การจัดอันดับมหาวิทยาลัย (University Ranking) ตอนที่ 1


แต่ละประเทศก็มีความพยายามในการวัดคุณภาพการศึกษาของสถาบันการศึกษาในประเทศของตน เพื่อให้ทราบศักยาภาพของการศึกษาในแต่ละระดับของสถาบันการศึกษาในประเทศ และเพื่อใช้เป็นแนวทางการการพัฒนาการศึกษาในประเทศของตนอีกด้วย โดยอาจเทียบเคียงคุณภาพของการจัดการศึกษาของสถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนในระดับเดียวกันภายในประเทศ หรือนำไปเทียบเคียงกับสถาบันการศึกษาในต่างประเทศที่มีการเรียนการสอนในระดับเดียวกัน เป็นต้น การวัดคุณภาพการศึกษาสามารถจัดให้ออกมาอยู่ในรูปแบบของการจัดระดับ (Rating) หรือการจัดอันดับ (Ranking) ก็ได้ โดยหน่วยงานที่มีหน้าที่จัดอันดับหรือจัดระดับนั้น อาจเป็นหน่วยงานของทางรัฐหรือเอกชนซึ่งเป็นหน่วยงานภายในประเทศซึ่งทำการจัดระดับหรือระดับออกมาเป็นระดับชาติ (National Rating or National Ranking) หรือหน่วยงานต่างชาติซึ่งทำการจัดระดับหรือจัดอันดับออกมาในระดับภูมิภาค (Regional Ranking) หรือระดับโลก (World Ranking)

 

 

 

การจัดอันดับมหาวิทยาลัย

 

 

 

           การบริหารจัดการและการพัฒนาการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาทรัพยากรบุคคลในประเทศและมีผลโดยตรงต่อการพัฒนาเชิงเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศอีกด้วย ดังนั้นมหาวิทยาลัยในแต่ละประเทศจึงต้องมีการจัดทำแผนพัฒนามหาวิทยาลัยเพื่อกำหนดทิศทางในการพัฒนามหาวิทยาลัยให้สอดคล้องและสามารถตอบสนองต่อความต้องการในการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ประเทศที่สามารถแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจได้ต้องมีรากฐานการศึกษาของประชาชนที่เข้มแข็ง ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าการแข่งขันกันในการพัฒนาการศึกษาของแต่ละประเทศนั้นส่วนหนึ่งก็เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศนั่นเอง ดังนั้นแต่ละประเทศเองจึงจำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพของการศึกษาในประเทศของตนเพื่อให้สามารถมารถสร้างบุคลากรของประเทศที่สามารถแข่งขันได้ในเวทีระดับโลก จะเห็นได้ว่าประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่มีอัตราของผู้ที่อ่านหนังสือออกและเขียนได้สูงกว่าประเทศที่กำลังพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนา นอกจากนี้รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่ยังสูงกว่ารายได้เฉลี่ยต่อหัวของประเทศกำลังพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนาอีกด้วย นั่นแสดงให้เห็นว่าการศึกษามีความสำคัญต่อเศรษกิจของประเทศเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม คุณภาพของการศึกษาแต่ละประเทศนั้นย่อมแตกต่างกันไปตามโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละประเทศ ประเทศที่พัฒนาและมีเศรษฐกิจค่อนข้างดี รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรสูง ประชากรในประเทศก็มีโอกาสได้รับการศึกษาที่สูงกว่าประชากรในประเทศด้อยพัฒนาและประชากรส่วนใหญ่มีฐานะยากจน รวมไปถึงประเทศที่เน้นอุตสาหกรรมหรือเทคโนโลยีก็จะมีการเรียนการสอนที่เน้นด้านการพัฒนาเทคโนโลยีมากกว่าประเทศที่มีพื้นฐานทางเกษตรกรรมเป็นต้น อย่างไรก็ตามแต่ละประเทศก็มีความพยายามในการวัดคุณภาพการศึกษาของสถาบันการศึกษาในประเทศของตน เพื่อให้ทราบศักยาภาพของการศึกษาในแต่ละระดับของสถาบันการศึกษาในประเทศ และเพื่อใช้เป็นแนวทางการการพัฒนาการศึกษาในประเทศของตนอีกด้วย โดยอาจเทียบเคียงคุณภาพของการจัดการศึกษาของสถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนในระดับเดียวกันภายในประเทศ หรือนำไปเทียบเคียงกับสถาบันการศึกษาในต่างประเทศที่มีการเรียนการสอนในระดับเดียวกัน เป็นต้น การวัดคุณภาพการศึกษาสามารถจัดให้ออกมาอยู่ในรูปแบบของการจัดระดับ (Rating) หรือการจัดอันดับ (Ranking) ก็ได้ โดยหน่วยงานที่มีหน้าที่จัดอันดับหรือจัดระดับนั้น อาจเป็นหน่วยงานของทางรัฐหรือเอกชนซึ่งเป็นหน่วยงานภายในประเทศซึ่งทำการจัดระดับหรือระดับออกมาเป็นระดับชาติ (National Rating or National Ranking) หรือหน่วยงานต่างชาติซึ่งทำการจัดระดับหรือจัดอันดับออกมาในระดับภูมิภาค (Regional Ranking) หรือระดับโลก (World Ranking)

 

 

          การจัดระดับมหาวิทยาลัย (University Rating) นั้นมีความแตกต่างจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัย (University Ranking) กล่าวคือ การจัดระดับมหาวิทยาลัย นั้น เป็นการจัดกลุ่มมหาวิทยาลัยที่มีภาระการเรียนการสอนในกลุ่มวิชาที่ใกล้เคียงกัน (Related Subjects) เพื่อให้ทราบว่าการเรียนการสอนของแต่ละสาขาของแต่ละมหาวิทยาลัยนั้น อยู่ในระดับใดและมีมหาวิทยาลัยไหนบ้างที่อยู่ในระดับเดียวกัน โดยการนำเอาค่าคะแนนจากตัวชี้วัด (Indicators) ในแต่ละมิติ (Dimension) มาใช้ในการจัดกลุ่มตามผลรวมค่าคะแนนที่แต่ละมหาวิทยาลัยได้ เรียงตามระดับ เช่น หากผลรวมค่าคะแนนจากตัวชี้วัดอยู่ระหว่าง 90-100  คะแนน จะได้รับการจัดอยู่ในกลุ่มในระดับดีเยี่ยม ผลรวมค่าคะแนนจากตัวชี้วัดอยู่ระหว่าง 80-89  คะแนน จะได้รับการจัดอยู่ในกลุ่มในระดับดีมาก ผลรวมค่าคะแนนจากตัวชี้วัดอยู่ระหว่าง 70-79  คะแนน จะได้รับการจัดอยู่ในกลุ่มในระดับดี  ผลรวมค่าคะแนนจากตัวชี้วัดอยู่ระหว่าง 60-69  คะแนน จะได้รับการจัดอยู่ในกลุ่มกลุ่มในระดับปานกลาง ผลรวมค่าคะแนนจากตัวชี้วัดอยู่ระหว่าง 50-59  คะแนน จะได้รับการจัดอยู่ในกลุ่มกลุ่มในระดับ พอใช้ และหากผลรวมค่าคะแนนจากตัวชี้วัดน้อยกว่า 50 คะแนน จะได้รับการจัดอยู่ในกลุ่มในระดับต้องปรับปรุง เป็นต้น ฉะนั้นในแต่ละกลุ่มจึงมีจำนวนมหาวิทยาลัยมากกว่าหนึ่งแห่งที่ถูกจัดให้อยู่ในระดับเดียวกัน โดยในแต่ละกลุ่มวิชาอาจมีการจัดระดับออกมาในหลายมิติ เช่น การจัดระดับมหาวิทยาลัย ในกลุ่มสาขาทางวิทยาศาสตร์ ในมิติด้านคุณภาพของการเรียนการสอน มิติด้านคุณภาพของการวิจัย มิติด้านการทำนุงบำรุงศิลปวัฒนธรรม และมิติด้านคุณภาพบัณฑิต เป็นต้น  ยกตัวอย่างเช่น สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ได้รายงานผลการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสอง ระดับอุดมศึกษา ระหว่างปี พ.ศ.2549-2551 โดยในด้านสถาบันที่เน้นการผลิตบัณฑิตและงานวิจัยนั้นมีสถาบันที่ได้รับการจัดให้อยู่ในระดับดีมาก 11 แห่ง ได้แก่ ม.เทคโนโลยีมหานคร, ม.เทคโนโลยีสุรนารี, ม.อุบลราชธานี, ม.ธรรมศาสตร์, ม.สงขลานครินทร์, ม.ขอนแก่น, จุฬาฯ, ม.เกษตรฯ, ม.นเรศวร, ม.เชียงใหม่ และ ม.มหิดล ระดับดี 12 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยแพทยศาสตร์มงกุฎเกล้า, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, ม.แม่โจ้, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, ม.มหาสารคาม, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.), มหาวิทยาลัยศรีนคริทรวิโรฒ (มศว), มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.), ม.ศิลปากร, ม.ชินวัตร, ม.คริสเตียน และ ม.บูรพา เป็นต้น

 

 

         ส่วนการจัดอันดับนั้นเป็นการประเมินคุณภาพของการจัดการศึกษาในมหาวิทยาลัยโดยการให้คะแนนในแต่ละตัวชี้วัด ซึ่งตัวชี้วัดนั้นแตกต่างกันไปตามแต่วัตถุประสงค์และมิติ นอกจากนี้ยังมีการให้น้ำหนักค่าคะแนนในแต่ละตัวชี้วัดมากน้อยแตกต่างกันอีกด้วย โดยการจัดอันดับนี้จะเรียงลำดับของมหาวิทยาลัยตามผลรวมคะแนนของตัวชี้วัดแต่ละตัว โดยเรียงลำดับจากมหาวิทยาลัยที่ได้คะแนนมากที่สุดเป็นอันดับที่หนึ่งเรื่อยไปจนถึงมหาวิทยาลัยอันดับสุดท้ายที่ได้คะแนนน้อยที่สุด ยกตัวอย่างเช่น การจัดอันดับมหาวิทยาลัยในเอเชียประจำปี 2011 (QS Asian University Ranking 2011) ซึ่งถือเป็นการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในระดับภูมิภาค (Regional Ranking) โดย QS Quacquarelli Symonds นั้นมหาวิทยาลัยระดับเอเชีย 10 อันดับแรกได้แก่

1. The Hong Kong University of Science and Technology  ฮ่องกง

2. University of Hong Kong ฮ่องกง

3. National University of Singapore (NUS) สิงคโปร์

4. The University of Tokyo ญี่ปุ่น

5. The Chinese University of Hong Kong ฮ่องกง

6. Seoul National University เกาหลีใต้

7. Kyoto University ญี่ปุ่น

8. Osaka University ญี่ปุ่น

9. Tokyo Institute of Technology ญี่ปุ่น, Tohoku University ญี่ปุ่น

โดยใน 10 อันดับแรกของมหาวิทยาลัยในเอเชียนั้นเนื่องจากอันดับที่ 9 นั้นเป็นการครองอันดับร่วมกันของมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นสองทั้งแห่ง จึงถือว่าให้ตัดอันดับที่ 10 ทิ้งไปดังนั้นมหาวิทยาลัยลำดับถัดจากนี้จะถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 11 แทนอันดับที่ 10

 

         ทั้งนี้ถึงแม้ในการจัดระดับของมหาวิทยาลัยมักจะอยู่ในรูปแบบของการจัดเป็นกลุ่มตามระดับ แต่เนื่องจากผลรวมคะแนนของแต่ละมหาวิทยาลัยที่อยู่ในระดับดัยวกันนั้นมีคะแนนมากน้อยไม่เท่ากัน ดังนั้นถึงแม้มหาวิทยาลัยกลุ่มดังกล่าวจะถูกจัดให้อยู่ในระดับเดียวก็จริง แต่บางครั้งอาจมีการจัดอันดับด้วยว่ามหาวิทยาลัยได้อันดับดีที่สุดในกลุ่มมหาวิทยาลัยระดับเดียวกัน เช่น สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) องค์การมหาชน ได้รายงานผลการประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอก ปี 2549 โดยมีมหาวิทยาลัยที่ได้รับการประเมินและถูกจัดระดับ (Rating) ให้อยู่ในกลุ่มที่มีผลการประเมินระดับดีมากด้วยกันมีทั้งหมด 11 แห่ง ซึ่งมหาวิทยาลัยที่มีผลการประเมินระดับดีมากกลุ่มนี้สามารถจัดอันดับ (Ranking) โดยเรียงตามลำดับคะแนน ได้แก่

1.ม.เทคโนโลยีมหานครเท่ากับ 4.86

2.ม.เทคโนโลยีสุรนารี เท่ากับ 4.76

3.ม.อุบลราชธานี เท่ากับ 4.70

4.ม.ธรรมศาสตร์ เท่ากับ 4.67 5) ม.สงขลานครินทร์ เท่ากับ 4.65 6) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เท่ากับ 4.62 7) ม.ขอนแก่น เท่ากับ 4.62 8) ม.เกษตรศาสตร์เท่ากับ 4.57 9) ม.นเรศวร เท่ากับ 4.56 10) ม.เชียงใหม่ เท่ากับ 4.53 และ 11) ม.มหิดล เท่ากับ 4.53 เป็นต้น

         ในแง่ของการวัดคุณภาพจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นการจัดระดับมหาวิทยาลัยหรือการจัดอันดับมหาวิทยาลัย มีความเข้มข้นไม่แตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการใช้ตัวชี้วัดและการให้ค่าน้ำหนักคะแนนในแต่ละตัวชี้วัดในการวัดคุณภาพของมหาวิทยาลัยในแต่ละมิติ งการจัดระดับจะสามารถทำให้มหาวิทยาลัยรู้ว่าคุณภาพของการเรียนการสอนของตนนั้นอยู่ในระดับใดโดยดูจากคะแนนรวมที่ได้ทั้งหมด และต้องมีการพัฒนาในด้านใดบ้าง โดยดูจากคะแนนที่ได้ในแต่ละตัวชี้วัด หากมองในแง่ของการกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันระหว่างมหาวิทยาลัย จะพบว่าการจัดอันดับนั้นสามารถสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการแข่งขันของแต่ละมหาวิทยาลัยได้ดีกว่าการจัดระดับ กล่าวคือ ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัย (University Ranking) นั้น มหาวิทยาลัยหลายๆแห่งย่อมต้องการพัฒนาตนเองเพื่อให้มหาวิทยาลัยติดอันดับที่ดีกว่าเดิมหรือสามารถก้าวไปสู่มหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งให้ได้ ดังนั้นแต่ละมหาวิทยาลัยจึงต้องมีการพัฒนาคุณภาพของมหาวิทยาลัยในแต่ละตัวชี้วัดให้ได้คะแนนดีกว่ามหาวิทยาลัยอื่นๆ เพื่อผลักดันให้มหาวิทยาลัยมีคะแนนโดยรวมดีกว่ามหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั้งนี้ก็เพราะจะได้ถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ดีกว่ามหาวิทยาลัยอื่นๆนั่นเอง ส่วนการจัดระดับมหาวิทยาลัย (University Rating) นั้น น่าจะมีผลต่อการแข่งขันระหว่างมหาวิทยาลัยน้อยกว่าการจัดอันดับโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มมหาวิทยาลัยที่ถูกจัดให้อยู่ในระดับที่ดีที่สุดของการจัดระดับนั้น อาจมองว่าตนเองได้พัฒนาสาขาวิชาในมิตินั้นๆถึงจุดที่สุดที่สุดของระดับวัดแล้ว ทำให้มีความมุ่งมั่นในการที่จะพัฒนาคุณภาพในมิตินั้นลดลงไป หากมหาวิทยาลัยที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันนี้คิดเหมือนกันหมดทำให้ขาดการแข่งขันกันเองในกลุ่ม เพราะถือว่าทุกมหาวิทยาลัยที่ถูกจัดอยู่ในระดับเดียวกันนี้ มีคุณภาพเท่าเทียมกัน ก็จะทำให้ลดโอกาสและความกระตือรือร้นในการพัฒนาคุณภาพของการศึกษาไปอย่างน่าเสียดาย และอาจจะมีเพียงมหาวิทยาลัยที่ยังไม่ได้ถูกจัดให้อยู่ในระดับที่สูงสุดเท่านั้นที่พยายามในการพัฒนาคุณภาพตามตัวชี้วัดในแต่ละมิติเพื่อให้ถูกจัดอยู่ในระดับที่ดีกว่าเดิมหรือเพื่อให้ได้มาอยู่ในระดับที่สูงที่สุด

หมายเลขบันทึก: 440900เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2011 15:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 22:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท