กฎหมายวิชาชีพสาธารณสุข ความจริงกับความฝัน


การที่จะผลักดันให้มีกฎหมายวิชาชีพสาธารณสุข เป็นไปได้จริงหรือไม่

บทนำ

การที่มีกลุ่มแกนนำของผู้ที่ทำงานด้านสาธารณสุขโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มผู้ปฏิบัติงานสาธารณสุขในชุมชน หรือที่เรียกกันเฉพาะในวงการว่า “สมาคมหมออนามัย” หรือแม้กระทั่ง ทางชมรมศิษย์เก่าวิทยาลัยการสาธารณสุขภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือแม้กระทั่งเครือข่ายสถาบันการศึกษาด้านสาธารณสุขศาสตร์ก็ดี ได้มีการรวมตัวกันเพื่อจัดทำร่างกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพของตน เป็นเรื่องที่น่ายินดี และหากจะว่าไปแล้วเป็นที่น่ายินดีแทนพี่น้องประชาชน เพราะหากโดยหลักการของการมีกฎหมายวิชาชีพแล้ว คือการควบคุมมาตรฐานการประกอบอาชีพและคุ้มครองสวัสดิภาพประชาชนนั่นเอง แต่ในขณะเดียวกันต้องสร้างความเข้าใจร่วมกันว่า การที่กลุ่มผู้ทำงานกลุ่มใดที่ต้องทำงานภายใต้กฎหมายประกอบวิชาชีพเป็นที่เรื่องที่ละเอียดอ่อนและที่สำคัญมีข้อควรคำนึงถึงหลายประการที่จะต้องเข้าใจในการทำงานภายใต้กฎหมายวิชาชีพ ว่าเป็นทั้งผลดีและผลในทางตรงข้ามด้วย เท่าที่ได้ติดตามความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการดำเนินการในเรื่องนี้ของกลุ่มผู้ที่ดำเนินการยกร่างร่าง ต้องยอมรับว่าเป็นเจตนาที่ดีแน่นอน แต่สิ่งที่สำคัญในกระบวนการจัดทำกฎหมายในบ้านเมืองเรา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างกฎหมายวิชาชีพ เป็นเรื่องที่ต้องสร้างความเข้าใจร่วมกันอย่างมาก ในฐานะที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมในการทำงานด้านสาธารณสุข บทความนี้เป็นอีกความเห็นหนึ่งที่อยากจะสร้างความเข้าใจอันดี ให้ต้องตรงกัน เพื่อประโยชน์ในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามให้กับสังคม

 

หลักการของวิชาชีพ

วิชาชีพเป็นคำที่แปลมาจากภาษาอังกฤษว่า ‘Profession’ ที่มีรากศัพท์มาจากคำกริยา to profess ที่มาจากภาษาละติน pro+ fateri แปลว่า ยอมรับ, รับว่าเป็นของตน ซึ่งตอนแรกใช้ศัพท์ภาษาไทยว่า “อาชีวปฏิญญาณ” ซึ่งพระเจ้าวรงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ปูชนียบุคคลท่านหนึ่งของสังคมไทยได้ทรงบัญญัติไว้ ซึ่งแตกต่างกับคำว่า ‘Occupation’ ที่เรียกว่า “อาชีพ”  การที่เรียกว่า อาชีวปฏิญญาณ เนื่องจากรากฐานที่มาของคำนี้คือ “…การปฏิญญาณตนต่อสรรพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายว่า จะประกอบอาชีพตามธรรมเนียมที่วางไว้เป็นบรรทัดฐาน หาใช่การทำมาหากิน หรือทำมาหาเลี้ยงชีพ แต่เพียงอย่างเดียว”  คำนี้เดิมใช้ในทางศาสนา หมายความว่า การประกาศตนว่ามีศรัทธาในศาสนาหรือ การประกาศปฏิญญาณตน ใช้ในการปฏิญญาณตนในทางศาสนาคริสต์ หากนับไปแล้วนักบวชในทางศาสนาคริสต์เป็น อาชีวปฏิญญาณแรกของโลก แล้วมาใช้ในวงการแพทย์ และทนายความ และขยายมามาสู่วิชาชีพต่างๆ เช่นวิศวกร สถาปนิก บัญชี สัตวแพทย์ พยาบาล เภสัชกร หรือผู้ประกอบโรคศิลปะบางกลุ่มเป็นต้น

 

องค์ประกอบความเป็นวิชาชีพ

 

                การที่จะเรียกว่าเป็นวิชาชีพได้นั้น ศาสตราจารย์ปรีดี เกษมทรัพย์ ปรมาจารย์ด้านกฎหมายท่านหนึ่งในสังคมไทย ได้อธิบายไว้จะต้องประกอบด้วยลักษณะอย่างน้อย 3 ลักษณะ ด้วยกัน ได้แก่

1)            เป็นอาชีพที่เป็นการงานที่มีการอุทิศตนทำไปตลอดชีวิต

2)            การงานที่ทำนั้น ต้องได้รับการสั่งสอนอบรมเป็นวิชาชีพชั้นสูง ในลักษณะอบรมกันหลายปี

3)            ผู้ทำงานประเภทนั้น จะต้องมีชุมชน หรือเป็นหมู่คณะ ที่มีขนบธรรมเนียมประเพณีสำนึกใน จรรยาบรรณ เกียรติยศ และศักดิ์ศรี ตลอดจนมีองค์กรและกระบวนการเพื่อสอดส่องพิทักษ์รักษาขนบธรรมเนียม เกียรติศักดิ์ ศักดิ์ศรี นั้นด้วย

 

การใช้คำว่า วิชาชีพ ได้มีการนำไปใช้กว้างมากขึ้น ถูกบ้างผิดบ้างในภายหลัง จนมีคำที่มีความหมายตรงกันข้าม คือคำว่าสมัครเล่น หรือในภาษาอังกฤษว่า ‘Amateur’ ตามมา และในที่สุดคำว่าอาชีพและวิชาชีพ ก็มีการใช้ปะปนกันไปและบางทีก็ไม่เข้าใจรากฐานที่มี จนทำให้ดูเหมือนว่าไม่แตกต่างกัน

 

กฎหมายวิชาชีพด้านสุขภาพในเมืองไทย

             หากลองทบทวนดูเท่าที่ได้มีการออกกฎหมายรับรองความเป็นวิชาชีพด้านสุขภาพจะเริ่มจากการที่ได้มีกฎหมายวิชาชีพฉบับแรกคือ พ.ร.บ. วิชาชีพแพทย์ พุทธศักราช 2466 ซึ่งแน่นอนว่าเป็นกฎหมายที่ออกมา เพื่อรองรับกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์เป็นหลัก ต่อมาได้มีการยกเลิก ด้วย พ.ร.บ. ควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พุทธศักราช 2479 ซึ่งมีการกล่าวถึงผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพหลายสาขา ไว้ในฉบับเดียวกัน โดยเรียกรวมว่าผู้ประกอบโรคศิลปะ แต่แยกสาขากันออกไป เช่นผู้ประกอบโรคศิลปะ สาขาเวชกรรม ก็คือแพทย์นั่นเอง ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาทันตกรรม หรือ ทันตแพทย์นั่นเอง และผู้ประกอบโรคศิลปะ สาขาเภสัชกรรม ก็คือเภสัชกรนั่นเอง ซึ่งก้ได้มีการแยกการประกอบโรคศิลปะออกเป็นชั้นหนึ่ง และชั้นสองด้วย ตรงนี้จึงเป็นที่มาของการเรียกแพทย์ว่าเป็นผู้ได้รับใบประกอบโรคศิลป์ ทั้งที่ความจริงไม่ได้มีเฉพาะแพทย์อาชีพเดียวที่ได้รับใบประกอบโรคศิลป์ ขึ้นอยู่ว่าใครได้รับใบประกอบโรคศิลปะในสาขาไหน และชั้นไหนต่างหาก เช่นทันตแพทย์ในสมัยก่อนก็เป็นผู้ขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาติให้เป็นผู้ประกอบโรคศิลป์ สาขาทันตกรรม ชั้นหนึ่งเป็นต้น ซึ่งจะไม่กล่าวพิสดารไปมากกว่านี้

                การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือการที่กลุ่มผู้ประกอบโรคศิลปะ สาขาเวชกรรม ชั้น 1 ได้มีความพยายามยกร่างกฎหมายตนเองขึ้นเป็นการเฉพาะ เรียกว่า พ.ร.บ. วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2511 โดยแยกตนออกมามาจาก พ.ร.บ. ควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พุทธศักราช 2479 และต่อมาได้มีการออกกฎหมายเพื่อแก้ไขปรับปรุงกฎหมายดังกล่าว โดยได้ยกเลิกกฎหมายฉบับที่ออกมาในปี พ.ศ. 2511ดังกล่าว และมีกฎหมายใหม่มาบังคับใช้คือ พ.ร.บ. วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 ดังความในหมายเหตุท้ายกฎหมายดังนี้

 

 ...เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้คือเนื่องจากกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเวชกรรมที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันได้ใช้บังคับมานานแล้ว และมีบทบัญญัติหลายประการที่ไม่เหมาะสมกับกาลสมัย สมควรปรับปรุงให้เหมาะสมเพื่อควบคุมการประกอบวิชาชีพเวชกรรมและคุ้มครองความปลอดภัยกับประชาชนให้รัดกุมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

กฎหมายวิชาชีพเวชกรรมฉบับปี พ.ศ. 2525 ก็ยังมีผลบังคับใช้มาจนถึงปัจจุบัน และเช่นเดียวกันในกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพอื่นก็ได้ทะยอยกันแยกออกมาเป็นกฎหมายเฉพาะของตน เช่น กลุ่มวิชาชีพพยาบาล ก็แยกมาเป็น พ.ร.บ. วิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ. 2528 วิชาชีพทัตแพทย์ ก็แยกออกมาเป็น พ.ร.บ. วิชาชีพทันตกรรม พ.ศ. 2537 กลุ่มวิชาชีพเภสัชกรรม ก้แยกออกมาเป็น พ.ร.บ. วิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2537 ส่วนกลุ่มวิชาชีพอื่นที่อยู่ภายใต้กฎหมายวิชาชีพการประกอบโรคศิลป์ ต่างมีความพยายามที่จะแยกออกมาจากเช่นเดียวกัน แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ จึงทำให้มีบางกลุ่มวิชาชีพโรคศิลป์ สาขาอื่นที่ยังไม่แยกตัวออกมาหรือยังไม่สามารถแยกออกมาได้ก็ยังคงอยู่ภายใต้ พ.ร.บ. ควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พุทธศักราช 2479 ต่อไป แต่ต่อมาในได้มีการออกกฎหมายฉบับใหม่ ที่ออกมาแทนกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลป์ เรียกว่า พ.ร.บ.การประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 โดยยกเลิกฉบับเดิมทั้งหมด และใช้ฉบับนี้แทนทำให้มีกลุ่มวิชาชีพที่อยู่ในกฎหมายฉบับบนี้อยู่ 4 กลุ่มดังนี้

  1. ผู้ประกอบโรคศิลปะ สาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์
  2. ผู้ประกอบโรคศิลปะ สาขาการแพทย์แผนไทย
  3. ผู้ประกอบโรคศิลปะ สาขากายภาพบำบัด
  4. ผู้ประกอบโรคศิลปะ สาขาเทคนิคการแพทย์

 

หากจะสรุปให้เข้าใจง่ายขึ้นแล้วบุคลากรสาธารณสุขที่ถือว่าเป็นผู้ประกอบวิชาชีพที่ถูกต้องตามกฎหมายที่อยู่ในระบบบริการสาธารณสุขไทยหากกล่าวโดยสังเขปจะประกอบด้วย ผู้ประกอบวิชาชีพ  กลุ่มดังนี้

  1. ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือกลุ่มแพทย์ ตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525
  2. ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ หรือกลุ่ม พยาบาลหรือผดุงครรภ์ ตาม พ.ร.บ.วิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ. 2528 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม
  3. ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม หรือกลุ่มทันตแพทย์ ตาม พ.ร.บ.วิชาชีพทันตกรรม พ.ศ. 2537
  4. ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม หรือกลุ่มเภสัชกร ตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2537
  5. ผู้ประกอบโรคศิลปะ ใน 4 สาขาตาม พ.ร.บ.การประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 ดังที่กล่าวแล้ว

โดยสรุปให้สั้นและกระชับ ก็อาจจะกล่าวได้ว่ามีผู้ประกอบวิชาชีพตามกฎหมายอิสระของตน 4 กลุ่มคือ แพทย์ พยาบาลและผดุงครรภ์ ทันตแพทย์ และเภสัชกร และมีกลุ่มผู้ประกอบโรคศิลปะตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะอีก 4 กลุ่มคือ แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ กายภาพบำบัด และเทคนิคการแพทย์ รวมทั้งสิ้นเป็น 8 กลุ่ม ซึ่งมีรายละเอียดย่อยลงไปอีกพอสมควรแต่คงไม่จำเป็นต้องกล่าวในที่นี้

 

หมออนามัยกับการเป็นวิชาชีพ

                อย่างที่อารัมภบทมาแล้ว เพื่อให้เห็นภาพรวมของกฎหมายวิชาชีพที่เป็นหลักการและความเป็นจริง การที่หมออนามัยซึ่งหากว่าไปแล้วเป็นกลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสาธารณสุขที่มีที่มาที่หลากหลายมาก ทั้งมาจากผู้สำเร็จการศึกษาทางสาธารณสุขศาสตร์ พยาบาล ผดุงครรภ์ ทันตาภิบาล เทคนิคเภสัชกรรม วิทยาศาสตร์การแพทย์ และอีกจิปาถะ นับว่าหลากหลายมากจนหากแยกแยะไปได้ไม่ทั่วถึงก็อาจจะโดนต่อว่าก็ได้ จึงไม่ขอกล่าวถึงมาก แม้การสำเร็จการศึกษามาก็หลากหลายทั้งตอนแรกและตอนหลัง หมายความว่าตอนแรกอาจจบมาในหลักสูตรต่ำกว่าปริญญาตรี หรือต่ำกว่าหลักสูตรอนุปริญญาด้วยซ้ำ ต่อมาก็มีการพัฒนาตนเองไปในระบบการศึกาาที่มีความหลากหลาย การที่จะมาเอาวุฒิการศึกษาเป็นตัวตั้งเสียทีเดียวก็จะมีความลำบากและมีผลกระทบต่อความรู้สึกได้ง่ายๆ และหากเอาลักษณะการทำงานเป็นตัวตั้งเสียอย่างเดียวก็ลำบากอีกเช่นเดียวกัน เพราะแต่ละสายงานในระบบราชการไทยก็ผูกติดกับระบบแจกแจงตำแหน่งตามที่ ก.พ. กำหนด จนเสียความเป็นเอกลักษณ์ไปหมด ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่มีวิวาทะในขั้นต้นของการริเริ่มที่จะทำการยกร่างกฎหมายวิชาชีพ ทั้งเป็นวิวาทะในอวิชชาและเชิงหลักการ เพราะมีจุดอ่อนมากมาย  แต่หากการที่จะทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะแล้วย่อมที่จะต้องอดทนกับความคิดเห็นและมุมมองที่แตกต่างกัน เพราะหากมีเป้าหมายเดียวกันคือพี่น้องประชาชนเป็นตัวตั้งแล้วย่อมเป็นประโยชน์ที่ถูกต้องอย่างแน่นอน

                หากเราพิจารณาจากกรณีตัวอย่างจากหลายๆประเทศ การมองที่คุณวุฒิจะไม่ใช่ประเด็นสำคัญมากนัก นานาประเทศที่เจริญแล้วจะพิจารณาที่ความรู้ ความสามารถและการฝึกอบรมให้สามารถทำงานในหน้าที่นั้นๆได้เป็นตัวตั้ง ซึ่งแตกต่างจากการยอมรับที่ประเทศเรา ซึ่งกฎหมายจะเน้นไปในเรื่องคุณวุฒิที่สำเร็จการศึกษาและการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเสียเป็นเรื่องใหญ่ ตรงนี้เป็นหลักการที่สำคัญ เพราะเราคงต้องเปลี่ยนมุมมองเสียใหม่ และในขณะเดียวกันจะต้องประนีประนอมกับระบบที่ควบคุมเข้มงวดตามกฎหมายในบ้านเราได้อย่างไร ที่ผมกล่าวเช่นนี้หากเราจะมองแบบเข้มงวดตามกฎหมายแบบกฎหมายวิชาชีพของไทย ผมว่ามีโอกาสน้อยมากที่จะทำให้หมออนามัยแบบที่เราเป็นและเรามีในปัจจุบันเป็นวิชาชีพตามกฎหมายได้ เพราะหากดูองค์ประกอบคำว่าวิชาชีพแล้วหากไม่ตีความเข้าข้างตนเองก็ยากที่จะตรงตามเจตนารมณ์ในแบบเคร่งครัด เพราะอย่าลืมว่ากฎหมายวิชาชีพนี้เป็นกฎหมายที่มีบทลงโทษทางอาญา คืออย่างน้อยก็มีการปรับ จำคุก เป็นต้น ทางหลักกฎหมายเขาถือว่าเป็นกฎหมายมหาชนหรือกฎหมายอาญา ที่ต้องตีความโดยเคร่งครัด

                แต่หากจะพิจารณาถึงประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างแท้จริงแล้วการปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขย่อมต้องการผู้ที่เป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง ไม่ใช่ใครก็ได้มาทำงาน เพราะเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของผู้คน ที่สำคัญเกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของคนหมู่มากเสียด้วยไม่ใช่รายหนึ่งรายใด จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องการมืออาชีพและผู้ที่ผ่านการอบรมเรียนรู้มาอย่างถูกต้องมาทำงาน ซึ่งจำเป็นต้องสอดคล้องกับหลักการของการเป็นวิชาชีพ นั่นคือ เป็นงานที่อุทิศตนตลอดชีวีตหมายความความว่าต้องรับผิดชอบตลอดไปไม่เพียงแต่ว่าทำงานให้พ้นๆมือ ยกตัวอย่างเช่น การพ่นยาเพื่อฆ่าลูกน้ำยุงลาย ด้วยสารเคมีที่เป็นอันตราย ต้องเป็นไปโดยคำนึงถึงความปลอดภัยและผลกระทบต่อบุคคลและสิ่งแวดล้อมไปในระยะยาว เสมือนวิศกรเมื่อลงนามรับรองแบบตึกแล้วต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยการกระทำที่ขาดหลักวิชาการที่เหมาะสม เป็นต้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเรียนรู้และอบรมอย่างถูกต้องเพียงพอในการทำงาน รวมทั้งมีองค์กรหรือสภาวิชาชีพในการตรวจตราและตรวจสอบกันเองในทางวิชาชีพด้วย นี่คือตัวอย่างเพียงง่ายๆ แต่เพียงประการเดียวในการเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ หากต้องสารยายจะต้องยืดยาวอีกมาก

                ผู้เขียนยอมรับว่าตนเองเห็นคล้อยตามในการที่จะต้องมีการออกกฎหมายสำหรับควบคุมดูแลผู้ประกอบวิชาชีพสาธารณสุข แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างที่เห็นด้วยนั้นจะเป็นไปในแบบวิชาชีพแบบเดิมที่เป็นอยู่ในระบบสาธารณสุขบ้านเรา เพราะระบบการเป็นวิชาชีพนั้น หากมองอีกด้านหนึ่ง ระบบวิชาชีพของเรา เป็นระบบที่มีข้อจำกัดเช่นเดียวกัน เนื่องจากที่เป็นการคุ้มครองอาชีพ และสวงนอาชีพสำหรับคนบางกลุ่มที่เป็นวิชาชีพเท่านั้น ในขณะที่เรื่องสุขภาพนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องที่มองได้เฉพาะปัจเจกอย่างเดียว จะเห็นได้ว่าในการร่างกฎหมายการสาธารณสุขแห่งชาติ นั้นพยายามที่จะให้เรื่องสุขภาพ เป็นเรื่องของครอบครัว ชุมชน และสังคม และพยายามที่จะเปิดมุมมองสุขภาพไปให้พ้นจากการมือผู้เชี่ยวชาญ ไปสู่สุขภาพเพื่อมวลชน และมวลชนเพื่อสุขภาพ หากเราจะทำกฎหมายออกมาเพื่อประกันการมีสุขภาพดีของประชาชนสักฉบับหนึ่งน่าที่จะเป็นไปในเจตนารมณ์เหล่านี้ การถกเถียงเรื่องใครควรทำบ้าง ใครทำก่อน ใครทำทีหลังจะลดน้อยลงได้บ้าง

                และที่สำคัญการเป็นผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขอาจจะไม่จำกัดเฉพาะผู้ที่จบมาทางสาธารณสุขศาสตร์หรือทางการแพทย์เท่านั้น อาจจะเป็นใครก็ได้ที่ผ่านหลักสูตรที่ทางสภาวิชาชีพสาธารณสุขยอมรับอาจจะสามารถขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพสาธารณสุขในสาขาที่แตกต่างและหลากหลายได้ เนื่องจากในโลกที่พัฒนาไปมากทางด้านเทคโนโลยีและองค์ความรู้ที่หลากหลายเช่นปัจจุบันนี้ เรื่องสุขภาพอาจจะไม่จำกัดกับการเรียนในสาขาใดสาขาหนึ่งที่อาจจะมีข้อจำกัดในการทลายพรมแดนขององค์ความรู้ในแต่ละสาขาได้อย่างไม่สะดวกนัก เราอาจจะต้องการองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์ ด้านพันธุศาสตร์ ด้านสารสนเทศมาใช้ในการจัดการให้เกิดสุขภาพดี มากพอๆกับที่เราต้องรู้ว่าจะควบคุมโรคติดต่อที่เกิดขึ้นอย่างไร ในโลกยุคไร้พรมแดนด้วยระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ เช่นกรณีโรคซาร์ หรือไข้หวัดนก ที่เป็นกรณีตัวอย่างที่ดีในโลกยุคไร้พรมแดนอย่างเช่นทุกวันนี้

 

ก้าวต่อไป ในทางที่ใช้ปัญญา

                อย่างที่กล่าวแล้วว่าผู้เขียนในฐานะที่เป็นหมออนามัยคนหนึ่ง ย่อมหนีไม่พ้นอคติที่จะต้องเห็นด้วยในการที่จะมีกฎหมายวิชาชีพด้านสาธารณสุข แต่การเห็นด้วยนั้นย่อมใช้หลักตามคำสอนพระพุทธองค์ ที่ต้องใช้ศีล สมาธิและปัญญาในการใคร่ครวญ หากเราทำความเข้าใจพื้นฐานให้ตรงกันเสียแล้ว เปิดโอกาสให้ทุกคนที่ต่างความเห็นได้แสดงความคิดและความตั้งใจออกมา บวกกับการใช้วิจารณญาณ ใช้ปัญญาเพื่อลดมิจฉาทิฐิ แห่งความเป็นอัตตา คิดว่าการดำเนินงานเพื่อสร้างกฎหมายวิชาชีพจะเป็นไปได้สะดวกขึ้น ลดศัตรูที่ไม่จำเป็น ตั้งสติเพื่อแยกกันเดิน รวมกันตี ลดการให้ร้ายในองค์กรที่ต่างความคิดกัน ทั้งที่เราตั้งใจในสิ่งที่ดีๆร่วมกัน ก็ไม่จำเป็นต้องตำหนิติติงในความเป็น ความมีที่ต่างกัน การที่เป็นนักวิชาการสาธารณสุขระดับไหนก็เป็นเพียงสมมุติ การเป็นหมออนามัยที่อยู่ในชุมชนหรืออยู่ในเมืองก็มีเป้าหมายเดียวกัน คือประโยชน์ของประชาชนที่ควรได้รับปกป้องดูแลอย่างมืออาชีพ ด้วยความรู้ทางวิชาการ ด้วยความรับผิดชอบ

 

บทสรุป

                จึงขอให้กำลังทุกองค์กรที่กำลังตั้งใจทำในสิ่งที่ดีงามและเป็นประโยชน์ และหากพอที่จะช่วยเหลือแก่องค์กรใด อย่างไร ผู้เขียนมีความยินดีที่จะร่วมมืออย่างเต็มใจ มิใช่เพียงเพื่อองค์กรวิชาชีพเท่านั้น หากแต่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ ดังที่ท่านอาจารย์ประเวศ วะสี ผู้ที่เป็นปูชนียบุคคลของชาวไทยและหมออนามัยได้เคยให้แนวคิดที่สำคัญแก่พวกเราไว้ว่า “หมออนามัยเหมือนปลา ประชาเหมือนน้ำ” น้ำและปลาต่างพึ่งพาอาศัยกันฉันใด หมออนามัยกับประชาชนคงต้องอยู่คู่กันไป ตราบนานเท่านาน แม้จะเป็นการทำงานในสถานภาพใดก็ตาม

หมายเลขบันทึก: 435881เขียนเมื่อ 19 เมษายน 2011 00:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:45 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
ศรัญญา สม11.บุรีรัมย์

สุดยอดค่ะอาจารย์..^_^..

ความเห็นตามกฎหมาย ถูกต้องครับ แต่ความเป็นจริงมันไม่ใช่ ถ้าเป็น รพ.สต. จ๊อบงาน ไม่ตรงกับที่ท่านคิดครับ ถ้าทำได้ กำหนด จ๊อบงานพยาบาลวิชาชีพ ใน รพ.สต.ให้ชัดเจนครับ เป็นกฎหมายยิ่งดี ไม่ใช่ให้เป็น รก. แล้วไม่บริการ ในจ๊อบงานคุณภาพบริกา

ขอบพระคุณอาจารย์ครับ วิเคราะห์เเนวทางเเละนำเสนอให้เข้าใจมากขึ้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท