ประชาธิปไตย "เลือกตั้ง ๒๕๕๔"


               ประชาธิปไตย  (อังกฤษ: democracy) คือ  ระบอบการปกครองของรัฐ ซึ่งบริหารอำนาจรัฐมาจากเสียงข้างมากของพลเมือง โดยพลเมืองอาจใช้อำนาจของตนโดยตรงหรือผ่านผู้แทนที่ตนเลือกไปใช้อำนาจแทนก็ได้ หรืออาจถือตามคำกล่าวของอดีตประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา อับราฮัม ลินคอล์น ที่ว่า ประชาธิปไตยเป็น การปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน นับเป็นรูปแบบการปกครองที่เกิดขึ้น ณ นครรัฐกรีกโบราณในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๕ ก่อนคริสตกาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรุงเอเธนส์ภายหลังการก่อจลาจลเมื่อ ๕๐๘  ปีก่อนคริสตกาล

               ในทฤษฎีทางการเมือง คำว่า "ประชาธิปไตย" สามารถหมายถึงทั้งระบอบการปกครองและปรัชญาการเมือง ซึ่งถึงแม้ว่าในปัจจุบันนี้ ประชาธิปไตยจะยังไม่มีการนิยามที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วกันก็ตาม แต่ก็ได้ปรากฏให้เห็นหลักการสองหลักการที่ให้การนิยามคำว่า "ประชาธิปไตย" แล้ว คือ ความเสมอภาคและอิสรภาพ  หลักการดังกล่าวถูกสะท้อนให้เห็น  ผ่านทางความเสมอภาคทางกฎหมาย    ของพลเมืองทุกคน และมีสิทธิเข้าถึงอำนาจโดยเท่าเทียมกัน ส่วนอิสรภาพได้มาจากสิทธิและเสรีภาพตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งจะได้รับการคุ้มครองเสมอกันโดยรัฐธรรมนูญ

               ถึงแม้ว่าระบอบประชาธิปไตยจะมีจุดเริ่มต้นจากกรีซโบราณก็ตาม ทว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยได้มีวิวัฒนาการสำคัญ ๆ ในวัฒนธรรมต่างชาติ อาทิ ในอินเดียโบราณ สาธารณรัฐโรมันทวีปยุโรปทวีปอเมริกาเหนือและทวีปอเมริกาใต้ มาจนถึงปัจจุบัน

               การปกครองในระบอบประชาธิปไตยมักจะได้รับการพิจารณาโดยคนส่วนใหญ่ว่าเป็นรูปแบบการปกครองที่ดีที่สุดในโลกยุคปัจจุบัน เนื่องจากเป็นการมอบสิทธิและเสรีภาพให้กับประชาชนได้มากกว่าการปกครองในระบอบอื่น ทำให้ระบอบประชาธิปไตยได้ชื่อว่าเป็น "การปกครองระบอบสุดท้าย" และได้แผ่ขยายไปทั่วโลกพร้อม ๆ กับมโนทัศน์เรื่องการออกเสียงเลือกตั้ง (อังกฤษ: suffrage) อย่างไรก็ดี แม้การดำเนินการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยแม้จะได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน แต่ก็ต้องเผชิญกับปัญหาหลายประการอันเกิดขึ้นในปัจจุบัน อย่างเช่น ข้อพิพาทเกี่ยวกับดินแดน การอพยพเข้าเมือง และการกีดกันกลุ่มประชากรบางชาติพันธุ์ เป็นต้น

               องค์การสหประชาชาติได้ประกาศกำหนดให้วันที่ ๑๕ กันยายน ของทุกปี เป็น              วันประชาธิปไตยสากล 

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ๒๕๕๔

               ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข   คำว่า “ประชาธิปไตย” แปลว่า “ประชาชนเป็นใหญ่” คือการที่ประชาชนมีอำนาจอธิปไตยหรือมีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ แต่ประชาชนทั้ง ๖๔ ล้านคน จะเข้าไปปกครองบริหารประเทศทั้งหมดด้วยตนเองย่อมเป็นไปไม่ได้ จึงต้องมอบ อำนาจอธิปไตยให้แก่ตัวแทนที่ตนเลือกเพื่อให้ไปทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติและ ด้านการบริหารแทนประชาชน ดังนั้นจึงมีการเลือกตั้ง ส.ส. ให้ทำหน้าที่แทนประชาชน

               การเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งนี้อยู่ในช่วงเวลาที่ประชาชนบางกลุ่มมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน หากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งพร้อมใจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง อย่างพร้อมเพรียงกัน ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร ย่อมหมายถึงประชาชนส่วนใหญ่ได้ตัดสินใจเลือกแล้วและได้แสดงเจตนารมณ์ อย่างแรงกล้าที่ต้องการให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดหรือพรรคการเมืองใด เข้าไปแก้ไขปัญหาและระงับความขัดแย้งต่างๆ ให้หมดไปจากประเทศไทย 

               ดังนั้น การตัดสินใจเลือกใคร พรรคการเมืองใด หรือแม้แต่การตัดสินใจไม่เลือกใครหรือพรรคการเมืองใดเลย จึงเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญของประชาชนผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่จะต้องพิจารณาให้ลึกซึ้งอย่างมีเหตุผล โดยเลือก “คนดี มีความสามารถ ซื่อสัตย์ สุจริต เห็นประโยชน์ส่วนรวมของ

ประชาชน ให้เข้าไปบริหารบ้านเมืองเพื่อประโยชน์สุขของพวกเราทุกคน

ที่มาของ ส.ส. 

               รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๑) พุทธศักราช ๒๕๕๔ กำหนดให้มี ส.ส. มีจำนวน ๕๐๐ คน มาจากการเลือกตั้ง ๒ แบบ ได้แก่ ส.ส.แบบแบ่งเขต จำนวน ๓๗๕ คน และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จำนวน ๑๒๕ คน

               ส.ส. แบบแบ่งเขต 

                   ส.ส.แบบแบ่งเขต คือ ส.ส. ที่มาจากเขตเลือกตั้งโดยการแบ่งเขตเลือกตั้งประเทศออกเป็น ๓๗๕ เขต เกิดจากการคำนวณราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานทะเบียนราษฎร ที่ประกาศปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้งเฉลี่ยด้วยจำนวน ส.ส. ๓๗๕ คน เช่น ราษฎรทั้งประเทศ จำนวน ๖๓,๘๗๘,๒๖๗ ล้านคน หารด้วย ๓๗๕  ก็จะได้ค่าเฉลี่ยราษฎร ๑๗๐,๓๔๒ คน ต่อ ส.ส. ๑ คน หลักการนี้มาจากเหตุผลที่ว่า แต่ละเขตเลือกตั้งควรมี ส.ส. จำนวนเท่าเทียมกันโดยประชาชนหนึ่งคนมีหนึ่งเสียงเท่ากัน มีความ เสมอภาคกัน ไม่ว่าจะมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ใด หรือจะยากดีมีจน เป็นชาวไร่ ชาวนา หรือเศรษฐีก็มีสิทธิที่เท่าเทียมกัน การลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตให้ทำเครื่องหมาย    x กากบาทเลือกได้เพียงหมายเลขเดียวหรือเบอร์เดียว ดังที่เรียกว่า “เขตเดียว เบอร์เดียว”

               ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ มีจำนวน ๑๒๕ คน

                   ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ คือ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งในแบบบัญชีรายชื่อ โดยพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจะจัดทำบัญชีรายชื่อผู้สมัครไว้เพียงบัญชีเดียว เรียงลำดับจำนวนไม่เกิน ๑๒๕ รายชื่อ รายชื่อใครจะอยู่ลำดับใดนั้น ขึ้นอยู่กับแต่ละพรรคจะดำเนินการ การเลือกตั้งแบบนี้ถือประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง หมายถึงทั้งประเทศ จะมีผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อชุดเดียวกัน                 การลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ให้ทำเครื่องหมาย x กากบาท         เลือกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเพียงพรรคเดียว ได้เพียงหมายเลขเดียว หรือเบอร์เดียว นั่นก็หมายถึงผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งได้ตัดสินใจ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อในสังกัดของพรรคการเมืองที่ชื่นชอบนั่นเอง ส่วนที่ว่าพรรคใดจะได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจำนวนเท่าใดก็ขึ้นกับว่าพรรคนั้นๆ จะได้รับคะแนนเป็นจำนวนมากน้อยเท่าใด โดยผู้ที่จะได้รับเลือกตั้งต้องมาจากบัญชีรายชื่อเรียงตามลำดับจนกว่าจะครบจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองได้รับ โดยมีวิธีการคำนวณ ดังนี้

               วิธีคำนวณจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่ได้รับเลือกตั้ง 

                   ๑. นำจำนวนคะแนน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนน ให้แก่พรรคการเมืองทุกพรรคมารวมกัน

                   ๒.  ผลลัพธ์ตามข้อ ๑ หารด้วยจำนวนส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ๑๒๕ คน

                   ๓.  ผลลัพธ์ตามข้อ ๒ ไปหารคะแนน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมือง  ก็จะได้จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค

               ตามข้อ ๓ ถ้ายังไม่ได้ครบ ๑๒๕ คนให้ดูว่าพรรคการเมืองใดมีเศษเหลือมากที่สุดไล่ไปพรรคการเมืองที่มีเศษรองลงไปเรื่อยๆจนครบ ๑๒๕ คน

               คุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส.

                    ๑.  มีสัญชาติไทยโดยการเกิด

                   ๒.  มีอายุไม่ต่ำกว่า ๒๕ ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง

                   ๓.  เป็นสมาชิกพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวนับถึงวันเลือกตั้ง ติดต่อกันไม่น้อยกว่า ๙๐ วัน (การเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งนี้เป็นกรณียุบสภาผู้สมัครต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเพียงพรรคเดียวเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า ๓๐ วัน นับถึงวันเลือกตั้ง

               ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

                   ๑.  ผู้มีสัญชาติไทย (ถ้าแปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า ๕ ปี

                   ๒.  มีอายุไม่ต่ำกว่า ๑๘ ปีบริบูรณ์ในวันที่ ๑ มกราคม ของปีที่มีการเลือกตั้ง

                   ๓.  มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งติดต่อกันไม่น้อยกว่า ๙๐ วัน นับถึง

วันเลือกตั้ง

                   ๔.  ไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้

                             -  เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช

                             -  อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

                             -  ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

                             -  วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

การลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า

               ในเขตเลือกตั้ง

                   ผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านตามทะเบียนบ้าน ที่ต้องเดินทางออกนอกเขตไม่สามารถไปใช้สิทธิได้ในวันเลือกตั้ง ก็สามารถไปแสดงตนเพื่อขอลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. ล่วงหน้า ได้ ณ ที่เลือกตั้งกลางในเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้ง โดยต้องยื่นคำขอลงทะเบียนนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่น ถามวันเวลาที่กำหนด

                    ระยะเวลาการลงทะเบียน  ขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตเลือกตั้ง ตั้งแต่วันที่ ๑๓ -๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๔ ณ ที่ว่าการอำเภอ และ ที่ทำการทะเบียนท้องถิ่น โดยยื่นต่อนายทะเบียนอำเภอ / นายทะเบียนท้องถิ่น ก็คือ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตของ กทม. นายอำเภอ หรือปลัดเทศบาล         วันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตเลือกตั้งวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๔ เวลา๐๘.๐๐ – ๑๕.๐๐ น.           ณ สถานที่เลือกตั้งกลาง

               นอกเขตจังหวัด

                   ผู้ที่ทำงานหรืออาศัยอยู่คนละจังหวัดกับที่ผู้นั้นมีชื่อในทะเบียนบ้านหรือผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้ง (เพิ่งย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาใหม่) ไม่ถึง ๙๐ วัน นับถึงวันเลือกตั้ง สามารถไปลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. ล่วงหน้า ณ ที่เลือกตั้งกลาง ของจังหวัดที่ท่านทำงานหรืออาศัยอยู่ได้ แต่ต้องยื่นคำขอลงทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่น ก่อนวันเลือกตั้ง ๓๐ วัน (ภายในวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๔) สำหรับผู้ที่เคยลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าไว้แล้วโดยไม่ได้ขอเปลี่ยนแปลงที่ลงคะแนน ก็สามารถไปขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าได้ตามวัน

เวลาที่กำหนดได้เลย

การลงคะแนนเลือกตั้งนอกเขตจังหวัด

               วันเลือกตั้งล่วงหน้า : วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๘.๐๐ – ๑๕.๐๐  น. สถานที่ลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า  ณ ที่เลือกตั้งกลางของแต่ละจังหวัด อย่างน้อยจังหวัดละ ๑ แห่ง ยกเว้นกรุงเทพมหานคร มีทุกสำนักงานเขต

               เอกสารที่ต้องเตรียมยื่นลงทะเบียนนอกเขตจังหวัด

                   ๑. คำขอลงทะเบียนการใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตจังหวัด (แบบ ส.ส. ๔๒) ขอรับได้ที่  ที่ว่าการอำเภอทุกแห่งหรือสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด

                   ๒.  สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาบัตรที่มีรูปถ่ายที่ทางราชการออกให้และมีเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลัก

               หมายเหตุ สามารถยื่นรวมกันเป็นกลุ่มได้ โดยใช้คำแบบ ส.ส.๔๒/ก หรือทำเป็นหนังสือที่มี ชื่อ-สกุล เลขประจำตัวประชาชน ที่อยู่ตามหลักฐานทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้ง และจังหวัดที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านครั้งสุดท้ายเป็นเวลาไม่น้อย กว่า ๙๐ วัน

วิธีการยื่นคำขอลงทะเบียนนอกเขตจังหวัด

               ยื่นต่อนายทะเบียนอำเภอ/นายทะเบียนท้องถิ่น ก็คือ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตของ กทม. นายอำเภอ หรือปลัดเทศบาล โดยมีวิธีการยื่น ๓ ทาง คือ

                   ๑.  ยื่นด้วยตนเอง

                   ๒.  ทำหนังสือมอบหมายให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งอื่นดำเนินการแทน

                   ๓.  ส่งทางไปรษณีย์ (ดูตราประทับต้นทางเป็นสำคัญ)

ระยะเวลาในการลงทะเบียน ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๔

การเพิ่มชื่อ - ถอนชื่อ

               ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถตรวจสอบรายชื่อจากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งที่ปิดไว้ ณ ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเทศบาล ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน (๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๔) และจากหนังสือแจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ส่งถึงเจ้าบ้าน (๑๗มิถุนายน ๒๕๕๔) กรณีชื่อตนเองหายไปหรือมีชื่อบุคคลอื่นเกินมาในบัญชีรายชื่อ ให้แจ้ง เพิ่มชื่อ-ถอนชื่อต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า ๑๐ วัน (ภายในวันที่ ๒๒  มิถุนายน ๒๕๕๔)

วิธีการและขั้นตอนการลงคะแนน  เตรียมตัวก่อนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส.

                   ๑. ศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับประวัติผลงานคุณงามความดีของผู้สมัครและ พรรคการเมือง

                   ๒.  เตรียมตัวให้พร้อม โดยตรวจสอบว่ามีชื่อเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งของเขต เลือกตั้งไหน ต้องไปใช้สิทธิ ณ ที่เลือกตั้งใด หากลงทะเบียนเลือกตั้งนอกเขตจังหวัดไว้ต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้งกลางนอกเขตจังหวัดของจังหวัดที่ตนลงทะเบียน ในวันที่ ๒๖ มิถุนายน๔ ๒๕ เท่านั้น (ผู้นี้ไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส. ในวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ได้)

                   ๓.  เตรียมบัตรประจำตัวประชาชนเอาไว้ให้พร้อม

                   ๔.  ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขตที่หน่วยเลือกตั้ง ที่ท่านมีชื่ออยู่ ตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐ – ๑๕.๐๐ น. ในวันเลือกตั้ง (๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔)

               หลักฐานใช้ในการลงคะแนนเลือกตั้ง

                   ๑.  บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวประชาชนที่หมดอายุก็ใช้ได้

                   ๒.  บัตรหรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่มีรูปถ่าย และมีหมายเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลักของผู้ถือบัตร เช่น บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ ใบขับขี่ หนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) 

               ขั้นตอนการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ส.ส.

                   ๑.  ตรวจสอบรายชื่อและลำดับที่จากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ประกาศไว้      หน้าหน่วยเลือกตั้ง หรือ จากหนังสือแจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ส่งไปยังเจ้าบ้าน หรือ ทาง www.khonthai.com

                   ๒.  ยื่นบัตรประชาชน และลงลายมือชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

                   ๓.  ลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือขวาบนต้นขั้วบัตรเลือกตั้งพร้อมรับบัตรเลือกตั้ง ๒ ใบ คือ บัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต และบัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ

                   ๔.  เข้าคูหาลงคะแนน ทำเครื่องหมายกากบาท (x) ลงในช่องทำเครื่องหมาย

                   -  บัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต เลือกผู้สมัครได้เพียงคนเดียว

                   -  บัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ เลือกพรรคการเมืองได้เพียงพรรคเดียว

                   -  หากไม่ต้องการเลือกใครหรือพรรคการเมืองใดให้ทำเครื่องหมายกากบาท(x) ในช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนน

                   ๕.  พับบัตรเลือกตั้งทั้ง ๒ บัตรให้เรียบร้อยและใส่บัตรทีละบัตรลงในหีบบัตร เลือกตั้งแต่ละประเภทด้วยตนเอง

               ส.ส.แบบแบ่งเขต ควรมีลักษณะ เช่น

                   ๑.  เป็นคนดี มีความสามารถ มีประวัติส่วนตัว และผลงานที่ผ่านมาดีเป็นที่ยอมรับ กล้าต่อสู้เพื่อความถูกต้องชอบธรรม

                    ๒.  มีคุณธรรม และความเสียสละไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น

                   ๓.  มีความรู้ความสามารถ คือรู้ปัญหา รู้หน้าที่ และมีแนวคิด หรือข้อเสนอในการแก้ปัญหาอย่างชัดเจน มีความเป็นไปได้

                   ๔.  มีวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตย คือ มีเหตุผล ไม่ถือความคิดของตนเป็นใหญ่ เคารพมติเสียงส่วนใหญ่ รับฟังความเห็นของเสียงส่วนน้อย

                   ๕.  มีการหาเสียงหรือแนะนำตัวอย่างสร้างสรรค์โดยไม่ฝ่าฝืนหรือหลีกเลี่ยง กฎกติกาการเลือกตั้ง

               พรรคการเมืองที่ดี ควรมีลักษณะ เช่น

                   ๑.  มีนโยบายเพื่อประโยชน์ส่วนร่วมของประชาชน และมีแนวทางปฏิบัติให้เป็นจริงได้

                   ๒.  ระบบบริหารของพรรคยึดหลักการประชาธิปไตย

                   ๓.  มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

                   ๔.  ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ เป็นพรรคที่รวมคนทุกกลุ่มในสังคมเป็นสมาชิกไม่ใช่ยึดติดเพียงกลุ่มใด กลุ่มหนึ่ง

การนับคะแนนเลือกตั้ง ส.ส

               เมื่อเสร็จสิ้นการลงคะแนนในเวลา ๑๕.๐๐ น. แล้ว จะนับคะแนน ณ ที่เลือกตั้ง โดยเปิดเผยจนเสร็จสิ้นในรวดเดียวแล้ว กปน. จะประกาศผลการนับคะแนน ส.ส. ทั้งแบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขตเลือกตั้งปิดประกาศไว้บริเวณที่เลือกตั้ง จากนั้นจะนำหีบบัตรพร้อมอุปกรณ์และเอกสารสำคัญส่งอำเภอ เพื่อรายงานผลให้ กกต.เขต หลังจากนั้น กกต.เขต จะรวบรวมผลการนับคะแนนของทุกหน่วยเลือกตั้งภายในเขตเลือกตั้ง และประกาศผลรวมคะแนนของเขตเลือกตั้งและปิดประกาศไว้ในสถานที่ ที่กำหนด พร้อมรายงานต่อ กกต.ประจำจังหวัด และรายงานต่อ กกต. เพื่อพิจารณาประกาศผลการเลือกตั้งต่อไป

ข้อห้ามกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง

               -  ห้ามซื้อเสียง หรือจัดเตรียมการซื้อเสียง

               -  ห้ามรับเงินและประโยชน์อื่นใด เพื่อลงคะแนนเลือกตั้ง

               -  ห้ามหาเสียงและห้ามขายหรือจัดเลี้ยงสุรา ตั้งแต่ ๑๘.๐๐ น. ของวันก่อน วันเลือกตั้ง  จนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง

               -  ห้ามนายจ้างขัดขวางการไปใช้สิทธิของลูกจ้าง

               -  ห้ามขัดขวางหรือหน่วงเหนียวมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไป ณ ที่เลือกตั้ง

               -  ห้ามจัดยานพาหนะ (ยกเว้นหน่วยงานรัฐ) ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปเลือกตั้ง โดยไม่ต้องเสียค่าโดยสาร

               -  ห้ามฉีกบัตรเลือกตั้ง หรือทำให้บัตรเลือกตั้งชำรุดอย่างจงใจ    

               -  ห้ามถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ตนเองได้ลงคะแนนแล้วด้วยเครื่องมือหรืออุปกรณ์ใด

               -  ห้ามเล่นการพนันขันต่อใดๆ เกี่ยวกับผลการเลือกตั้ง

               -  ห้ามเผยแพร่หรือเผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับผล การเลือกตั้ง(โพลล์) ในระหว่าง ๗ วัน ก่อนวันเลือกตั้งจนถึงเวลาปิดการลงคะแนนเลือกตั้ง (เวลา ๑๕.๐๐ น.)

การคัดค้านการเลือกตั้ง 

               ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง ซึ่งมีสมาชิกสมัครรับเลือกตั้ง ในเขตเลือกตั้งใดเขตเลือกตั้งหนึ่งยื่นคัดค้านต่อ กกต. โดย

                   -  ก่อนวันประกาศผลการเลือกตั้ง หรือภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันประกาศผล การเลือกตั้ง กรณีเห็นว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นเป็นไปโดยไม่ถูกต้อง หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย     

                   -  ภายใน 180 วัน นับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง กรณีเห็นว่าผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดใช้จ่ายเงินในการหาเสียงเกินจำนวนที่ กกต. กำหนด หรือผู้สมัครไม่ยื่นบัญชีรายรับรายจ่ายภายใน ๙๐ วัน หลังเลือกตั้ง

ใบเหลือง ใบแดง คืออะไร

               เพื่อให้เข้าใจง่าย จึงขอเปรียบเทียบกับกีฬาฟุตบอล เมื่อกรรมการให้ “ใบเหลือง”นักฟุตบอล แปลว่านักฟุตบอลคนนั้นเล่นผิดกติกา แต่ยังไม่ถึงกับไล่ออกจากสนาม ยังให้เล่นต่อไปได้ ถ้าให้ “ใบแดง” แปลว่า นักฟุตบอลคนนั้นทำผิดกติกาอย่างร้ายแรง ต้องไล่ออก จากสนาม กฎหมายเลือกตั้งทุกประเภทก็กำหนดกติกาการเลือกตั้งไว้คล้ายๆ กับกติกากีฬาฟุตบอล ดังนี้

                   ๑.  การให้ใบเหลือง แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใด หมายความว่า กกต. เห็นว่า มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการทุจริตการเลือกตั้งเกิดขึ้น เช่น การซื้อสิทธิ-ขายเสียง การแจกเงิน สิ่งของ เป็นต้น แต่เป็นการทุจริตที่แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานที่เชื่อได้ว่าผู้สมัครได้เป็นคนกระทำด้วยตนเอง แต่ก็เป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตนั้น กกต. จึงลงโทษด้วยการสั่งให้เลือกตั้งใหม่ โดยผู้สมัครที่ได้ใบเหลืองยังคงเป็น ผู้สมัครรับเลือกตั้งต่อไปได้

                   ๒.  การให้ใบแดง แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง หมายความว่า กกต. เห็นว่ามีหลักฐาน อันควรเชื่อได้ว่ามีการทุจริตการเลือกตั้งเกิดขึ้นเช่นเดียวกับกรณีการให้ใบเหลือง แต่ต่างกันตรงที่ว่าผู้สมัครเป็นผู้กระทำหรือมีส่วนรู้เห็นการทุจริตนั้น จึงมีผลต้องถูก เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา ๑ ปี และหากผู้นั้นได้รับคะแนนเสียงอยู่ในเกณฑ์ที่ จะได้รับการเลือกตั้ง ก็จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่แทน โดยผู้ถูกเพิกถอนสิทธินั้น จะไม่มีสิทธิลงสมัคร ทั้งยังถูกดำเนินคดีอาญา และต้องชดใช้ค่าเสียหายในการเลือกตั้งใหม่ด้วย

การมีส่วนร่วมของประชาชนในการแจ้งเหตุทุจริต

               เมื่อพบเห็นการทุจริตเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการแจกเงินสิ่งของ หรือการเรียกรับเงิน หรือทรัพย์สิน ให้ช่วยกันแจ้งเบาะแสหรือรวบรวมหลักฐานการทุจริตแจ้งต่อตำรวจ ในพื้นที่หรือแจ้งให้ กกต. ได้รับทราบในหลายช่องทาง เช่น

                   -  สายด่วนเลือกตั้ง โทร. ๑๑๗๑

                   -  ศูนย์ปฏิบัติการข่าว ฯ ในความรับผิดชอบศูนย์อำนวยการสืบสวนสอบสวน การเลือกตั้ง ส.ส. (ศอส.) โทร. ๐ ๒๑๔๑ ๘๐๔๙ - ๕๑

                   -  สำนักงานคณะกรรมการการการเลือกตั้ง อาคารศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ โทร. ๐ ๒๑๔๑ ๘๘๘๘

                   -  หรือที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทุกจังหวัด

 

แหล่งที่มาข้อมูล  http://www2.ect.go.th/home.php?Province=mp54

หมายเลขบันทึก: 439697เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2011 15:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2012 15:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อู้...ทันสมัยมาก ทันกระแสจัง เป็นความรู้ที่ทันเหตุการณ์มากนะคะ ขอบคุณมากสำหรับความรู้ก่อนการเลือกตั้ง การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของคนไทย ยังไงอย่าลืม 3 ก.ค. 54 สบายดีหรือเปล่าคะ แวะมาเยี่ยมเยียนคะ

ขอขอบใจนะลูกอรที่คอยเป็นห่วงเป็นใย

ลูกอรดูแลสุขภาพด้วยนะเป็นห่วงเหมือนกัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท