คำว่า "สัปดาห์"


คำว่า "สัปดาห์" ในภาษาไทย เคยมีปัญหาการอ่านออกเสียง เพราะการออกเสียงที่ถูกต้อง ท่านว่าควรอ่าน "สับ-ดา" แต่ก็มีหลายท่านออกเสียงว่า "สับ-ปะ-ดา" ปัจจุบันนี้ราชบัณฑิตท่านบอกว่า ไหนๆ ก็ไหนๆ อ่านสองพยางค์ก็ได้ สามพยางค์ก็ได้ไม่ว่ากัน

อันที่จริง ใครจะอ่านอย่างไร คงไม่มีใครกล้ามาว่า นอกจากคู่รักคู่แค้น ครูภาษาไทยกับนักเรียนนั่้นแหละ  แต่.... ต่อไปนี้นักเรียนอ่าน สัปดาห์ ว่า สับ-ปะ-ดา ก็จะไม่โดนหักคะแนนอีกต่อไป

 

บางท่านตั้งคำถามว่า ทำไมจึงบอกว่าที่ถูกควรอ่าน สัปดาห์ ว่า สับ-ดา

คำนี้มีที่มาครับ

 

ก่อนอื่น ขอบอกว่า คำว่า สัปดาห์ นี้เป็นคำในภาษาสันสกฤต เขียน "สปฺตาห" อ่านว่า "สัป-ตา-หะ" ถ้่าเขียนด้วยอักษรโรมันก็ "saptāha"  โปรดสังเกตว่า ในภาษาสันสกฤต หลังตัว ป ไม่มีสระ (ป มีจุด แสดงว่าเป็นตัวสะกด)

(ลักษณะแบบนี้โบราณาจารย์ของไทยท่านให้ออกเสียง ป ครึ่งเสียง คล้ายกับ สัป-ปะ-ตา-หะ แต่เสียงปะนั้นสั้นหน่อย, อย่างคำว่า รัตนะ บาลีสันสกฤตเขียน รตฺน ก็ไม่ได้ออกเ้สียง รัต-นะ เป็นสองพยางค์แท้ ท่านออกเสียง ตะ ครึ่งเสียง คือ ออกเสียง ตะ สั้นหน่อย  คล้ายกับ รัต-ตะ-นะ เท่ากับสองพยางค์ครึ่ง แหะๆ)

ดังนั้น ที่บางท่านออกเสียงว่า สับ-ปะ-ดา ก็ไม่แปลกอะไร คงจะคุ้นเคยกับการอ่านแบบบาลีสันสกฤต  แต่ถ้าเคร่งก็ต้องว่า ควรเป็น สับ-ดา เพราะ ป ไม่มีสระให้ออกเสียง

 

คำว่า สัปดาห์ หรือ สปฺตาห ในภาษาสันสกฤตนี้ เป็นคำของเขาเลยล่ะ ไม่ใช่คำที่คนไทยคิดประสมขึ้นใหม่ แต่ความหมายอาจจะแตกต่างกันเล็กน้อย นั่นคือ สปฺตาห หมายถึง เจ็ดวัน หรือพิธีสังเวยที่ใช้เวลานานเจ็ดวัน ก็เรียก สปฺตาห เช่นกัน

คำนี้ มาจากศัพท์ "สปฺต" ที่แปลว่าจำนวนเจ็ด สมาส กับคำว่า "อห" ที่แปลว่า วัน

สปฺต + อห  = สปฺตาห ง่ายๆ เหมือนบวกเลขเลยทีเดียว (..ต + อ.. = ..ตา..)

sapta + aha = saptaaha = saptāha 

(อย่าลืมนะครับ อักษรที่ไม่มีสระเกาะอยู่ และที่ไม่มีจุดข้างใต้ ให้ออกเสียงเหมือนมีสระอะ)

นี้เป็นการอธิบายอย่างง่าย

 

ถ้าอธิบายอย่างยาก ท่านว่า มาจาก สปฺตนฺ (สัปตัน) แปลว่า เจ็ด เมื่อนำมาสมาส หดเสียง สปฺตนฺ เหลือแค่ สปฺต  .... ค้างไว้

อหนฺ (อะหัน) แปลว่า วัน เมื่อนำมาสมาส หดเสียงเป็น อห แล้วจึงสมาส และสนธิสระดังกล่าว  ได้รูปสำเร็จเหมือนกันคือ สปฺตาห (อหนฺ นี้มีรูปพิเศษสองรูปคือ อหรฺ และ อหสฺ แล้วแต่ว่าจะนำไปสนธิกับเสียงใด)

 

โปรดสังเกต สำหรับท่านที่สนใจศึกษาภาษาสันสกฤต คำที่สะกดด้วย นฺ เมื่อนำมาสมาส มักจะลบ นฺ ทิ้ง

 

คำบอกจำนวนในภาษาสันสกฤตและบาลีมีใช้ในภาษาไทยมากมาย ไว้คราวหน้า หรือไม่ก็คราวโน้น... จะมานับเลขสันสกฤตให้ฟังนะครับ...

หมายเลขบันทึก: 437760เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2011 22:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มาจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

สวัสดีค่ะท่านอ. บก.

ลึกซึ้ง เป็นความรู้ใหม่เลยเจ้าค่ะ ว่าแต่ บก. หรือบ.ก. ไม่แน่ใจนะคะ

แบบสายตาปูดีมากเลยนะคะ เคยดูหนังเรื่องนึงคิดว่านางเอกเค้าเป็นบก. แต่จริงๆ เธอชื่อ บกชิว :)

ไว้คราหน้า รึไม่ก็คราโน้น จะมาติดตาม นับเลข สันสกฤต ขอบพระคุณค่ะ

สวัสดีครับ คุณIco48 Poo คนนอนดึก

 

เล่าๆ ไปเรื่อยๆ ครับ เผื่อมีคนถาม ก็จะได้บอกว่า

ลองอ่านที่ผมเขียนไว้สิครับ อิๆ

 

บกชิว ภาษาอะไรหนอ กระเดียดมาแถวเอเชียบ้านเรานะครับ ;)

สวัสดีค่ะ

แต่ก่อนตอนสมัยเรียนมัธยม อาจารย์จะสอนว่า อย่าอ่านว่า "สับ ปะ ดา" นะ ใครอ่านแบบนี้ เป็นคนสัปดน... จำแม่นเลยค่ะ

คงคล้ายกับอีกคำหนึ่งคือ ประสบการณ์ เพราะเคยถูกท้วง (ด้วยความหวังดี) ว่า ควรออกเสียงว่า "ประ สบ กาน" ไม่ใช่  "ประ สบ ปะ กาน" ค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์

ขอบพระคุณค่ะที่กรุณาให้ความรู้ดีๆ อีกเช่นเคย ว่าแต่ทำมั้ยทำไมตอนเรียนหนังสือไม่เห็นมีใครอธิบายกระจ่างเช่นนี้เลย T^T

สวัสดีครับ คุณ Ico48 คนไม่มีราก

คนรุ่นใหม่ๆ คงไม่เรียก สับ-ปะ-ดา และ ประ-สบ-พะ-กาน แล้ว

ผมว่าคนที่เรียกแบบข้างบนนี่อย่างน้อยต้องสี่สิบขึ้นครับ ;)

 

สวัสดีครับ คุณครูภาษาไทย

ทีนี้คุณครูก็ได้วัตถุดิบไปเล่านักเรียนเพิ่มขึ้นแล้วนะครับ ;)

สวัสดีค่ะคุณครูธ.

         ได้คำง่ายๆๆใกล้ตัว และวิธีอธิบายไปสอนเด็กๆๆอีกคำแล้วนะคะ  ตอนเรียนครูให้ท่องเกือบตาย  ตอนไปสอบการอ่านข่าวของกรมประชาสัมพันธ์ก็ท่องเกือบสิ้นชีพเช่นกัน ตอนนี้ หลายคำแล้วนะคะที่ให้อ่านตามคำนิยม ...คริ คริ  จะรออ่านการนับเลขและในโอกาสโน้นจากครูค่ะ

ระลึกถึง...

สวัสดีค่ะอาจารย์

ใช่เลยค่ะ นักเรียนจะได้ประหลาดใจกันอีกแล้ว! 555

สวัสดีครับ คุณครูพี่เมียวดี และคุณครูภาษาไทย

หลายคำจริงๆ ด้วยครับ พี่เหมียวน่าจะเกิดช้าสักหน่อยหน่อย จะได้ท่องน้อยๆ อิๆๆ

คราวหน้า หรือไม่ก็คราวโน้น จะเล่าเรื่องตัวเลขครับ ;)

ถ้าจะว่ากันตามหลักของภาษาเดิมที่เขียน "สปฺตาห" ตัว "ป" มีจุดข้างล่างหมายถึงให้อ่านออกเสียงเป็นตัวสะกด แต่ถ้าไม่มีจุด จะอ่านออกเสียงเหมือนมีสระอะ ฉะนั้น การอ่านที่ถูกต้องตามหลัก จึงควรจะเป็น "สับ - ดา" แต่ปัจจุบัน ราชบัณฑิต ให้ใช้หรืออ่านได้สองแบบตามหลักของนักภาษาศาสตร์ ที่ยึดถือตามการใช้ คือเมื่อมีคนใช้แบบผิด ๆ จนติด กลายเป็นคำนิยมใช้ ก็เลยบัญญัติให้ใช้ หลักภาษาที่เราเรียนรู้มาแต่เดิม กลับกลายเป็นไม่ถูก ไม่ใช่เสียแล้ว สาเหตุเพราะ พวกผู้ใหญ่ (นักการเมืองและ....) ใช้ภาษาไม่ถูก สื่อ (ผู้ประกาศข่าวทางทีวีบางช่อง) อ่านไม่ถูก เด็กรุ่นหลังได้ยินจนชินหู ก็ใช้ผิดตาม ๆ กัน จนในที่สุด ราชบัณฑิตต้องบัญญัติคำอ่านให้อ่านได้หลายแบบ (หลายคำเลยละ) เฮ้อ....นี่ละ ที่เขาเรียกว่าภาษาไทยดิ้นได้ (เพราะเดี๋ยวนี้ ภาษาไทยไม่ใช่ดิ้นได้เฉพาะความหมายเท่านั้น การออกเสียงก็ดิ้นไปด้วย)

ถ้าจะว่ากันตามหลักของภาษาเดิมที่เขียน "สปฺตาห" ตัว "ป" มีจุดข้างล่างหมายถึงให้อ่านออกเสียงเป็นตัวสะกด แต่ถ้าไม่มีจุด จะอ่านออกเสียงเหมือนมีสระอะ ฉะนั้น การอ่านที่ถูกต้องตามหลัก จึงควรจะเป็น "สับ - ดา" แต่ปัจจุบัน ราชบัณฑิต ให้ใช้หรืออ่านได้สองแบบตามหลักของนักภาษาศาสตร์ ที่ยึดถือตามการใช้ คือเมื่อมีคนใช้แบบผิด ๆ จนติด กลายเป็นคำนิยมใช้ ก็เลยบัญญัติให้ใช้ หลักภาษาที่เราเรียนรู้มาแต่เดิม กลับกลายเป็นไม่ถูก ไม่ใช่เสียแล้ว สาเหตุเพราะ พวกผู้ใหญ่ (นักการเมืองและ....) ใช้ภาษาไม่ถูก สื่อ (ผู้ประกาศข่าวทางทีวีบางช่อง) อ่านไม่ถูก เด็กรุ่นหลังได้ยินจนชินหู ก็ใช้ผิดตาม ๆ กัน จนในที่สุด ราชบัณฑิตต้องบัญญัติคำอ่านให้อ่านได้หลายแบบ (หลายคำเลยละ) เฮ้อ....นี่ละ ที่เขาเรียกว่าภาษาไทยดิ้นได้ (เพราะเดี๋ยวนี้ ภาษาไทยไม่ใช่ดิ้นได้เฉพาะความหมายเท่านั้น การออกเสียงก็ดิ้นไปด้วย)

จำได้จนขึ้นใจสมัยเด็กๆ ได้ออกไปอ่านรายงานหน้าชั้นเรียนในชั่วโมงภาษาไทย คำว่า "สัปดาห์" ผมอ่านว่า " สับ-ปะ-ดา " ครูภาษาไทยตบกระบานไปที แล้วครูก็พูดว่า "สัปดาห์" อ่านว่า "สับ-ดา" ใครอ่านว่า "สับ-ปะ-ดา" คนนั้น "สัปดน" "สับ-ปะ-ดน" เอิ๊กๆๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท