กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดของสินค้า


นัยหนึ่งการรวมกลุ่มทางการค้าทำให้ "สัญชาติ" ของสินค้ามีความสำคัญ และเป็นตัวกำหนดว่า จะเสียอัตราภาษีศุลกากรเท่าใดและถูกปฏิบัติอย่างไร หลักเกณฑ์ระหว่างประเทศที่ใช้กำหนดว่า สินค้าใดมีสัญชาติอะไรก็คือ กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดของสินค้า (rules of origin-ROOs)
กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดของสินค้า

 ในการเจรจาการค้าในโลกปัจจุบัน หัวข้อถกเถียงที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งระหว่างคู่เจรจาคือ กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดของสินค้า ในโลกที่ไม่มีการรวมกลุ่มทางการค้าใดๆ และทุกประเทศปฏิบัติต่อประเทศอื่นๆ เหมือนกันหมดโดยไม่แยกแยะ สินค้ารายการหนึ่งจะนำเข้ามาจากประเทศใดก็ไม่แตกต่างจากสินค้ารายการเดียวกันจากประเทศอื่นคือ ได้รับอัตราภาษีศุลกากรอัตราเดียวกัน ซึ่งก็คือ สินค้าที่มีพิกัดศุลกากรเดียวกันต้องจ่ายอัตราภาษีเท่ากัน โดยที่ "สัญชาติ" ของสินค้าไม่ใช่ประเด็นสำคัญ

แต่ปัจจุบัน มีการรวมกลุ่มทางการค้าทั้งระดับโลก ระดับภูมิภาค และทวิภาคี โดยประเทศภาคีที่อยู่ในกลุ่มจะได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างจากประเทศที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม เช่น ได้รับอัตราภาษีศุลกากรต่ำกว่า มีอุปสรรคทางการค้าน้อยกว่า ทำให้มีการจำแนกประเทศคู่ค้าออกเป็น "ในกลุ่ม" และ "นอกกลุ่ม" โดยสินค้าที่นำเข้าจาก "ประเทศในกลุ่ม" จะเสียภาษีศุลกากรต่ำกว่าสินค้าชนิดเดียวกันจาก "ประเทศนอกกลุ่ม"

 นัยหนึ่งการรวมกลุ่มทางการค้าทำให้ "สัญชาติ" ของสินค้ามีความสำคัญ และเป็นตัวกำหนดว่า จะเสียอัตราภาษีศุลกากรเท่าใดและถูกปฏิบัติอย่างไร หลักเกณฑ์ระหว่างประเทศที่ใช้กำหนดว่า สินค้าใดมีสัญชาติอะไรก็คือ กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดของสินค้า (rules of origin-ROOs) โดยที่ผู้มีหน้าที่ตรวจสอบและออกใบรับรองกำเนิดของสินค้าขาออกคือ เจ้าหน้าที่ศุลกากรของแต่ละประเทศ

กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดของสินค้าจะมีลักษณะตรงไปตรงมาและง่ายที่สุด ถ้าสินค้านั้นถูกผลิตในประเทศเดียว เริ่มตั้งแต่วัตถุดิบจนกระทั่งเป็นสินค้าสำเร็จรูป แต่ปัญหาคือ สินค้าส่วนใหญ่มีส่วนประกอบที่ผลิตในหลายประเทศ แล้วนำมารวมผลิตเป็นสินค้าขั้นสุดท้ายในประเทศปลายทางก่อนที่จะส่งออกไปยังประเทศผู้บริโภค ทำให้เกิดปัญหาว่า สินค้าดังกล่าวมีสัญชาติอะไร เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์พกพาส่งออกจากสหรัฐอเมริกามีชิ้นส่วนเกือบทั้งหมดที่ผลิตในประเทศอื่น เช่น จีน ไทย มาเลเซีย เม็กซิโก ไต้หวัน แล้วไปประกอบในสหรัฐก่อนที่จะส่งไปขายทั่วโลก

 ปัจจุบันยังไม่มีกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดของสินค้าอันเป็นที่ยอมรับทั่วไปเพียงกฎเดียว ทำให้ในการเจรจาการค้า แต่ละประเทศต้องพยายามเจรจาให้ประเทศคู่ภาคียอมรับกฎเกณฑ์ที่ตนเองจะได้ประโยชน์มากที่สุด เช่น

กฎที่ให้ใช้วัตถุดิบในประเทศทั้งหมด (Wholly obtained-WO) คือสินค้าต้องใช้วัตถุดิบของประเทศนั้นทั้งหมด จึงจะได้สัญชาติของประเทศนั้นๆ กฎนี้ให้ประโยชน์กับประเทศส่งออกสินค้าเกษตรและวัตถุดิบขั้นต้นเป็นส่วนใหญ่

 กฎการเปลี่ยนแปลงหรือแปรรูปอย่างมีนัยสำคัญ (Substantial transformation-ST) คือสินค้านั้นแม้จะใช้วัตถุดิบจากประเทศอื่น แต่ได้ผ่านกระบวนการผลิตและแปรรูปไปเป็นสินค้าอีกประเภทหนึ่งที่มีพิกัดศุลกากรแตกต่างจากพิกัดของวัตถุดิบ สินค้านั้นก็จะได้สัญชาติของประเทศที่แปรรูป กฎนี้ให้ประโยชน์กับประเทศที่ใช้วัตถุดิบนำเข้าส่วนใหญ่เพื่อผลิตและส่งออก

กฎสัดส่วนการใช้วัสดุภายในประเทศ (Local content) ใช้สำหรับสินค้าที่ใช้ทั้งวัสดุในประเทศและวัสดุนำเข้า โดยกำหนดอัตราส่วนขั้นต่ำของวัสดุในประเทศ เช่น ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 ของมูลค่าสินค้าจึงจะนับเป็นสัญชาติของประเทศนั้น เป็นต้น กฎนี้ให้ประโยชน์กับประเทศที่ใช้ทั้งวัตถุดิบในประเทศและวัตถุดิบนำเข้าเพื่อผลิตสินค้าส่งออก

 ในกรณีของประเทศไทย สินค้าส่งออกมีลักษณะหลากหลายทั้งสินค้าเกษตร วัตถุดิบขั้นต้น เกษตรแปรรูป และสินค้าอุตสาหกรรม ฉะนั้น ในการเจรจาการค้า ประเทศไทยจึงพยายามให้ประเทศคู่ภาคียอมรับกฎที่ต่างกัน ในรายการสินค้าที่ต่างกัน เช่น ในกรณีสินค้าเกษตร ฝ่ายไทยจะขอให้ใช้กฎ WO แต่ในกรณีสินค้าอุตสาหกรรม ฝ่ายไทยจะขอให้ใช้ ST หรือกำหนดสัดส่วนวัสดุในประเทศ เป็นต้น

ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเจรจาการค้าทวิภาคีหรือเอฟทีเอกับอีกร่วมสิบประเทศ ผู้เจรจาฝ่ายไทยจึงต้องระมัดระวังอย่างมากในการเจรจา เพราะแม้จะเจรจาให้ลดอัตราภาษีเป็นศูนย์ได้ แต่ถ้าเจรจาเรื่องกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดของสินค้าไม่ระวังพอ ก็จะกลายเป็นว่า สินค้าได้ลดภาษีเป็นศูนย์แต่ส่งออกไม่ได้ เพราะประเทศภาคีไม่ยอมรับว่า สินค้านั้นมี "สัญชาติไทย"

 แนวโน้มที่ชัดเจนคือ มีสินค้าหลายรายการที่มีความสำคัญต่อประเทศไทยมาก แต่มีปัญหาประเทศภาคี ไม่ยินยอมในเรื่องกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดของสินค้า เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง ซึ่งประเทศไทยส่งออกเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่ไทยต้องนำเข้าวัตถุดิบปลาทูน่าเกือบทั้งหมดมาบรรจุกระป๋องในประเทศไทยเพื่อส่งออก ประเทศคู่เจรจาจึงมักจะกีดกันโดยยืนยันที่จะใช้กฎ WO คือต้องใช้วัตถุดิบในประเทศทั้งหมด

ซึ่งถ้าฝ่ายไทยยอมรับ ก็จะทำให้ปลาทูน่ากระป๋องไม่ได้สิทธิพิเศษการค้า หรือกรณีรถยนต์ที่ผลิตในประเทศไทย แม้จะมียี่ห้อเป็นญี่ปุ่นแต่ใช้ชิ้นส่วนผลิตในประเทศไทยมากพอสมควร ประเทศคู่เจรจาก็มักจะยืนยันให้กำหนดวัสดุในประเทศในสัดส่วนสูงมาก ขณะที่ฝ่ายไทยจะเจรจาให้ใช้สัดส่วนต่ำ สินค้าอื่นที่เป็นรายการสำคัญและมีลักษณะคล้ายกัน เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ สิ่งทอ เสื้อผ้าสำเร็จรูป อัญมณี เป็นต้น

 ฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่แม้การเจรจาเอฟทีเอ เพื่อลดอัตราภาษีจะกระทำได้รวดเร็ว แต่ในขั้นการเจรจาแหล่งกำเนิดของสินค้ากลับประสบอุปสรรคอย่างหนักอาจถึงขั้นสะดุดได้ เพราะกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดของสินค้า คือตัวกำหนดว่า สินค้าใดมีสัญชาติประเทศใด และจะได้รับสิทธิพิเศษหรือไม่ นั่นเอง

หมายเลขบันทึก: 44213เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2006 22:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 14:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เป็นความรู้ใหม่เลยทีเดียวในเรื่องกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดของสินค้า คือพึ่งรู้ว่าสินค้าก็ต้องมีสัญชาติด้วยเพื่อจะได้มีสิทธิพิเศษต่างๆในการทำการค้าร่วมกัน ซึ่งดูแล้วก็วุ่นวายและยุ่งยากทีเดียว

   นี่เป็นผลในทางปฏิบัติที่ตอกย้ำว่าการค้าเสรีโดยแท้หรือตลาดเสรีโดยแท้แทบไม่มีเลยบนโลกของเรา    

     องค์การการค้าโลกเป็นเพียงเสือกระดาษที่ตั้งท่าจะเป็นผู้ควบคุมกฎกติกาต่างๆทางการค้าของโลกนี้ให้อยู่ในร่องในรอย คงใช้บังคับได้กับประเทศด้อยพัฒนาเท่านั้น ส่วนประเทศมหาอำนาจผู้มีอำนาจในการต่อรองสูง ก็คงยืนตระหง่านด้วยความภาคภูมิใจต่อไป...

      การกีดกันทางการค้านั้น ไม่ว่าจะเรียกชื่อว่าอย่างไร แต่เมื่อพิจารณาจากการกระทำแล้วมีความหมายเช่นว่านั้น "กฎแห่งแหล่งกำเนิดสินค้า" จากบทความข้างต้น ก็เป็นเครื่องมือทำให้กรอบของตลาดเสรีแคบลงและไม่อาจขจัดปัญหากีดกันทางการค้าไปได้ หากยังมีการตั้งกฎเช่นว่านั้น หรือหันหน้ายอมรับกันว่าตลาดเสรีไม่มีในโลก...

ขอบคุณค่ะ ที่ได้เพิ่มเติมความรู้ใหม่ๆ ให้

คิดว่าลักษณะนิสัยของมนุษย์อย่างหนึ่งคือ"ชอบตั้งกฎ"

ขนาดสินค้ายังมีกฎเรื่องสัญชาติเหมือนมนุษย์นะคะ...

^_^

เข้ามาอ่านแล้วทำให้ได้ความรู้ขึ้นเยอะเลยค่ะ ว่าแหล่งกำเนิดสินค้าเป็นตัวกำหนดอัตราภาษีศุลกากรด้วย

กฏ กติกา การแสดงความคิดเห็น

เว็บไซต์ GotoKnow.org ขอความกรุณาทุกท่านปฏิบัติตามกฏ กติกา ดังต่อไปนี้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้งานที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของเว็บไซต์ และเพื่อการส่งเสริมชุมชนออนไลน์ที่มีคุณภาพ

3. กรุณางดการคัดลอกความคิดเห็น หรือข้อความจากแหล่งข้อมูลใดๆ มาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

http://www.ftadigest.com/fta/newsAnalysis015.html

Copy มาแปะแล้วไม่อ้างแหล่งที่มาด้วยนะครับ แย่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท