111.ยล "ปราสาทเมืองต่ำ" แล้วอึ้ง..กลัวเขมรเอาคืน


ซื้อตั๋วควบเพื่อเข้าชมปราสาทพนมรุ้งไปแล้ว

ใช้เวลาอยู่พนมรุ้งราวชั่วโมง เพื่อปีนป่ายขึ้นสูงตัวปราสาท และชื่นชมศิลปะขอม

เมื่อลงมาพักเหนื่อยกันได้ที่ ก็ออกเดินทางต่อ

ตอนนี้จะนำไปชม "ปราสาทเมืองต่ำ"

เดินทางออกจาก พนมรุ้ง ราว 10 นาที ก็ถึงจุดหมาย

ทางเข้าเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่ดูกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ประวัติศาสตร์

เพราะมีบาราย อยู่รอบหมู่บ้านบอกขอบเขตของเมืองในอดีต

และใช้เป็นแหล่งน้ำของชุมชนรอบปราสาท..ตามคติขอมโบราณ

เมื่อไปถึงจะเห็นป้ายของกรมศิลปากรแนะนำปราสาทเมืองต่ำอยู่ข้างหน้า

 

 

ชื่อ "เมืองต่ำ" เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นเรียกปราสาทซึ่งไม่รู้ว่าชื่อเดิมคืออะไร

แต่อ้างอิงว่า เป็นปราสาทที่อยู่ต่ำกว่า พนมรุ้ง ชาวบ้านจึงเรียกเช่นนั้น

ที่เหลือ ฝากอ่านจากแผ่นป้าย และหาข้อมูลในเน็ตได้ มีเยอะเลย

 

 

ปราสาทนี้ตั้งอยู่บนที่ราบ ไม่ต้องปีนป่ายสูงชันเหมือนพนมรุ้ง

ทำให้เข้าไปชื่นชมความงดงามได้ง่ายกว่า

และพื้นที่รอบๆ ปราสาทก็สงบ ร่มรื่น ด้วยแมกไม้ที่จัดวางไว้อย่างลงตัว

 

หากมาในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หรือช่วงปิดภาคเรียนเช่นนี้

เราจะพบไกด์ตัวน้อย เป็นเด็กนักเรียนโรงเรียนประถมฝั่งตรงข้าม

ที่ได้รับการอบรมความรู้เบื้องต้นทางประวัติศาสตร์ของปราสาทจากกรมศิลปากร

มาคอยต้อนรับ และพาเราเข้าไปชมโบราณสถาน พร้อมเรื่องเล่าจากเด็กน้อย

 

ชื่นชมน้องๆ ที่มีความอุตสาหะในการนำเสนอศิลปะ/วัฒนธรรมที่มีอยู่ในท้องถิ่น

ไม่มัวไปเที่ยวเล่น หรืออยู่ในร้านเกมส์ เช่นเด็กๆ ในเมือง

แต่เสน่ห์การนำเสนอจางไปนิด ตรงที่น้องๆ ท่องเป็น "นกแก้วนกขุนทอง"

และขาดการเรียนรู้ ค้นคว้าเพิ่มเติม เฉพาะตัวไปหน่อย

เพราะไกด์ทุกคนจะท่องมาเหมือนกันหมด (แอบได้ยินพร้อมกัน)

ตอบแทนน้องๆ เล็กน้อยๆ ตามสมควร เพื่อเป็นกำลังใจด้วยค่ะ

 

มองไกลๆ เห็นตัวปราสาทตั้งเด่นอยู่ท่ามกลางต้นไม้ใหญ่

ดูไม่แห้งแล้ง ไม่แสดงอำนาจ แต่อบอุ่น สงบเย็น ชอบแบบนี้

 

 

เมื่อเดินเข้าไปใกล้ตัวปราสาทเรื่อยๆ จะอึ้งกับความงดงาม

ความลงตัวของศิลปะขอมที่ปรากฎอยู่ตรงหน้า

สีของศิลาออกส้มอมชมพู  และขนาดของปราสาทที่ไม่ใหญ่โตนัก

ทำให้นึกถึงปราสาทบันทายศรีของเขมร ที่สวยงามไม่แพ้กัน

 

ปราสาทเมืองต่ำ น่าจะเป็นปราสาทที่มิได้สร้างถวายกษัตริย์

จึงทำให้ตั้งอยู่บนที่ราบ ไม่ต้องมีบันไดสูงชันต้องปีนป่าย

และไม่ต้องแสดงอำนาจด้วยความใหญ่โต และไม่ต้องมีปราสาทบริวารมากมาย

ตัวปราสาท และลวดลายสลักเสลายังสมบูรณ์อยู่มาก

 

 

ทับหน้า และทับหลัง เป็นเสน่ห์ของปราสาทขอม

เพราะจะมีความละเอียด อ่อนช้อย และบอกเล่าเรื่องราวในความเชื่อ

มีความแตกต่างกันออกไปแต่ละประตูที่เดินผ่าน

หากได้รู้ข้อมูลเหล่านั้นบ้าง จะทำให้การชมปราสาทสนุกขึ้น

งวดนี้เราก็ได้น้องไกด์ ช่วยเล่าประกอบการชม

 

 

ความสวยของปราสาทองค์นี้อยู่ที่หินซึ่งนำมาจากภูเขาพนมดงรัก

สกัดมาเป็นก้อน นำขึ้นไปประกอบเป็นปราสาทก่อน แล้วจึงสลักลวดลาย

และยังมีองค์ประกอบทั้ง ระเบียง ลูกกรง กรอบหน้าต่าง

เสียดายอยู่ก็แต่ ไม่มี "นางอัปสร" มาช่วยสร้างความงดงามเช่นที่เขมรเขามีกัน

หลายคนที่เคยไปนครวัด นครธม มาแล้วจะคิดเช่นนี้เหมือนๆ กัน

อ้อ! แต่ที่นี่จะมีภาพแกะสลักฤาษี อยู่มากพอควร (แต่ก็แทนกันไม่ได้)

 

 

 

เดินรอบๆ จะเห็นหมู่ปราสาทกลุ่มหนึ่ง รายรอบอยู่ด้านหลัง

เมื่อมองย้อนกลับไปภาพหมู่ปราสาทเล็กๆ นี้เป็นองค์รวมที่งดงามเช่นกัน

บางมุมภาพทำให้นึกถึง ปราสาทบายน ของเขมรอีกเช่นกัน

แต่ที่ "บายน" จะอลังการด้วยหน้าของ"พระเจ้าชัยวรมันที่ 7" ดูน่าเกรงขาม

 

 

 

องค์ประกอบสำคัญของปราสาทขอม ยังคงต้องมีบ่อน้ำรอบองค์ปราสาทหลัก

แต่ที่นี่ บ่อน้ำที่รายรอบ มีบัวเต็มไปหมด ให้ความสดชื่น สดใส

และนั่งมองได้อยู่เป็นนาน บัวชมพูเหมาะกับปราสาทมากๆ

 

 

 

ความอึ้งเกิดขึ้นเมื่อเราเดินมาถึงด้านหลังของปราสาท

ภาพของหมู่ปราสาท บึงบัว ระเบียง และกำแพงหิน

ประกอบกับแสงเงา และท้องฟ้า ช่างลงตัวสวยงามจริงๆ

ฉายภาพตรงนี้กันจนเพลินไปเลย

 

 

ภาพสุดท้าย ไกด์น้อย บอกเราว่าเป็นวิวกรมศิลป์

เรางง! กันอยู่พักหนึ่ง จึงได้รับคำอธิบายว่า

กรมศิลปากร ถ่ายภาพจากจุดนี้ ไปนำตีพิมพ์

ก็สวยจริงเพราะมีความครบถ้วนขององค์ประกอบหมู่ปราสาท

รวมทั้งเห็นภาพของ พญานาครายรอบสระบัว ด้วย

 

 

ครบถ้วนแล้ว กับความอิ่มเอมกับการชมปราสาท และทิวทัศน์

ก็นึกเสียดายอยู่ว่า หากปราสาทนี้เข้าตา "ฮุนเซน"

คราวหน้า เขมรอาจลุกคืบจาก "ตาเมือนธม" จ.สุรินทร์

เข้ามาถึง ปราสาทเมืองต่ำ เพื่อเรียกคืน บอกว่าเป็นของเขมรอีกก็ได้นะ

เข้าตำรา "ได้คืบ จะเอาศอก"

เราคงต้องเน้นย้ำว่า ประวัติศาสตร์ แก้ไขไม่ได้

ดังนั้น "ขอมโบราณ" จึงไม่ควรเท่ากับ "เขมรในปัจจุบัน"

และชนชาติต่างๆ ที่อยู่บนสุวรรณภูมิ ล้วนมีความเกี่ยวข้อง เชื่อมโยงกัน

จนแยกไม่ออกอย่างเด็ดขาด ชัดเจน ว่าอะไรเป็นของใครบ้าง

คนสมัยใหม่เพียงร้อยกว่าปีนี้เอง ที่ใช้เขตแดนเป็นตัวแบ่งความเป็นชนชาติ

แต่ศิลปะ วัฒนธรรม โบราณที่เกิดก่อนหน้านั้น ล้วนเป็นสมบัติร่วมกัน

มิฉะนั้นเขาจะเรียกว่า "มรดกโลก" หรือ

เพราะ มรดกโลก ก็คือสมบัติของคนในโลกเดียวกัน.

 

ราตรีสวัสดิ์

pis.ratana บันทึก

22 พค.54

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 440334เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2011 20:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 17:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ถ่ายภาพ ได้งดงามจังค่ะ

ขอบคุณบันทึกดี ๆ ค่ะ

dark green forming adjacent hue contrast meticulous research and development half

ขอบคุณมากค่ะ

สำหรับภาพสวยๆ

บ้านตัวเองแท้ๆ ยังไม่มีภาพงามๆแบบนี้เลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท