โรคต้อหิน


โรคต้อหินและการรักษา

โรคต้อหิน

 

        ต้อหิน เป็นสาเหตุหลักของการเกิดตาบอดในประชากรทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย มักพบใน   คนที่อายุ 40 ปี ขึ้นไป ลักษณะอาการของโรค จะเริ่มจากการสูญเสียการมองเห็นของสายตารอบนอก     เมื่ออาการรุนแรงมากขึ้นลานสายตาจะแคบลงเรื่อย ๆ และตาบอดในที่สุด

สาเหตุการเกิดต้อหิน

          เกิดจากเส้นประสาทตาถูกทำลาย อาการมีความดันน้ำในลูกตาสูง สามารถแบ่งชนิดตามสาเหตุได้ดังนี้

          1. ต้อหินมุมเปิด เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด มักมีสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้าก่อนโดยเริ่มอาการสูญเสียการมองเห็นรอบนอกลานสายตาแล้วค่อย ๆ ลามเข้ามาตรงกลางจนมืดไปในที่สุด

          2. ต้อหินแต่กำเนิด พบได้ในเด็กแรกเกิดหรือภายในช่วงอายุ 2-3 ขวบ เกิดจากระบบระบายน้ำในลูกตาไม่สมบูรณ์ตั้งแต่อยู่ในครรภ์

          3. ต้อมุมปิดเฉียบพลัน พบมากในคนเอเชีย เกิดจากมีการอุดตันของการระบายน้ำในลูกตา ทำให้ความดันตาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว มีอาการปวดตาและบริเวณหัวคิ้วอย่างรุนแรง อาจมีอาการตาแดงและคลื่นไส้ร่วมด้วย ต้อหินกลุ่มนี้ต้องรักษาอาการทันที และอาจเกิดอาการตาบอดได้ในเวลาข้ามวันหากไม่ได้รับการรักษา

 

          การวินิจฉัยโรคต้อหิน ทำได้โดยการตรวจสุขภาพตาทั่วไป วัดความดันลูกตา ตรวจลานสายตา ตรวจดูลักษณะของทางระบายน้ำในลูกตาและเส้นประสาทตา โดยจักษุแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ ในสมัยก่อนจักษุแพทย์จะมีการตรวจสายตาอย่างละเอียด โดยมีการตรวจดูลักษณะของขั้วประสาทตา แล้วนำมาเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงของขั้วประสาทตาเพื่อติดตามผลการรักษา

 

          การรักษาโรคต้อหิน คือ การพยายามลดความดันน้ำในลูกตา โยลดการผลิตหรือเพิ่มการระบายน้ำ ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การใช้ยาหยดยา ยากิน ยิงแสงเลเซอร์ และการผ่าตัด ซึ่งจะมีข้อจำกัดในรักษาขึ้นอยู่กับผู้ป่วยและประเภทของต้อหิน

การรักษาโรคต้อหิน เป็นเพียงการหยุดการดำเนินโรค แต่ไม่สามารถทำให้การมองเห็น  ที่สูญเสียไปแล้วกลับเป็นปกติได้ ดังนั้นการป้องกันและการรักษาในระยะเริ่มต้น จึงเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ไม่สูญเสียการมองเห็นในระยะยาว สำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ควรได้รับการตรวจตาโดยจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างสม่ำเสมอ

                                               

                                                            โดย..... ผศ. นพ. ศักดิ์ชัย  วงศ์กิติรักษ์

                                                ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย

                                                หนังสือ หมอชาวบ้าน ฉบับที่ 383 มีนาคม 2554

         

คำสำคัญ (Tags): #kmanw
หมายเลขบันทึก: 437269เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2011 11:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2012 14:03 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท