๕๒.เมื่อ ว.วชิรเมธี เปิดเวทีฯ ณ ไร่เชิญตะวัน ๑


ต้องสรุปเป็นแก่น เช่น ข้อ 1-5 ต่อให้ใช้ภาษาร่วมสมัยอย่างไรก็ตาม ต้องโยงกลับเข้าหาพระไตรปิฎกได้ทั้งหมด พระนักเผยแผ่ต้องมีหลัก เพราะหลักลอยก็ถอยหลัง ...เราถูกตอบโต้ เราก็จะเซ ถ้าเซแล้วจะพลาด ย่อมนำความเสื่อมเสียมาสู่สังฆมณฑลได้

   

    ปลายปีที่แล้ว ได้มีโอกาสได้ไปเยี่ยมไร่เชิญตะวัน จังหวัดเชียงรายของท่านอาจารย์พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี จึงได้มีโอกาสนักสนทนากับท่านหลายเรื่องโดยเฉพาะเรื่องพุทธศาสนาเชิงรุก ที่ท่านกำลังทำและผู้เขียนกำลังสนใจอยู่ด้วย

     พระมหาวุฒิชัย  วชิรเมธี  ถือว่าเป็นพระนักคิด นักเขียน เป็นคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจต่อสถานการณ์ทางพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง และคิดค้นเทคนิคการนำเสนอพุทธธรรมด้วยภาษาที่ทันยุคทันสมัย จนสร้างกระแสธรรมอินเทนด์ขึ้นมาท่ามกลางสังคมกำลังวิกฤติและมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อพุทธศาสนา โดยเฉพาะคำสอนที่ไม่สามารถตอบสนองของประชาชนได้

                การเข้าไปสัมภาษณ์ครั้งนี้ เป็นการเข้าไปสัมภาษณ์ถึงที่หลังจากพลาดโอกาสในการเข้าพบหลายครั้ง เนื่องจากภารกิจของท่านมีมากเหลือเกิน ผู้สัมภาษณ์จึงจอนำเสนอบทสัมภาษณ์ดี ๆ ดังนี้

 

มหาศรีบรรดร (ต่อไปจะใช้คำว่า “ผู้สัมภาษณ์”  แทน)

     สวัสดีครับอาจารย์ เป็นอย่างไรบ้างครับงานช่วงนี้ เห็นเดินทางไปมาระหว่างเชียงราย-กรุงเทพฯ ตลอดเวลา

พระมหาวุฒิชัย  วชิรเมธี (ต่อไปจะใช้คำว่า “ว.วชิรเมธี”  แทน)

         สวัสดีครับ ช่วงนี้มีงานอยู่ตลอดครับ  ท่านอาจารย์มีอะไรจะสอบถามผมหรือครับ

 

ผู้สัมภาษณ์            :ผมขอทราบแนวคิดเกี่ยวกับพุทธศาสนาเชิงรุก ตลอดจนถึงทิศทางและวิธีปฏิบัติด้วยครับ

ว.  วชิรเมธี           :ก่อนที่จะพูดถึงพุทธศาสนาเชิงรุก ต้องเข้าใจว่าเชิงรับคืออะไร? พุทธศาสนาเชิงรับคือการเผยแผ่พุทธศาสนาตามยถากรรม คำว่าตามยถากรรมคือการทำการเผยแผ่ ทำกันไปแบบใคร

อยากเทศน์-ก็เทศน์ ใครอยากสอน-ก็สอน ว่ากันไปตามที่จะคิดได้โดยไม่มีรูปแบบ พูดง่ายๆ คือขาดการจัดการ เป็นการเผยแผ่เป็นไปตามธรรมชาติ เท่าที่พระสงฆ์รูปนั้น ๆ จะพึงนึกได้ หรือจะพึงทำได้ เรียกง่าย ๆ ว่าเป็นการเผยแผ่ตามยถากรรม

     ส่วนการเผยแผ่เชิงรุก หัวใจสำคัญอยู่ที่ management  คือการจัดการ มีการจัดการที่ดีและมีการวางแผนยุทธศาสตร์ทำงานการเผยแผ่อย่างมีแบบแผน เช่น ต้องมีการทำ  SWOT  Analysis  ต้องพิจารณาดูว่าจุดแข็งคืออะไร จุดอ่อนคืออะไร ภัยคุกคามคืออะไร แนวโน้มเป็นอย่างไร ตามทฤษฎี SWOT

     จุดแข็ง คือ พระพุทธศาสนามีหลักคำสอนที่สมบูรณ์แบบที่สุด เพราะว่าพระพุทธเจ้าทรงวางคำสอนของพระองค์ไว้อย่างเป็นระบบ สมบูรณ์แบบที่สุด เกวลปริปุณฺณฺ... มีความครบถ้วน สมบูรณ์ บริสุทธิ์ทั้งเนื้อหาและสาระตลอดจนถึงคำและความ พูดง่าย ๆ ว่าพรหมจรรย์ในพระพุทธศาสนานั้นบริสุทธิ์บริบูรณ์ ถึงพร้อมด้วยคำและความ หรืออักษร เนื้อหาสาระ ฉะนั้นในแง่ของเนื้อหาสาระในพุทธธรรมนั้น มีเนื้อหาสาระที่สมบูรณ์แบบที่สุดที่พระพุทธองค์ทรงวางเอาไว้

     จุดอ่อน คืออะไร จุดอ่อนคือขาดการวางแผนการเผยแผ่ แทบจะเรียกว่าโดยจะสิ้นเชิงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทยมันคือจุดอ่อน

     โอกาส คืออะไร พุทธศาสนาเป็นศาสนาว่าด้วยการกำจัดทุกข์ มนุษย์ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ มนุษย์มีทุกข์อยู่แล้ว และนับวันโลกก็วิกฤติมากขึ้น ๆๆๆๆ และยิ่งโลกวิกฤติมากขึ้น มนุษย์ก็หาทางออกและทางออกนี้ทั่วโลกก็ยอมรับว่าพระพุทธศาสนาให้คำตอบสำคัญที่สุดให้แก่โลกได้ ปัญญาชนระดับโลกพูดตรงกันหมด ภูมิปัญญาที่จะดับทุกข์ได้นั้นมีอยู่ในพุทธศาสนา นั้นคือโอกาส

     สิ่งคุกคาม มีอยู่ 2 ประการ คือ หนึ่งกิเลสคือสิ่งคุกคามภายใน  สองสิ่งคุกคามภายนอกคือลัทธินิยม ทุนนิยม ที่เข้ามายึดพื้นที่แทนจิตวิญญาณแทนพื้นที่ทางศาสนา หรือศาสนาอื่น ๆ ที่ทำงานเชิงรุกอยู่แล้ว และการที่เราไม่มีระบบการบริหารจัดการในการเผยแผ่นั้นเองก็เป็นส่วนหนึ่งของจุดอ่อนและตัวของเราเองด้วย

     พอเราวิเคราะห์โดยใช้ทฤษฎี SWOT  Analysis เรียบร้อยแล้ว เห็นจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และสิ่งคุกคามแล้ว ผมก็มาคิดว่าถ้าเราจะทำการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้สื่อสารกับคนร่วมยุคร่วมสมัยอย่างมีพลัง อย่างมีน้ำหนัก อย่างมีความหมายต่อสังคมเราจะทำอย่างไร จึงได้ความหมายว่าจะต้องจัดองค์กรด้านการเผยแผ่อย่างเป็นระบบ โดยใช้ยุทธศาสตร์การเผยแผ่เชิงรุกเพื่อตอบคำถามนี้ ผมจึงก่อตั้งสถาบันวิมุตตยาลัยขึ้นมา โดยมีวิสัยทัศน์ก็คือ ทำงานมุ่งมั่นเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุกเพื่อสร้างสันติภาพโลก โดยมีพุทธศาสนาเชิงรุกเป็นเครื่องมือ โดยมีวิสัยทัศน์ว่า วิมุตตยาลัยเป็นสถาบันการศึกษาทางเลือกที่มุ่งมั่นทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพโลก โดยได้ใช้ยุทธศาสตร์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุกและประยุกต์ให้สอดคล้องกับยุคสมัย ทั้งนี้มีพันธกิจ 4  ประการคือ       

     1.ส่งเสริมการศึกษา

     2.เผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กว้างไกล

     3.ร่วมใจพัฒนาสังคม

     4.สร้างค่านิยมแห่งสันติภาพ  

และเพื่อให้พันธกิจ  4  ประการนี้สำเร็จลุล่วงด้วยดีจึงตั้งหน่วยงานขึ้น 5 หน่วยงาน ประกอบไปด้วย

     1.สำนักเลขานุการ มีหน้าที่รับนโยบายไปปฏิบัติ

     2.สำนักธรรมบริการ มีหน้าที่ให้บริการธรรมะรูปแบบต่าง ๆ

     3.สำนักเทคโนโลยีและธรรมนวัตกรรม  มีหน้าที่บันทึกและจัดเป็นสื่อใหม่ ๆ

     4.สำนักสันติภาวนา  มีหน้าที่บริการจัดการวิปัสสนาทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ

     5.สำนักกิจการต่างประเทศ  มีหน้าที่ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างแดน

     สำนักทั้งห้านี้ทำงานในลักษณะแปรนโยบายสู่การปฏิบัติ โดยผมเองเป็นผู้คิดนโยบายโดยให้สำนักงานเลขาวางแผนและกระจายไปสู่สำนักต่าง ๆ เพื่อนำนโยบายไปปฏิบัติ

 

ผู้สัมภาษณ์            :การเผยแผ่ในจังหวัดพะเยาและหลวงพระบาง เป็นอย่างไรบ้าง?

ว.วชิรเมธี              :ในพะเยาและหลวงพระบาง เท่าที่ทราบมีการเผยแผ่เชิงรุกยังไม่มาก ก็เป็นการเผยแผ่กันในลักษณะเชิงรับและยังจำกัดอยู่ในพื้นที่สูง แต่ว่ามีศักยภาพที่จะทำการเผยแผ่ในลักษณะนี้ยังมีอีกมาก

ผู้สัมภาษณ์            :อาจารย์ครับ พอจะแนะนำพระที่ทำงานด้านการเผยแผ่ ที่ทำงานด้านนี้อยู่อย่างไรบ้าง

ว.วชิรเมธี              :ก่อนจะทำงานต้องพัฒนาพระในพื้นที่ให้มีศักยภาพเป็นพระนักเผยแผ่ก่อนสำคัญที่สุด เพราะถ้าเราไปเริ่มที่การทำงานก่อนโดยที่ไม่มีศักยภาพ มันทำไปได้ไม่ตลอดหรือทำไปเกิดมีคนสนใจมากขึ้นก็ไม่สามารถรองรับความสนใจได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นเริ่มแรกจะเผยแผ่ต้องเริ่มที่จะพัฒนาคน พัฒนาพระให้มีศักยภาพด้านการเป็นนักเผยแผ่ก่อน

     ประการที่สองควรมีการจัดองค์กรด้านการเผยแผ่อย่างเป็นรูปธรรม เพราะถ้าต่างคนต่างทำพลังไม่มี พอไม่มีพลังก็กลายเป็นเบี้ยหัวแตก   ประการที่สาม มีการวางยุทธศาสตร์การเผยแผ่อย่างมีระบบ มี

การวางแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะไกลให้ครบ  ประการที่สี่ พยายามลงสู่ภาคปฏิบัติ คือลงมือทำงานจริง ๆ ไปลุยในสนามจริง ๆ เพื่อตอบโจทย์ชาวบ้านได้ คือต้องเข้าใกล้ เข้าใจ เข้าถึง คือกระบวนการที่ผมใช้อยู่ ยุทธศาสตร์คือ เข้าใกล้ เข้าใจ เข้าถึง โดยมียุทธวิธี ดังต่อไปนี้

     เข้าใกล้  คือการปรับภาพลักษณะของพระพุทธศาสนาให้เป็นศาสนาที่มีชีวิตชีวาไม่ใช่เรื่องน่าเบื่ออีกต่อไป พูดง่าย ๆ ว่า ทำให้พุทธศาสนากลายเป็นศาสนาที่มีความสดความใหม่อยู่เสมอ มิใช่ศาสนาแบบเชย ๆ

     เข้าใจ  คือพยายามนำเสนอพุทธศาสนาให้สามารถเข้าใจกันอย่างง่าย ๆ ในลักษณะที่พูดว่าภาษาคนรู้เรื่อง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เคยรับสั่งว่าทุกวันนี้พระเทศน์ไม่ค่อยเป็นภาษาคน นี้แหละเป็นเหตุให้คิดว่าทำอย่างไรจึงเทศน์ให้เป็นภาษาคน

     เข้าถึง  ทฤษฎีที่เรานำเสนอมาทั้งหมดนั้น ไม่มีอะไร ถ้าเราไม่นำไปสู่การปฏิบัติในชีวิตจริง พุทธศาสนาจะไม่มีค่าถ้าไม่นำมาปฏิบัติ มันเป็นเพียงแค่ศาสตร์หรือระบบปรัชญาเท่านั้น ฉะนั้นเราจะทำอย่างไรจะให้พุทธศาสนามีตัวตนขึ้นมา เราก็ต้องนำมาปฏิบัติ

     ดังนั้น จึงขอสรุปว่า เข้าใกล้ของผมก็คือการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของพุทธศาสนาให้เป็นศาสนาที่มีชีวิตชีวา รู้ร้อน รู้หนาวกับทุกขสัจจ์ของสังคม  เข้าใจก็คือการอธิบายด้วยภาษาร่วมสมัยและตอบโจทย์ของสังคม คนในทุกวันนี้  เข้าถึงคือการนำทฤษฎีสู่การปฏิบัติให้ได้

ผู้สัมภาษณ์            :ท่านอาจารย์ลองขยายตัวอย่างในเรื่องนี้ให้ชัด ๆ หน่อยได้ไหม

ว.วชิรเมธี              :คำว่าเทศน์เป็นภาษาคน เช่น เวลาเราพูดถึงศีล 5 ไม่ได้หมายความว่าพูดให้เขารู้เรื่อง แต่หมายความว่าพูดแล้วมันสามารถตอบโจทย์ให้กับยุคสมัยได้ เช่น ศีลข้อที่หนึ่ง ปานาติปาตา..ห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิต พระก็เทศน์แค่นี้แหละ แต่การที่เรามีการลิดรอนสิทธิมนุษยชนคุกคามธรรมชาติ คุกคามต้นน้ำลำธาร มีการเข่นฆ่าด้วยนโยบายทางการเมืองเหล่านี้เราไม่พูดถึง พูดง่าย ๆ ว่าการลิดรอนสิทธิมนุษยชน การทำลายทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมการทำลายระบบนิเวศวิทยาทุกรูปแบบ ฉะนั้นพูดง่าย ๆ ให้เป็นภาษาคนก็คือเราสามารถ

อธิบายพุทธศาสนาให้เป็นภาษาของยุคสมัย

     ศีลข้อสอง  เราอธิบายว่า นาย ก ขโมยกล้วยมาหนึ่งหวี มันตื้นมาก ถ้าจะอธิบายเป็นภาษาคนว่าการทุจริตคอรัปชั่นคือศีลข้อสอง ไม่ว่าจะเป็นตามน้ำ ใต้น้ำ บนโต๊ะทุกอย่างคือศีลข้อ 2  ในบริบทของศีลข้อสองทั้งนั้น

     ศีลข้อสาม  เราอธิบายว่า นาย ค เป็นกิ๊กกับภรรยาของนาย ข มันกลายเป็นเรื่องศีลธรรมของบุคคลไป แต่..การค้นพบปัญหาปัจจุบัน เช่น การพบศพที่วัดใฝ่เขียว 2,000 ศพ ปัญหาของสังคมไทยที่ท้องก่อนวัยเรียน ที่มีปีละ 3  แสนคน ทำแท้งปีละ 3-4 แสนคน หรือเด็กที่เข้าสู่ชีวิตขณะที่ยังไม่พร้อมปีหนึ่ง ๆ เป็นแสนคน เหล่านี้เป็นปัญหาทางจริยธรรม

ทางเพศทั้งหมด ปัญหาเกี่ยวกับทางเพศ การครองรักที่ไม่สมหวัง ปัญหาเกี่ยวกับสถาบันครอบครัวที่ล่มสลายเป็นขอบเขตของศีลข้อสาม

     ศีลข้อสี่  เราอธิบายแค่ห้ามโกหก แต่มันรวมถึงการพูดหยาบคาย พูดเพ้อเจ้อ พูดส่อเสียด คลุมหมด แต่ถ้าเราจะอธิบายให้เป็นภาษาคนของทุกวันนี้ จะอธิบายว่าศีลข้อที่สี่คลอบคลุมถึงสิทธิการได้รับข้อมูลข่าวสารอันเป็นจริง ประชาชนจะต้องไม่ถูกมอมเมาด้วยข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จ รัฐต้องไม่ปล่อยข้อมูลข่าวสารอันเป็นปฏิกูลเพื่อเป็นเครื่องมือ

สื่อสารมอมเมาประชาชน

      ศีลข้อห้า  สุราเมรย...เราก็พูดแค่ว่าการดื่มสุรา มันเป็นบาป ถ้าพูดเป็นภาษาคนก็ว่าการเสพเครื่องดื่มยาเสพติดที่ประทุษร้ายต่อสติสัมปชัญญะทั้งหมด ประทุษร้ายต่อสุขภาพทั้งหมด การบริโภคที่ประทุษร้ายถือว่าอยู่ในข่ายของศีล 5  หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า

     -ศีลข้อที่หนึ่งคือหลักประกันของชีวิต

     -ศีลข้อที่สองคือหลักประกันของทรัพย์สิน

     -ศีลข้อที่สามคือหลักประกันของสถาบันครอบครัว

     -ศีลข้อที่สี่คือหลักประกันความมั่นคงของสิทธิในการรับรู้ข่าวสาร

     -ศีลข้อที่ห้าคือหลักประกันของสุขภาพ

      ดังนั้น ศีลไม่ใช่เรื่องของบุคคลอีกต่อไป แต่เป็นของคนทั้งโลก โลกทั้งโลกถูกปกปักแวดล้อมด้วยศีลห้า

 

หมายเลขบันทึก: 442712เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2011 16:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

สาธุๆๆ ได้ความรู้ในการเผยแพร่พระพุทธศาสนา แนวรุกมากเลยครับ...

เจริญพรอาจารย์ขจิต ที่ติดตามอ่านงานที่นำเสนอ จะขับเคลื่อนงานด้านนี้ต่อไป

<a href="http://www.ebagsell.org/">Fashion LV Bags</a>

Opinion Autos Life Art About stores and receive a steady income Whats more they

Breitling Airshow Airshow Breitling As Rado RADO to enjoy the psychedelic

degree of originality HAOJUE and watch told this years Omega European Masters

..สาธุ..ธรรม..เจ้าค่ะ .."ตื่นอยู่..รู้อยู่..เห็นแจ้งอยู่..กับธรรมชาติ"...ศีลและ..ธรรม..โลกทั้งโลกกำลังเคลื่อนไปในเชิงรุกกับ..กระแสร์..ธรรม...สาธุๆๆเจ้าค่ะ...ยายธี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท