๒๖.แนวคิดเปรียบเทียบหลักพุทธธรรมกับประชาธิปไตย


แนวความคิดนี้ สำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติได้เปรียบเทียบไว้อย่างน่าสนใจ ประกอบกับแนวคิดอื่น ๆ อีก ที่หลักพุทธธรรมสามารถประยุกต์ได้กับแนวคิดต่าง ๆ อย่างลงตัว

            ๙.๓.๔.แนวความคิดแบบเปรียบเทียบหลักพุทธธรรมกับประชาธิปไตย

สำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติ  (๒๕๒๖ : ๓๖–๕๐)

            ได้เสนอตามรูปแบบของประชาธิปไตย  ๓  สถาบัน ดังนี้

                ๑.สถาบันนิติบัญญัติ  ก็คือรัฐสภาที่มีหน้าที่คือตราพระราชบัญญัติโดยวิธีประชุมกันพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่สมาชิก หรือรัฐบาลเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภา  ใช้ระบบเสียงส่วนใหญ่เป็นมติในการชี้ขาด พระวินัยเป็นพุทธบัญญัติทั้งหมด  ส่วนคณะสงฆ์ไม่มีอำนาจในการบัญญัติ  เพียงแต่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามพระวินัยหรือพุทธบัญญัติ

                การตราพระราชบัญญัติ  หรือออกกฏหมายของสถาบันนิติบัญญัติมี  ๒  ลักษณะ  คือ

                                ก.การตราพระราชบัญญัติ  เพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำความผิดซ้ำอีก คือเมื่อมี เหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว จึงออกกฏหมาย

                                ข.การตราพระราชบัญญัติเพื่อป้องกันล่วงหน้า  คือเหตุการณ์ที่จะก่อความเสียหายยังไม่เกิดขึ้น แต่คาดว่าจะเกิดขึ้นจึงออกกฏหมายไว้ล่วงหน้า

                กฏหมายรัฐธรรมนูญ  เป็นกฏหมายหลักของการปกครองในทางโลก  ส่วนพระวินัยในพระปาฏิโมกข์  [1]   เป็นหลักในการปกครองคณะสงฆ์  พระวินัยแต่ละสิกขาบทมีบทบัญญัติระบุโทษแก่ผู้ละเมิดไว้  แต่กฏหมายรัฐธรรมนูญ  ไม่มีบทบัญญัติระบุโทษควบคู่ไปด้วย  แต่ไม่ระบุโทษแก่ผู้ละเมิดไว้ในกฏหมายอื่นที่ออกตามความในกฏหมายรัฐธรรมนูญ  จึงมีส่วนคล้ายประมวลกฏหมายมากกว่า การแบ่งกฏหมายทางโลกแบ่งเป็น  ๒  ประเภทใหญ่ ๆ คือ  กฏหมายเอกชน และกฏหมายมหาชน    แต่พระวินัยจะมีลักษณะของกฏหมายเอกชนและกฏหมายมหาชนรวมกันอยู่

                อาบัติปาราชิก   ถ้าเป็นกฏหมายทางโลกจัดว่าเป็นความผิดทางอาญา  ซึ่งละเมิดย่อมมีบทบัญญัติลงโทษตามควรแก่กรณี  แต่พุทธบัญญัติทรงปรับอาบัติปาราชิกก็คือการขาดจากความเป็นภิกษุซึ่งจะเข้ามาบวชอีกมิได้  ซึ่งเท่ากับโทษประหารชีวิตนั้นเอง ส่วนเจตนารมณ์ในการบัญญัติกฏหมายและพระวินัย  เจตนารมณ์ของการบัญญัติกฏหมายคือเพื่อเป็นหลักการปกครองประเทศ  หรือบริหารสังคมให้ดำเนินไปอย่างมีระเบียบและมีความสงบสุขตลอดจนเพื่อให้สังคมเจริญรุ่งเรืองและก้าวหน้าไม่ได้อย่างไม่ติดขัด  อันจะอำนวยให้ปัจเจกบุคคลสามารถดำรงและดำเนินชีวิตไปได้ตามปกติและอย่างมีความสงบสุขตามควรแก่อัตภาพ

                สำหรับเจตนารมณ์ของการบัญญัติพระวินัยก็คือ  ๑) เพื่อความรับว่าดีงามแห่งสงฆ์  ๒) เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์  ๓) เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก  ๔) เพื่อความอยู่ผาสุกแห่งเหล่าภิกษุผู้มีศีลอันดีงาม  ๕) เพื่อปิดกั้นอาสวะทั้งหลายอันจะบังเกิดในปัจจุบัน  ๖) เพื่อกำจัดอาสวะทั้งหลายอันจะบังเกิดในอนาคต  ๗) เพื่อความเลื่อมใสของคนที่ยังไม่เลื่อมใส   ๘) เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นของคนที่เลื่อมใสแล้ว   ๙) เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม   ๑๐) เพื้อเอื้อเฟื้อพระวินัย [2] ( พุทธบัญญัติที่มาในพระปาฏิโมกข์ คือศีล  ๒๒๗  ข้อ  ส่วนที่มานอกพระปาฏิโมกข์เรียกว่าอภิสมาจาร  หรือกิริยามารยาทที่ควรประพฤติ) ส่วนการรักษากฏหมายกับการรักษาพระวินัย   คือการละเมิด  การละเมิดกฏหมายมีอยู่  ๒  ลักษณะคือ  ละเมิดเพราะไม่รู้และละเมิดทั้ง ๆ ที่รู้  การละเมิดพระวินัย มีอยู่  ๒  ลักษณะคือ  ละเมิดเพราะเจตนาและละเมิดโดยไม่เจตนา

                ๒.สถาบันบริหาร

ระยะเริ่มแรกทรงจัดการบริหารด้วยพระองค์เอง  และทรงมีพระสารีบุตรอัครสาวกเบื้องขวา และพระมหาโมคคัลลานะอัครสาวกเบื้องซ้าย แบ่งเบาภาระ

ระยะหลังทรงมอบความเป็นใหญ่ให้กับคณะสงฆ์ในการทำสังฆกรรมต่าง ๆ เช่น  พิธีอุปสมบท, การกำหนดเขตสีมา, กฐิน, ปาฏิโมกข์  เป็นต้น / มติทางโลกเสียงข้างมาก  แต่มติคณะสงฆ์ต้องเป็นเอกฉันท์แม้ภิกษุทักท้วงเพียง ๑ รูปก็ต้องทบทวนมติใหม่ / ทรัพย์สินของสงฆ์  ภิกษุอยู่อาวาสเดียวกันเป็นเจ้าของร่วมกันภิกษุรูปใดรูปหนึ่งจะถือเอาทรัพย์สินเป็นส่วนตัวไม่ได้  เว้นแต่จะได้รับการอนุมัติจากสงฆ์ / สงฆ์มีความหมายกว้าง  ไม่มีลักษณะแน่นอนตายตัว  เช่นภิกษุในอาวาสหนึ่งประชุมกันทำกิจกรรม  ก็เป็นกิจของสงฆ์  ถ้ามี  ๑๐๐  วัด  สงฆ์ก็มี  ๑๐๐  กลุ่ม  หรือคณะ (โบราณถือว่าหนึ่งอาวาสก็คือหนึ่งประเทศ หรือองค์กรหนึ่ง)

                ๓.สถาบันตุลาการ

                กระบวนการตุลาการในระบอบการปกครองฝ่ายอาณาจักรเรียกว่า  คดี  ในทางพระวินัยเรียกว่า  อธิกรณ์ ศาลยุติธรรมทำหน้าที่  วินิจฉัยและพิพากษาอรรถคดีให้สอดคล้องกับกฏหมายสงฆ์ทำหน้าที่  วินิจฉัยและพิพากษาอรรถคดีให้สอดคล้องกับพระวินัย / การทำหน้าที่ของสงฆ์ในการเป็นสถาบันตุลาการเมื่อมีอธิกรณ์เกิดขึ้น  ๔  ประการ

                                ๑) วิวาทาธิกรณ์  การวิวาทกันของภิกษุในเรื่องพระธรรมวินัยสงฆ์จะวินัจฉัยว่าฝ่ายไหนผิดฝ่ายไหนถูก  ๒) อนุวาทาธิกรณ์  การกล่าวโจทกันด้วยอาบัติ ๓) อาปัตตาธิกรณ์  อาบัติที่ภิกษุต้องแล้ว  (ได้ทำลงไปแล้ว) ๔) กิจจาธิกรณ์  กิจที่เกิดขึ้นที่สงฆ์ต้องทำ  ทั้งรับเข้าหมู่ เช่น พิธีอุปสมบท  , การลงโทษ  เช่น นิคหกรรม  เป็นต้น..นอกจากนั้นแล้วถ้าภิกษุรูปใดกระทำผิด

พระพุทธองค์จะไต่สวนหาความผิด  แล้วจึงตัดสิน(พิพากษา) ถ้าหากสิกขาบท (กฎหมาย)ใดไม่มี ก็ทรงเรียกประชุมสงฆ์แล้วแจงเหตุที่เกิดขึ้นและปรับแก้สิกขาบทนั้นใหม่ (ตรากฏหมายใหม่) การบัญญัติครั้งแรก เรียกว่า มูลบัญญัติ  หรือบัญญัติเดิม  ส่วนข้อแก้ไขเพิ่มเติมเรียกว่า  อนุบัญญัติ  [3] 

                ส่วนการตัดสินลงโทษ  มี ๖ ประการ ดังต่อไปนี้  ๑) ตัชชนียกรรม  กรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุอันจะพึงขู่  ได้แก่การตำหนิติเตือน   ๒) นิยสกรรม  กรรมคือการถอดยศ  ลดฐานะทางวินัย  ๓)ปัพพาชนียกรรม  กรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุอันจะพึงไล่เสีย  คือไล่ออกจากวัด  ๔) ปฏิสารนียกรรม  กรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุอันจะพึงให้กลับไปคือกลับไปขอโทษคฤหัสถ์  ๕) อุกเขปนียกรรม  กรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุอันจะพึงยกเสีย  คือการตัดสิทธิชั่วคราว  ๖) ตัสสปาปิยสิกากรรม  กรรมอันสงฆ์ทำด้วยความที่ภิกษุนั้นเป็นผู้ชั่วช้า  คือการเพิ่มโทษ (อีกกระทง)  ในสังคมบรรพชิตนอกจากจะปฏิบัติตามพระวินัยของสังคมตนเองแล้วยังต้องปฏิบัติตามกฏหมายของบ้านเมืองอีกด้วย

                นอกจากนี้แล้วแนวคิดในเรื่องการบริหารบ้านเมือง หรือของรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทย ได้มีแนวคิดของนักวิชาการไทยได้เสนอแนวคิดแบบธรรมรัฐ  (Good  Governance)  ขึ้น  ธรรมรัฐ  คือ แนวคิดเรื่องความชอบธรรมแบบใหม่  เนื่องจากคนไทยมีความคิดมาตลอดว่า  รัฐสำคัญที่สุด  นักการเมือง  ข้าราชการ  มีจำนวนสูงสุดเด็ดขาด  แต่ในโลกยุคปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนความคิดเรื่องประชาธิปไตยไปมากพอสมควร  กล่าวคือประชาธิปไตยอย่างเดียวไม่เพียงพออีกต่อไป  จะต้องมีธรรมรัฐด้วย [4]   ดังนั้น  จึงแสวงหาแนวทางในการบริหารบ้านเมืองในรูปแบบที่ใหม่ ๆ ขึ้นโดยการอยู่รวมกันของรัฐและสังคมด้วยความซื่อสัตย์  มีคุณธรรม  มีความโปร่งใส  ตรวจสอบได้  และการมีส่วนร่วมในการปกครองและการบริหารประเทศ โดยมีความหมายรวมไปถึง

                ๑.กระบวนความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐ  ภาคสังคม  ภาคเอกชนและประชาชน  โดยทั่วไปในการที่จะทำให้การบริหารราชการแผ่นดินดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ  มีคุณภาพ คือโปร่งใส  ยุติธรรม และตรวจสอบได้  หรือ

                ๒. การบริหารหรือการปกครองที่ดี  หรือเป็นธรรมโดยมีองค์ประกอบ  ๓  ประการคือ  ความโปร่งใส  (Trans  Parency)  ความรับผิดชอบและอธิบายได้  (Accountability)  และความมีประสิทธิภาพ  (Efficiency) [5]

 

.๓.๕.แนวคิดแบบธรรมะผสมการบริหาร

 เป็นคำนิยามขึ้นตามลักษณะของพระราชาผู้ประกอบด้วยธรรม  แม้ในยุคพุทธกาลจะมีรูปแบบการปกครองที่สำคัญ ๆ ถึง  ๒  แบบแต่พระพุทธองค์ทรงเน้นตัวผู้นำที่ประกอบด้วยธรรมเป็นหลักมากกว่าตัวของระบบ

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  (๒๕๓๔  :๖๖๓–๖๖๕)

ได้ให้ทัศนะไว้ดังนี้ ไม่ว่าระบบการปกครองแบบไหน หากผู้นำหรือประมุขของรัฐประกอบด้วยการยึดหลักการเหล่านี้  คือ [6]                ๑) การได้มาซึ่งอำนาจ  การใช้อำนาจ  การขยายอำนาจ  และการรักษาไว้ซึ่งอำนาจนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนมากที่สุด  อำนาจของผู้ปกครองมิใช่เพื่อสร้างความยิ่งใหญ่ของตนเอง  แต่เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน  ๒) ความมั่นคงของระบอบการปกครอง  หรือของรัฐบาลและผู้ปกครอง  มิใช่เป็นจุดหมายในตัวมันเอง หรือจุดประสงค์สุดท้ายของระบอบการเมืองการปกครอง  แต่เป็นเพียงอุปกรณ์หรือเครื่องมือเพื่อใช้สร้างสรรค์ประโยชน์สุข  สวัสดิภาพบูรณาการ  และความสงบสุขของประชาชน  ๓)ให้ความสำคัญแก่คุณค่าของความเป็นมนุษย์  โดยเน้นความเท่าเทียม  การปราศจากชั้นวรรณะจากชาติกำเนิด  ความเสมอภาคในทางเพศหมายความว่าไม่ถือว่าเพศหญิงมีสถานภาพต่ำกว่าเพศชาย  เน้นเสรีภาพด้วยการห้ามการมีทาส  รวมถึงการแนะนำให้ใช้หลักเหตุผลในการพิจารณาตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ดังปรากฏในกาลามสูตร  ๔)ยึดธรรมเป็นแนวทางในการปกครอง  คือผู้ปกครองต้องถือธรรมเป็นใหญ่ คือถือหลักแห่งความจริง  ความถูกต้อง  ความดีงามตามเหตุและผลโดยยึดหลักการ  กฎ  ระเบียบ  กติกา

                หลักธรรมในทางพระพุทธศาสนาจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะการปกครองผู้คน  หรือการบริหารคน  หากไม่มีแล้วบ้านเมืองก็จะไม่มีความสงบสุขประชาชนก็จะเดือดร้อน  จนให้เกิดความสับสนวุ่นวายได้..ในสมัยใดผู้ปกครองตั้งอยู่ในธรรม  ให้ความเป็นธรรม ใช้หลักธรรมเป็นหลักในการบริหารบ้านเมืองในสมัยนั้นประชาชนก็มีความสุข  ความร่มเย็น  แต่ถ้าตรงกันข้าม  ผู้ปกครองไม่ตั้งอยู่ในธรรม ไม่ให้ความเป็นธรรม  ไม่ใช้ธรรมเป็นหลักในการบริหารบ้านเมือง  สมัยนั้นก็จะมีความทุกข์ระทมการถูกข่มเหงรังแกการปราศจากที่พึ่ง  [7]

                ซึ่งข้อความดังกล่าวนี้  ได้ชี้ให้เห็นว่า หลักธรรมกับการบริหาร  หรือการปกครองนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบการเมืองไม่ว่าจะเป็นระบบการเมืองแบบไหนก็ตามซึ่งแท้ที่จริงแล้วอยู่ที่ตัวผู้ปกครอง หรือผู้นำเองทั้งสิ้น

.๓.๖. แนวคิดแบบปรัชญาการเมือง

                สิทธิ์  บุตรอินทร์  (๒๕๒๓ : ๑๕๖–๑๕๗)  ปรัชญาระบบนี้ถือ ธรรม  (Righteousness) เป็นใหญ่  ยกเอาความจำเป็นและความสำคัญสุดยอดให้แก่ธรรม ที่จะนำมาใช้ให้เป็นแนวทางสร้างความสมหวังให้แก่ชีวิตและในการดำเนินกิจการทุกอย่าง ทุกระดับของรัฐ การใด ๆ ก็ตามหากไม่อิงอาศัยหลักธรรม การนั้น ๆ แม้ดำเนินไปได้ ก็ถือว่าขัดต่อเจตนารมณ์ของปรัชญานี้ ซึ่งเชื่อว่าหากมนุษย์ไม่อิงอาศัยหลักธรรมแล้ว มนุษย์จักไม่ประสบความเจริญและความสุขสมหวังอย่างแท้จริง  ธรรมคือความถูกต้อง  เพราะมาตรฐานการวัด ดังนี้ ๑) ทุกคนยอมรับและต้องการ  ๒) ธรรมเป็นเครื่องค้ำจุนโลก  ๓) ธรรมให้คุณประโยชน์แก่ทุกคนที่ปฏิบัติ  ๔) ธรรมเป็นความจริงที่ขาดไม่ได้ในการดำเนินชีวิต  ทั้งส่วนตัวและส่วนรวม ถ้าทิ้งธรรมจะเกิดปัญหาขึ้นมาทันที  ๕) อำนาจธรรมไม่เข้าใครออกใคร เป็นอำนาจที่แน่นอนกว่าอำนาจอื่น ๆ   ๖) ธรรมเป็นคุณค่าที่ได้รับการเรียกร้องหาเสมอ ในหมู่มนุษย์  เช่น ยุติธรรม  สามัคคีธรรม  สันติธรรม  ปัญญาธรรม  และมนุษยธรรมอื่น ๆ

 

 

                ดังนั้น  จึงได้ข้อสรุปว่าหลักประชาธิปไตย  เมื่อเทียบกับหลักธรรมาธิปไตยแล้วจะสามารถสงเคราะห์และเกื้อกูลซึ่งกันและกัน  ดังต่อไปนี้

 

ประเด็น

ประชาธิปไตย

ธรรมาธิปไตย

แนวคิด

ประธานาธิบดีสหรัฐ  ลินคอน

ของประชาชน

โดยประชาชน

เพื่อประชาชน

อัตถะ  ประโยชน์  ๓

  อัตตัตถะ  ประโยชน์ตน

ปรัตถะ  ประโยชน์ผู้อื่น

อุภยัตถะ  ประโยชน์ทั้งสอง

ยึดหลัก

สิทธิ

เสรีภาพ

ความเสมอภาค

ธรรมฐิติ  หรือ ราชาผู้ทรงธรรม

 ธรรมนิติ หรือ ระบอบการปกครองด้วย

                 ธรรม

  ธรรมมติ  หรือ มติของมหาชนที่ประกอบ

                   ด้วยคุณธรรม

กระบวนการ

เลือกตั้ง

ไม่จำเป็น

หลักการบริหาร

ฝ่ายบริหาร

ฝ่ายตุลาการ

ฝ่ายนิติบัญญัติ

ให้ครบองค์สงฆ์  (กลุ่ม/หมู่)

ระบบการปกครอง

ประชาธิปไตย, เสรีนิยม , ทุนนิยม

ทุกระบอบ

 

 

                จะเห็นว่าแนวคิด  หลักการ  กระบวนการ  การบริหาร  และระบบการปกครองทางด้านประชาธิปไตย จะเน้นหลักการเป็นสำคัญ  ส่วนธรรมาธิปไตยจะเน้นตัวธรรมเป็นหลัก  ถ้ามีธรรมนำทางแล้วหลักการก็ตาม  กระบวนการก็ตาม  ระบบการก็ตาม ก็ไม่สำคัญเท่ากับคำว่าธรรมาธิปไตย

 



 

[2] วิ.มหา.  (ไทย)  ๑ / ๓๙ / ๒๘–๒๙.

[3] พระธรรมปิฎก. นิติศาสตร์แนวพุทธ. พิมพ์ครั้งที่  ๓.  (กรุงเทพฯ : บริษัทสหธรรมิก จำกัด, ๒๕๔๑).   

หน้า  ๖๘.

[4] สิทธิพันธ์  พุทธหุน.  แนวการศึกษารัฐศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่  ๓.  (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ๒๕๔๓). หน้า  ๕๔๕.

[5]  เรื่องเดียวกัน. หน้า  ๕๔๖.

[6]มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.  ปรัชญาการเมือง.  (นนทบุรี : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, ๒๕๓๔ ).  หน้า  ๖๖๓-๖๖๕.

[7] สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.  รัฐศาสตร์แนวพุทธศาสตร์.  ( กรุงเทพฯ  :  กราฟิคอาร์ต, ๒๕๒๖).  หน้า  ๒.

หมายเลขบันทึก: 438660เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2011 16:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 20:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท