การตรวจประเมินซ้ำ ...สำหรับโรงพยาบาลที่ได้ทองเมื่อ 3 ปีก่อน


การได้ทองนั้นไม่ยาก แต่การทำให้คงอยู่นั่นสิยากกว่า

     ขอบอกเล่าในฐานะที่เป็นคนหนึ่งในทีมประเมินโรงพยาบาลสายใยรักของศูนย์อนามัยที่ 8   ในปีนี้เราได้พบสิ่งดีๆ จากความตั้งใจและการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนมากขึ้นจากโรงพยาบาลในแต่ละแห่ง  แล้วสำคัญในการประเมินโรงพยาบาลแม่ข่ายระดับจังหวัดนั้น เราได้รับเกียรติอย่างมาก จากท่านอาจารย์นพ.เกรียงศักดิ์ เข้าร่วมประเมินกับเราด้วย จึงเป็นต้นแบบที่ดี ที่ให้เราได้มองภาพน่ารักๆ จากอาจารย์ ที่เราประทับใจ

  • อาจารย์บอกพวกเราว่า ขอพักในที่พักของโรงพยาบาล เผอิญเราคุยกันแล้วอาจารย์ทราบว่าเรามีบ้านพักรับรอง อาจารย์เลยขอพักที่นี่ เพื่อให้เราประหยัดค่าใช้จ่าย
  • อาจารย์เป็นกันเองอย่างมาก ทั้งๆที่พวกเราคุยกันโฉ่งเฉ่งกันทุกคน อาจารย์ก็ขำๆ แล้วก็แซวพวกเราว่าเป็นนกชนิดต่างๆ กัน คนที่ชอบโบ๊ะแป้งตลอด อาจารย์ก็ให้เป็นนกหงษ์หยกไป....ก็ขำกัน  (ไม่รู้ว่าในใจอาจารย์อาจคิดว่า ..ยังๆ มันยังไม่หยุดพูดกันอีก ....ฮ่า ฮ่า)
  • ระหว่างการตรวจเยี่ยมอาจารย์จะไปดูทุกจุด แต่ละวันไม่เคยได้ทานข้าวมื้อเที่ยง ตอนเย็นก็ไม่เคยได้กลับตามเวลาราชการ อาจารย์ละเอียดมากจริงๆ  พวกเราหาวแล้ว หาวอีก ....
  • ความละเอียดของอาจารย์น่ารักมากนะคะ  ก็มีที่รพ.แห่งหนึ่ง เจ้าหน้าที่ก็จัดห้องเป็นระเบียบเรียบร้อยมาก  อาจารย์ก็ยังแอบไปเปิดตู้เก็บของชั้นล่างดูอีก...ก็เลยอายกันไป เพราะเจออุปกรณ์หลายอย่างซุกซ่อนไม่พ้น ...อายจริงเชียว
  • อาจารย์เก็บข้อมูลเก่าเมื่อปี 2550 ที่เคยมาตรวจเยี่ยมไว้เป็นภาพ แล้วนำมาเปิดให้ระลึกย้อนหลัง เทียบกับปีปัจจุบัน อย่างนี้ใครพัฒนาขึ้นก็ปลื้ม ใครถดถอยก็สะอึกนิดๆ
  • อาจารย์ถ่ายรูปเอง ถ่ายวิดิโอเอง และประชาสัมพันธ์โรงพยาบาลที่มีผลงานเด่นๆ ให้ด้วย โดยถ่ายภาพให้ติดโลโก้ของโรงพยาบาลนั้นๆไปเผยแพร่ที่อื่นให้ด้วย...ใครจะไม่ปลื้ม
  • อาจารย์มีองค์ความรู้ใหม่ๆที่เรายังถกเถียงกันอยู่มาสอนพวกเราด้วย...
  1. การงด suction ในทารกแรกเกิดถ้าทารกนั้นไม่มีปัญหาการหายใจ เพราะเป็นการสร้างปัญหาให้ทารกเกิดเยื่อบุทางเดินหายใจบวม แล้วต้องมาแก้ไขด้วยการหยอด nss ภายหลังอีก
  2. การให้ early bonding นานถึง 1 ชั่วโมงที่เป็นมาตรฐานใหม่ของกรมอนามัยที่อ้างอิงมาจาก WHO ที่โรงพยาบาลไหนๆก็ยังทำไม่ได้  แล้วก็มองว่ากรมอนามัยท่าจะเพี๊ยน...อาจารย์ก็นำ VDO มาเปิดให้ดูว่าโดยสัญชาติญานถ้าไม่แยกแม่ลูกเมื่อแรกเกิดทารกจะกระดืบจากอกแม่เข้ามาเต้านมแม่เอง และในที่สุดก็จะดูดนมแม่ได้ ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มที่แม่ลูกแยกกันแม้เพียง 20 นาทีแรกเกิดก็ตาม
  • ก่อนกลับทุกครั้งอาจารย์จะมอบเบี้ยเลี้ยงให้กับโรงพยาบาลที่ไปตรวจประเมิน แถมด้วยในบางโรงพยาบาลอาจารย์ยังให้เข้าไปรับเครื่องมือบางอย่างเพิ่มเติมได้ที่ศิริราชอีกต่างหาก
  • ก่อนชี้แจงผลการตรวจประเมินอาจารย์จะมานั่งฟังพวกเราพูดคุยกัน แล้วเมื่อตกลงกันเรียบร้อยแล้ว จึงจะเชิญทีมของโรงพยาบาลผู้ถูกประเมินเข้ามารับฟัง พร้อมทั้งผอ.รพ.นั้นด้วยทุกแห่ง ถ้าผอ.ยังไม่มาอาจารย์ก็จะนั่งรอจนกว่าจะมา
  • เมื่อทุกฝ่ายพร้อมอาจารย์ก็ให้เกียรติศูนย์อนามัยบอกเล่าถึงจุดเด่น และจุดที่ควรพัฒนาในแต่ละส่วนก่อน  แล้วให้ผู้ถูกตรวจประเมินซักถามในประเด็นที่ไม่ชัดเจน
  • เมื่อครบแล้วอาจารย์ก็จะนำภาพถ่าย และวิดิโอที่ถ่ายมาพิจารณาร่วมกันทั้งที่ดี และที่ควรพัฒนา  ก็มีแห่งหนึ่งที่อาจารย์ให้สอบซ่อมการให้นมลูกในท่านอน แล้วอาจารย์ถ่ายวิดิโอไว้ ในภาพก็มีทั้งพยาบาล 2 คน หมอเด็ก หมอสูติช่วยกันจัดท่ากันอย่างขมีขมัน...อาจารย์ก็เลยฝากว่า "ขอให้ช่วยกันดูแลเรื่องนมแม่เหมือนอย่างวันนี้  น่ารักดีมาก"

       นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เราประทับใจอาจารย์อย่างมาก แต่ตอนนี้ก็เริ่มรู้สึกหนาวๆกันพิกลแล้วล่ะค่ะ ว่ากรรมเวรมีจริงซะแน่เลย เพราะเดือนมิถุนาอาจารย์จะมาประเมินพวกเราที่ศูนย์อนามัยที่ 8 แล้วล่ะ แล้วไม่ใช่แค่อาจารย์คนเดียวด้วยนะซิค่ะ มีอาจารย์วีระพงษ์ ปรมาจารย์นมแม่ที่เราเคารพนับถือกันอย่างยิ่งยวดอีกด้วย งานนี้ก็เลยแซวๆ กันว่า เราจะไปบนบานที่ไหนกันดี....ฮ่ะ ฮ่า

หมายเลขบันทึก: 437311เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2011 19:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 03:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท