General Education : การศึกษาเพื่อสร้างคนในการนำสังคมด้วยการเข้าถึงความมีอิสรภาพและศิลปวิทยาในศาสตร์สาขาต่างๆ


คุณเอก จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร ได้รับการไหว้วานขอให้ไปช่วยร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนทรรศนะและประสบการณ์ต่างๆกับคณาจารย์และคนทำงานที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นในเรื่อง General Education : วิชาการศึกษาทั่วไป ซึ่งเป็นการศึกษาที่ในทุกคณะและสาขาวิชาจะต้องจัดให้มีเพื่อมุ่งสร้างบัณฑิตให้ออกไปเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงดังที่พึงประสงค์ของสังคมในแนวคิดเชิงอุดมคติต่างๆที่สังคมคาดหวังต่อระบบการศึกษา เช่น วิชาทางด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ วัฒนธรรม การเมือง สิ่งแวดล้อม ศิลปศาสตร์ ภาษาไทยและภาษาต่างประเทศทั่วโลก ศิลปะและความสร้างสรรค์ของมนุษย์ สุขอนามัย การบริหารจัดการ การสื่อสาร ภาวะผู้นำ การใช้สื่อและเทคโนโลยี ตลอดจนนวัตกรรมทางการศึกษาเรียนรู้ ประวัติศาสตร์ จริยศึกษา ปรัชญา โลกศึกษา เหล่านั้นเป็นต้น ซึ่งวิชาเหล่านี้เป็นสาระการศึกษาเรียนรู้ที่นอกเหนือจากสาขาพื้นฐานวิชาชีพซึ่งจะต้องดำเนินการอย่างแยกส่วนออกไปเป็นสาขาการผลิตกำลังคนทางด้านต่างๆอีก

โดยที่สรรพวิชาเหล่านี้ จะเป็นการศึกษาที่มุ่งสร้างคน ไม่เพียงให้ออกไปเป็นกลไกความแยกส่วน แต่ให้สามารถออกไปทำหน้าที่ในด้านความเป็นพลเมืองบนเงื่อนไขแวดล้อมใหม่ๆทั้งของสังคมไทยและสังคมโลกบนพื้นที่ชีวิตของตน มีกำลังความอิสรภาพทางปัญญาและสามารถเข้าถึงความเป็นศิลปวิทยา (State of the Art) ของศาสตร์แขนงต่างๆ รวมทั้งเป็นผู้นำความริเริ่มสร้างสรรค์ในการงานและการดำเนินชีวิต ตลอดจนเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงของสังคมในกระบวนทรรศน์ใหม่ๆได้ด้วย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้และต้องบูรณาการอยู่ในทุกสาขาอาชีพ ดังนั้น จะจัดแยกอยู่ในคณะหรือจัดรวมกันทั้งมหาวิทยาลัย หรือจัดผสมผสานกันอย่างไร ก็ไม่จำกัดตายตัว แต่ทุกคณะและทุกสาขาจำเป็นต้องได้เรียน อีกทั้งไม่จำกัดอยู่แต่เพียงในมหาวิทยาลัย แต่รวมไปถึงการศึกษาเรียนรู้ในโลกกว้างและมุ่งปลูกฝังให้เป็นนิสัยการเรียนรู้ที่จะดำเนินไปตลอดชีวิต  

ทว่า ความยากในการจัดการศึกษาทั่วไปเหล่านี้ก็มีอยู่อย่างมากมาย ต้องเผชิญต่อวิธีคิดของสังคมโดยรวมที่ให้คุณค่าทางปัญญาน้อยกว่าการได้ประโยชน์เฉพาะหน้าทางวัตถุเงินทอง ต้องเผชิญกับทรรศนะที่แตกต่างหลากหลายในวงวิชาการ และค่านิยม ตลอดจนทัศนคติต่อการมุ่งแข่งขันมาตลอดชีวิตของนักศึกษา ซึ่งมักเห็นว่าศาสตร์และศิลป์ในสาขาการศึกษาทั่วไปเหล่านี้ไม่มีความสำคัญต่อการสอบแข่งขันทำคะแนน ไม่ทำให้มั่งคั่งร่ำรวย เงินทองไหลมาเทมา ไม่ทำให้ได้ลาภ ยศ สรรเสริญ ที่ลงทุนและลงแรงแต่น้อยแต่ได้กำไรมาก

อีกทั้งธรรมชาติของการเข้าถึงการเรียนรู้ของสรรพวิชาในสาขาการศึกษาทั่วไปเหล่านี้ โดยมากแล้วก็จะมีลักษณะการสร้างความรู้และความเป็นศาสตร์ที่มีบริบท อิงอยู่กับโลกทรรศน์ทางสังคมวัฒนธรรม ทั้งของสังคมไทยและของสังคมโลก ซึ่งต้องมุ่งเปิดโลกทรรศน์และความมีประสบการณ์ที่เปิดกว้างและได้กรณีเปรียบเทียบจากประสบการณ์การเรียนรู้แบบต่างๆให้รอบด้านที่สุด ในขณะที่ระบบการศึกษาโดยมากจะเตรียมทักษะคนให้รู้จักความรู้ชนิดที่ให้คำตอบเบ็ดเสร็จชุดเดียว

ด้วยเหตุทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ ทำให้ 'การปฏิรูปการศึกษาผ่านการจัดการศึกษาทั่วไป' เป็นประเด็นสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง ที่ทั้งสังคมไทยและทั่วโลก ต่างก็กำลังให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในประเทศไทยนั้น ผู้หลักผู้ใหญ่ ตลอดจนผู้นำทางสังคมในทุกสาขา สื่อมวลชน รวมไปจนถึงครอบครัวพ่อแม่และชาวบ้านทั่วไป ต่างก็มักหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงอยู่ตลอดมา คุณเอกจตุพรเมื่อได้รับการชวนเชิญไปคุยเรื่องนี้ก็คงอยากหาคนลงนวมให้ เลยก็คงจะนึกถึงผม

ขณะเดียวกัน ตอนนี้คุณจตุพรเองก็ย้ายที่พักจากหน้ามหาวิทยาลัยมหิดลไปพักอยู่แถวดอนเมืองแล้ว วันดีคืนดีก็คงนึกถึงบรรยากาศของมหิดลศาลายา เลยถือโอกาสแวะไปมหิดลพบปะผู้คนและครูอาจารย์ของเขา รวมทั้งแวะมาเสวนากับผมอย่างที่เขาก็มักทำ

เราคุยกันมากมายหลายเรื่อง ประมวลประสบการณ์ โยนความคิด และสะท้อนคิดสู่กันฟัง รวมทั้งใช้การพบปะให้เป็นสภาพแวดล้อมทางข่าวสารและขยายโลกแห่งความรู้แก่กัน โดยนำเอาเรื่องราวที่สัมผัสอยู่รอบข้างมาบอกเล่าและแบ่งปันกัน กลุ่มคนที่ทำงานสนามและมุ่งน้อมตนเข้าหาผู้คน ก็มักมีธรรมเนียมปฏิบัติอย่างนี้ เขาเดินถือน้ำเปล่า ๑ ขวดสำหรับเขาเองและกาแฟเย็นไปฝากผม ๑ แก้ว แล้วเราก็นั่งคุยกัน ห้องบรรยายและถกทางวิชาการที่ทั้งผมและคุณเอกต่างเป็นครูและนักเรียนของกันและกันก็เลยดำเนินไปอย่างง่ายๆ บนโต๊ะรับแขกที่ผมทำเองในห้องพักอาจารย์ของผม......

การศึกษาเพื่อทำให้คนเข้มแข็งและสร้างโอกาสให้เขาได้ค้นพบตนเอง : เราคุยกันเรื่องหน้าที่อย่างหนึ่งของการศึกษาที่อยู่เหนือขึ้นไปของการทำให้คนได้สำเร็จการศึกษาสาขาต่างๆแล้วออกไปมีการมีงานทำ ทำหน้าที่เป็นกลไกของระบบต่างๆในสังคมนั้นว่า ต้องทำให้คนหนุ่มคนสาวได้ออกไปเป็นผู้นำที่เข้มแข็งของสังคม สามารถพึ่งตนเองทางความริเริ่มสร้างสรรค์ พึ่งศักยภาพในการเรียนรู้ที่จะริเริ่มสิ่งต่างๆด้วยตนเองก่อน ซึ่งตรงนี้คุณเอกใช้คำว่าต้องทำให้เขาเป็น 'คนที่มีแสงสว่างในตนเอง' เป็นกำลังนำการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆของสังคม ให้สามารถบรรลุจุดหมายที่พึงประสงค์ร่วมกันได้รุ่นต่อรุ่น

การสร้างคนเพื่อให้มีภาวะผู้นำและศักยภาพในความเป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลงที่ใช้วิถีแห่งปัญญาและการมีคุณธรรมต่อสังคมในลักษณะนี้ อาจจะได้เพียงบางส่วน และในสภาพแวดล้อมของสังคมไทยในยุคสมัยนี้ ซึ่งการศึกษามักทำให้ต้องแยกเด็กออกจากการมีประสบการณ์ชีวิตและการมีประสบการณ์ตรงทางสังคม นับตั้งแต่อนุบาลกระทั่งไปถึงมหาวิทยาลัย อีกทั้งหลายทักษะก็ได้ทิ้งไปเพราะไปมุ่งได้การศึกษาเพื่อสอบแข่งขันกัน ทำให้ผู้คนมีประสบการณ์ทางการเรียนรู้และพัฒนาชีวิตตนเองจนห่างเหินโลกความเป็นจริงของตนเองไปมาก

ลักษณะที่เกิดขึ้นอย่างนี้ จึงต้องกลับไปมุ่งสร้างให้เด็กๆได้ประสบการณ์ในการเรียนรู้ที่เข้มข้นมากกว่าการท่องจำหรือเรียนรู้ด้วยจินตนาการไปบนตัวหนังสือ โดยให้ครอบคลุมไปถึงการได้เรียนรู้จากชีวิตจริงและการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมการปฏิบัติ ในสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้ที่ได้รับการออกแบบและบริหารจัดการปัจจัยที่เป็นกัลยาณมิตรต่อการเรียนรู้อย่างดี การเรียนการสอนแบบใช้ความรู้ทั้งในและต่างประเทศมาถ่ายทอดให้แก่เด็กเป็นหลัก คงจะไม่เพียงพอ

ความเปิดกว้างและเชื่อมั่นในตนเอง เป็นตัวของตัวเอง : ผมกับคุณเอกจตุรพรมีเส้นทางชีวิตและประสบการณ์ในการทำงานกับผู้คนหลายอย่างคล้ายกัน โดยเฉพาะการทำงานในภาคประชาสังคมและการทำงานแนวชุมชน แนวประชาคม ซึ่งได้สรุปบทเรียนคล้ายกันอีกอย่างหนึ่งด้วยเช่นกันว่า ตามประสบการณ์ในการทำงานกับผู้คนหลากหลายนั้น ความรู้และทักษะปฏิบัติอย่างที่เราเห็นในระหว่างการศึกษาในมหาวิทยาลัยนั้น ไม่เพียงจะใช้เดินทำงานกับผู้คนไม่ได้เท่านั้น แต่อาจเป็นอุปสรรคโดยตัวมันเองอีกด้วย

คนจบมหาวิทยาลัยจึงมักจะต้องกลายเป็นพนักงานองค์กรหรือทำงานเชิงทักษะกลไกอยู่ในองค์กรที่เน้นภารกิจเชิงเดี่ยวและสามารถใช้ความรู้เฉพาะอย่างทำงานได้ ต่อเมื่อออกไปทำงานที่มีความเชื่อมโยงกับความเป็นสาธารณะมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งจำเป็นต้องใช้ความรู้ความสามารถ รวมทั้งภาวะผู้นำอย่างอื่น ที่สำคัญคือการเรียนรู้เพื่อสร้างความรู้บนความเป็นจริงของการปฏิบัติ

ดังนั้น วิชาชีวิตที่ต้องใช้มากคือความเป็นผู้มีจิตใจที่เปิดกว้างและความเป็นตัวของตัวเอง ความเชื่อมั่นในตนเอง ความเป็นผู้มีเหตุมมีผล มีรสนิยมในชีวิต ละเอียดอ่อน ประนีต ขวนขวายต่อการศึกษาเรียนรู้ตลอดเส้นทางของชีวิต ซึ่งเป็นแง่มุมที่ทำให้ผมกับคุณจตุพรได้นั่งคุยกัน เชื่อมโยงออกจากเรื่องเพลง คงจะมีสักวัน ของ เต๋อ  เรวัต พุทธินันทน์ (บันทึกนี้เป็นบันทึกต่อเนื่องจากการบันทึกเรื่องพลง ๗๗.‘จงเชื่อมั่นในการย่างก้าวของตนเอง’ : เมื่อบอกเล่าและจุดประกายด้วยเพลงในวิธีของเต๋อ เรวัต พุทธินันทน์ : http://gotoknow.org/blog/wiratkmsr-art/437701)

ครู อาจารย์ ต้องเป็นผู้ให้กระบวนการและสถานการณ์เงื่อนไขเพื่อการเรียนรู้อย่างมีพลังและอย่างมีความหมายแก่คนหนุ่มคนสาวของเรา : นอกจากแนวทางการศึกษาเรียนรู้และวิธีเรียนรู้เพื่อสร้างให้นักศึกษาเป็นคนมีแสงสว่างในตนเองแล้ว บทบาทของครูอาจารย์และผู้จัดปัจจัยสนับสนุนทางด้านต่างๆ ที่พอจะทำได้ ก็จะต้องเรียนรู้ที่จะพัฒนาและเปลี่ยนแปลงบทบาทไปสู่การเป็นสภาพแวดล้อมทางปัญญา และเป็นผู้ให้สถานการณ์ต่อการเรียนรู้ รวมทั้งเป็นผู้ให้ประสบการณ์ชีวิตที่ดี มีความหมายที่สุดต่อคนหนุ่มคนสาวในห้วงที่ชีวิตเต็มไปด้วยพลังแห่งการเรียนรู้

เด็กๆและนักศึกษามหาวิทยาลัยไม่ได้เรียนรู้ได้ดีแต่เพียงมีอาจารย์เก่งวิชาความรู้เท่านั้น แต่ต้องมีครูและสภาพแวดล้อมในชีวิตการเรียนรู้ที่ให้ไฟชีวิต ให้ความบันดาลใจ จับมือไปสร้างประสบการณ์ต่อสังคม สร้างเครือข่ายวิชาการ สร้างทุนชีวิตให้แข็งแกร่งหนักแน่น รู้จักเปิดรับโลกกว้าง มีความรู้ ฉลาด มีปัญญา ก็ไม่พอ ต้องมีวิจารณญาณและรู้กาลเทศะแห่งความรู้ ให้ความรู้สึกว่ามีเพื่อนและที่ปรึกษาเพื่อความทุ่มเทต่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง เป็นหลักชีวิตและหลักชัยในทุกสิ่ง เป็นแหล่งที่ให้โอกาสเขาได้ตั้งต้นใหม่และได้ความก้าวหน้างอกงามในตนเอง มั่นใจในชีวิต มั่นใจในความดีงาม มีน้ำอดน้ำทนต่อการเผชิญความทุกข์ยาก และเมื่อมีความสำเร็จก็มีคนส่องสะท้อนให้ได้สะสมคุณค่าทางจิตใจเพื่อยกระดับตนเองให้สูงขึ้นอยู่เสมอ

ความเป็นครูชีวิตและเสริมส่งชีวิตการเรียนรู้ : การจัดการศึกษาทั่วไป ต้องมุ่งให้เด็กๆได้มีอิสรภาพในชีวิต โดยพื้นฐานที่สุดต้องให้ได้สัมผัสกับชีวิตที่ต้องพึ่งตนเองให้มากที่สุด พร้อมกับมีครูและสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้เหมือนพ่อแม่และเครือญาติทางปัญญาหรือเครือญาติทางวิชาการ ผมหยิบยกคำกล่าวของรองศาสตราจารย์ ดร.เนาวรัตน์ พลายน้อย ซึ่งเป็น Academic Advisor ของคุณเอกจตุพรด้วย

อาจารย์ได้เคยพูดถึงวิธีคิดในการเป็นครูแบบพี่เลี้ยงในงานบริหารจัดการ (Participatory Management and Learning by Mentorship Leaders Style) เพื่อให้สังคมการทำงานเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้และทำให้คนทำงานมีความเติบโตงอกงามทางจิตใจไปด้วยว่าต้องมีบทบาทสำคัญ ๓ อย่าง ซึ่งเป็นแนวคิดที่กระชับดีและผมชอบมาก คือ

  • Protect ต้องดูแลให้ความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย มีความเชื่อมั่น ให้ประสบการณ์ที่ดีต่อการเกิดความงอกงามภายใน ไม่ทำให้คนจบการศึกษาแต่ล้มเหลวในการนำชีวิตของตนเอง
  • Support ต้องให้การส่งเสริมและสนับสนุนในสิ่งที่ดี ถูกต้อง มีกำลังความคิด กำลังความริเริ่มที่จะปฏิบัติอยู่เสมอ
  • Facilitation ต้องเอื้ออำนวยให้สามารถคิดและทำสิ่งต่างๆตามความริเริ่มสร้างสรรค์ด้วยตนเองอย่างเต็มที่ที่สุด

การออกไปเรียนรู้กับผู้คนและออกไปสร้างประสบการณ์ต่อสังคมในวิถีแห่งปัญญา : วิชาที่สำคัญที่สุดที่ระบบการศึกษาจะต้องให้เด็กๆ นักศึกษา และคนหนุ่มคนสาวรุ่นใหม่ๆได้สัมผัสและเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงในสภาพแวดล้อมที่เขายังมีครูอาจารย์และเพื่อนเป็นสภาพแวดล้อมดูแลทั้งชีวิตและจิตวิญญาณแห่งการเรียนรู้ของเขาอยู่ก็คือ การเดินเข้าหาคนและเริ่มต้นเรียนรู้เพื่อสร้างความเป็นส่วนรวมในขอบเขตต่างๆด้วยกัน จากนั้น การเข้ากับคนได้และเรียนรู้กับผู้คนเป็น ก็จะเป็นวงจรหมุนเกลียว มีพัฒนาการอย่างเชื่อมโยงออกไปสู่การเรียนรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ที่เกิดขึ้นอยู่ในชีวิตและการทำงานในโลกของความเป็นจริง

ดังนั้น การจัดกิจกรรมและสถานการณ์ในการเรียนรู้, การทำให้มีความสามารถในการสังเคราะห์และสร้างความรู้ขึ้นอย่างเชื่อมโยงจากการสร้างประสบการณ์เชิงการเรียนรู้, ตลอดจนการเรียนรู้ในวิชาการศึกษาทั่วไป ให้เข้าไปถึงตัวปัญญาและการค้นพบตนเอง, มีความมั่นใจในตนเอง, มีพลังชีวิต มีความศรัทธาเชื่อมั่นต่อการเรียนรู้และหนักแน่นมั่นคงต่อการสร้างสิ่งยากซึ่งเป็นกิจของคนส่วนน้อยเพื่อสังคม เหล่านี้ จัดว่าเป็นสิ่งที่จะต้องมุ่งสร้างให้เกิดแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา ตลอดจนกลุ่มเป้าหมายทางการศึกษาและการพัฒนาการเรียนรู้ต่างๆ คนทำงานทางด้านการศึกษาและพัฒนาคน จึงจำเป็นต้องเรียนรู้การทำงานในบทบาทใหม่ๆ   

นอกจากนี้ ก็รวมไปจนถึงการต้องเรียนรู้เพื่อทำงานร่วมมือกับภาคประชาสังคมและกลุ่มการรวมตัวกันของชุมชนนักปฏิบัติเพื่อสร้างความเป็นส่วนรวมตามความสนใจ  ตลอดจนการส่งเสริมพลังจิตสาธารณะของปัจเจก ซึ่งเป็นกลุ่มพลเมืองที่เกิดขึ้นอย่างหลากหลายสาขาและมีบทบาทที่ทัดเทียมกับความจำเป็นที่เพิ่มความซับซ้อนมากยิ่งๆขึ้นของโลก มากกว่าการอาศัยแต่ระบบสังคมขนาดใหญ่ๆอย่างกลไกภาครัฐและระบบตลาดในแบบดั้งเดิมแต่เพียงลำพัง

ผมคุยให้คุณเอกจตุพรฟังอีกมุมหนึ่งในเพลงคงจะมีสักวัน ของเต๋อ เรวัต พุทธินันทน์ ซึ่งบังเอิญผุดขึ้นมาระหว่างที่เราคุยกันว่า เพลงคงจะมีสักวันของเต๋อนั้นบอกว่าคงจะมีสักวันใน ๓๖๕ วันหรือในตลอดช่วงชีวิต แต่ก็ไม่รู้ว่าคือวันไหน ความไม่รู้แน่ว่าคือวันไหน จึงทำให้เกิดมุมกลับให้รู้แต่เพียงว่ามีแต่ความหวั่นไหวไม่แน่นอนอยู่ตลอดบนวันและห้วงเวลาเหล่านั้น และในจำนวนนั้น จึงจะมีวันหนึ่งที่เป็นวันแห่งความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในใจของเรา.....?

ผมก็เลยถอดรหัสให้เห็นตัว deep dialogue ของเพลงนี้ว่า แท้จริงแล้วเพลงเขาบอกว่า ทุกคนรวมทั้งเขาเองก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าในขณะทุกย่างก้าวและทุกวันนั่นเองที่จะมีโอกาสความสำเร็จบนเส้นทางชีวิตของเราอยู่ด้วย แต่ไม่รู้ว่าเป็นวันไหน ซึ่งพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความสำเร็จที่แน่นอนกว่านั้น อยู่ในทุกการก้าวเดินและเมื่อลงมือปฏิบัติไปตามกำลังและอัตภาพของเรานั่นเอง หลักคิดดังกล่าวนี้ เป็นหลักคิดที่สอดคล้องกับการเป็นนักปฏิบัติและมีการเรียนรู้เพื่อพัฒนาเชิงคุณค่าต่อสังคม รวมทั้งได้พัฒนาชีวิตจิตใจให้มีความงอกงามไปด้วย

ก่อนแยกย้ายกันไปทำกิจอื่นๆ ผมก็ได้ทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนคิดของผมเองให้แก่เอกบ้างพอสมควร ซึ่งเป็นการทำหน้าที่ของกัลยาณมิตรและสภาพแวดล้อมของชีวิตแห่งการเรียนรู้ เพื่อให้มิตรของเราได้เห็นตำแหน่งแห่งหนตนเองในกาลเทศะต่างๆ เหมือนกับมีกระจกมองข้างในระหว่างขับรถเพื่อได้เห็นความเคลื่อนไหวของโลกรอบข้างไปด้วยอยู่เสมอๆ ซึ่งแน่นอน เป็นการจับมือให้เขาได้สัมผัสรู้ไปด้วยว่า นี้เป็นกระบวนการเรียนรู้อย่างหนึ่ง ที่เราต้องสร้างขึ้นจากกระบวนการทางสังคม

ในฐานะเป็นคนชอบเรียนรู้ไปบนประสบการณ์รอบตัวและสร้างความรู้ให้เชื่อมโยงกับเรื่องราวต่างๆไปด้วย ผมได้ย้ำว่าเอกมีหลายอย่างที่ทำให้วิถีปฏิบัติตนเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ทั้งสำหรับตนเองและผู้อื่นดีมาก รวมทั้งย้ำอีกหลังจากมักย้ำทุกครั้งเมื่อมีโอกาสเจอกันว่า ถ่ายรูป ใช้มุมมองจากประสบการณ์ที่มี และใช้กล้องถ่ายรูป ตลอดจนเครื่องมือและเทคโนโลยีการจัดการความรู้อย่างผสมผสานอย่างบล๊อก ให้เป็นเครื่องมือเก็บบันทึกข้อมูล พร้อมกับใช้ความมีประสบการณ์รอบด้านที่หาได้ยากจากคนทั่วไป ให้เป็นเครื่องมือสะท้อนคิดและหมั่นบันทึกความรู้รายทางไปด้วยให้ดีที่สุด วันดีคืนดีก็กลับมานั่งดูและสังเคราะห์ซ้ำ เพื่อบันทึกและรายงานไว้ให้สังคมไปเรื่อยๆอยู่เสมอ.  

หมายเลขบันทึก: 438287เขียนเมื่อ 6 พฤษภาคม 2011 13:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

ขอบคุณค่ะ..การสร้างแรงบันดาลใจดีๆของเยาวชน คนหนุ่ม-สาว เพื่อการให้ต่อสังคม ..สะท้อนทั้งแสงสว่างภายในตนเองและความมีจิตอาสา ที่แผ่ความเป็นมิตรไมตรีแห่งความความสุขที่เกิดจากการแบ่งปันกันอย่างต่อเนื่อง..

สวัสดีครับพี่ใหญ่ครับ โครงการกิจกรรมและพัฒนาการเรียนรู้ให้แก่เด็กๆและกลุ่มเป้าหมายต่างๆนี่ แทบจะจัดว่าอยู่บนหลักการของการจัดการศึกษาเพื่อมุ่งสร้างคนอย่างนี้เลยนะครับ ชื่นชมและเป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งเสมอครับ

วิชาศึกษาทั่วไป เป็นกลุ่มวิชาที่ทุกหลักสูตรต้องจัดให้กับนักศึกษา...โดยมีหลักการและปรัชญาตามที่อาจารย์ได้กล่าวมา... ซึ่งนอกจากรายวิชาต่างๆ ในกลุ่มที่มีอยู่แล้ว ยังมีอีกศาสตร์หนึ่งที่ทางสำนักวิชาศึกษาทั่วไปได้พิจารณาว่า หากสามารถติดอาวุธนี้ให้กับนักศึกษาได้แล้วการเรียนรู้ต่อไปของนักศึกษาก็จะไม่ใช่เรื่องยากเย็นอีกต่อไป...จึงมีแนวคิดที่จะสร้างรายวิชา ศาสตร์ในการเรียนรู้ (Science of Learning) ขึ้นมา โดยระดมแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะกระบวนการและกิจกรรมที่จะจัดให้กับนักศึกษา เพื่อให้เขาเข้าใจ ถึงกระบวนการเรียนรู้ เพื่อที่จะนำไปใช้ในการเรียนรู้ศาสตร์อื่นๆต่อไป...คุณเอกก็จะเป็นอีกท่านหนึ่งที่เราเชิญมาเพื่อร่วมระดมความคิดในการสร้างกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ค่ะ... จึงขอความเห็น แนวคิด และคำแนะนำจากอาจารย์ด้วยค่ะ...ขอบคุณค่ะ

เรียน ท่านอาจารย์ครับ

ด้วยความตื่นเต้นเหลือประมาณ ..อีกทั้งบันทึกนี้รวบยอดความคิดให้ผมโดยทั้งหมดไม่ขาดตกเเละยังเปิดมุมบางมุมที่ผมคิดไม่ถึง

วันนี้นั่งเขียนงานทั้งวัน สังเคราะห์ประสบการณ์ตัวเองช้า ละเลียดความรู้ออกมา เขียน เพื่อเป็นต้นทุนไปพูดคุยกับอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น...

วันนี้ผมนั่งเขียนงานอย่างมีความสุขครับ...

ผมจะขอนั่งทดความคิดสักพักใหญ่ เเละขออนุญาตกลับมาเเลกเปลี่ยนเชิงประเด็นในบันทึกอาจารย์บันทึกนี้อีกครั้ง

ด้วยความเคารพครับผม

 

เอก จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

ขอบคุณมะปรางที่นำเรื่องราวบันทึกนี้ เผยเเพร่ใน Facebook ปลายทางที่ผมได้ย้อนกลับมาอ่านบันทึกต้นทางที่มีคุณค่านี้ครับ

สวัสดีครับท่านอาจารย์ paew ครับ

ในเวทีเครือข่ายจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย เมื่อ ๒๑-๒๒ เมษยาน ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยมหิดลได้เป็นเจ้าภาพ ที่สวนสามพราน ก็ได้ถก คุย สนทนา และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องนี้กันทั้งอย่างรอบด้านและลงลึกถึงเทคนิคปฏิบัติกันหลายเรื่องครับอาจารย์ครับ

ชื่อเวที UKM20 ครั้งที่ผ่านมา คือ Best Practice : สร้างคุณค่าสู่อนาคต ซึ่งโดยภาพรวมนั้นก็เป็นการส่องทางหาบทเรียนและสัญญาณที่ลึกซึ้งแยบคายว่าหากถือเอานักศึกษาและสุขภาวะของสังคมเป็นตัวตั้งแล้ว บทเรียนและภาพสะท้อนต่างๆใน Best Practice สามารถบอกอะไรแก่เราได้บ้าง มีบทเรียนที่เป็นโมเดลกระบวนการเรียนรู้ ในการจัดการศึกษาทั่วไปของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ท่านศาสตราจารย์ ดร.สุภาพ ณ นคร ผู้อำนวยการสำนักการศึกษาทั่วไป ได้กรุณาไปแลกเปลี่ยนแบ่งปันให้ด้วยครับ

ในเวทีที่จัดขึ้น พวกเราก็บูรณาการหลายอย่างลงไปด้วยเสียเลย ทั้งเพื่อ Practice กระบวนการเรียนรู้ ๕ ตัวอย่างของ Best Practices เพื่อค้นพบและลองเลือกสรรการเปลี่ยนแปลงจากการทำจริงบนเวทีไปด้วยเสียเลย ว่าจัดการกลุ่มปฏิบัติที่ได้ผลดีในเรื่องต่างๆ ให้เป็นพลังนำการเปลี่ยนแปลงในขอบเขตที่กว้างขวางร่วมกันเป็นเครือข่ายมหาวิทยาลัยกันได้อย่างไร ท่านรองอธิการบดี ศาสตราจารย์นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา ผมและทีม ได้ทำการบ้านก่อนเดินเวทีเพื่อหาบทเรียนในการสร้างชุมชนเรียนรู้และสร้างปฏิสัมพันธ์ทางการเรียนรู้ที่มีพลังในเวทีการเรียนรู้ขนาดใหญ่ ประเด็นกว้าง และผู้คนมีความแตกต่างกันอย่างไม่จำกัด ไปด้วยเลยว่าทำให้ดีที่สุดได้อย่างไร ทั้งโดยใช้ทักษะคน นวัตกรรมและเทคโนโลยี และการเปลี่ยนคอนเซ็ปในการจัดกระบวนการเรียนรู้ ให้เป็นการบริหารจัดการเป็นชุมชนและทีมผู้ปฏิบัติการแบบสหสาขาเสียเลย สนุกครับสนุก

อีกวันสองวันทางทีมมหิดลจะช่วยกันถอดบทเรียนทั้งจากประสบการณ์ตนเอง จากกระบวนการเวที จากตัวอย่าง Best Practice และจากประสบการณ์ของกลุ่มผู้ร่วมเวทีจากทุกมหาวิทยาลัยในเครือข่าย เชื่อว่าจะได้บทเรียนดีๆมากมาย และจะหาโอกาสมาเล่าแบ่งปันกันอีกครับอาจารย์ครับ

ขอบคุณดอกไม้และกำลังในแก่กันจากพี่ใหญ่, อาจารย์ณัฐพัชร์, คุณเอกจตุพร
คุณมะปรางเปรี้ยว, อาจารย์ Wasawat Deemarn, และคุณแสงแห่งความดี
มีความสุขในวันหยุดทุกท่านครับ

บันทึกของอาจารย์จุดประกายความคิดบวกในการสอนนักศึกษากิจกรรมบำบัด ม.มหิดล ให้เปิดกว้างกับสถานการณ์ชีวิตอย่างรอบรู้และ "คงจะมีสักวัน...ที่พลเมืองดีของประเทศไทยจะมีคุณภาพและปริมาณมากขึ้น" ครับผม

สวัสดีครับอาจารย์ดร.ป๊อปครับ

ของอาจารย์ที่ทำในเวทีนี่ผมสนใจมากเลยครับ ตอนทำ AAR อยากฟังอาจารย์และเวทีช่วยสะท้อนบทเรียนให้ฟังมากอย่างยิ่งครับ และเมื่อเสร็จแล้วก็คิดว่าจะนำมาสรุปบทเรียนของตัวเองดูนะครับ คือ....

  • Chat Chanel ที่อาจารย์และคณะนำมาเป็นนวัตกรรมส่งเสริม Active Learning และ Particvipatory Learning
  • Documentation Video & Presentation เพื่อเป็น Learning Material สนับสนุนให้เครือข่าย

ทั้งสองเรื่องมีความสำคัญทั้งในแง่ที่เป็น Class Room Management for Active and Interactive Learning และในแง่การเลือกสรรพัฒนาระบบเทคโนโลยี-นวัตกรรมการศึกษา ก็เป็นวิธีหนึ่งที่น่าจะให้มิติใหม่ๆต่อการจัด General Education และรูปแบบการบรรยายกับกลุ่มนักศึกษาขนาดใหญ่ ให้เกิดปฏิสัมพันธ์แบบชุมชนการเรียนรู้และได้ผลดีในหลายด้าน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งเรื่องการจัดการเรียนการสอนและการจัดประชุมวิชาการในงานบริการวิชาการต่างๆที่เป็นภารกิจหลักของหน่วยจัดการความรู้ของสังคมอย่างเช่นมหาวิทยาลัย  

ขอบคุณครับ อ.วิรัตน์

ผมคิดว่า General Education ของสถาบันการศึกษาในไทย กำลังริเริ่มและพัฒนารูปแบบที่เน้น Participatory Classroom หรือ Active Learning Environment มากขึ้น แต่งานวิจัยทางการศึกษาไทยยังมีไม่มากนักที่เน้นให้ผู้เรียนถอดบทเรียนหรือแปลความรู้สู่สาธารณชนมากขึ้น คงต้องปลูกฝัง "ใจ" ให้เกิด KM + KT ในหลายๆ มิติของชีวิต

เทคโนโลยีหรือสื่อการเรียนรู้จะช่วยเสริมได้ ถ้าผู้เรียนรู้ให้ความสำคัญและความพึงพอใจกับการใช้สื่อและทรัพยากรการเรียนรู้ที่เหมาะสมครับ

ตอนแรกก็ ปิ๊งไอเดียสื่อต่างๆ ขึ้นมาจากประสบการณ์ที่ได้พบสื่อมวลชนทั้งเชิงรุกและรับ ตอนทำงานตั้งแต่เป็นนศ.กิจกรรมบำบัด จนเป็น ดร. กิจกรรมบำบัด ครับ เป็นความชอบส่วนตัวที่มีตั้งแต่เด็กในศิลปะของการใช้สื่อ และเคยเรียนรู้ตอนเป็นเยาวชนอาเซียนด้วยครับอาจารย์

คิดว่า กลุ่มอาจารย์และทีมงาน UKM ครั้งที่ 20 นี้ สามารถถ่ายทอดบทเรียนแห่งความสำเร็จในการใช้สื่อแก่ "คนทำงานด้วยใจ" ในหลายๆ หน่วยงานของ ม.มหิดล ได้ครับ

ผมถอดบทเรียนไว้เพิ่มเติมที่ http://gotoknow.org/blog/otpop/438859

ขอบคุณมากครับที่อาจารย์ทำให้ผมเกิดพลังบวก++ ในการทำงานที่ ม.มหิดล

สวัสดีครับอาจารย์ Dr.Pop ครับ ได้แวะไปอ่านบันทึกการถอดบทเรียนหลังการำทงานของทีมจัด UKM20 ของอาจารย์และละครับ อาจารย์สกัดประเด็นและเสริมทรรศนะต่างๆได้หนักแน่นดีมากอย่างยิ่งนะครับ ชื่นชมมากครับอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท