๒. ย้อนรอยพระนวกะ ตอนที่ ๒


"การใช้ชีวิตของพระนวกะที่เปลี่ยนเพศจากฆารวาส มาเป็นบรรพชิตกำลังจะผ่านพ้นไปเป็นค่ำคืนแรก หากแต่ยังมีความตื่นเต้น และประสบการณ์ใหม่ๆ ของพระนวกะ ยังอีกมากมายตลอดระยะช่วงพรรษาหนึ่ง เช่น ก้าวย่างแรกของการบิณฑบาตร เถรกวาดลานใต้ร่มไม้ใหญ่ กิจกรรม KM. กับพระนวกะ และอีกหลากหลายเรื่องราว ที่ยังรอการบอกเล่าจากผู้เขียนในคราวต่อไป"

หลังจากที่ผู้เขียนได้พูดถึงการพาพระนวกะ ไปพักตามกุฏิที่ทางวัดจัดไว้ให้ของพระพี่เลี้ยงไปเมื่อคราวที่แล้ว จากนั้นก็ถึงคราวที่ผู้เขียน และบรรดาเพื่อนพระนวกะจะต้องจัดแจงทำความสะอาดห้อง เพื่อเตรียมที่นอนสำหรับการจำวัดในค่ำคืนแรกของการเปลี่ยนแปลง วัตรปฏิบัติจากเพศฆราวาส มาเป็นบรรพชิตของบรรดาพระภิกษุใหม่ ที่ถูกเรียกว่า "พระนวกะ"

กุฏิที่จัดไว้ให้พระนวกะพัก มีอยู่ทั้งหมด สาม - สี่ หลัง ซึ่งแต่ละหลังจะมีชื่อแตกต่างกันตามที่มาและคุณลักษณะการก่อสร้าง และสถานที่ตั้งของกุฏิ เช่น กุฏิรวมใจ หนึ่ง - สอง ซึ่งน่าจะตั้งชื่อจากการร่วมบริจาคเงินสร้างของผู้่มีจิตศรัทธาเป็นจำนวนมาก, กุฏิกลางน้ำ ซึ่งตั้งอยู่กลางน้ำที่มีการขุดคล้ายๆ บ่อเลี้ยงปลาไว้รอบตัวกุฏิ, กุฎิสุคันธศีล ซึ่งท่านเจ้าอาวาส/พระอุปัชฌาย์ เป็นผู้บริจาคปัจจัยในการสร้าง และกุฏิริมน้ำ ซึ่งสร้างอยู่ริมสระน้ำขณะใหญ่ เป็นต้น

ผู้เขียนได้ถูกให้พักที่กุฏิรวมใจ สอง ร่วมกับกัลยานมิตรท่านหนึ่ง ซึ่งมีรูปร่างเจ้าเนื้อพอควร (ยังแอบนึกในใจว่าท่านจะเหนื่อยกับการถือศีลข้อ วิกาลโภชนา ไหมหนอ) แต่เมื่อได้อยู่ด้วยกันก็ได้ซึมซับถึงความตั้งใจจริงของท่าน กับการมาบวชครั้งนี้เพราะนอกจากท่านจะบวชเพื่อรักษาประเพณีแล้ว ท่านยังต้องการบวชเพื่อทดแทนพระคุณแม่ ซึ่งเป็นผู้เลี้ยงดู และบ่มเพาะให้ท่านเป็นผู้เป็นคนมาจนทุกวันนี้ การถือวัตรปฏิบัติจึงมิใช่เรื่องยากสำหรับท่าน

การสนทนาของผู้เขียนกับกัลยาณมิตรร่วมห้อง ระหว่างการจัดเตรียมที่หลับที่นอนสำหรับจำวัดในคืนแรก ต้องจบลงพร้อมกับเสียงระฆังที่ตีรัว เง้งๆๆ เคล้าไปกับเสียงเห่าหอนของเหล่าสุนัข ที่มีอยู่เต็มอาณาบริเวรวัด มันคือสัญญาณบอกว่าการทำวัตรเย็นกำลังจะเริ่มขึ้นแล้ว ซึ่งพระที่นี้จะทำวัตรเย็นกันตอนบ่ายสี่โมงเย็น แต่จะตีระฆังตอนบ่ายสามโมงครึ่ง เพื่อเผื่อเวลาสำหรับการเตรียมตัว นุ่งห่มผ้า และเดินไปทำวัดที่โบสถ์ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าของกุฏิเจ้าอาวาส ติดกับสระน้ำขนาดใหญ่ (หากใครที่่เคยไปมาบ้างคงคุ้นเคยเป็นอย่างดี) ที่มีไว้สำหรับกักเก็บน้ำไว้ใช้ และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ เช่น ปู ปลา และเต่า

อันที่จริงกิจวัตรของพระนวกะจะมีตารางแบ่งไว้ชัดเจน แต่ที่ต้องถือเป็นวัตรปฏิบัติ ก็คือ พระนวกะทุกรูปจะต้องตื่นนอนตั้งแต่ตีสี่เพื่อร่วมกันทำวัตรเช้า - ออกบิณฑบาตร - ฉันจังหาร (ฉันเช้า) - กวาดลานวัด - อบรมเพิ่มพูนความรู้ด้านศีลธรรม และพุทธศาสนา - ฉันเพล - อบรมเพิ่มพูนความรู้ต่อ - ทำวัตรเย็น - ปฏิบัติกรรมฐาน และ จำวัดตอนสามทุ่มของทุกวัน วนเวียนอยู่อย่างนี้ หรือจะเรียกตามสโลแกนของพระบวชใหม่ที่ว่า กินน้อย นอนน้อย เรียนรู้และปฏิบัติมากๆ ก็คงไม่ผิด

นั่นคือสโลแกน และวัตรปฏิบัติที่เป็นตารางที่ทางวัดวางไว้ แต่ในความเป็นจริงในช่วงที่ผู้เขียนบวชเป็นพระนวกะ วัตรปฏิบัติก็มีการปรับเปลี่ยน แะลยืดหยุ่นไปบ้าง เนื่องจากมีการเปลี่ยนทีมพระพี่เลี้ยง (ซึ่งผู้เขียนก็ไม่ทราบเหตุผล) แต่หลักๆ ก็ยังคงไว้เช่นเดิม แต่หากพูดถึงเรื่องการเรียนรู้และปฏิบัติธรรม เจริญกรรมฐานแล้ว น่าจะเข้าทำนอง "มือใครยาวเสาได้เสาเอา" เพราะนโยบายของทีมพระพี่เลี้ยงในขณะนั้นเป็นไปในลักษณะ ให้ผู้บวชเรียนรู้การปฏิบัติเองจากธรรมชาติ ผสมกับการชี้แนะบ้างในบางคราว

การใช้ชีวิตของพระนวกะที่เปลี่ยนเพศจากฆารวาส มาเป็นบรรพชิตกำลังจะผ่านพ้นไปเป็นค่ำคืนแรก หากแต่ยังมีความตื่นเต้น และประสบการณ์ใหม่ๆ ของพระนวกะ ยังอีกมากมายตลอดระยะช่วงพรรษาหนึ่ง เช่น ก้าวย่างแรกของการบิณฑบาตร  เถรกวาดลานใต้ร่มไม้ใหญ่  กิจกรรม KM. กับพระนวกะ และอีกหลากหลายเรื่องราว ที่ยังรอการบอกเล่าจากผู้เขียนในคราวต่อไป

หมายเลขบันทึก: 440652เขียนเมื่อ 24 พฤษภาคม 2011 12:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท