ชุธาตุ


ชุธาตุ

 

ชุธาตุ  : พลังแห่งศรัทธาของคนล้านนา 

รุ่งทิพย์    กล้าหาญ

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย   วิทยาเขตเชียงใหม่

 

          ความเชื่อเรื่องพระธาตุประจำปีเกิดหรือการชุธาตุของคนล้านนา  มีการยึดถือปฏิบัติและสืบทอดมาอย่างยาวนาน  ถือเป็นลักษณะร่วมทางวัฒนธรรมที่สำคัญของกลุ่มคน ภายใต้การบูรณาการความเชื่อท้องถิ่นและกรอบคิดแบบลังกาคติ

 

คติความเชื่อเกี่ยวกับพระเจดีย์  :

พระเจดีย์ หมายถึง สิ่งก่อสร้างในพระพุทธศาสนา  อันควรแก่การเคารพบูชา มีทั้งสร้างเพื่อบรรจุอัฐิธาตุหรือเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปหรือเพื่อเป็นที่ระลึก หรือ ใช้ในลักษณะเป็น "สัญลักษณ์" เพื่อระลึกถึงพระพุทธเจ้าหรือคำสอนของพระองค์

 

1.มูลเหตุการสร้างพระเจดีย์ 

ในครั้งก่อนพุทธกาล  ประเพณีการสร้างสถานที่สำหรับบรรจุอัฐิธาตุไม่เฉพาะแต่สำหรับ

บรรจุอัฐิธาตุของพระจักรพรรดิเท่านั้น  หากแต่เป็นที่นิยมในกลุ่มกษัตริย์  บุคคลที่มีความศักดิ์สิทธิ์หรือผู้มียศศักดิ์    โดยจะมีลักษณะเป็นการพูนดินขึ้นเป็นโคก ณ ที่ฝังอัฐิธาตุ และทำเครื่องหมายหรือปักร่มฉัตรให้รู้ว่า เป็นที่ฝังอัฐิธาตุของผู้ใด   ดังจะปรากฏจากพุทธดำรัสที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระอานนท์ว่า  ให้ปฏิบัติต่อพระสรีระของพุทธองค์ และสร้างพระสถูป เช่นเดียวกับปฏิบัติต่อพระบรมศพของพระจักรพรรดิ  โดยการสร้างไว้ที่ทางใหญ่สี่แพร่งเพื่อให้ประชาชนได้นำดอกไม้  ของหอมต่าง ๆ มากราบไหว้ ด้วยความเลื่อมใสศรัทธา ระลึกถึงพระธรรมและพระพุทธองค์  เพื่อให้เกิดความสุขสงบในจิตใจ

            ดังนั้นหลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน พระสงฆ์สาวกที่ออกไปประกาศศาสนา  ณ ที่ใด หากนำพระบรมธาตุไปด้วยก็จะนำไปบรรจุในพระเจดีย์ที่ก่อไว้  เพื่อให้เป็นหลักยึดเหนี่ยวเคารพบูชาของประชาชนในประเทศนั้น ๆ    ทั้งนี้สิ่งที่บรรจุในพระเจดีย์มักจะประกอบด้วย พระบรมธาตุ หรือสิ่งของที่เป็นเครื่องระลึกถึงพระพุทธเจ้า หรือพระธรรมของพระองค์ อาทิ บาตร จีวร   คัมภีร์ พระสูตร อักขระศักดิ์สิทธิ์ เถ้าถ่านพระอรหันต์ พระพุทธรูปหรือสิ่งมีค่าต่าง ๆ  ฯลฯ  ซึ่งสิ่งต่าง ๆที่บรรจุในพระเจดีย์จึงถูกนับเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์  ที่ล้วนเป็นเสมือนหนึ่งเมล็ดพันธุ์แห่งชีวิตของพระเจดีย์นั้น ๆ 

 

2.ความเชื่อเกี่ยวกับพระเจดีย์ 

ตามคัมภีร์มหาวงศ์พงศาวดารลังกาได้ระบุว่า  พระเจ้าอโศกมหาราชได้โปรดให้พระสงฆ์ทำ

สังคายนาครั้งที่  3  ณ อโศกราม  นครปาตลีบุตร  จากนั้นจึงส่งพระเถระออกไปประกาศพุทธศาสนาในประเทศต่าง ๆ  9 สาย โดยทรงมอบหมายให้ พระโสภณเถระและพระอุตตระเถระเข้ามาเผยแพร่พุทธศาสนาในดินแดนสุวรรณภูมิ   และเมื่อประเทศไทยรับเอาพุทธศาสนามาเป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวันแล้ว  ยังได้รับวัฒนธรรมเกี่ยวกับการสวดคาถาบูชากราบไหว้ พระบรมสารีริกธาตุเพราะถือเป็นสิ่งแทนองค์พระพุทธเจ้า โดยนิยมการสร้างเจดีย์ไว้ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ

ซึ่งการสร้างพระเจดีย์ในประเทศไทยนั้น ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมาก  สำหรับ

พระมหากษัตริย์  ผู้ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก  เพราะเป็นสิ่งที่สร้างความชอบธรรมทางการเมืองให้แก่พระมหากษัตริย์ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น  มหาธรรมิกราชา      

            ดังนั้นการสร้างเจดีย์ในยุคแรกมีจุดมุ่งหมายเพื่อบรรจุพระบรมสาริกธาตุ ที่สมณฑูตนำมาจากอินเดีย  โดยเชื่อว่า   การมอบพระธาตุซี่งเป็นวัตถุที่มีค่าควรเมืองจะช่วยสร้างสัมพันธภาพที่ดีและแน่นแฟ้นต่อกัน  ทั้งยังมีนัยเชิงการเป็นเมืองขึ้นทางวัฒนธรรม   แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งคือ  พระธาตุเป็นส่วนประกอบสำคัญในการประกาศพระพุทธศาสนา เพราะการที่จะสถาปนาพระพุทธศาสนาให้มั่นคงในประเทศนั้น ๆ จำต้องมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คือ พระธาตุหรือพระบรมสาริกธาตุ ซึ่งเปรียบเสมือนกายที่สองของพระพุทธองค์    เป็นศูนย์รวมทางจิตใจให้ประชาชนได้กราบไหว้บูชาแทนการเซ่นไหว้ผีสางตามระบบความเชื่อเดิม    

            โดยนัยนี้  คติการสร้างพระเจดีย์เพื่อบรรจุพระธาตุจึงมีความสำคัญและยิ่งใหญ่ ในฐานะของการเป็นพุทธานุสรณ์   เป็นสิ่งแสดงสัญลักษณ์ทางธรรมคือ นิพพานธรรมและอริยสัจสี่  อันเป็นสิ่งกล่อมเกลาจิตใจให้เข้าถึงพุทธะ  ช่วยพยุงไว้ซึ่งศรัทธา และส่งเสริมกำลังใจให้แก่พุทธศาสนิกชน อีกทั้งยังสื่อแสดงสัญลักษณ์ในฐานะศูนย์กลางทางจักรวาล

 

            3.อิทธิพลความเชื่อเรื่องพระบรมสารีริกธาตุที่มีต่อสังคม 

ด้วยแรงศรัทธาของประชาชนที่มีต่อพระบรมสาริกธาตุ ทำให้ประเทศไทยประกอบด้วย   วัด

และเจดีย์มากมาย  ก่อเกิดการสร้างสรรค์  พุทธศิลปะ  ศิลปกรรม สถาปัตยกรรมและวรรณกรรม  รวมทั้งวัฒนธรรมประเพณีที่เกี่ยวข้องกับพระบรมสารีริกธาตุ   ที่พุทธศาสนิกชนล้านนายังคงรักษาและสืบทอดมาตราบจนปัจจุบันได้แก่  ประเพณีสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุ    ประเพณีนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ  ซึ่งในเดือนแปดเป็งหรือช่วงเดือน……..คนล้านนามักจะนิยมไปไหว้พระธาตุเจดีย์ที่สำคัญเช่น  พระธาตุดอยสุเทพ  พระธาตุหริกุญชัย  พระธาตุลำปางหลวง  พระธาตุช่อแฮ  ฯลฯ และจากประเพณีนี้เองได้สร้างให้เกิดค่านิยมเกี่ยวกับการไหว้พระธาตุประจำปีเกิด  หรือ การชุธาตุ 

 

 

คตินิยมของคนล้านนาต่อประเพณีชุธาตุ  :

 

          1. พระธาตุ  ชุธาตุ  และพระธาตุประจำปีเกิด 

พระธาตุคือ พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าที่เกิดขึ้นภายหลังการถวายพระเพลิงและถูกเผยแพร่ไปในสถานที่ต่าง ๆ  เพื่อบรรจุประดิษฐานไว้ในพระเจดีย์ให้ประชาชนเคารพสักการะ

การชุธาตุ คือ  การยึดเอาพระเจดีย์เป็นที่พึ่งแห่งตน โดยเชื่อว่า  หากกราบไหว้บูชาเป็นประจำทุกวันคืน  จะได้รับอานิสงฆ์มาก  สามารถปกป้องภยันตรายต่าง ๆ ได้ 

พระธาตุปีเกิด  หมายถึง การกำหนดให้ปีเกิด หรือปีนักษัตร 12 ราศี ให้ประจำควบคู่กับพระธาตุสำคัญ  12 แห่ง และแต่ละปีเกิดจะมีบทสวดบูชาพระธาตุเฉพาะ   ซึ่งประกอบด้วย

            1.   คนเกิดปีไจ้  หรือ ปีชวด  มีพระธาตุประจำปีเกิดคือ  พระธาตุศรีจอมทอง  อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่

2.   คนเกิดปีเป้าหรือ ปีฉลู  มีพระธาตุประจำปีเกิดคือ  พระธาตุลำปางหลวง  อำเภอเกาะคา  จังหวัดลำปาง

  1. คนเกิดปียี  หรือ ปีขาล มีพระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุช่อแฮ  อำเภอเมือง จังหวัดแพร่
  2. คนเกิดปีเหม้า หรือ ปีเถาะ มีพระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุแช่แห้ง  อำเภอเมือง  จังหวัดน่าน
  3. คนเกิดปีสี หรือ ปีมะโรง  มีพระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุวัดพระสิงห์  อำเภอเมือง  จังหวัดเชียงใหม่
  4. คนเกิดปีไส้ หรือ ปีมะเส็ง  มีพระธาตุประจำปีเกิดคือ พระเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ทีพุทธคยา  ประเทศอินเดีย หรือหากไปไม่ถึงก็ไหว้ต้นโพธิ์แทน
  5. คนเกิดปีสะง้า หรือ ปีมะเมีย  มีพระธาตุประจำปีเกิดคือ  พระธาตุย่างกุ้งหรือชะเวดากอง  ประเทศพม่า
  6. คนเกิดปีเม็ด หรือปีมะแม  มีพระธาตุประจำปีเกิดคือ  พระธาตุดอยสุเทพ  อำเภอเมือง  จังหวัดเชียงใหม่
  7. คนเกิดปีสัน หรือปีวอก  มีพระธาตุประจำปีเกิดคือ  พระธาตุพระพนม  อำเภอธาตุพนม  จังหวัดนครพนม

10.  คนเกิดปีเก้า หรือ ปีระกา มีพระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุหริกุญชัย   อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

11.  คนเกิดปีเส็ค หรือ ปีจอ มีพระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

12.  คนเกิดปีไก้ หรือ ปีกุน มีพระธาตุประจำปีเกิดคือ  พระธาตุดอยตุง  อำเภอแม่สายจังหวัดเชียงราย

 

2.ที่มาของความเชื่อในประเพณีชุธาตุของคนล้านนา 

 

จากหลักฐานพบว่า  ความเชื่อเรื่องปีนักษัตรได้กำเหนิดขึ้นในสมัยราชวงศ์ฮั่น  ราว 600 ปีก่อนคริสตศักราช  และได้พัฒนาการเผยแพร่สู่ดินแดนล้านนาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 -21 โดยถูกนำเข้ามาใช้ในการกำหนดเวลาและนับปฏิทิน    ต่อมาได้มีการปรับประยุกต์ความสัมพันธ์ระหว่างปีนักษัตรกับพระธาตุ โดยการนำพระธาตุสำคัญมากำกับปีนักษัตร  ด้วยความเชื่อว่า  อำนาจศักดิ์สิทธิ์ของพระธาตุ  จะทำหน้าที่สลายอิทธิพลในด้านลบอันเกิดจากการดวงดาวหรือปีนักษัตรนั้น ๆ

อย่างไรก็ตามในส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างปีนักษัตรกับพระธาตุในวัฒนธรรมล้านนานั้น  ดูเหมือนจะเป็นระบบความเชื่อที่ถูกสืบทอดมาอย่างเนิ่นนาน  โดยไม่สามารถหาหลักฐานมาอธิบายได้อย่างชัดเจนถึงจุดกำเหนิดของความเชื่อในการกำหนดสัญลักษณ์หรือความหมายของระบบชุธาตุแต่ทั้งนี้ได้มีความพยายามในการเชื่อมโยงการสร้างระบบพระธาตุกับปีเกิด ในมิติของการผสมผสานองค์ความรู้ท้องถิ่นกับบทบาทหรือความหมายของตัวบุคคลสำคัญกับปีเกิด เช่น การที่พระพุทธเจ้าประสูติในปีจอ หรือ ปีเส็ด  ดังนั้นจึงใช้พระธาตุเกศแก้วจุฬามณีเป็นสัญลักษณ์แทนปีเกิดของพระพุทธเจ้า  หรือพญามังราย ซึ่งประสูติในปีกุน หรือปีไก้ จึงใช้พระธาตุดอยตุงเป็นสัญลักษณ์  ฯลฯ

  1. 3.      คำไหว้พระธาตุประจำปีเกิด

3.1. คำไหว้พระธาตุจอมทอง

          อะหัง นะมามิ ติโลกะโมลี ติโลภัสสะ ภะคะวะโต ทักขิณโมลี ปะติฎฐาสิ ภะคะวะโต อะธิษฐานะพะเลนัฎฐิตัง โลหะกูเฎ พุทธานัง อังคะรัฎฐัง กิตติมันตัง นะโมหะรัง โลกานัง สัพพะโลเกหิ ปูชิตัง มะมัสสะบัตติวาสะ นะ สัพพะทา

            ข้าพเจ้าขอไหว้นอบน้อมด้วยทวารทั้งสาม ซึ่งพระธาตุจอมหัวเบื้องขวาแห่งพระพุทธเจ้า องค์ประเสริฐ ล้ำเลิศกว่าโลกทั้งสามทักขิณโมลีธาตุนั้น อันตั้งอยู่ด้วยกำลังอธิฐานแห่งพระพุทธเจ้า บนยอดดอยจอมทอง อันมีเมืองอังครัฑฐะ อันฤาชาปรากฏมากนัก อันนำมาซึ่งความเลื่อมใสศรัทธายินดีปีติปราโมทย์ แห่งโลกทั้งสาม อันโลกทั้งมวลหากควรบูชา ด้วยสามารถแห่งอามิสบูชาและปฏิบัติบูชา ในการทุกเมื่อแลฯ

3.2. คำไหว้พระธาตุลำปางหลวง

            ยา ปาตุภูตาอะตุลานุภาวา จิรัง ปะติฏฐิตา ลัมภะกับปะปุเร เทเวนะ คุตตา อุตตะราภิเธยยา นะมามิหันตัง วะระชินะธาตุง กุมาระกัสสะปัง นะลาตุธาตุโย เมฆิยะมะหาเถระ กัณณะธาตุ ฐะเปติ มะหาฐาเน เจติยัง ปูชิตา นะระ เทเวหิ อะหัง วันทามิ ธาตุโย

            ข้าพเจ้าขอไหว้สาพระธาตุของพระชินะผู้ประเสริฐ อันประดิษฐานมาช้านานด้วยอานุภาพของ อตุลฤาษี มีเทวดาในลัมภกัปปบุรี (เมืองลำปาง) อยู่เฝ้ารักษา  ขอไหว้สาพระนลาฏธาตุของพระกุมารกัสสปะ พระกัณณธาตุของพระเมฆิยะเถระ อันบรรจุในพระเจดีย์

          3.3  คำไหว้พระธาตุช่อแฮ

            โกเสยยะธะชัคคะปัพพะเต สัตตะมะโนรัมเม พุทธเกสา อะหัง วันทามิ สัพพะทา อะหัง วันทามิ ธาตุโย อะหัง วันทามิ สัพพะโส

            ข้าพเจ้าขอไหว้พระเกศาธาตุแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งประดิษฐานอยู่บนธชัคคบรรพตแห่งเมืองโกศัย อันเป็นที่รื่นรมย์ใจของประชาชนทั้งหลาย โดยประการทั้งปวงในกาลทุกเมื่อเทอญ

3.4. คำไหว้พระธาตุแช่แห้ง

            ยา ธาตุภูตา อะตุลา     นันทะปุเร เทวานุภานะ วะระธาตุ เสฏฐัง อะหัง วันทามิ สัพพะทา อะหัง วันทามิ ธาตุโย

            ข้าพเจ้าขอไหว้สาพระธาตุอันประเสริฐอันมีในนันทบุรี     (เมืองน่าน) ด้วยอานุภาพของเทพยดา ในกาลทุกเมื่อเทอญ

            3.5.  คำไหว้พระสิงห์

            นะมามิ สิหังคะพิมพัง สุวัณณาริรัมมัง ลังการชาตัง โสภา ภิโสภัง สะราภิกันตัง นะมามิหัง

            ข้าพเจ้าขอนอบน้อม พระพุทธรูปพระสิงห์ อันแพรพราวไปด้วยทอง สร้างจากประเทศลังการ อันงดงามยิ่งนัก ข้าพเจ้าขอนอบน้อม พระพุทธรูปพระสิงห์นั้น

            3.6.  คำไหว้พระเจดีย์พุทธคยา

            ปะฐะมัง โพธิปัลลังกัง ทุติยัง อนิมัสสะกัง ตะติยัง จังกะมะเสฏฐัง จะตุตถัง ระตะนะฆะรัง ปัญจะมัง อะชะปาละนิโคธัง ฉัฏฐัง ราชายะตะนัง สัตตะมัง มุจจะลินทัง อะหัง วันทามิ ทูรโร

            ข้าพเจ้าขอไหว้สาพระโพธิบัลลังค์ สัปดาห์ที่ 1 อนิมิสเจดีย์ สัปดาห์ที่ 2 ที่จงกรม สัปดาห์ที่ 3 รตนฆรเจดีย์ สัปดาห์ที่ 4 อชปาลนิโครธเจดีย์ สัปดาห์ที่ 5 ราชายตนะเจดีย์ สัปดาห์ที่ 6 สระมุจลินท์ สัปดาห์ที่ 7 แต่ที่ไกลเทอญ

3.7. คำไหว้พระเจดีย์ชะเวดากอง

            ชัมพุทีเป วะระฐานเน สิงคุตตะเร นะโมรัมเม สัตตะระตะนะปะฐะมัง กะกุสันธัง สุวัณณะทัณฑัง ธาตุโย ฐัสสะติ ทุติยัง โกนาคะมะนัง ธัมมะกะระณัง ธาตุโย ฐัสสะติ

ตะติยัง กัสสะปัง พุทธะจีระรัง ธาตุโย ฐัสสะติ จุตุตถัง

โคตะมะอัฎฐะเกสะธาตุโย ฐัสสะติ ปัญจะมัง อะริยะเมตเตยโย

อะนาคะเต อุตตะมังคะธาตุโย อะหัง วันทามิ ทูระโต

ข้าพเจ้าขอไหว้พระธาตุบรรจุพระสุวรรณทัณฑของพระพุทธเจ้ากกุสันธะ พระพุทธเจ้าพระองค์แรก พระธาตุบรรจุพระธรรมกรกของพระพุทธเจ้าโกนาคมนะ พระพุทธเจ้าองค์ที่ 2 พระธาตุบรรจุจีวรธาตุของพระพุทธเจ้ากัสสปะ พระพุทธเจ้าองค์ที่ 3 พระธาตุบรรจุพระเกศาธาตุ 9 องค์ ของพระพุทธเจ้าโคดม พระพุทธเจ้าองค์ที่ 4 พระธาตุบรรจุพระอุตตมังคธาตุในอนาคตของพระอริยเมตไตย พระพุทธเจ้าองค์ที่ 5 มีในพระสิงคุตรเจดีย์ตั้งอยู่ในชมพูทวีปอันประเสริฐ  แต่ที่ไกลเทอญ

3.8. คำไหว้พระธาตุดอยสุเทพ

            สุวัณณเจติยัง เกสะวะระมัตถะลุงคัง วะรัญญะธาตุงสุเทเวหิ สัพพะปูชิตัง นะระเทเวหิ อะหัง วันทามิ ธาตุโย อะหัง วันทามิ สัพพะทา

ข้าพเจ้าไหว้อยู่ซึ่งพระธาตุอันประเสริฐ คือพระมัตถะลุงคะธาตุ และพระเกศาธาตุ อันประดิษฐานในพระสุวรรณเจดีย์นามว่า สุเทพ ที่มนุษย์และทวยเทพทั้งปวงบูชาแล้ว ในกาลทุกเมื่อเทอญ

            3.9. คำไหว้พระธาตุพนม

             กะปะณะศิริสะมึง ปัพพะเตมะหากัสสะเปนะ ฐาปิตัง พุทธะอุรังคะ ธาตุง สิระสา นมามิฯ

            ข้าพเจ้าขอนอบน้อมนมัสการ พระบรมอุรังคธาตุ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระมหากัสสปเถระเจ้า นำมาฐาปนาไว้ ณ ภูกำพร้า ด้วยเศียรเกล้าฯ

            3.10. คำไหว้พระธาตุหริภุญชัย

            สุวัณณะเจติยัง หะริภุญชะยัฏฐัง วะระโมลีธารัง อุรัฎฐิเสฎฐัง สะหะอังคุลิฏฐิง กัจจายะเนนานิตะปัตตะปูรัง สีเสนะ มัยหัง ปะณะนามิ ธาตุง อะหัง วันทามิ สัพพะทา

            ข้าพเจ้าของเอาเศียรเกล้า ของข้าพเจ้า นอบน้อมพระธาตุดันเป็นเจดีย์ทอง ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองหริภุญชัย คือพระอัฐิเบื้องธารพระโมลีอันประเสริฐ พระอัฐิส่วนพระทรวงอันประเสริฐสุดกับทั้งพระอัฐิพระองคุลี และพระธาตุย่อยเต็มบาทหนึ่ง อันพระกัจจายะนำมา ข้าพเจ้าของวันทาในกาลทุกเมื่อแลฯ

 

 

3.11. คำไหว้พระธาตุเกศเเก้วจุฬามณี

ตาวะติงสายะ   ปุรัมเม   เกสะจุฬามะณี   สะรีระปัพพะตา   ปูชิตา   สัพพะเทวานัง   ตังสิระสา      ตังธาตุอุตตะมัง   อะหัง   วันทามิ สัพพะทา

            ข้าพเจ้าขอไหว้สาพระธาตุอันเทวดาสามสิบตนรักษาบูชาไว้บนยอดเขาเกศจุฬามณีในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ในกาลทุกเมื่อ

            3.12. คำไหว้พระธาตุดอยตุง

พิมพา  ธะชัคคะปัพพะเตนะ จุฬาธาตุ   จิรัง  มะหาคะมานะมามิหัง   อะหัง  วันทามิ  

ข้าพเจ้าขอไหว้สาพระจุฬาธาตุบนยอดเขาพิมพาธชัคคะ ตลอดกาลนานเทอญ

 

4.  ท่าทีการปฏิบัติของคนล้านนาต่อประเพณีชุธาตุ 

ด้วยความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา  ที่สื่อแสดงผ่านสัญลักษณ์คือการกราบไหว้บูชาพระธาตุเจดีย์  ซึ่งนับเป็นการกล่อมเกลาจิตใจประชาชนให้เกิดความเข้าใจและศรัทธาในทางธรรมคือ นิพพานธรรมและอริยสัจสี่  รวมทั้งช่วยส่งเสริมกำลังใจในการดำเนินชีวิตให้แก่พุทธศาสนิกชน

เพราะความเชื่อของคนล้านนาที่ว่า  ชีวิตคนเรานั้นมีความเกี่ยวพันกับเคราะห์กรรมต่าง ๆ  ซึ่งตนเองได้กระทำไว้ในชาตินี้และชาติก่อน   หรืออาจเกิดจากการเกี่ยวข้องกับเคราะห์หรืออุบาทว์ ซึ่งเกิดจากอำนาจแห่งดวงดาวในราศีที่ตนเกิดมา   ฉะนั้นในบางช่วงเวลาหรือช่วงวัยของชีวิต  อาจต้องเผชิญกับเคราะห์กรรมหรือเหตุขัดขวาง  จึงต้องแก้ไขโดยการสะเดาะเคราะห์เป็นครั้งคราว และในขณะเดียวกันเพื่อเป็นการปิดช่องภัยพิบัติไม่ให้เกิดขึ้น   จึงกำหนดว่า  บุคคลต้องมีการไหว้ธาตุประจำปีเกิดหรือการชุธาตุ

ดังนั้นคนล้านนาจึงมีค่านิยมว่า  คนเกิดปีใด ควรจะต้องไปนมัสการพระธาตุประจำปีเกิดของตน  เพื่อให้เกิดความเป็นศิริมงคลแก่ตนเอง  ให้มีอายุยืนยาวมีอานิสงฆ์มากและสามารถป้องกันอันตรายแก่ผู้ที่บูชาด้วย  ซึ่งการที่กลุ่มบุคคลที่มีการบูชาสักการะพระธาตุปีเกิดร่วมกัน  เป็นเสมือนการสร้างเครือข่ายทางสังคมร่วมกัน    

  นอกจากนี้ยังมีการปลูกฝังความเชื่อเกี่ยวกับการชุธาตุจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่งว่า  ใน ทุกคืนเวลาไหว้พระจะต้องไหว้พระธาตุประจำปีเกิดของตน เพื่ออธิษฐานขอความคุ้มครอง   ฉะนั้นจึงจะพบว่า   ในบ้านเรือนคนรุ่นเก่าก่อนจะนิยมมีรูปภาพพระธาตุประจำปีเกิดของตน  ที่เขียนด้วยสีน้ำมันหลังกระจกภาพ   ติดกรอบสำเร็จขายให้พุทธศาสนิกชนเพื่อนำไปติดหรือวางไว้ที่หิ้งพระเพื่อกราบไหว้บูชา เสมือนหนึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำบ้านเรือน  

 

 

บทสรุป  :

โดยทั้งหมดอาจสรุปได้ว่า ประเพณีการชุธาตุเป็นการปรับประเพณีความเชื่อและธรรมเนียมปฏิบัติด้วยการจัดการแนวคิดและการปฏิบัติที่มีความสัมพันธ์กับสังคมท้องถิ่นและพื้นที่ใกล้เคียง ที่แสดงถึงการผนวกประสานทั้งฝ่ายอำนาจรัฐและแนวคิดทางศาสนา    จนเกิดเป็นลักษณะร่วมทางวัฒนธรรมเดียวกัน ในรูปแบบของการบูรณาการประสมประสาน    ทั้งนี้การดำรงอยู่ของความเชื่อและความศรัทธาเกี่ยวกับการชุธาตุ จะยาวนานมั่นคงเพียงไหนขึ้นอยู่กับการได้ถูกให้ความหมายและความสำคัญจากสังคมท้องถิ่นทุกระดับ  ในการสร้างอัตลักษณ์เพื่อคงความเป็นท้องถิ่น        

 

เอกสารอ้างอิง 

1.  เธียรชาย   อักษรดิษฐ์  . 2546 . ชุธาตุความเชื่อเรื่องพระธาตุประจำปีเกิดในล้านนา  

ปรากฏการณ์ทางอำนาจ  ศรัทธา มายาคติ.

2. เธียรชาย    อักษรดิษฐ์ . 2545.  ชุธาตุ : บทบาทและความหมายของพระธาตุในอนุภูมิภาค 

อุษา-อาคเนย์  กรณีศึกษาความเชื่อเรื่องพระธาตุปีเกิดในล้านนา . วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต  สาขาวิชาภูมิศาสตร์.  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.    

3.ดนัย   ไชยโยธา .2538 . ลัทธิ ศาสนา และระบบความเชื่อกับประเพณีนิยมในท้องถิ่น .

กรุงเทพ ฯ:โอเดียนสโตร์ .

4. สมชาย   ธีรปภาสโส . 2546 . ความเชื่อเรื่องพระบรมสารีริกธาตุในสังคมไทย . วิทยานิพนธ์

พุทธศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา  . มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

5. สมหมาย   เปรมจิตต์และคณะ . 2524 . พระเจดีย์ในลานนาไทย . กรุงเทพฯ: สถาบันวิจัยสังคม  

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ .

6. สนิท   สมัครการ . 2539. ความเชื่อและศาสนาในสังคมไทย . กรุงเทพ ฯ : โอเดียนสโตร์.

7. ศรีศักร วัลลิโภดม . มปด. ความหมายของพระบรมธาตุในอารยธรรมสยามประเทศ.กรุงเทพ

คำสำคัญ (Tags): #มหาจุฬา
หมายเลขบันทึก: 436451เขียนเมื่อ 22 เมษายน 2011 16:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ตามมาเยี่ยมและอ่านงานอาจารย์ เขียนได้ดีแล้วครับ มาเขียนบ่อยๆๆนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท