UKM20 : ๑. เครือข่ายพัฒนากระบวนการเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงเชิงคุณค่าของการปฏิบัติ


"..เป็นเวทีระดมพลังการเรียนรู้ร่วมกันของเครือข่าย UKM เพื่อมุ่งสู่การเข้าถึงคุณค่าที่แท้ทั้งของกระบวนการทางการศึกษาเรียนรู้และการพัฒนาทางด้านต่างๆของสังคม ในท่ามกลางสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วซับซ้อน ......"

เครือข่ายจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย เป็นการทำความตกลงเป็นเครือข่ายกันของมหาวิทยาลัยต่างๆ ๗ มหาวิทยาลัยเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความเชี่ยวชาญและพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการโดยเน้นความรู้และความเชี่ยวชาญที่อยู่ในการปฏิบัติและส่งเสริมบทบาทความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มพัฒนางานวิชาการและการเรียนรู้ที่บูรณาการอยู่กับการปฏิบัติ,กลุ่มบุคลากรสายปฏิบัติการในระบบบริหารจัดการ,และกลุ่มสนับสนุนทางวิชาการ

จุดหมายสำคัญก็คือการพัฒนาคุณภาพเพื่อบรรลุเป้าหมายในภารกิจองค์กรมหาวิทยาลัยที่มีต่อสังคมปวงชน รวมทั้งการมีความสะท้อนเชื่อมโยงกับสภาวการณ์สังคม สิ่งแวดล้อม ตลอดจนความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงต่างๆทางวิทยาการและเทคโนโลยี ทั้งของสังคมไทยและสังคมโลก ซึ่งกลุ่มบุคลากรที่มุ่งปฏิบัติและสายสนับสนุนทางวิชาการ ตลอดจนกลุ่มนักศึกษาและกลุ่มผู้เป็นกลไกบริหารจัดการต่างๆ เป็นอีกมิติหนึ่งของความเป็นมหาวิทยาลัยที่จะมีชุมชนนักปฏิบัติที่สามารถเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเชื่อมโยงกับความเป็นจริงได้เป็นอย่างดี เครือข่ายจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นเวทีวิชาการและพัฒนาการเรียนรู้ภูมิปัญญาปฏิบัติจึงก่อเกิดขึ้น

                       

ภาพที่ ๑ ผู้บริหารและตัวแทนจาก ๗ มหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิกเครือข่าย UKM (นั่งเก้าอี้แถวหน้า) และกลุ่มผู้เข้าร่วมเวที UKM20 จากมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเจ้าภาพการจัดเวที UKM20 ในครั้งนี้

เครือข่าย UKM ก่อตั้งและริเริ่มพัฒนาความร่วมมือกันทางวิชาการในแนวทางใหม่ๆโดยทำข้อตกลงความร่วมมือกันมาได้ ๗ ปีแล้ว ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยสมาชิกเครือข่าย ๗ มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยนเรศวร, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, และมหาวิทยาลัยมหิดล ในบางเวทีอาจมีองค์ร่วมจัด เช่น สถาบันการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส) รวมทั้งมีมหาวิทยาลัยอื่นๆเข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย

ในเวที UKM แต่ละครั้งซึ่งได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องไปแล้ว ๒๐ ครั้งในระยะ ๗ ปีที่ผ่านมา ก็จะมีสมาชิกผู้เข้าร่วมเวทีจากมหาวิทยาลัยต่างๆ มหาวิทยาลัยละประมาณ ๑๐ คน มหาวิทยาลัยที่เป็นเจ้าภาพก็จะมีโอกาสได้เข้าร่วมมากกว่ามหาวิทยาลัยอื่น ทุกมหาวิทยาลัยจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายการจัดประชุมเมื่อเป็นเจ้าภาพ โดยแต่ละมหาวิทยาลัยก็จะร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเพื่อการเข้าร่วมประชุมของบุคลากรตนเอง

ผมเองนั้นมีโอกาสได้ร่วมเวที UKM อยู่หลายครั้งพอสมควร ซึ่งส่วนหนึ่งก็อาศัยเป็นช่องทางได้เห็นความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของโลกรอบข้างบ้างและอีกส่วนหนึ่งก็ถือโอกาสร่วมเป็นเครือข่ายช่วยขับเคลื่อนไปตามความเหมาะสม เช่น ผมเคยบันทึก แบ่งปันประสบการณ์ และสะท้อนการเรียนรู้ในเวที UKM18 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามเป็นเจ้าภาพไว้ ๑๐ ตอน ผู้สนใจสามารถเข้าไปติดตามอ่านได้ที่นี่ [http://gotoknow.org/blog/civic-action/382177]

เวทีจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยจะหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิกของเครือข่าย ซึ่งด้านที่น่าสนใจมากสำหรับผมก็คือความมีบทบาทต่อการเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทบทวนความความสะท้อนเชื่อมโยงกันของการศึกษากับสังคม,การเลือกสรรการเปลี่ยนแปลง ทั้งนวัตกรรม เทคโนโลยี ตลอดจนองค์ความรู้ใหม่และยุทธศาสตร์การดำเนินงานต่างๆ แล้วสะท้อนลงสู่ระบบปฏิบัติการต่างๆในงานประจำ เพื่อบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลงในตนเองอย่างมีพลวัตรและเชื่อมโยงความเป็นเครือข่ายเคลื่อนไหวสังคมความรู้เพื่อชี้นำการเปลี่ยนแปลงแก่สังคมอย่างเหมาะสมด้วยความรู้และภูมิปัญญาปฏิบัติ บทบาทเหล่านี้เป็นภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มปฏิบัติการที่อยู่ใกล้ชิดกับการดำเนินงานทุกด้านและมีสัดส่วนมากที่สุดในโครงสร้างบุคลากรของมหาวิทยาลัย

                       

ภาพที่ ๒ กลุ่มผู้เข้าร่วมประชุมเวที UKM20 จำนวน จากมหาวิทยาลัยมิดล  ๑๕ คน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ๑๐ คน มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม  ๙ คน มหาวิทยาลัยนเรศวร ๑๒ คน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ๑๔ คน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ๑๒ คน และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ๔ คน รวม รวม ๘๖ คน รวมกับทีมวิทยากร คณะทำงาน และทีมผู้บริหารของมหาวิทยาลัยมหิดลอีก ๔๙ คน เป็นจำนวนทั้งสิ้น  ๑๓๕ คน ในภาพ ศาสตราจารย์คลินิคนายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุมและร่วมบรรยายพิเศษแลกเปลี่ยนแนวคิดต่อการมุ่งสู่มิติเชิงคุณค่าของการศึกษาต่อการพัฒนาสังคมไทยและสังคมโลก

ผู้เข้าร่วมเวทีจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย จะเป็นกลุ่มเรียนรู้และชุมชนนักปฏิบัติของมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ประกอบไปด้วยกลุ่มบุคลากรสหสาขานับแต่ระดับผู้บริหาร ทีมวิชาการกลุ่มผู้ปฏิบัติ และกลุ่มนักศึกษา ที่มุ่งปฏิบัติ แก้ปัญหา พร้อมไปกับพัฒนาการเรียนรู้ ตลอดจนค้นพบนวัตกรรม เทคโนโลยี องค์ความรู้และภูมิปัญญาปฏิบัติ ทุกมหาวิทยาลัยจะมีแนวคิดในการพิจารณาผู้เข้าร่วมเวที UKM ในแต่ละเวทีตามความสนใจและตามความจำเป็นสำหรับการสร้างคนของตนเอง มุ่งเน้นการพัฒนากลุ่มทำงานแบบมืออาชีพและความเป็นทีมในทุกสาขาการทำงาน โดยเฉพาะด้านที่เป็นยุทธศาสตร์เพื่อจัดการความเปลี่ยนแปลงในเงื่อนไขแวดล้อมใหม่ๆ ที่มีมิติการเรียนรู้ การสร้างและจัดการความรู้อยู่ในการทำงานเหล่านั้นด้วย ทุกทีมจากทุกมหาวิทยาลัยจะมีผู้บริหารระดับรองอธิการบดีหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากมหาวิทยาลัย ร่วมเป็นพี่เลี้ยงอยู่ในทีม     

กลุ่มที่มีความเป็นชุมชนนักปฏิบัติหรือชุมชนเรียนรู้เพื่อพัฒนาการปฏิบัติในลักษณะดังกล่าวนี้ จะเป็นปัจเจกซึ่งมีการพัฒนาตนเองและรวมตัวกันเองอย่างเป็นธรรมชาติอยู่ในระบบการทำงาน ที่สามารถข้ามขีดจำกัดและแก้ไขอุปสรรคปัญหา รวมทั้งสามารถสั่งสมภูมิปัญญาและพัฒนาการเรียนรู้ให้บูรณาการไปกับการปฏิบัติ ก่อให้เกิดผลดีต่องานภาคปฏิบัติ สร้างความรู้ และมีวิธีสร้างคนที่กลมกลืนไปกับการปฏิบัติ ทำให้องค์กรมีพลังการเรียนรู้และเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดังนั้น จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลงที่ริเริ่มสร้างสรรค์ขึ้นจากกลุ่มผู้ปฏิบัติในองค์กรต่างๆ

ในแง่มุมนี้ ก็พอจะเห็นได้ว่า ด้านหนึ่งนั้น ก็จะก่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อวิธีทำงานที่กลุ่มผู้ปฏิบัติมุ่งเดินเข้าร่วมมือกันและเรียนรู้แก้ปัญหา ทำให้การดำเนินงานต่างๆประสบความสำเร็จและสามารถเข้าถึงมิติคุณค่าที่ดีมากยิ่งๆขึ้น ในระดับองค์กรก็จัดว่าเป็นอีกมิติหนึ่งของการพัฒนาเชิงคุณภาพและมาตรฐานการปฏิบัติด้วยการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ในระดับสังคม ก็จัดว่าเป็นการเคลื่อนไหวความเป็นยุทธศาสตร์เพื่อสังคมในการพัฒนาเชิงคุณภาพที่มุ่งสู่มิติเชิงคุณค่าในแนวทางที่ดีมากยิ่งๆขึ้นอยู่ตลอดเวลา โดยมุ่งพัฒนาออกไปจากพลังของชุมชนนักปฏิบัติและกลุ่มการรวมตัวกันในทางปฏิบัติในงานต่างๆของระบบมหาวิทยาลัย

เวทีเครือข่ายจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย ครั้งที่ ๒๐ หรือ เวที  UKM20 นี้ มหาวิทยาลัยมหิดลรับเป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นในหัวข้อ Best Practice : สร้างคุณค่าสู่อนาคต ระหว่าง ๒๑-๒๒ เมษายน ๒๕๕๔ ณ สวนสามพราณ จังหวัดนครปฐม เป็นเวทีระดมพลังการเรียนรู้ร่วมกันของเครือข่าย UKM เพื่อมุ่งสู่การเข้าถึงคุณค่าที่แท้ทั้งของกระบวนการทางการศึกษาเรียนรู้และการพัฒนาทางด้านต่างๆของสังคม ในท่ามกลางสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วซับซ้อน

ผมนั้น ได้ร่วมเป็นทีมทำงานของมหาวิทยาลัยมหิดลและเรียนรู้กับเครือข่ายไปบนการปฏิบัติเพื่อจัดเวทีเรียนรู้ของเครือข่ายในครั้งนี้ หลายเรื่องเราพัฒนาขึ้นจำเพาะให้เหมาะสมกับลักษณะของเวทีและนำมาเรียนรู้จากการใช้จริงเพื่อการทำเวทีซึ่งเสมือนเป็นหน่วยทางปัญญาของสังคมในครั้งนี้ให้ได้ผลดีที่สุด พร้อมทั้งเป็นโอกาสให้คนทำงานได้ประสบการณ์ในการทำเวทีวิชาการระดับประเทศกับกลุ่มผู้มีพลังความสร้างสรรค์ทางการปฏิบัติมากจากหลายมหาวิทยาลัย ด้วยการดึงพลังความสร้างสรรค์ของตนเองออกมาใช้ปฏิบัติงานจริงอย่างได้ผล ให้มากที่สุด

ทุกคนได้ดูแลและสร้างสรรค์ความเป็นส่วนรวมผ่านการทำงานต่างๆด้วยตนเอง ขณะเดียวกัน ก็ได้พัฒนาความรู้และได้เรียนรู้จากของจริงบนเวทีของชุมชนนักปฏิบัติชั้นยอดของประเทศ เพื่อนำกลับไปใช้ทำงานต่างๆที่เกี่ยวข้องให้มีความเชื่อมโยงและสื่อสะท้อนความจำเป็นต่างๆทั้งขององค์กร สังคม และฐานชีวิตตนเอง พร้อมกับสามารถบรรลุจุดหมายต่างๆดังที่พึงประสงค์ร่วมกันได้เป็นอย่างดีที่สุด ต่อไป.

หมายเลขบันทึก: 436838เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2011 18:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

อาจารย์ครับ...

ผมว่าแต่ละมหาวิทยาลัยก็มีจุดเด่นและจุดแข็งที่แตกต่างกัน การเรียนรู้ร่วมกันผ่านเครือข่ายการจัดการความรู้ หากพัฒนาต่อยอดและทำให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม ย่อมสามารถขับเคลื่อนเรื่องสำคัญ ๆ ของประเทศได้นะครับ...

Large_di

 

สวัสดีครับดิเรกครับ

  • หายเมื่อยยัง หลังจากไปวันแรกและไม่ได้ไปร่วมวันที่สองนั้น พรรคพวกถามไถ่ถึงน่าดูนะครับ การช่วยกันทำ AAR ในรถหลังเสร็จงานแล้วขาดรสชาดไปเยอะเลย
  • การเชื่อมโยงและเกิดเครือข่ายความรวมมือกันเองหลายระดับนี่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาพอสมควรครับ แต่การพัฒนาเป็นเครือข่ายและเป็นระบบการจัดการร่วมกันเป็นเครือข่ายระหว่างมหาวิทยาลัยนั้น ต้องอาศัยการเรียนรู้กันมากเหมือนกัน
  • ดูๆแล้วเวทีและการเกิดองค์กรชั่วคราวแบบไม่ต้องมีองค์กรตายตัว หนุนเวียนและพัฒนาการตนเองไปตามบริบทอันแตกต่างของเครือข่ายมหาวิทยาลัย อย่างที่กำลังเป็นนี้ ก็เป็นพลังเครือข่ายที่สอดคล้องกับความเป็นจริงมากทีเดียว
  • การพัฒนาระบบสนับสนุน ที่เหมือนกับว่าเป็นปัจจัยสนับสนุนนั้น อาจจะต้องกลายเป็นองค์ประกอบหลักของเครือข่ายองค์กรที่มีพลวัตรสูงอย่างนี้เสียแล้วละ

ขอบคุณค่ะ..ดีใจที่ได้เห็นการรวมตัวกันในลักษณะนี้..หวังอย่างยิ่งนะคะว่า คงได้มีการต่อยอดบทเรียนของกระบวนการทางการศึกษาเรียนรู้และการพัฒนาทางด้านต่างๆของสังคม ในท่ามกลางสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วซับซ้อน ..

สวัสดีครับพี่ใหญ่ครับ ที่เห็นว่าก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีมากอยู่ในตัวเองของเวทีเครือข่ายนี้นั้นมีหลายเรื่องเหมือนกันครับ มองในแง่หนึ่งก็นับว่าเป็นการร่วมมือกันพัฒนาคนที่ดีมากอย่างยิ่ง เพราะพัฒนาไปด้วยกันเป็นทีมและเป็นกลุ่มก้อน ไม่เหมือนการอบรมและเวทีประชุมวิชาการเพื่อฟื้นฟูศักยภาพบุคลากรประจำการแบบทั่วไป อีกทั้งผู้เข้าร่วมเวทีนอกจากจะได้แหล่งวิทยาการชั้นยอดของประเทศแล้ว กลุ่มผู้เข้าร่วมเวทีเองก็ต่างก็เป็นครูและผู้เรียนให้กันและกันอย่างเต็มที่ มองในแง่การพัฒนาการเรียนรู้และการพัฒนากระบวนการทางการศึกษาเพื่อการพัฒนาคนแล้วละก็ ก็นับว่าเป็นวิธีส่งเสริมการเรียนรู้ที่บูรณาการไปกับการพัฒนางานต่างๆมากครับ

แวะมาอ่านสรุปบทเรียนที่ได้พลังความคิดระดับประเทศและสากลจริงๆ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท