ศุภัชณัฏฐ์ หลักเมือง
นาย ศุภัชณัฏฐ์ หลักเมือง (เอ) หลักเมือง

ข้าราชการจะวางตัวอย่างไร ? ... ในสถานการณ์การเลือกตั้ง (กศน.เพื่อรัก เพื่อนเรียนรู้ : ๔๘)


ข้าราชการจะวางตัวอย่างไร ? ... ในสถานการณ์การเลือกตั้ง (กศน.เพื่อรัก เพื่อนเรียนรู้ : ๔๘)

ข้าราชการจะวางตัวอย่างไร ? ...  ในสถานการณ์การเลือกตั้ง

ศุภัชณัฏฐ์  หลักเมือง
ผู้อำนวยการ (เชี่ยวชาญ)กศน.อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์
เครือข่ายประชาสังคมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
E-mail : [email protected]
--------------------------------------------------------

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “ข้าราชการ” ถือว่าเป็นกลไกสำคัญของรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ซึ่งอาจเป็นทั้งเครื่องมือในการแข่งขันทางการเมือง เป็นกลไกในการป้องกันในการรักษา กฎ กติกาหรือระงับศึกในการเลือกตั้งก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าข้าราชการนั้นจะเลือกยืนอยู่จุดไหน แต่ในหลายพื้นที่ที่มีการแข่งขันทางการเมืองกันสูงมาก ๆ ประเภทที่ว่าแพ้ไม่ได้  ซึ่งเปรียบเหมือนช้างสารชนกัน ถ้าข้าราชการในพื้นที่ไม่ระมัดระวังตัวให้ดี ก็เหมือนกับหญ้าแพรกที่อาจต้องแหลกลาญ  เมื่อมีการประกาศยุบสภา เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2554 และจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั้งประเทศในวันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม 2554 ก็เป็นสัญญาณให้ข้าราชการต้องตระหนัก และระมัดระวังถึงภาระของตนที่จะต้องรณรงค์ประชาชนที่มีสิทธิออกเสียงไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกพรรคการเมืองและเลือก ส.ส. ที่ซื่อสัตย์ มือสะอาด เข้าสภาผู้แทนราษฎร

อย่างไรก็ดี ด้วยความเป็นห่วงข้าราชการ เลขาธิการ ก.พ. จึงได้ขอให้ข้าราชการวางตัวเป็นกลางทางการเมือง โดยยึดระเบียบข้าราชการพลเรือนว่าด้วยมารยาททางการเมืองของข้าราชการพลเรือนเป็นแนวทางในการปฏิบัติ เนื่องจากช่วงนี้เป็นเวลาของหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองต่าง ๆ ซึ่งมีการรวมตัวกันเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมือง มีการโฆษณาหาเสียง เชิญชวนให้ข้าราชการและประชาชนไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ผู้ที่เป็นข้าราชการก็จำเป็นต้องมีส่วนร่วม และดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย  และเพื่อมิให้เกิดความสับสนในบทบาทของข้าราชการ ในฐานะที่เป็นทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชน รวมถึง สายตาของประชาชนทั่วไปที่มองข้าราชการอยู่  ข้าราชการจึงจำเป็นต้องมีความตระหนัก และระมัดระวังในการปฏิบัติตัว การร่วมกิจกรรม และการแสดงออกในทางการเมือง

ผู้เขียน จึงขอนำระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับข้าราชการกับการเลือกตั้ง มาเพื่อแจ้งให้ทราบอีกครั้ง หากทราบแล้วก็ถือเป็นการทบทวนให้มีความเข้าใจยิ่งขึ้น โดยระเบียบและมติที่เกี่ยวข้องที่สำคัญ ๆ และสรุปได้ดังนี้

   1. ให้หน่วยงานของรัฐสั่งเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดให้ความร่วมมือ ช่วยเหลือ สนับสนุนในการดำเนินการเลือกตั้งเมื่อเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบโดยตรงร้องขอ
   2. ให้หน่วยงานของรัฐอำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดไปใช้สิทธิ  เลือกตั้ง
   3. ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐวางตัวเป็นกลางในการเลือกตั้งทุกครั้งอย่างเคร่งครัด และไม่ปฏิบัติการใดๆ อันเป็นการให้คุณให้โทษแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งโดยเด็ดขาด
   4. ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และแนะนำชักชวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปใช้  สิทธิ เลือกตั้งโดยพร้อมเพรียง
   5. ให้หน่วยงานของรัฐอนุญาตให้ใช้สถานที่ราชการในการหาเสียงได้อย่างเสมอภาคกัน กรณีเป็นสถานการศึกษาก็อย่าให้กระทบต่อการเรียนการสอนด้วย และ ประการสำคัญหากมีค่าใช้จ่ายที่จำเป็น ผู้ขอใช้สถานที่ต้องสนับสนุนค่าใช้จ่ายตาม ควรแก่กรณีด้วย
   6. ให้หน่วยงานของรัฐไม่ควรจัดให้มีการอบรมหรือสัมมนาในช่วงระยะเวลาประมาณ 10 วัน ก่อนวันเลือกตั้งเพราะจะกระทบต่ออัตรากำลังที่จะต้องปฏิบัติการเลือกตั้ง


(หนังสือเวียนมติ ค.ร.ม.ที่ ว.149/2543 ว.147/2550 และ ว.49/2551 คณะรัฐมนตรียังมีมติให้การช่วยเหลือผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งแล้วถูกฟ้องเป็นคดีหรือถูกแจ้งความร้องทุกข์ด้วย  (ว.247/2544) (มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 แนบหนังสือคณะกรรมการการเลือกตั้ง 24 สิงหาคม พ.ศ. 2543 ซึ่งยังใช้อยู่จนถึงทุกวันนี้)

นอกจากนั้น ยังมีระเบียบคณะรัฐมนตรี ปี พ.ศ. 2499 (ไม่ได้พิมพ์ผิดนะครับ) ได้วางระเบียบเกี่ยวกับข้าราชการพลเรือนขึ้น (ในขณะนั้นมีข้าราชเพียง 2 ประเภท คือ ข้าราชการพลเรือน กับข้าราชการทหาร) และคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ปัจจุบันต้องเรียกว่า ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีครับ สาระสำคัญของระเบียบนี้ สรุปได้ดังนี้

ข้าราชการพลเรือนจะต้องไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืน ข้อห้ามดังต่อไปนี้

1. ไม่ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองใดๆ เว้นแต่ผู้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภท 2 หรือข้าราชการการเมือง ในข้อนี้เป็นการกำหนดในระดับห้ามฝ่าฝืนเท่านั้น แต่ในปัจจุบันตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 36 ข.(1) และ (5) บัญญัติไว้เป็นลักษณะต้องห้ามสำหรับผู้ที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนเลยว่า ต้องไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งที่รับผิดชอบในการบริหารพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมืองหากหลุดรอดเข้าไปเป็นข้าราชการพลเรือนแล้ว ภายหลังทางราชการตรวจสอบก็จะต้องสั่งให้ออกจากราชการตามมาตรา 67  โดยพลันครับ

2. ไม่ใช่สถานที่ราชการในกิจการทางการเมือง (แต่ให้พรรคการเมืองผู้สมัครรับเลือกตั้งและผู้สนับสนุนใช้สถานที่ราชการและโรงเรียนในการหาเสียงเลือกตั้งได้ แต่ต้องไม่กระทบต่อการปฏิบัติงาน การเรียนและสอน ทั้งนี้หากมีค่าใช่จ่ายให้พรรคการเมืองสนับสนุนด้วย)

3. ไม่วิพากษ์วิจารณ์การกระทำของรัฐบาลให้ปรากฏแก่ประชาชน

4. ไม่แต่งเครื่องแบบราชการไปประชุมพรรคการเมือง

5. ไม่ประดับเครื่องหมายของพรรคการเมืองในเวลาสวมเครื่องแบบราชการ เวลาราชการ หรือในสถานที่ราชการ

6. ไม่แต่งเครื่องแบบของพรรคการเมืองเข้าไปในสถานที่ราชการ

7. ไม่บังคับให้ผู้ใต้บังคับบัญชาหรือประชาชนเป็นสมาชิกในพรรคการเมือง และไม่กระทำการในทางให้คุณให้โทษเพราะเหตุที่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาหรือประชาชนเป็นสมาชิกในพรรคการเมืองใดที่ตั้งขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมาย

8. ไม่ทำการขอร้องให้บุคคลใดอุทิศเงินหรือทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แก่พรรคการเมือง

9. ไม่โฆษณาหาเสียงเพื่อประโยชน์แก่พรรคการเมืองหรือแสดงการสนับสนุนพรรคการเมืองใดๆ ให้เป็นการเปิดเผยในที่ประชุมพรรคการเมืองหรือในที่ที่ปรากฏแก่ประชาชน หรือไม่เขียนจดหมายหรือบทความไปลงหนังสือพิมพ์หรือพิมพ์หนังสือหรือใบปลิวซึ่งจะจำหน่ายแจกจ่ายไปยังประชาชนอันมีข้อความที่เป็นลักษณะของการเมือง

10. ปฏิบัติหน้าที่แทรกแซงทางการเมือง หรือใช้การเมืองเป็นเครื่องมือเพื่อกระทำกิจการต่างๆ เช่น ติดต่อกับสส.หรือพรรคการเมืองเพื่อให้นำร่างพระราชบัญญัติหรือญัตติเสนอสภาหรือตั้งกระทู้ถามรัฐบาล ประการนี้รู้สึกว่าจะไม่มีประโยชน์เท่าใดแล้วครับ ทุกวันนี้ข้าราชการทำหน้าที่ในการเตรียมข้อมูลให้พร้อมเท่านั้น ไม่ต้องใช้กำลังผลักดันหรอก เป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองต่างๆ ที่จะช่วงชิงจังหวะและโอกาสในการหาเสียงและคะแนนนิยมจากประชาชนให้พรรคการเมืองของตน ทั้งการเสนอกฎหมายตั้งกระทู้ถามรัฐบาลเป็นประจำอยู่แล้ว

11. ในระยะเวลาที่มีการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่แสดงออกโดยตรงหรือ      โดยปริยายที่จะเป็นการช่วยเหลือ ส่งเสริมสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้ง และในทางกลับกัน ไม่กีดกัน ตำหนิติเตียนทับถม หรือให้ร้ายผู้สมัครรับเลือกตั้ง

         สรุปว่า หากข้าราชการสามารถปฏิบัติได้ตามระเบียบ และมติที่ได้สรุป เรียบเรียงมาให้นี้ ก็น่าจะเพียงพอต่อการทำหน้าที่ข้าราชการที่วางตัวเป็นกลางทางการเมืองเป็นอย่างดีแล้ว.

 

หมายเลขบันทึก: 440657เขียนเมื่อ 24 พฤษภาคม 2011 13:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณท่าน ที่กรุณาให้หลักเกณฑ์ที่ถูกต้องชัดเจน ตามระเบียบปฏิบัติและจรรยาบรรณ ผมเองก็กำลังหาอยู่พอดี ถึงรายละเอียดของการวางตัวเป็นกลางทางการเมือง แต่ด้วยความเคารพ ณ วันนี้ ข้าราชการไทยทุกหมู่เหล่า กับวัฒนธรรมทางการเมือง คงปฏิเสธไม่ได้ว่า..... พวกเรา วางตัวเป็นกลาง....หลังจากเข้าข้างเรียบร้อยแล้ว

ขอบคุณครับสำหรับดอกไม้และการแสดงความคิดเห็น ข้าราชการก็คือ ประชาชนครับก็ยังมีความชอบ ไม่ชอบอยู่ในใจและในความรู้สึก แต่จะทำอย่างไรให้มันดู  ไม่น่าเกลียดเกินไป และเป็นเป้าหมายให้นักการเมืองเล่นงานเราได้ครับ ...      คุณชยันต์ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท