การบริหารงานวิจัยส่วนของคณะกรรมการกำกับทิศทาง


          ดังเล่าแล้วในบันทึกเมื่อวาน ว่าโครงการ LLEN ของ สกว. มีการประชุมคณะกรรมการกำกับทิศทางเมื่อวันที่ ๑๐ พ.ค. ๕๔   แล้วทำให้ผมได้เรียนรู้ว่า นี่คือการสร้างทักษะส่วนหนึ่งให้แก่มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วม   สำหรับเอาไปใช้ในการทำงาน “หนึ่งจังหวัด หนึ่งมหาวิทยาลัย”   หรือทำงานวิชาการรับใช้สังคมไทยนั่นเอง
 
          แต่การประชุมเมื่อวาน ยังให้ความรู้แก่ผมมากกว่านั้น   คือทำให้ผมมองเห็นคุณค่าของคณะกรรมการกำกับทิศทางของชุดโครงการวิจัย (เพื่อพัฒนา) ในมิติที่คนไม่ค่อยนึกถึง   คือคุณค่าต่อการทำให้ชุดโครงการวิจัยนั้นเกิด impact/outcome ต่อสังคมหรือบ้านเมือง
 
          อย่างชุดโครงการ LLEN มีเป้าหมายคล้ายๆ เป็น pilot project ของการที่มหาวิทยาลัยในพื้นที่ เข้าไปทำงานคลุกคลีกับครูในโรงเรียน และภาคีอื่นๆ ในพื้นที่ เพื่อร่วมกันพัฒนาคุณภาพการศึกษา เน้นวัดที่ผลลัพธ์ที่ตัวเด็ก คือวัดที่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา    โครงการนี้มีกำหนดเวลาดำเนินการ ๒ ปี
 
        กลุ่มนักวิจัยจากแต่ละมหาวิทยาลัย ทำงานนี้จากจุดแข็งหรือความถนัดของตน   ไม่มีสูตรตายตัวจาก สกว. ว่าต้องดำเนินการอย่างไร   เมื่อจะเริ่มต้น ทีมงานของแต่ละมหาวิทยาลัยก็ต้องมานำเสนอโครงการต่อคณะกรรมการชี้ทิศทาง และได้รับคำแนะนำให้ปรับปรุงหรือขยายบางส่วนออกไป หรือหดหรือตัดบางส่วนออกไป   เพื่อให้สามารถทำงานได้ผล
 
          ทำงานไปได้ระยะหนึ่ง ทีมงานก็มารายงานความก้าวหน้าต่อคณะกรรมการกำกับทิศทาง   และได้รับคำแนะนำให้เพิ่ม ปรับ ลด งานเพื่อให้ได้ผลงานที่ดี  การทำงานของคณะกรรมการกำกับทิศทาง ในช่วงตั้งแต่ต้นจนเกือบจบโครงการ ค่อนข้างเน้นไปทางแนะนำเชิงเทคนิค หรือเชิงวิชาการ
 
          คณะกรรมการกำกับทิศทาง เดินทางลงพื้นที่ไปดูสถานการณ์การทำงานจริงด้วย   เราได้ไปที่เพชรบุรี  สุราษฎร์ธานี  และพิษณุโลก   ได้เห็นทั้งส่วนที่เป็นจุดแข็ง และส่วนที่เป็นจุดอ่อน   ก็ได้ให้ทั้งคำชม ให้กำลังใจ และคำแนะนำให้ปรับปรุง
 
          แต่ในการประชุมเมื่อวาน   เป็นการประชุมในช่วงที่โครงการใกล้จบ   คำแนะนำของคณะกรรมการกำกับทิศทาง นอกจากจะแนะเรื่องเชิงวิชาการแล้ว   ยังเพิ่มการแนะนำในด้านความยั่งยืนต่อเนื่องของกิจกรรม   หรือการบูรณาการกิจกรรมนี้เข้าไปในชีวิตประจำวันในพื้นที่   โดยที่ค่าใช้จ่ายสนับสนุนก็มาจากพื้นที่ (อปท.) และมาจากหน่วยงานบริหารการศึกษา คือ สพฐ. เอง และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.)
 
          เราได้แนะนำให้แต่ละมหาวิทยาลัยในโครงการ LLEN ใช้ความรู้และประสบการณ์จากโครงการ LLEN สร้างขีดความสามารถต่อเนื่องในการทำงานกับพื้นที่ (อปท.) และกับหน่วยงานบริหารการศึกษา คือ สพฐ. และ สพท.   และภาคีอื่นๆ ในพื้นที่   เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาในพื้นที่   และเพื่อทำงานในลักษณะ “หนึ่งจังหวัด หนึ่งมหาวิทยาลัย”
 
          คณะกรรมการกำกับทิศทาง ได้แนะนำให้ สกว. ร่วมกับ สพฐ. จัดการประชุม ๑ วัน (๑๑ ก.ค. ๕๔)   เพื่อเชิญภาคีต่างๆ มาร่วมกันทำความเข้าใจคุณค่าของผลการวิจัยชุดนี้   สำหรับนำไปใช้งานในสถานการณ์จริง เพื่อให้เกิดการทำงาน All for education ในพื้นที่
 
          ผมมีความสุขมาก ที่ได้ร่วมงานเป็นประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางของการวิจัยชุดนี้

 

 

 

วิจารณ์ พานิช
๑๑ พ.ค. ๕๔

         
         
          
หมายเลขบันทึก: 441892เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2011 10:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท