กระเจียบแดงวัยเกษียณ


       ข้าพเจ้าได้เดินทางร่วมกับหัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต (นายโสภณ ทองโพธิ์งาม) ออกไปทัศนแสวงหาแหล่งแห่งความรู้ เพื่อนำมาแบ่งปันให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบ ซึ่งเป็นโอกาสดีที่ได้พบพี่สุรเชตฐ์  แจ่มผล เกษตรตำบล ผู้ผจบจากรั้ววิทยาเขตเกษตรพิษณุโลก(เกษตรบ้านกร่าง) และเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด ได้ปลูกและบำรุงรักษากระเจี๊ยบแดงด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ  ซึ่งกระเจี๊ยบแดงเต็มไปด้วยสรรพคุณทางยา คือ กลีบเลี้ยงของดอก หรือกลีบที่เหลืออยู่ที่ผล เป็นยาลดไขมันในเส้นเลือด และช่วยลดน้ำหนักด้วย ลดความดันโลหิตได้โดยไม่มีผลร้ายแรงแต่อย่างใด 

       พี่สุรเชตฐ์  แจ่มผล อดีตเกษตรตำบลผู้เปลี่ยนอาชีพเป็นเกษตรกรวัย 52 ปี บ้านเลขที่ 242 หมู่ 6 ตำบลตลุก อ.สรรพยา จ.ชัยนาท หลังจากทักทายฟื้นอดีตตามประพี่น้องสายเลือดเกษตรรั้วเดียวกันด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส จึงพาสำรวจสภาพพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยไม้ผลนานาชนิด จัดรูปแบบเกษตรทฤษฏีใหม่ในพื้นที่ 55 ไร่ ประกอบไปด้วยพื้นที่สระน้ำ และขุดร่องน้ำล้อมรอบพื้นที่ รวมพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ เลี้ยงปลานานาพันธุ์ ไม้ผลต่างๆ เช่น มะม่วง มะขามเปรียว (ทำมะขามเปียกขาย) ไก่พื้นเมือง  แปรรูปขายเองตามที่ผู้บริโภคหรือพ่อค้าแม่ค้าในพื้นที่สั่ง ส่วนตัวผู้ตัวใดที่หุ่นดีท่าทางน่าสนใจจำนวนหลายร้อยตัวจะมีลูกค้าสั่งจองไปเลี้ยงเพื่อการประกวดไก่งาม แต่ที่น่าสนใจคือ กระเจี๊ยบแดง ซึ่งปลูกแซมในพื้นที่ปลูกมะนาวแบบยกร่องในพื้นที่ 5 ไร่

        พี่สุรเชตฐ์ กล่าวว่า ได้ปลูกมะนาวก่อนปลูกกระเจี๊ยบแดง เพื่อสร้างรายได้หมุนเวียนก่อนมะนาวให้ผลผลิต เหตุผลที่เลือกกระเจี๊ยบแดง เนื่องจากกระเจี๊ยบแดง เป็นไม้กึ่งร้อนหรือเขตร้อน  เจริญเติบโตได้ในดินทุกชนิดปลูกง่ายโดยใช้เมล็ด  ระยะปลูก 100 x 75  เซนติเมตร  ปลูกตั้งแต่เดือนสิงหาคม ให้ผลผลิตในช่วงเดือน พฤศจิกายน ได้ผลผลิตสดประมาณ 1 ตัน แต่จะทยอยเก็บผลผลิตที่สมบูรณ์ สามารถเก็บกระเจี๊ยบสดไปขายได้ราคากิโลกรัมละ 50 บาทประมาณวันละ 3 กก. ในส่วนที่เหลือเมื่อเก็บผลกระเจี๊ยบแดงแล้วกระทุ้งเอาแคปซูลที่มีเมล็ดอยู่ภายในออก  แล้วนำเอากลีบสดไปตากแห้งให้เวลา  5 – 7  วัน  จนแห้งสนิทขายในราคา กิโลกรัมละ 200 บาท ส่วนดอกที่สมบูรณ์ จะเก็บไว้นำไปปลูกต่อ เพื่อลดต้นทุนค่าต้นพันธุ์ 

          การปลูกกระเจี๊ยบแดง จะมีปัญหาเพลี้ยแป้งระบาดทำลายผลผลิตเกษตรกรจึงแก้ปัญหา ด้วยการใช้เชื้อราบิวเวอร์เรียที่ใช้กำจัดเพลี้ยในนาข้าว มาทดลองใช้ โดยนำเชื้อราบิวเวอร์เรีย 2 ถุง เทใสมุ้งไนล่อนเขียวชยำในน้ำเปล่าในถังให้สปอร์ของเชื้อราหลุดออกมาก่อนนำน้ำเทลงถังพ่นยารวมกับน้ำเปล่าที่สะอาดให้ได้ปริมาณ 18 ลิตร นำเฉพาะส่วนน้ำที่ได้ มากรองนำไปใช้ฉีดพ่น ในเวลาเย็นช่วงที่เพลี้ยแป้งระบาด จะช่วยกำจัดเพลี้ยแป้งที่เป็นตัวอ่อนได้

        นอกจากนี้ ยังได้ใช้ฮอร์โมนไข่หอยเชอรี่ มาใช้ฉีดพ่นต้นที่เก็บผลผลิตแล้ว เพื่อบำรุงตาดอกกระเจี๊ยบแดงให้สมบูรณ์ จากนั้นไม่เกิน 1 สัปดาห์ ต้นกระเจี๊ยบแดง จะทยอยออกดอกใหม่อีกครั้ง ด้วยกระเจี๊ยบแดงเป็นพืชสมุนไพรการจัดการเพื่อการผลิตกระเจี๊ยบแดงจึงไม่ใช้สารเคมีเพื่อการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชเนื่องจากตระหนักถึงผลกระทบที่มีต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม รวมถึงต้นทุนที่ต่ำ ซึ่งช่วยให้มีผลกำไรที่ดี และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

         นายโสภณ  ทองโพธิ์งาม หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท กล่าวเสริมว่า การวางแผนการทำการเกษตรทฤษฏีใหม่ สามารถประยุกต์ทฤษฏีเพื่อวางแผนให้ถูกต้องเหมาะสมตามสภาพของพื้นที่ รวมทั้งเกษตรกรจะต้องหาความรู้แบบรอบด้าน สอดคล้องตามแนวหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นแนวคิดที่ยึดหลัก ทางสายกลาง (พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันที่ดี) เพื่อความพร้อมที่จะจัดการกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากทั้งภายนอกและภายใน จำเป็นต้องใช้ทั้ง ความรู้ ความเข้าใจ (รอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง) ผนวกกับ คุณธรรม (ซื่อสัตย์ สุจริต ขยัน อดทน แบ่งปัน)ในการดำเนินชีวิตมีความสุขอย่างยั่งยืน

คำสำคัญ (Tags): #กระเจียบแดง
หมายเลขบันทึก: 442326เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2011 11:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • สวัสดีครับท่านชัด ชัยนาท
  • กระเจี๊ยบแดง
  • ปลูกเป็นพืชแซมน่าสนใจมาก
  • ขอบคุณครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท