พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak)
นางสาว พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak) Cherry ปฐมสิริรักษ์

สอบพยานรับรองการอาศัยอยู่จริงในประเทศไทย และการเป็นผู้มีความประพฤติดีของนายวิษณุ (ตอนแม่ของวิษณุมีหลายชื่อ !)


จะทำอย่างไรเมื่อพยานที่มาให้ปากคำเป็นบุคคลที่มีหลายชื่อ และชื่อดังกล่าวปรากฎในเอกสารหลายฉบับ จะทำอย่างไรที่จะพิสูจน์ได้ว่าเจ้าของชื่อเหล่านั้นเป็นบุคคลคนเดียวกันจริง เพื่อนำไปสู่ความน่าเชื่อถือที่ว่าบุคคลนั้นเป็นเจ้าของเอกสารที่นำมาอ้างเป็นพยานหลักฐาน และมีความสัมพันธ์เป็นมารดาของผู้ยื่นคำขอลงรายการสัญชาติไทย ดังนั้นจึงต้องพิสูจน์ความเป็นแม่ลูกและพิสูจน์ว่าแม่คือคนที่เป็นเจ้าของชื่อหลายๆชื่อนั้น

สอบปากคำพยานรับรองการอาศัยอยู่และการเป็นผู้มีความประพฤติดี ของวิษณุ

                องค์ประกอบตามกฎหมายของ ม.23 พระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับที่ 4)พ.ศ.2551 การได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดนนั้น ผู้ยื่นคำขอลงรายการสัญชาตินอกจากจะต้องเป็นผู้ที่เกิดในประเทศไทยแล้วตามช่วงเวลาที่กฎหมายกำหนดแล้ว ยังต้องเป็นผู้ที่มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่จริงในประเทศไทยเป็นเวลาติดต่อกัน และต้องเป็นผู้ที่มีความประพฤติดีหรือทำคุณประโยชน์แก่สังคม ซึ่งในสองประเด็นหลังนี้เจ้าหน้าที่ผู้รับคำขอลงรายการสัญชาติไทยต้องดำเนินการสอบปากคำพยานที่เจ้าตัวผู้ยื่นคำขอลงรายการสัญชาติไทยอ้างเป็นพยานบุคคล เพื่อให้ได้ความว่าผู้ยื่นคำขอลงรายการสัญชาติไทยนั้นมีคุณสมบัติในสองประเด็นหลังจริงหรือไม่

                ซึ่งตามหลักของกฎหมายพยาน การเรียกพยานบุคคลเพื่อรับฟังประกอบข้อเท็จจริงที่กล่าวอ้างนั้น กฎหมายห้ามมิให้มีการเรียกพยานเกินความจำเป็น เพราะจะเป็นการยุ่งยากเกินสมควรสำหรับผู้ที่กล่าวอ้างข้อเท็จจริง และกรณีของนายวิษณุ ผู้ที่กล่าวอ้างว่าตนเองมีสิทธิในสัญชาติไทยตาม ม.23 พรบ.สัญชาติ(ฉบับ4)พ.ศ.2551 นั้นยังคงไม่บรรลุนิติภาวะ พิจารณาจากหนังสือสั่งการที่ มท 0309.1/ว1587 ที่วางหลักเกณฑ์ของพยานบุคคลที่จะมาให้ปากคำรับรองการอาศัยอยู่ในประเทศไทยและการเป็นผู้มีความประพฤติดี ดังนี้

  1. กรณีของนายวิษณุไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านที่มีเลขประจำตัว 13 หลัก แต่มีชื่อในทะเบียนประวัติที่มีเลขประจำตัว 13 หลัก จึงให้สอบสวนพยานบุคคลผู้น่าเชื่อถือรับรองไม่น้อยกว่า 4 คน
  2. กรณีของนายวิษณุยังไม่บรรลุนิติภาวะจึงต้องสอบสวนบิดามารดาด้วย

                ดังนั้นในกรณีของนายวิษณุ จึงอ้างพยานบุคคลมารับรองดังนี้

  1. นางปัจจรา หรือนางบุญมี หรือนางปัญจรา  มารดาของนายวิษณุ
  2. นายเล็ก บุญชา  บิดาของนายวิษณุ
  3. อาจารย์  โรงเรียนป้อมนาคราชสวาทยานนท์ มีภูมิลำเนาอยู่ในอ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ
  4. ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดคู่สร้าง
  5. ป้ายอม  ผู้นำชุมชนของชุมชนวัดคู่สร้าง และมีภูมิลำเนาอยู่ใน อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ
  6. ป้าฑา เป็นเพื่อนบ้านของนายวิษณุและครอบครัว ป้าฑามีภูมิลำเนาอยู่ใน อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ ทั้งนี้ หลังจากวิษณุได้รับการอนุมัติสัญชาติไทยแล้วจะต้องเพิ่มชื่อเข้าบ้านในทะเบียนบ้านคนสัญชาติไทยคือ ทร.14 ซึ่งป้าฑาที่เป็นคนสัญชาติไทยนี่เองที่จะมาแสดงความยินยอมให้นายวิษณุเพิ่มชื่อเข้าทะเบียนบ้านของตน

 

และในวันที่ 4 พฤษภาคม ผู้เขียนซึ่งเป็นนักกฎหมายประจำโครงการบางกอกคลินิก และพี่โอ๊ตนักกฎหมาย

ประจำโครงการบางกอกคลินิกอีกท่านหนึ่งได้เดินทางไปฟังการสอบปากคำพยานบุคคลของเคสวิษณุ ซึ่งเป็นเคสของผู้มีปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายที่ขอความช่วยเหลือมายังโครงการบางกอกคลินิกและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

                เจ้าหน้าที่สำนักทะเบียนของเทศบาลตำบลพระสมุทรเจดีย์ เริ่มต้นสอบปากคำนางปัจจรา ฯ มารดาของผู้วิษณุ ซึ่งจะต้องมีคำถามเกี่ยวกับสัญชาติของผู้มาเป็นพยาน ทำให้เกิดเป็นประเด็น ขึ้นว่า ในเอกสารประจำตัวของนางปัจจราฯ หลายฉบับ ระบุว่าปัจจรามีสัญชาติพม่า แต่โดยข้อเท็จจริงนั้นนางปัจจรามีสถานะบุคคลตามกฎหมายเป็นคนไร้สัญชาติ ยังไม่ถูกยอมรับเป็นคนสัญชาติใดของรัฐในโลก โดยนางปัจจราฯเพียงแต่มีสิทธิในสัญชาติไทยตาม ม.23 พรบ.สัญชาติ(ฉบับ4)พ.ศ.2551 แต่ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการใช้สิทธิในสัญชาตินั้น เมื่อเป็นประเด็นเช่นนี้ การกรอกรายละเอียดของนางปัจจราในเรื่องสัญชาติลงในบันทึการสอบปากคำ (ปค.14)ควรบันทึกอย่างไร

1)      บันทึกตามเอกสาร คือ ระบุสัญชาติพม่า ซึ่งผิดไปจากความเป็นจริง

2)      บันทึกตามคำกล่าวอ้างของนางปัจจราเอง คือ ระบุเป็นคนไร้สัญชาติ

ซึ่งในประเด็นนี้ผู้เขียนและพี่โอ๊ตได้พยายามอธิบายกับทางเจ้าหน้าที่ว่าเราไม่ควรระบุว่านางปัจจราฯ มีสัญชาติ

พม่า เพราะนอกจากจะผิดจากความเป็นจริงซึ่งเป็นคนไร้สัญชาติแล้ว ยังเป็นการกระทำที่ประเทศไทยไปละเมิดอำนาจอธิปไตยของประเทศพม่าโดยการที่ประเทศไทยไปให้สัญชาติพม่ากับบุคคล ทั้งที่โดยหลักการแล้วสัญชาติของรัฐจะถูกให้กับบุคคลก็โดยที่รัฐเจ้าของสัญชาตินั้นยินยอม  โดยการกำหนดกฎเกณฑ์ และบันทึก รวมถึงออกเอกสารระบุสัญชาตินั้นให้กับบุคคลถือไว้  [ตัวอย่างเช่น สัญชาติไทย รัฐไทยเท่านั้นที่จะเป็นผู้ออกกฎหมายกำหนดเงื่อนไขการได้สัญชาติไทยไว้ หากบุคคลใดมีคุณสมบัติตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดก็จะมีสิทธิในสัญชาติไทย และเมื่อมาใช้สิทธิ รัฐไทยก็จะบันทึก และออกเอกสารประจำตัวคนสัญชาติไทยให้กับบุคคลนั้น] ซึ่งในกรณีของนางปัจจราฯ รวมทั้งนายเล็ก บุญชา นั้นเมื่อไม่ปรากฎว่าทั้งสองมีเอกสารประจำตัวที่ประเทศพม่าออกให้โดยระบุว่าเป็นคนสัญชาติพม่ามาแสดงแก่เจ้าหน้าที่ ทางเจ้าหน้าที่ก็คงไม่สามารถระบุลงไปว่าทั้งสองมีสัญชาติพม่า   แต่ควรระบุตามข้อ 2) คือ ระบุเป็นคนไร้สัญชาติ ตามที่นางปัจจราฯ และนายเล็ก บุญชากล่าวอ้าง และอาจจะเขียนข้อสังเกตไว้ข้างท้ายแบบบันทึกคำพยาน (ปค.14)ว่า “ในเอกสาร ที่ปรากฏชื่อของนางปัจจรา หรือนางบุญมี หรือนางปัญจรา กลับระบุว่ามีสัญชาติพม่า”

 

                เจ้าหน้าที่สอบปากคำนางปัจจราฯ นายเล็ก บุญชา และป้าฑา

                อย่างไรก็ตามยังมีประเด็นปัญหาในเรื่องชื่อมารดาของนายวิษณุ ซึ่งในหนังสือรับรองการเกิดของนายวิษณุระบุว่าชื่อ “นางปัจจรา หรือนางบุญมี หรือนางปัญจรา นามสกุลศรีวาร” แต่ในหนังสือรับรองการเกิดของนางปัจจราและสำเนาทะเบียนบ้าน ทร.13 ของนางปัจจรากลับระบุว่าชื่อ “นางปัจจรา (ไม่มีนามสกุล)” จึงเกิดเป็นประเด็นปัญหาว่าเจ้าของชื่อเหล่านี้เป็นบุคคลกันเดียวกันจริงหรือไม่ และเป็นมารดานายวิษณุจริงหรือไม่ เหตุผลที่ต้องสืบให้ได้ข้อเท็จจริงของความสัมพันธ์แม่ลูกของนางปัจจราฯ และนายวิษณุนั้น เนื่องจากการทรงสิทธิใน ม.23 ของนายวิษณุก็เนื่องมาจากการเป็นบุตรของมารดาที่เคยถูกถอนสัญชาติไทยโดย ปว.337 และกลับมามีสิทธิในสัญชาติไทย ตาม ม.23 ดังนั้น “ความสัมพันธ์แม่ลูก” และ “การมีตัวตนอยู่จริงของมารดา” จึงเป็นประเด็นสำคัญในเคสนี้

            เมื่อนายวิษณุและมารดากล่าวอ้างว่าเจ้าของชื่อเหล่านั้นเป็นบุคคลเดียวกันจริง และเป็นมารดานายวิษณุจริง เช่นนี้ จะอ้างพยานเอกสารและพยานบุคคลใดเพื่อพิสูจน์ข้อกล่าวอ้างนี้

            ซึ่งเราได้ปรึกษากับเจ้าหน้าที่ และข้อจำกัดบางประการเกี่ยวกับการแสวงหาพยานหลักฐานประกอบข้อกล่าวอ้างนี้ ดังนี้

-           กรณีพยานเอกสาร  นางปัจจราฯ ไม่มีเอกสารที่รับรองระบุชัดเจนว่านางปัจจรา หรือนางบุญมี

หรือนางปัญจรา นามสกุลศรีวาร นามสกุลบุญชา เป็นบุคคลคนเดียวกัน แต่เอกสารที่มีนั้นจะมีลักษณะคือปรากฏชื่อใดชื่อหนึ่ง พร้อมเลขประจำตัว ดังนั้นแนวทางการพิสูจน์ข้อกล่าวอ้าง คือ สืบจากพยานเอกสารทั้งหมดที่ปรากฎชื่อ โดยใช้เลขประจำตัวประชาชน รูปถ่าย ข้อมูลอื่นๆที่ปรากฎในเอกสารเหล่านั้นเป็นคีย์เวิร์ดนำมาประกอบกัน แล้วชั่งน้ำหนักพยานว่าน่าเชื่อถือเพียงใด

-           กรณีพยานบุคคล ที่ทราบว่ามารดาของวิษณุมีชื่อหลายชื่อปรากฏอยู่ในเอกสารแต่ละช่วงเวลา ก็จะมีแต

ตัวนางปัจจราฯเอง และบุคคลในครอบครัว ส่วนเพื่อนบ้านหรือคนอื่นๆ ก็จะรู้ข้อเท็จจริงอยู่บ้างว่ามีหลายชื่อ แต่ก็ไม่ทราบครบทุกชื่อ และไม่ทราบทั้งหมดว่าใช้ในช่วงเวลาใดและเพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

                                ดังนั้นถ้าจะอ้างเป็นตัวนางปัจจราฯ และบุคคลในครอบครัวเป็นพยานนั้นก็อาจทำได้แต่จะมีผลเรื่อง ความมีส่วนได้ของพยานที่ให้ถ้อยคำ

                                สำหรับกรณีของ อ.กิตติวรญา และ อ.ชลฤทัย ซึ่งเป็นผู้ที่ให้ความช่วยเหลือเคสวิษณุนั้น แม้จะทราบข้อเท็จจริงว่ามารดาของนายวิษณุมีหลายชื่อ แต่ละชื่อมีอะไรบ้าง และใช้ในช่วงเวลาใด แต่ก็เป็นเพียงการรับรู้โดยฟังจากการบอกเล่าของนางปัจจราฯ การรวบรวมพยานเอกสารเพื่อปะติดปะต่อ และการลงพื้นที่ที่นางปัจจราฯเคยอาศัยอยู่เพื่อสืบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการมีตัวตนอยู่ของนางปัจจราฯและชื่อของเธอ แล้วจึงบันทึกการสืบข้อเท็จจริงเหล่านั้น ดังนั้นหากอ.กิตติวรญา และ อ.ชลฤทัย จะเป็นพยานรับรองในเรื่องดังกล่าวก็เป็นพยานลำดับสองที่รับฟังมาจากการบอกเล่าอีกที

 

ด้วยเหตุนี้เองผู้เขียน พี่โอ๊ต และทางเจ้าหน้าที่ได้ปรึกษากันว่า ขอให้ผู้ที่เคยให้ความช่วยเหลือเคสนี้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการบางกอกคลินิก หรือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็ตาม ช่วยมีหนังสือถึงเทศบาลตำบลพระสมุทรเจดีย์ เรื่อง ชี้แจงเกี่ยวกับชื่อมารดาของนายวิษณุ โดยระบุรายละเอียดชื่อและเหตุผลที่ใช้ชื่อเหล่านั้นในช่วงเวลาต่างๆ พร้อมแนบเอกสารที่ปรากฏชื่อเหล่านั้น และบันทึกคำพยานบุคคลที่ได้จากการลงพื้นที่ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ทางเจ้าหน้าที่ และทางอำเภอพระสมุทรเจดีย์เข้าใจถึงที่มาที่ไปของแต่ละชื่อได้ ถ้าการชี้แจงพร้อมเอกสารแนบฟังแล้วมีน้ำหนักก็จะทำให้เชื่อได้ว่า นางปัจจราหรือนางบุญมี หรือนางปัญจรา นามสกุลศรีวารหรือ นามสกุลบุญชา เป็นมารดาของนายวิษณุจริง

หมายเลขบันทึก: 438245เขียนเมื่อ 6 พฤษภาคม 2011 01:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ประสบการณ์นี้อาจนำมาแลกเปลี่ยนกันในเวทีกรรมการสิทธิ์ฯ ที่จะสรุปงานตรงนี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท