๔๐. ผู้สูงอายุนั้น...สำคัญไฉน? (ตอนที่ ๑)


ยายกล่อมโชคดีที่มีลูกหลานดูแล แล้วผู้สูงอายุอีกมากมายที่ไม่มีผู้ดูแล จะทำอย่างไร?

           ผู้สูงอายุ คือ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ในขณะนี้ประเทศไทยเริ่มก้าวเข้าสู่ประเทศที่มีผู้สูงอายุมากขึ้น เนื่องจากการพัฒนาด้านสาธารณสุข สิ่งแวดล้อมและอื่น ๆ  ทำให้ผู้คนมีโอกาสในการที่จะมีชีวิตที่ยืนยาวมากกว่าในอดีต แต่การที่มีอายุมากขึ้น ต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยเช่นกัน การดูแลผู้สูงอายุโดยความร่วมมือทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข  ครอบครัวและชุมชนนับเป็นสิ่งสำคัญ   

             วันที่  2  พฤษภาคม 2554  ผู้เขียนได้ไปดู การทำงานในการดูแลผู้สูงอายุของชุมชนควนขนุน ตำบลทับเที่ยง  อำเภอเมือง  จังหวัดตรัง ตามโครงการ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดูแลผู้สูงอายุระยะยาว ของชุมชนควนขนุน ตำบลทับเที่ยง  อำเภอเมืองซึ่งชุมชนมีลักษณะกึ่งเขตเมือง และตำบลท่าข้าม อำเภอปะเหลียน ซึ่งเป็นชุมชนชนบท ทั้งสองแห่งอยู่ในจังหวัดตรังมี คุณจรินทรัตน์  แซ่น่า เป็นเจ้าของโครงการ ได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปแล้วในระยะที่ 1  ครั้งนั้นให้ชุมชนทั้งสองแห่งมาพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งผู้เขียนไม่ได้ไปร่วมด้วยเนื่องจากติดงานอื่น  ครั้งนี้เป็นระยะที่ 2  แลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยให้ทั้งสองตำบลมาดูงานในพื้นที่จริงของอีกตำบล

 

                       ทีมผู้ดูงานและเจ้าของบ้าน

 

           

            ผู้เขียนไม่ได้เขียนตามประเด็นที่ตั้งไว้ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งเขียนในแง่การทำงานของชุมชน แต่เขียนในแง่มุมอื่น ๆ ที่คิดว่าจะช่วยสนับสนุนแนวคิดในการดำเนินงานของพื้นที่

            ได้คุยกับ คุณปรีดา   สาราลักษณ์ พยาบาลเวชปฏิบัติครอบครัว กลุ่มงานเวชกรรมสังคมของโรงพยาบาลศูนย์ตรัง คุณปรีดาเล่าให้ฟังว่า ได้ทำงานนี้ตั้งแต่เป็นน้องเล็กของกลุ่มงาน จนในขณะนี้เป็นพี่ใหญ่  เธอบอกว่าได้ส่งเสริมให้น้อง ๆ ในกลุ่มงานของเธอได้เรียนเพิ่มเติมในเรื่องของงานเวชปฏิบัติครอบครัวและชุมชน เพื่อให้ทุกคนได้เรียนรู้การทำงานในชุมชน ในขณะนี้มีทั้งน้องที่จบมาแล้ว น้องที่กำลังเรียนและน้องที่กำลังรอคิวที่จะเรียนต่อไป ค่าลงทะเบียนเรียนคนละ 25,000 บาท นับว่าไม่ใช่น้อย ในการเรียน 4 เดือน ณ วิทยาลัยพยาบาลตรัง โดยมีสัญญาใจว่าจะต้องทำงานอย่างน้อย 2  ปี แล้วค่อยย้ายไปอยู่ที่อื่น ผู้เขียนคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เป็นขวัญและกำลังใจให้กับผู้ทำงาน รวมทั้งทำให้เกิดความมั่นใจในการดำเนินงานในชุมชน ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพของงานในชุมชนด้วย 

                   คุณปรีดา   สาราลักษณ์ ภาพบนซ้าย 

         

        

           ผู้เขียนได้รับฟังการนำเสนอข้อมูลคร่าว ๆ ของชุมชนควนขนุนจากประธาน อสม.  คุณทัศนีย์  ต่อจากนั้นคุณปรีดา ได้ให้ผู้สูงอายุร้องเพลง มีหลายเพลง แต่ที่ผู้เขียนชอบได้แก่เพลงนี้ค่ะ

 

                                           เพลง  ทำความดี 

ทำความดีสูงวัยต้องทำความดี 

ทำความดีสูงวัยต้องทำความดี 

ทำความดีสูงวัยต้องทำความดี 

ทำความดีสูงวัยต้องทำความดี 

ผู้สูงวัยต้องมีใจพัฒนา 

มาเถิดมาร่วมทางสร้างความดี 

ผูกใจรักสมานสามัคคี 

ทำความดีเพื่อศักดิ์ศรีผู้สูงวัย

 

              ผู้เขียนชอบเพราะเป็นเพลงที่จำง่าย และย้ำถึงการทำความดี การมีใจพัฒนาและความสามัคคี ผู้สูงอายุทุกคนร้องเพลงนี้ได้ การที่พูดอะไร ร้องอะไรที่ซ้ำ ๆ  อย่างน้อย ๆ  ก็น่าจะทำให้เกิดความรู้สึกตระหนัก หรือคล้อยตามได้ 

 

               คุณปรีดาบอกว่า  เพลงนี้เธอและ อสม.ร่วมกันแต่ง โดยมีอาจารย์อำนวย  พรหมทอง เป็นที่ปรึกษาและใส่ทำนอง อาจารย์อำนวยบอกว่าการเขียนเพลงให้ผู้สูงอายุเนื้อเพลงต้องเขียนซ้ำ ๆ  เพื่อให้จำได้ง่าย ขณะนี้อาจารย์ ได้บวชและจำวัดอยู่ที่วัดคลองน้ำเจ็ด จ.ตรัง   ท่านได้แต่งเพลงสำหรับชุมชนไว้หลายเพลงค่ะ  (ผู้เขียนตั้งใจว่าจะไปสัมภาษณ์ท่านเพื่อขอแนวคิดในการดำเนินงานในผู้สูงอายุและในชุมชน แต่น่าเสียดายที่ช่วงนี้ท่านไม่อยู่)

              กิจกรรมในการต้อนรับผู้สูงอายุ

                        คุณทัศนีย์ ประธาน อสม. ภาพบนค่ะ

        

             ออกไปเยี่ยมผู้สูงอายุที่บ้าน

 

 

             ที่นี่มีผู้สูงอายุ (อายุเกิน 60 ปี)  106  คน  จากประชากรทั้งหมด 1,027  คน ผู้เขียนได้คุยกับยายกล่อม  โพธิ์แก้ว  อายุ 81  ปี ซึ่งยังสามารถช่วยเหลือตัวเองได้  ความจำดี  ว่าแต่ละวันทำอะไรบ้าง คุณยายบอกว่า ตื่นนอน 07.00 น. จากนั้นเดินที่ถนนซอยหน้าบ้านเดินกลับไปกลับมาวันละ 6 เที่ยว  ยายกล่อมบอกว่า หมอแนะนำให้เดินครบแล้วมานั่งพักเหนื่อยที่เก้าอี้หน้าบ้าน ทักทายกับคนรู้จักที่เดินผ่านไปผ่านมา จากนั้นก็กินข้าวต้มเป็นอาหารเช้า  นั่งเล่นจนเกือบเที่ยงก็จะอาบน้ำ  กินอาหารเที่ยงและนอน รับอาหารเย็นประมาณ 6 โมงครึ่ง จากนั้นดูโทรทัศน์  บางวันก็หลับหน้าโทรทัศน์                                      

                  ยายกล่อมมีลูก  4  คน เป็นลูกสาวทั้งหมด  ยายกล่อมอยู่กับลูกสาวคนสุดท้อง  ลูกสาวอีก 2 คน ปลูกบ้านอยู่ใกล้ ๆ  อีกคนอยู่ต่างจังหวัด  ทุกวันจะมีลูกสาวมาดูแล   ลูกสาวยายกล่อมบอกว่า ก่อนหน้านี้  1  เดือน ยายกล่อมไม่สบาย หายแล้วเดินไม่สะดวกเหมือนเดิม ต้องใช้ไม้เท้าช่วย  ลูก ๆ  ก็พยายามให้ยายกล่อมเดินเอง โดยให้เดินช้า ๆ ในขณะนี้ยายกล่อมสามารถเดินได้เองโดยไม่ต้องใช้ไม้เท้าแล้ว  เวลาอาบน้ำลูกสาวก็จะตักน้ำไว้ให้แล้วให้ยายกล่อมอาบเอง พยายามให้ยายกล่อมได้ช่วยเหลือตัวเอง เท่าที่กำลังยายกล่อมจะทำได้  ส่วนเรื่องยา  ลูกสาวจะจัดใส่แก้วยาเอาไว้ให้ในแต่ละมื้อ เพราะยายกล่อมจำไม่ได้ว่าจะต้องกินยาอะไรบ้าง

 

                 “ ....ยายกล่อมโชคดีที่มีลูกหลานคอยดูแล... จะมีผู้สูงอายุสักเท่าไรที่มีคนในครอบครัวดูแล และมีผู้สูงอายุอีกสักเท่าไรที่ขาดคนดูแล ต้องอยู่ตัวคนเดียวยามแก่ชรา  โดยเฉพาะในยุคที่แต่ละครอบครัวมีลูกน้อยลง มีคนที่เป็นโสดมากขึ้น ?....” 

 

              ยายกล่อมและลูกสาว (ภาพบน)

 

             

           ผู้เขียนได้ถามคุณปรีดา ถึงหลักการในการทำงาน เธอบอกว่า ต้องใช้ทั้งพระเดชและพระคุณ  โดยในส่วนของพระเดช เธอสามารถสั่งลูกน้องให้ทำงานได้ ในส่วนของพระคุณ เธอจะช่วยเหลือน้อง ๆ  ตลอดจน ยอมรับผิดแทนลูกน้อง เมื่อลูกน้องทำงานผิดพลาด  เธอยังเพิ่มเติมอีกว่า การทำงานในชุมชนต้องทำด้วยใจ ไม่มีเวลาราชการ แต่ต้องมีเวลาราษฎร เมื่อไปทำงานในชุมชน ก่อนออกจากชุมชนจะให้เบอร์โทรศัพท์ไว้เพื่อให้โทรฯ คุยในส่วนที่ยังสงสัยหรือต้องการปรึกษา เธอบอกว่า ชีวิตนี้ทำอะไรก็ได้ เพื่อเป็นการแทนคุณแผ่นดิน

  

             สิ่งสำคัญในการทำงานในพื้นที่ ได้แก่ เรื่องของเงิน คุณปรีดาบอกว่า ต้องรู้ว่าแหล่งใดที่จะของบประมาณได้ ในการของบประมาณในการทำงาน เธอจะเขียนโครงการให้กับชุมชน แต่จะไม่ยุ่งเรื่องเงินเลย เมื่อได้รับแล้วจะให้ทางชุมชนบริหารจัดการในเรื่องของเงินกันเอง           

         

                        ตบท้ายด้วยอาหารมื้อเที่ยงที่เอร็ดอร่อย

 

 

                   เอาดอกไม้จากชุมชนมาฝากทุก ๆ  ท่านค่ะ    

 

         ชุมชนแห่งนี้จะมีคลินิกความดัน เบาหวานทุกวันพุธแรกของเดือน นับเป็นโอกาสดีที่พวกเรามาในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนพอดี  เราจะติดตามการทำงานในวันพุธที่จะถึงนี้ เพื่อมาเล่าสู่กันฟังอีกครั้งค่ะ

  

                             สวัสดีค่ะ

หมายเลขบันทึก: 439701เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2011 16:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

มาเชียร์งาน สว ดีใจที่ทุกวันพุธมีคลินิกเบาหวานให้ สว ครับ พี่หนุ่ยสบายดีนะครับ...

  • สวัสดีค่ะ อ.ขจิต
  • ต้องดูแลสุขภาพตั้งแต่ตอนนี้
  • จะได้เป็น สว.ที่สุขภาพดีในวันหน้า
  • พี่สบายดีค่ะ อาจารย์ขจิตก็มีกิจกรรมตลอดนะค่ะ
  • ขอให้สุขภาพแข็งแรงค่ะ
  • สวัสดีค่ะ
  • กำลังจะเข้าสู่วัย สูงอายุเหมือนกัน รู้ซึ้งถึงความสำคัญแล้วค่ะ พี่หนุ่ย
  • อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ๆ รักษาสุขภาพด้วยค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ

                            

  • สวัสดีค่ะ น้องบุษรา
  • หากน้องกำลังจะเข้าสู่วัยชรา พี่ก็คงเข้าวัยชราไปแล้วนะ...hi hi
  • ที่สำคัญต้องดูแลตัวเองแล้วละ เพราะถึงมีลูกหลานเราก็ไม่อยากรบกวน
  • ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนดีที่สุด
  • ว่าแต่ว่าวันนี้ น้องบุษราไปออกกำลังกายรึยังค่ะ... 
  • ขอให้รักษาสุขภาพด้วยเช่นกันค่ะ
  • มาเยี่ยม สว. และ อสม. เมืองตรังด้วยคนนะคะ
  • คนทำงาน คิดดี ทำดี อย่างนี้ ต้องยกทุกมือ ให้พลังเต็มร้อยเลยค่ะ
  • ขอบคุณผู้เล่าด้วยนะคะ ^^
  • สวัสดีค่ะ  หมอนน
  • เวลาไปคุยกับผู้สูงอายุ จะดูด้วยว่ายังมีฟันเหลืออีกกี่ซี่
  • หลายคนที่ฟันยังดี  หลายคนหายไปหมดทั้งปากแล้ว
  • เห็นไหมอ่าน blog หมอนน  จนอินในเนื้อแล้วนะเนี่ย...
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท