ผ้าไหมยกดอกลำพูน ... หนึ่งในคุณค่าผ้าไหมไทย


ผ้าไหมยกดอกลำพูน ... หนึ่งในคุณค่าผ้าไหมไทย

วิโรจน์  แก้วเรือง 

(ตอนที่ 1)   

      ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การค้าระหว่างประเทศมีแนวโน้มว่าจะมีการแข่งขันกันมากขึ้น และมีการเปิดตลาดโดยการลดภาษีและลดการอุดหนุนลง ทำให้ประเทศที่เคยครองความเป็นผู้นำในส่วนแบ่งการตลาด เช่น สหรัฐอเมริกา จีน พยายามเสาะแสวงหาวิธีการต่างๆ เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการตลาดของประเทศตนเองให้มั่นคงถาวร โดยการรวมกลุ่มการค้าเพื่อเอื้อประโยชน์เฉพาะกลุ่ม จัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Area : FTA) ระหว่างกัน แต่อย่างไรก็ตาม อาจมีบางประเทศใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tarif Barrier) มาเป็นข้อกีดกันทางการค้าทางอ้อมมากขึ้นเพื่อควบคุมการแข่งขันด้วย อาทิ การกำหนดคุณภาพและมาตรฐานสินค้าที่จะนำเข้า  เงื่อนไขกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าเกษตร (Rule of Origin) แหล่งที่มาทางชีวภาพและการคุ้มครองสิทธิบัตรและทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น

     เป็นที่ทราบกันดีว่า ผ้าไหมไทยเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกทั้งในด้านความสวยงามและมีเอกลักษณ์จนเป็นที่น่าเชื่อถือในคุณภาพและมาตรฐาน ประกอบกับลวดลายในการผลิตผ้าไหมเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบสานต่อกันมาจากบรรพบุรุษสู่ลูกหลาน โดยมีการนำเอาประเพณีและวัฒนธรรมเข้ามาผสมผสานในหัตถกรรมการผลิตผ้าไหมไทย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการรักษา ปกป้องและคุ้มครองเอกลักษณ์ กรรมวิธีและภูมิปัญญาท้องถิ่นในการผลิตผ้าไหมไทยไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมให้คงอยู่คู่กับประเทศไทย ในขณะเดียวกันต้องเผยแพร่ให้ทั่วโลกได้รู้จักกับคุณค่าของผ้าไหมไทยที่มีคุณภาพและเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากผ้าไหมประเทศอื่น และจากยุทธศาสตร์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องดำเนินการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร โดยการเปลี่ยนการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าต่ำไปสู่สินค้าที่มีมูลค่าสูงและสร้างภาพลักษณ์ของประเทศ (Country Image) โดยเน้นให้สินค้าเกษตรเป็นที่รู้จักบนเวทีการค้าโลก ไหมไทยจึงเป็นสินค้าที่ต้องได้รับการคุ้มครองชื่อเสียงทางการค้าและป้องกันการลอกเลียนแบบ อันเป็นสิทธิบัตรภูมิปัญญาของชาติไว้โดยการใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GIs) เป็นข้อมูลในการตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้า (Rule of Origin)

ความหลากหลายของไหมไทย 

       การทอผ้าไหมไทยมีความหลากหลายวิธีการ และลวดลายที่ปรากฏบนผ้าทอของไทยส่วนใหญ่มักเป็นลวดลายที่มีการจดจำหรือได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ อีกทั้งยังเป็นลวดลายที่เกี่ยวข้องและพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน ลวดลายเหล่านี้ได้รับการถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง เป็นการสืบทอดฝีมือและภูมิปัญญาอย่างแท้จริง ลวดลายผ้าทอไทย ได้แก่ กลุ่มเรขาคณิต อาทิ  ลายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ลายสามเหลี่ยม และลายเส้นตรง ฯลฯ กลุ่มลายสัตว์ ได้แก่ ลายนาค ลายช้าง ลายนกยูง ลายเกร็ดเต่า ลายแมงมุม ฯลฯ กลุ่มลายพันธุ์ไม้ ได้แก่ ลายดอกพิกุล ลายดอกแก้ว ลายต้นสน ลายดอกสร้อย ลายใบไผ่  ฯลฯ  กลุ่มลายสิ่งของเครื่องใช้ ได้แก่ ลายเชิงเทียน ลายโคม ลายธรรมาสน์ ฯลฯ กลุ่มลายจากสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ได้แก่ ลายน้ำไหล ลายปราสาท ลายยอดเจดีย์ ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายพระพุทธรูป ลายก้างปลา เป็นต้น นอกจากนี้ก็ยังมีการผสมผสานลวดลายต่างๆ เข้าด้วยกัน ดัดแปลงเป็นลวดลายประยุกต์ใหม่ๆ ขึ้นด้วย

     ผ้าไหมไทยมีรูปแบบการทอและลวดลายที่แตกต่างกันตามวัฒนธรรมและภูมิปัญญาในแต่ละท้องถิ่น ผ้าไหมที่เป็นที่รู้จักและนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ได้แก่ ผ้าไหมพื้น ผ้าไหมจก ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าไหมขิด ผ้าไหมแพรวา และผ้าไหมยกดอก  

      ผ้าไหมพื้น เป็นผ้าไหมที่ทอลายขัดโดยใช้เส้นยืนและเส้นพุ่งธรรมดาสีเดียวตลอดทั้งผืน หรืออาจใช้เส้นยืนและเส้นพุ่งต่างสีกัน ซึ่งทำให้ได้สีที่งดงามอีกแบบหนึ่ง

    ผ้าไหมจก เป็นการทอผ้าที่เพิ่มลวดลายโดยเพิ่มเส้นพุ่งพิเศษเข้าไปเป็นช่วงๆ สลับสีสันลวดลายต่างๆ กัน ลักษณะผ้าจะมีสีสันและลวดลายคล้ายกับการปักลายลงบนผืนผ้า

    ผ้าไหมมัดหมี่  เป็นผ้าไหมที่ทำให้เกิดลวดลายด้วยวิธีการมัดเส้นไหมให้เป็นลวดลายที่เส้นพุ่งหรือเส้นยืน หรือทั้งสองเส้น แล้วนำไปย้อมสีทีละขั้นตอนตามลวดลายที่มัดไว้เพื่อให้ได้สีและลวดลายตามความต้องการ แล้วจึงนำเส้นไหมที่มัดมาทอให้ผืนผ้าเกิดลวดลายตามที่มัดไว้ แหล่งผลิตส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสาน เช่น ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ และร้อยเอ็ด

    ผ้าไหมขิด เป็นผ้าไหมแบบทอ ยกลายในตัวเรียกว่า“เก็บขิด” เป็นการยกเส้นยืนแต่ละแถวให้เส้นพุ่งพิเศษสอดผ่านจากริมผ้าด้านหนึ่งไปสู่ริมผ้าอีกด้านหนึ่งเกิดเป็นลวดลายขิด ผ้าทอลายขิด สังเกตดูจากลายซ้ำของเส้นพุ่งที่ขึ้นเป็นแนวสีเดียวกันตลอด เป็นที่นิยมทอทั่วไปในภาคอีสานบางจังหวัด ในภาคกลางและภาคเหนือ

   ผ้าไหมแพรวา   เป็นผ้าทอที่มีลักษณะลวดลายผสมกันระหว่างขิดและจกบนผืนผ้าเดียวกัน คำว่า  “แพรวา” มาจากความยาวของผ้าที่ยาวประมาณ 1 วา (2 เมตร) แต่ดั้งเดิมเป็นผ้าที่ใช้ในงานพิธีต่างๆ ตามวัฒนธรรมของชาวภูไท โดยเอกลักษณ์ดั้งเดิมจะมีสีแดงเป็นพื้น ซึ่งต่อมาได้มีการดัดแปลงลักษณะของผืนผ้าและการใช้สีสันเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นตามสมัยนิยม แหล่งผลิตใหญ่และมีชื่อเสียงอยู่ที่จังหวัดกาฬสินธุ์

     ผ้าไหมยกดอก  เป็นผ้าทอที่ยกเส้นยืนเพื่อสอดเส้นพุ่งที่เป็นไหมสีอื่น เพื่อทำให้เกิดลวดลายขึ้นหรืออาจใช้ดิ้นเงินดิ้นทองก็ได้ บางแห่งหรือบางครั้งอาจเรียกว่าผ้ายกเท่านั้นการทอผ้าไหมยกดอกนิยมทอกันมากในภาคเหนือ ที่จังหวัดลำพูน เชียงใหม่ แพร่ อุตรดิตถ์ และที่มีชื่อเสียงมากได้แก่ผ้ายกดอกลำพูน ในภาคอีสาน ที่จังหวัดสุรินทร์ และภาคใต้ ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี

 ความเป็นมาของผ้าไหมยกดอกลำพูน 

      ผ้าไหมยกดอกลำพูน เป็นสินค้าหัตถกรรมพื้นบ้านของจังหวัดลำพูน  เป็นมรดกทางวัฒนธรรม สืบทอดกันมาช้านานแต่ไม่วิจิตรบรรจงมากนัก จนเมื่อพระราชชายาเจ้าดารารัศมี พระธิดาในพระเจ้าอินทรวิชยานนท์ ผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 7 ทรงเป็นพระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตได้เสด็จกลับจังหวัดเชียงใหม่ ทรงนำเทคนิคการทอผ้าที่พระองค์ได้เรียนรู้จากราชสำนักส่วนกลางครั้งที่พระองค์ประทับอยู่ที่กรุงเทพฯ มาประยุกต์ใช้ และถ่ายทอดความรู้ด้านการทอผ้าไหม ยกดอกที่มีลวดลายสวยงาม แปลกตาและวิจิตรบรรจง ให้แก่เจ้าส่วนบุญ ชายาของเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ผู้ครองนครลำพูนองค์สุดท้ายและ เจ้าหญิงลำเจียก ณ ลำพูน ธิดาในเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ทำให้การทอผ้าไหมยกดอกได้เผยแพร่สู่สาธารณชน โดยมีการฝึกหัดชาวบ้านบริเวณใกล้เคียง จนมีความรู้เรื่องการทอผ้าไหมยกดอกเป็นอย่างดี จึงทำให้จังหวัดลำพูนเป็นศูนย์กลางการทอผ้าไหมยกดอกแหล่งสำคัญของประเทศไทย  ปัจจุบันการทอผ้าไหมยกดอกลำพูนเป็นศิลปหัตถกรรม มรดกทางวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน และขยายแหล่งทอผ้าไปยังอำเภอลี้ และอำเภอทุ่งหัวช้าง ซึ่งเป็นผ้าไหมที่มีลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดลำพูน

     ปี พ.ศ. 2503 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จประพาสทวีปอเมริกาและยุโรปเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ  สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้ อาจารย์สมศรี กุสุมาลนันท์ ผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่อง เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย และวัฒนธรรมไทย  คิดค้นหาเครื่องแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยจากประวัติศาสตร์และดัดแปลงให้เข้ากับสมัยนิยม คือ ชุดไทยพระราชนิยมใช้ในโอกาสต่างๆ หลายชุด ได้แก่ ชุดไทยเรือนต้น ชุดไทยจักรพรรดิ ชุดไทยดุสิต ชุดไทยจิตรลดา ชุดไทยอัมรินทร์  ชุดไทยจักรี ชุดไทยบรมพิมาน และชุดไทยศิวาลัย

     ชุดไทยพระราชนิยมเหล่านี้จะสง่างามมากเมื่อได้ตัดเย็บด้วยผ้าไหมยกดอกลำพูน แม้ว่าจะมีผู้นำเอาผ้าไหมจากภูมิภาคอื่นๆ มาตัดเย็บก็ดูไม่สง่างามเท่า ดังนั้นเครื่องแต่งกายชุดพระราชนิยมที่ตัดเย็บด้วยผ้าไหมยกดอกลำพูน จึงได้ชื่อว่าเป็นแบบฉบับของเครื่องแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย  เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก เมื่อความนิยมการแต่งกายด้วยชุดไทยพระราชนิยมแพร่หลาย การทอผ้าไหมยกดอกได้รับการส่งเสริมฟื้นฟู  ทำให้ชาวบ้านในจังหวัดลำพูนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการทอผ้าและจำหน่ายผ้าไหมยกดอก กระทั่งมีคำกล่าวกันว่า ถ้าเป็นผ้าไหมยกดอกจะต้องเป็นผ้าไหมยกดอกจากจังหวัดลำพูนเท่านั้น จึงจะดีและสวยงามที่สุด

คุณลักษณะของผ้าไหมยกดอกลำพูน 

     การทอผ้ายกดอก หมายถึง การยกเส้นยืนเพื่อที่จะสอดเส้นพุ่งเพื่อทำให้เกิดลวดลาย อาจใช้ดิ้นเงินดิ้นทองก็ได้ การทอผ้ายกมีขั้นตอนตั้งแต่การคัดเลือกเส้นใย การย้อมสี การขึ้นหูกหรือกี่ทอผ้า การร้อยด้ายเข้าฟืม การเก็บตะกอทำเส้นด้าย และการเก็บตะกอทำลวดลาย จากนั้นจึงทำขั้นตอนการทอ ซึ่งขึ้นอยู่กับความชำนาญและความคุ้นเคยกับลายที่ทอ กลุ่มชนชาวไท-ยวนนิยมทอผ้ายกดอก ซึ่งใช้ในการทอผ้าห่มฝ้าย เพื่อทำให้เนื้อผ้าที่ทอหนาขึ้น ป้องกันความหนาวเย็นได้ดีขึ้น เช่น ที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ มีการทอผ้าห่มยกดอกสี่ตะกอ ลายขนมเปียกปูน หรือลายยกดอกหกตะกอ ที่เรียกว่าผ้าห่มตาแสง หรือผ้าห่มตาโก้ง ซึ่งใช้ฝ้ายสีแดง ดำ และขาว ทอทั้งเส้นยืนและเส้นพุ่ง ทำให้เป็นลายตาราง การทอผ้ายกดอกที่เป็นที่รู้จักและนิยมกันมากจะเป็นการทอผ้าไหมยกดอกโดยเฉพาะผ้าไหมยกดอกลำพูน ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วไป โดยมีวิวัฒนาการลวดลายเพิ่มมากขึ้นและได้รับอิทธิพลจากราชสำนักอีกส่วนหนึ่ง ลวดลายบางลวดลายปรับมาจากลายผ้าโบราณ หรือประดิษฐ์ขึ้นใหม่ เพื่อเพิ่มความวิจิตรบรรจง

     ผ้าไหมยกดอกลำพูน เป็นผ้าไหมที่มีชื่อเสียงและความเป็นเอกลักษณ์ในการทอที่ประณีตและมีลวดลายโดดเด่น งดงาม อ่อนช้อย ซึ่งเป็นลายเฉพาะตัวและมีความแตกต่างจากสินค้าอื่นนับเป็นจุดแข็งในการแข่งขันของสินค้า มีลักษณะเด่น ดังนี้

1)  ตะกอเขาดอก

      เป็นตะกอที่ทำให้เกิดลวดลายนั้นผ้าไหมยกดอกลำพูนใช้ตะกอพาดลงบนไหมเส้นยืน ซึ่งอาจจะมีตั้งแต่ 10 – 100 ตะกอขึ้นกับลวดลาย ทำให้การทอต้องมีความประณีต ละเอียดอ่อน เพราะหากเส้นไหมยืนขาดเหนือตะกอดอก ช่างทอต้องต่อเส้นไหมให้เข้าตะกอตลอดทั้ง 10 – 100 ตะกอ ความแตกต่างของตะกอขึ้นอยู่กับผู้บริโภค ผู้ผลิตและความต้องการของตลาดในสินค้าแต่ละแบบ

 2)  ไม้กระทบ

     ผ้าไหมยกดอกลำพูนจะทอโดยใช้กี่พื้นเมือง ใช้ฟืมที่ประกบด้วยไม้กระทบ ซึ่งมีขาไม้ยึดโยงกับโครงกี่ ทำให้การทอได้คุณภาพของผ้าและหน้าผ้าสม่ำเสมอสวยงาม

 3) ลายผ้า

      ลายที่ใช้ทอในอดีตนั้นได้มาจากลายปูนปั้นวัดจามเทวี เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มของพระนางจามเทวี มีลายสัตว์อยู่บ้างเล็กน้อย ทั้งยังได้มีการประยุกต์โดยพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ทรงนำลายเทพพนมจากภาคกลางมาสอนให้กับชาวลำพูน ทำให้ลายผ้านี้เป็นเอกลักษณ์ของเมืองลำพูนจนถึงปัจจุบัน    

 4)  คานรับตะกอ

      เป็นอุปกรณ์ที่พัฒนาขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับรับตะกอเขาดอกในจำนวนมากๆ เพื่อช่วยให้การยกตะกอได้ง่ายยิ่งขึ้น และยังช่วยให้ตะกอเขาดอกไม่พันกันและเป็นขน

  5)  การทอ

                ผ้ายกดอกลำพูนจะมีลวดลายที่นิ่มนวลอ่อนช้อยกว่าทางภูมิภาคอื่น ตะกอที่ใช้เป็นตะกอเขาลอยซึ่งเป็นตะกอลอยแถวใดแถวหนึ่ง ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนลวดลายได้  ถ้าจะเปลี่ยนต้องถอดตะกอลอยออกทั้งหมดแล้วเก็บลายใหม่ขึ้นมา ลายผ้าที่เก็บเป็นตะกอลอยนั้นสามารถทำได้ไม่เกิน 100 ไม้ต่อหนึ่งลาย ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นจะเป็นตะกอโยงที่สามารถแก้และเพิ่มลายใหม่ได้ง่ายภายในเวลาเดียวกัน แต่ละลายสามารถทำได้มากกว่า 100 ไม้ แต่มีข้อเสียอยู่ที่ว่าลวดลายในตะกอโยงนั้น ถ้ามีใครมาถอดไม้ใดไม้หนึ่งออกไปจะทำให้ลายผ้านั้นเสียไปทั้งหมด และต้องเก็บลายผ้าขึ้นมาใหม่ให้เหมือนเดิม

***โปรดติดตามตอนที่ 2***

 

หมายเลขบันทึก: 441689เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2011 22:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

มาให้กำลังใจผลิตภัณฑ์คู่เมืองลำพูนค่ะ

อยากเรียนทอผ้าบ้างค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท