบำบัดฟื้นฟูแทนการจำคุก จึงทำให้จำนวนผู้ต้องขังลดลงเหลือ 150,400 คน ในปี พ.ศ.2545 แต่ต่อมาผู้ต้องขังกลับมาเพิ่มสูงขึ้นเป็น 220,150 คน ในปี พ.ศ.2554 นี้


แต่การเพิ่มขึ้นของผู้ต้องขังเป็น 220,150 คน ในครั้งนี้ไม่ใช่ผู้เสพยาเสพติดอีกต่อไป แต่เป็นผู้ค้า ผู้จำหน่าย ผู้ผลิต ซึ่งมีเครือข่าย มีอำนาจเงินรวมตลอดถึงแก๊งอาชญากรต่าง ๆ ที่มีการรวมตัวกันภายนอกซึ่งถูกจับมามากขึ้น และมียอดสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะเข้าแล้วไม่ออกเนื่องจากได้รับลดโทษน้อยจึงทำให้การควบคุมผู้ต้องขังในปัจจุบันเป็นไปด้วยความยากลำบาก และยิ่งผู้ต้องขังเหล่านี้ได้รับการส่งเสริมคุ้มครองจากสิทธิมนุษยชนตามประเทศตะวันตก จึงทำให้การควบคุมยิ่งยากขึ้นกว่าเดิม เจ้าหน้าที่จะถูกกลั่นแกล้ง ร้องเรียนอยู่เป็นประจำ เข้าทำนอง อยู่ข้างนอกเป็นผู้ร้าย อยู่ข้างในเป็นพระเอก


ประกอบกับความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีโดยเฉพาะการสื่อสารผ่านโทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ต ทำให้กำแพงเรือนจำและห้องขังธรรมดาหรือแม้แต่ เกาะกลางทะเลไม่สามารถใช้เป็นที่ควบคุมบุคคลเหล่านี้ได้เพราะกำแพงไม่สามารถปิดกั้นการสื่อสาร จนทำให้ผู้ต้องขังสามารถที่จะก่ออาชญากรรมผ่านออกไปจากในเรือนจำได้ เมื่อประกอบกับอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ที่มีน้อยเมื่อเทียบสัดส่วนกับผู้ต้องขัง 1 ต่อ 80 ถึง 1 ต่อ 100 ในเรือนจำ จึงทำให้การควบคุมเพื่อความอยู่รอดสามารถดำเนินผ่านไปได้ในแต่ละวัน


กล่าวอีกนัยหนึ่ง ลักษณะทางประชากรของผู้ต้องขังเปลี่ยนไป จากขี้ยาเป็นพ่อค้ายาเสพติดและผู้ร้ายรายสำคัญ แต่เรายังใช้เรือนจำที่มีสภาพแบบเดิมที่เคยใช้คุมขังผู้ต้องขังคดีเสพยาคุมขังผู้ต้องขังคดีค้ายาเสพติดในขณะที่สิทธิมนุษยชนเฟื่องฟูมากขึ้น เทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้น แต่วิธีการควบคุมของเรือนจำยังเหมือนเดิม ลักษณะเช่นนี้ เหมือนการพยายามเอา "สุ่มไก่มาขังเสือ" ทำให้เจ้าหน้าที่เมื่อขาดกลไกและอัตรากำลังที่จะควบคุมผู้ต้องขังได้อย่างมีประสิทธิภาพ บางส่วนจึงใส่เกียร์ว่าง และบางส่วนเข้าไปมีผลประโยชน์


ดังนั้นสิ่งที่จะต้องเข้ามาแทนที่การควบคุมอาชญากรยุคใหม่ก็คือ เรือนจำยุคใหม่ที่เปลี่ยนไปจากเดิมทั้งกายภาพและวิธีการควบคุม โดยจะต้องเป็นเรือนจำที่มีการออกแบบให้มีความมั่นคงแข็งแรงใช้เทคโนโลยี สามารถปิดกั้นการติดต่อสื่อสารในการสั่งการประกอบอาชญากรรมภายนอกของผู้ต้องขังได้ เรียกว่าเรือนจำ Super-Maximum Security Prison


เรือนจำมั่นคงสูงสุดจะใช้การออกแบบอาคารสถานที่ที่จะทำให้เจ้าหน้าที่เรือนจำเพียงไม่กี่คนสามารถดูแลควบคุมผู้ต้องขังจำนวนมากได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อผนวกเข้ากับการใช้เทคโนโลยีมาช่วยจะทำให้การดูแลควบคุมผู้ต้องขังมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะเทคโนโลยีเครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์ วงจรปิด และวงจรไฟฟ้าแรงสูงป้องกันการหลบหนี


อาคารสถานที่ที่ออกแบบมาเพื่อการควบคุมผู้ต้องขังเป็นกลุ่มๆ ตลอดเวลาที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำมั่นคงสูงสุด ผู้ต้องขังดังกล่าวจะได้พบปะกับผู้ต้องขังอื่นๆ ในเรือนจำนั้น ไม่เกิน 50 คน ผู้ต้องขังจะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในห้องนอนและพื้นที่ส่วนกลางที่ไม่กว้างขวางเท่าใดนักเท่านั้น


การเยี่ยมญาติ ญาติจะเป็นฝ่ายเดินเข้าไปในเรือนจำผ่านช่องทางพิเศษโดยผ่านการตรวจตราไปพบกับผู้ต้องขังในเรือนจำ ผู้ต้องขังไม่ต้องเดินออกมาจากแดนหรือเขตการควบคุมการตรวจรักษาพยาบาลกระทำในแดนหรือเขตควบคุม ยกเว้นกรณีที่ป่วยหนัก


กิจกรรมหลักภายในเรือนจำมั่นคงสูงสุดคือ การอ่านหนังสือ เขียนหนังสือ ศิลปะ การปฏิบัติธรรม และการเล่นกีฬาบางประเภทไม่มีการฝึกวิชาชีพหรือการทำงานที่ต้องมีวัตถุดิบเข้าออกมากมาย ยากต่อการตรวจค้น รวมตลอดถึงกิจกรรมบันเทิงอื่นๆ เพราะเรือนจำประเภทนี้เน้นการควบคุม


ในเรือนจำมั่นคงสูงสุดยังมีห้องแยกขังสำหรับผู้ต้องขังที่กระทำผิดวินัยตัดขาดจากผู้ต้องขังอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่กันชนที่กว้างขวางทั้งด้านนอกและด้านในกำแพงยากต่อการที่จะมีบุคคลแอบแฝงเข้ามาขว้างสิ่งของเข้าในเรือนจำหรือหลบหนีเพราะเป็นพื้นที่โล่งเตียนมีตาข่ายกันหลายชั้น


เรือนจำมั่นคงสูงสุด ที่แยกเขตควบคุมของผู้ต้องขังออกเป็นส่วนย่อยๆ หลายๆ ส่วน ทำให้ผู้ต้องขังไม่มีโอกาสติดต่อกับผู้ต้องขังนอกเขต และตัดการเรียนรู้ สร้างอิทธิพล สร้างเครือข่าย ลดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ และเพิ่มประสิทธิภาพต่อเจ้าหน้าที่  ในการควบคุม ตัดขาดจากการติดต่อภายนอกโดยใช้การออกแบบอาคารสถานที่และเทคโนโลยี


ปัญหาของเรือนจำมั่นคงสูงสุดคือต้องใช้งบประมาณสูงในการก่อสร้าง และการบำรุงรักษา แต่เนื่องจากเรือนจำประเภทนี้เหมาะสำหรับคุมขังผู้ต้องขังบางประเภทเท่านั้น โดยเฉพาะผู้ต้องขังที่เป็นผู้ร้ายรายสำคัญ นักค้ายาเสพติด หรือผู้ต้องขังที่ยากต่อการควบคุม ผู้ต้องขังอื่นๆ อีกจำนวนมาก คงใช้เรือนจำธรรมดาโดยทั่วไปคือเรือนจำมั่นคงระดับสูง มั่นคงระดับกลาง และมั่นคงระดับต่ำ ลดหลั่นกันไป


เมื่อเรือนจำมั่นคงสูงสุดมีความจำเป็นและมีประสิทธิภาพในการควบคุมผู้ต้องขังรายสำคัญเช่นนี้แล้ว เหตุใดจึงยังไม่มีการวางแผนเตรียมการล่วงหน้าในการก่อสร้างเรือนจำมั่นคงสูงสุดเพื่อรับมือกับประชากรผู้ต้องขังที่เปลี่ยนแปลงไป คำตอบอยู่ที่ว่าฝ่ายบริหารของราชทัณฑ์จะสามารถโน้มน้าว ชักจูงยืนยันให้ฝ่ายการเมืองเห็นความสำคัญและความจำเป็นของการมีเรือนจำมั่นคงสูงสุดหรือไม่ โดยชี้ให้เห็นว่าเรือนจำมั่นคงสูงสุดมีความจำเป็นมากกว่าเรือนจำในจังหวัดของสมาชิกสภาผู้แทนนั้นๆ  รวมถึงชี้ให้เห็นว่าปัญหาของราชทัณฑ์อยู่ที่กรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑล การสร้างและขยายเรือนจำ ถ้าจะพึงมีควรเน้นที่พื้นที่นี้มากกว่าในจังหวัดห่างไกล ซึ่งโดยปกติเรือนจำเล็กๆ ในต่างจังหวัดสามารถควบคุมผู้ต้องขังได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้อาคารสถานที่จะทรุดโทรม เนื่องจากลักษณะของผู้ต้องขังไม่ยากต่อการควบคุม


นอกจากนี้ สิ่งสำคัญประการหนึ่งของการบริหารการเปลี่ยนแปลงก็คือ การก้าวข้ามปัจจัยทางการเมืองไปให้ได้ ดังนั้น หากสามารถสร้างเรือนจำในเขตปริมณฑลเป็นเรือนจำกลางรองรับผู้ต้องขังเด็ดขาดจากเรือนจำในเขตกรุงเทพมหานคร แล้วเปลี่ยนเรือนจำใหญ่ๆในกรุงเทพมหานคร เช่น เรือนจำกลางบางขวางและเรือนจำกลางคลองเปรม เป็นเรือนจำพิเศษหมด เนื่องจากอยู่ในเขตเมือง ต่อไปการระบายผู้ต้องขังจากเรือนจำใหญ่ในกรุงเทพมหานครไปในต่างจังหวัดเล็กๆ จะลดน้อยลงการนำเรื่องหรือวัฒนธรรมเรือนจำใหญ่ไปเผยแพร่ หรือไปสร้างอิทธิพลในเรือนจำเล็กๆ ก็จะลดน้อยหรือหมดไป และเท่ากับเป็นการจำแนกแยกประเภทผู้ต้องขังตั้งแต่แรกเข้า


ในขณะที่การพัฒนาบุคลากรของราชทัณฑ์ต้องเน้นทักษะใหม่ของบุคลากรราชทัณฑ์คือ ความสามารถในการจำแนกสืบค้นและป้องกันการกระทำความผิดและการสร้างเครือข่ายในเรือนจำ ส่วนการบริหารงานเรือนจำต้องเปิดกว้างและรับการมีส่วนร่วมจากภายนอกทุกฝ่าย ราชทัณฑ์ยุคใหม่ต้องเป็นยุคปลาทองในอ่างแก้วที่พร้อมรับการตรวจสอบ และพร้อมที่จะก้าวเดินไปสู่ระบบงานราชทัณฑ์ยุคใหม่ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมและประชากรผู้ต้องขังที่เปลี่ยนไป


โดยสรุป กรณีของงานราชทัณฑ์เป็นตัวอย่างอีกประการหนึ่งขององค์การที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การขาดการบริหารการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะการก้าวข้ามปัจจัยทางการเมืองในการเตรียมการก่อสร้างเรือนจำรูปแบบใหม่ เพื่อรองรับกับอาชญากรยุคใหม่เป็นสิ่งจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้การตื่นตัวเรื่องของสิทธิมนุษยชน และการมีความรู้ ฐานะ เครือข่ายของผู้ต้องขังที่มีมากขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องปรับวิธีการทำงานใหม่ให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น การพัฒนาก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสารทำให้กำแพงเรือนจำไม่สามารถปิดกั้นการติดต่อสื่อสารของผู้ต้องขังกับบุคคลภายนอกได้ต่อไปสิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การบริหารการเปลี่ยนแปลงในงานราชทัณฑ์เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้


***********************

หมายเหตุ  อ่านบทความด้านอาชญาวิทยา  ทัณฑวิทยา เรื่องอื่นๆ คลิ๊กที่สารบัญด้านขวา

หมายเลขบันทึก: 442713เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2011 16:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 14:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ยากพอสมควรเลยนะครับ เป็นกำลังใจให้

เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งในแนวคิดของท่านนัทธีฯ เนื่องจากปัจจุบันราชทัณฑ์มีปัญหาในการบริหารอย่างมาก และขอเอาใจช่วยให้ท่านนำแนวคิดนี้เสนอต่อฝ่ายการเมืองให้เห็นด้วย จะทำให้ราชทัณฑ์พ้นจากวิกฤติได้

เรือนจำความมั่นคงสูงระดับ AAA อาจทำให้พวกเรามองข้ามเรือนจำเล็กๆตามแนวชายแดนได้ เห็นได้จากข่าวการตรวจค้นพบโทร.มือถือใน รจ.อ.แห่งหนึ่ง ที่ไม่ได้จัดเป็นเป้าหมายด้านความมั่นคงในระดับใดเลย นะค่ะ

สายเลือดราชทัณฑ์ไม่มีวันจางครับท่าน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท